กาลักมุล
นครมายาโบราณและป่าเขตร้อนคุ้มครองแห่งกาลักมุล กัมเปเช * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
พีระมิดหมายเลข 2 แห่งกาลักมุล | |
พิกัด | 18°06′18.5″N 89°48′35.8″W / 18.105139°N 89.809944°W |
ประเทศ | เม็กซิโก |
ภูมิภาค ** | ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน |
ประเภท | มรดกแบบผสม |
เกณฑ์พิจารณา | (i), (ii), (iii), (iv), (ix), (x) |
อ้างอิง | 1061 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2002 (คณะกรรมการสมัยที่ 26) |
เพิ่มเติม | 2014 |
พื้นที่ | 331,397 ha (818,900 เอเคอร์) |
พื้นที่กันชน | 391,788 ha (968,130 เอเคอร์) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
กาลักมุล (สเปน: Calakmul) เป็นแหล่งโบราณคดีอารยธรรมมายาแห่งหนึ่งในรัฐกัมเปเช ประเทศเม็กซิโก ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในป่าดิบของภูมิภาคแอ่งเปเตน ห่างจากชายแดนประเทศกัวเตมาลาราว 35 กิโลเมตร[1] กาลักมุลเป็นหนึ่งในนครโบราณที่ใหญ่ที่สุดและเคยมีอำนาจมากที่สุดเท่าที่ค้นพบในที่ลุ่มมายา
กาลักมุลเป็นศูนย์กลางของหน่วยทางการเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าอาณาจักรแห่งงู[2] อาณาจักรแห่งงูนี้มีอำนาจในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของสมัยคลาสสิกและได้ปกครองพื้นที่กว้างใหญ่ มีการใช้ตราสัญลักษณ์รูปหัวงูซึ่งอ่านว่า กาน เป็นเสมือนหลักเขตกระจายทั่วอาณาเขต คาดว่าในสมัยนั้นตัวเมืองกาลักมุลมีประชากร 50,000 คนและปกครองท้องที่ต่าง ๆ ภายในระยะ 150 กิโลเมตรในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน[3] โดยมีคู่แข่งสำคัญคือเมืองติกัลซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้[4] มีโครงสร้างโบราณ 6,750 โครงสร้างที่ได้รับการพิสูจน์ระบุที่กาลักมุล โครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนนั้นคือพีระมิด พีระมิดหมายเลข 2 มีความสูงกว่า 45 เมตร[5] และเป็นหนึ่งในพีระมิดมายาที่สูงที่สุด มีสุสาน 4 สุสานอยู่ภายในพีระมิดนั้น พีระมิดที่กาลักมุลได้รับการเพิ่มขนาดด้วยการสร้างทับตัววิหารที่มีอยู่ก่อนเช่นเดียวกับวิหารหรือพีระมิดอีกหลายแห่งในมีโซอเมริกา[6]
กาลักมุลได้รับการค้นพบในสมัยใหม่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1931[3] โดยไซรัส แอล. ลันเดลล์ นักชีววิทยาที่กำลังวิจัยเกี่ยวกับการนำยางละมุดจากอเมริกากลางมาทำหมากฝรั่ง เขารายงานการค้นพบไปยังซิลเวนัส จี. มอร์ลีย์ นักวิชาการอารยธรรมมายาจากสถาบันคาร์เนกีที่ชิเชนอิตซาใน ค.ศ. 1932[3] การสำรวจค้นคว้าหยุดชะงักใน ค.ศ. 1938 และบรรดานักโบราณคดีไม่ได้กลับมายังแหล่งดังกล่าวอีกจนกระทั่ง ค.ศ. 1982 เมื่อวิลเลียม เจ. โฟลัน ดำเนินโครงการขุดค้นที่กาลักมุลจนถึง ค.ศ. 1994 ในนามของมหาวิทยาลัยอิสระแห่งกัมเปเช[7] ในปัจจุบันแหล่งโบราณคดีนี้รวมอยู่ในโครงการขนาดใหญ่ของสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติเม็กซิโก[7]
อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- Folan, William S.; Joyce Marcus; Sophia Pincemin; Maria del Rosario Dominguez Carrasco; Loraine Fletcher; Abel Morales Lopez (December 1995a). "Calakmul: New Data from an Ancient Maya Capitol in Campeche, Mexico". Latin American Antiquity. 6 (4): 310–334. doi:10.2307/971834. JSTOR 971834.
- Martin, Simon; Nikolai Grube (2000). Chronicle of the Maya Kings and Queens: Deciphering the Dynasties of the Ancient Maya. London and New York: Thames & Hudson. ISBN 0-500-05103-8. OCLC 47358325.
- Sharer, Robert J.; Loa P. Traxler (2006). The Ancient Maya (6th (fully revised) ed.). Stanford, CA: Stanford University Press. ISBN 0-8047-4817-9. OCLC 57577446.
- Webster, David L. (2002). The Fall of the Ancient Maya: Solving the Mystery of the Maya Collapse. London: Thames & Hudson. ISBN 0-500-05113-5. OCLC 48753878.