ข้ามไปเนื้อหา

การแนะแนว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแนะแนว (อังกฤษ: guidance) หมายถึง กระบวนการช่วยเหลือบุคคลให้เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมให้เขามีคุณภาพเหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน มีทักษะการดำเนินชีวิต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ศีลธรรม จริยธรรม รู้จักการเรียนรู้ในเชิงพหุปัญหา รู้จักคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ วางแผนการศึกษาต่อ ประกอบอาชีพ และสามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุขในชีวิตได้พัฒนาตนเองให้ถึงขีดสุดในทุกด้าน[1]

ประวัติ

[แก้]

ประวัติการแนะแนวในสหรัฐอเมริกา

[แก้]

สหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศที่ได้มีการศึกษาวิจัยและดำเนินการแนะแนวมาเป็นเวลานาน จนในปัจจุบันศาสตร์แห่งการแนะแนวในประเทศได้พัฒนาไปมาก อาจกล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกานั้น เป็นแม่บทแห่งการแนะแนว โดยได้เริ่มเป็นรูปแบบขึ้นเมื่อ “แฟรงค์ พาร์สันส์” (Frank Parsons) ได้ก่อตั้ง “สำนักงานการอาชีพ” (Vocational Bureau) ขึ้นที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1908 เขาได้แต่งหนังสือเรื่อง “การเลือกอาชีพ” (Choosing a Vocation) และบัญญัติศัพท์ “การแนะแนวอาชีพ” (Vocational Guidance) ขึ้น พาร์สันส์ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแนะแนวอาชีพ เขายึดหลักในการแนะแนวอาชีพดังนี้ คือ

  1. การวิเคราะห์บุคคล นักแนะแนวจะช่วยผู้มารับบริการวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ เช่น ความสามารถ ความสนใจ ความถนัด บุคลิกภาพ
  2. การวิเคราะห์อาชีพ นักแนะแนวจะช่วยให้ผู้รับบริการมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพ เช่น มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะอาชีพ ความต้องการของตลาดเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ เวลาและทุนทรัพย์ที่ใช้ในการเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพ
  3. การใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกอาชีพ นักแนะแนวช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจเลือกอาชีพ โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์อาชีพประกอบกัน

นับได้ว่าพาร์สันส์เป็นผู้นำแนวความคิดในการพิจารณาวิเคราะห์คุณสมบัติของบุคคลก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพ ต่อจากนั้นมีการตื่นตัวเกี่ยวกับการใช้กลวิธีต่างๆ ในการวิเคราะห์บุคคล ทั้งกลวิธีที่ใช้แบบทดสอบและไม่ใช้แบบทดสอบ ได้มีผู้จัดทำแบบทดสอบต่างๆ ขึ้น เช่น แบบทดสอบสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ และมีผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพขึ้นเพื่อใช้ในการแนะแนวอาชีพ[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. วัชรี ทรัพย์มี. การแนะแนวในโรงเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2531
  2. วัชรี ทรัพย์มี, การแนะแนวในโรงเรียน, หน้า 18-20.