ข้ามไปเนื้อหา

การแปลสิ่งเร้าผิดว่าโปร่งใส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแปลสิ่งเร้าผิดว่าโปร่งใส (อังกฤษ: illusion of transparency) เป็นความโน้มเอียงที่บุคคลจะประเมินว่า คนอื่นรู้ถึงความรู้สึกและลักษณะจิตใจของตนมากเกินไป การปรากฏอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความโน้มเอียงที่จะประเมินว่า ตนรู้ถึงความรู้สึกและลักษณะจิตใจของคนอื่นมากเกินไป ซึ่งบางครั้งเรียกในภาษาอังกฤษว่า observer's illusion of transparency (การแปลสิ่งเร้าผิดว่าโปร่งใสของผู้สังเกตการณ์) ความเอนเอียงทางประชานชนิดนี้ คล้ายกับที่เรียกว่า illusion of asymmetric insight

หลักฐานทางการทดลอง

[แก้]

งานวิทยานิพนธ์ทางจิตวิทยางานหนึ่งแสดงปรากฏการณ์นี้แบบง่าย ๆ[1] คือให้คน ๆ หนึ่งเคาะนิ้วเป็นจังหวะเพลงที่รู้จักกันดีเช่น "Happy Birthday to you" หรือเพลงชาติ แล้วให้อีกคนหนึ่งเดาว่าเป็นเพลงอะไร เมื่อให้ประเมินว่า คนอื่นสามารถเดาเพลงได้กี่เปอร์เซนต์ คนที่เคาะปกติจะประเมินว่า ได้ประมาณ 1 ใน 2 แต่มีคนเดาเพลงถูกได้เพียงแค่ 3 ใน 100 เท่านั้น คือคนเคาะนิ้วสามารถ "ได้ยิน" เสียงโน้ตทุกโน้ต และคำร้องทุกคำในใจ แต่อีกคนหนึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าคนเคาะคิดอะไร ได้ยินแต่เสียงเคาะเป็นจังหวะ[2]

การกล่าวปาฐกถาและความกลัวเวที

[แก้]

การแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้พบได้ชัดในผู้ต้องกล่าวปาฐกถา ซึ่งอาจจะเพิ่มระดับเพราะเหตุปรากฏการณ์สปอร์ตไลท์ (spotlight effect) คือความรู้สึกว่าคนอื่นสังเกตเห็นตนมากกว่าที่เป็นจริง ผู้พูดจะรู้สึกเกินจริงว่า ความตื่นเต้นของตนปรากฏชัดเจนต่อผู้ฟังแค่ไหน มีงานศึกษาต่าง ๆ ที่สำรวจผู้ฟังที่แสดงว่า อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดไม่ได้เป็นเรื่องชัดเจนอะไรเหมือนอย่างที่ผู้พูดรู้สึก[3] ความวิตกกังวลเบื้องต้นเมื่อต้องกล่าวปาฐกถา อาจทำให้ตื่นเต้นและเครียด และเพราะการแปลสิ่งเร้าผิดชนิดนี้ คนพูดอาจจะรู้สึกว่าความรู้สึกของตนเป็นเรื่องที่ปรากฏชัดต่อผู้ฟัง ซึ่งทำให้ผู้พูดพยายามแก้ชดเชย แต่ความพยายามนั้นกลับทำให้ตนรู้สึกว่าคนฟังเห็นชัดขึ้นอีก เลยกลายเป็นวงจรทำให้ตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การตระหนักถึงข้อจำกัดที่ผู้อื่นสามารถรู้ความรู้สึกของตน อาจจะช่วยทำลายวัฏจักรและลดระดับความวิตกกังวลในการพูด[3]

งานศึกษาการกล่าวปาฐกถา

[แก้]

มีงานศึกษา 2 งานทำโดยนักจิตวิทยาคู่หนึ่ง เกี่ยวกับความวิตกกังวลในการกล่าวปาฐกถาโดยสัมพันธ์กับการแปลสิ่งเร้าผิดชนิดนี้ งานแรกพุ่งความสนใจไปที่ระดับความวิตกกังวลที่ผู้กล่าวรู้สึก เทียบกับการรับรู้ระดับความรู้สึกนั้นของผู้ฟัง ผลก็ออกมาตามที่คาด คือ ผู้กล่าวตัดสินตัวเองแย่กว่าที่ผู้ฟังสังเกตเห็น[3]

ในงานที่ 2 นักวิจัยพุ่งความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการแปลสิ่งเร้าผิดเช่นนี้กับความวิตกกังวลเกี่ยวกับปาฐกถาที่เป็นมากขึ้น ผู้ร่วมการทดลองจัดเข้า 3 กลุ่มคือ กลุ่มควบคุม กลุ่มให้กำลังใจ และกลุ่มได้ข้อมูล ทั้งหมดได้รับประเด็นการพูด และมีเวลา 5 นาทีที่จะเตรียมเรื่องที่พูดต่อหน้ากลุ่มผู้ฟัง ซึ่งหลังจากนั้นต้องให้คะแนนตนเองเกี่ยวกับความวิตกกังวล คุณภาพเรื่องที่พูด ลักษณะอาการท่าทาง และผู้ชมก็จะให้คะแนนในเรื่องระดับความวิตกกังวลและคุณภาพเรื่องที่พูด กลุ่มควบคุมไม่มีการบอกอะไรล่วงหน้าเลย มีการบอกกลุ่มให้กำลังใจและกลุ่มได้ข้อมูลว่า เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการให้ปาฐกถา และบอกกลุ่มให้กำลังใจว่า งานวิจัยแสดงว่า ไม่ควรจะวิตกกังวลในเรื่องนี้ ส่วนกลุ่มให้ข้อมูล มีการบอกถึงการแปลสิ่งเร้าประเภทนี้ และว่า งานวิจัยแสดงว่า อารมณ์ความรู้สึกของตนไม่ได้ชัดเจนต่อคนอื่นเหมือนกับที่ตนคิด กลุ่มให้ข้อมูลปรากฏกว่า ให้คะแนนกับตนเองในทุก ๆ ด้านดีกว่ากลุ่มอื่น และผู้ฟังก็ให้คะแนนดีกว่าด้วย และกลุ่มให้กำลังใจที่เข้าใจว่า ผู้ฟังจะไม่สามารถกำหนดรู้ความตื่นเต้นของตน ก็รู้สึกเครียดน้อยกว่าและการพูดของพวกเขามักจะดีกว่า[3]

ปรากฏการณ์คนมุง

[แก้]

มีนักจิตวิทยา 3 ท่านที่เสนอว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์คนมุง (bystander effect) ที่ผู้มุงมองจะไม่ช่วยเหยื่อผู้รับเคราะห์ถ้ามีคนอื่นร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย คือ ความเป็นห่วงและความตกใจของตนไม่ปรากฏต่อคนอื่นเหมือนกับที่ตนคิด และทุกคนต่างคิดว่า ตนจะสามารถอ่านสีหน้าของคนอื่นได้ดีเกินความจริง[4] นั่นก็คือ

เมื่อประสบเรื่องที่อาจเป็นเหตุฉุกเฉิน บุคคลจะปกติทำเป็นเฉย ๆ ดูเหมือนจะไม่รู้สึกอะไร แล้วตรวจเช็คปฏิกิริยาของผู้อื่นเพื่อกำหนดว่า มีวิกฤติการณ์อะไรจริง ๆ หรือเปล่า คือโดยที่สุดแล้ว ทุกคนไม่ต้องการจะทำอะไรเกินควร ถ้ามันไม่ใช่เหตุการณ์ฉุกเฉินจริง ๆ แต่เพราะว่า ทุกคนอดกลั้นความรู้สึกของตน ปรากฏดูเหมือนจะเฉย ๆ แล้วตรวจสอบปฏิกิริยาของผู้อื่น บางครั้งทุกคนก็จะคิด (บางครั้งอย่างผิดพลาด) ว่า เหตุการณ์ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินและไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วย[4]

— Thomas Gilovich, Kenneth Savitsky, และ Victoria Husted Medvec, Journal of Personal and Social Psychology, Vol. 75, No. 2[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. Ong, Jovel; Chao, Christian (April 2011). "The Science of Effective Team Discussions". Civil Service College, Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 10, 2013. สืบค้นเมื่อ February 8, 2015.
  2. McRaney, David (July 14, 2010). "The Illusion of Transparency". You Are Not So Smart. สืบค้นเมื่อ July 20, 2011.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Savitsky, Kenneth; Gilovich, Thomas (March 25, 2003). "The illusion of transparency and the alleviation of speech anxiety" (PDF). Journal of Experimental Social Psychology. 39. doi:10.1016/s0022-1031(03)00056-8. สืบค้นเมื่อ July 20, 2011.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 Gilovich, T; Savitsky, K; Medvec, VH (1998). "The Illusion of Transparency: Biased Assessments of Others' Ability to Read One's Emotional States" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 75 (2): 332–346. doi:10.1037/0022-3514.75.2.332. สืบค้นเมื่อ July 20, 2011.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)