ข้ามไปเนื้อหา

การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party-list proportional representation) หรือ ปาร์ตีลิสต์ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบหนึ่งของไทยตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นอกจากระบบแบ่งเขต โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว โดยถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

[แก้]

ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีพรรคการเมืองละ 1 บัญชี ไม่เกินบัญชีละ 100 คน โดยมีหลักเกณฑ์ตามลำดับ ดังนี้

  1. ประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม
  2. ไม่ซ้ำกับรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองอื่นจัดทำขึ้น และไม่ซ้ำกับรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
  3. จัดทำรายชื่อเรียงตามลำดับหมายเลข

ประชาชนผู้เลือกตั้งจะพิจารณาเลือกพรรคที่ชื่นชอบจากบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค และเลือกได้คนละ 1 พรรคการเมือง การคำนวณหาผู้ได้รับเลือกตั้งในกรณีของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จะคำนวณจากสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้รับเลือกในแต่ละพรรคการเมือง โดยมีวิธีดังนี้คือ

  1. รวมคะแนนของทุกพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน เป็นคะแนนเสียงรวม
    1. พรรคใดได้คะแนนเสียงต่ำกว่าร้อยละ 5 ของคะแนนเสียงรวม ให้ถือว่าไม่ได้รับการเลือกตั้ง (เพื่อไม่ให้พรรคเล็กพรรคน้อยเต็มสภา ซึ่งจะส่งผลให้สภามีเสถียรภาพมากขึ้น)
  2. นำคะแนนเสียงรวม ลบออกด้วยคะแนนของพรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 5 แล้วนำไปหาร 100 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อผู้แทน 1 คน
  3. นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนผู้แทนระบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
    1. เศษทศนิยม ให้ปัดทิ้งทั้งหมด แต่ให้เก็บข้อมูลเศษทศนิยมของแต่ละพรรคไว้ (เช่น พรรค ก ได้ 52.7 คน ปัดทิ้งเหลือ 52)
    2. รวมจำนวนผู้แทนของทุกพรรค หากยังได้ไม่ครบ 125 ให้กลับไปดูที่เศษทศนิยมของแต่ละพรรค พรรคใดที่มีเศษเหลือมากที่สุด ให้เพิ่มจำนวนผู้แทนจากพรรคนั้น 1 คน หากยังไม่ครบ ให้เพิ่มผู้แทนจากพรรคที่มีเศษเหลือมากเป็นอันดับสองขึ้นอีก 1 คน ทำเช่นนี้ตามลำดับจนกว่าจะได้ครบ 125 คน (เช่น พรรค ก ได้ 52.7 คน ตอนแรกได้ 52 เศษ 0.7 แต่ถ้าจำนวนผู้แทนยังไม่ครบ และไม่มีพรรคใดมีเศษมากกว่า 0.7 พรรค ก จะได้เพิ่มเป็น 53 คน)

ตัวอย่างการคิดคะแนน

[แก้]

มีพรรคการเมืองลงสมัคร 7 พรรค ได้แก่พรรค ก., ข., ค., ง., จ., ช., ซ. ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบอบบัญชีรายชื่อผลออกมาเป็นดังนี้

  • พรรค ก. ได้ 20 ล้านคะแนน
  • พรรค ข. ได้ 15 ล้านคะแนน
  • พรรค ค. ได้ 12 ล้านคะแนน
  • พรรค ง. ได้ 10 ล้านคะแนน
  • พรรค จ. ได้ 2 ล้านคะแนน
  • พรรค ช. ได้ 0.7 ล้านคะแนน
  • พรรค ซ. ได้ 0.3 ล้านคะแนน

รวมคะแนนของทุกพรรค ได้ 60 ล้านคะแนน จำนวนร้อยละ 5 ของคะแนนทั้งหมดจะเป็น 3 ล้านคะแนน

เพราะฉะนั้นคะแนนของ พรรค จ., ช., ซ. จะไม่ถูกนำมาคิดสัดส่วนสส.เพราะคะแนนไม่ถึงร้อยละ 5

3 พรรคที่ถูกตัดไป มีคะแนนรวมกัน 3 ล้านคะแนน หักลบออกจาก 60 ล้านคะแนน เหลือ 57 ล้านคะแนน หารด้วยจำนวนผู้แทน คือ 100 คน จะได้ 570,000

เราจะต้องเอา 570,000 มาหารกับคะแนนทั้งหมดของแต่ละพรรค โดยเศษจากผลหารให้ปัดทิ้งทั้งหมดก่อน แต่ให้เก็บข้อมูลจำนวนเศษไว้

  • พรรค ก. ได้สส. 35.09 = 35 คน เศษ 0.09 คน
  • พรรค ข. ได้สส. 26.32 = 26 คน เศษ 0.32 คน
  • พรรค ค. ได้สส. 21.05 = 21 คน เศษ 0.05 คน
  • พรรค ง. ได้สส. 17.54 = 17 คน เศษ 0.54 คน

เมื่อรวมจำนวนผู้แทนจากทั้ง 4 พรรคในรอบแรกจะได้ 99 คน ซึ่งจะขาดอีก 1 คน ฉะนั้นจะต้องพิจารณาเศษคะแนนว่าพรรคใดจะมีเศษคะแนนมากที่สุด ผลปรากฏว่า

  • พรรค ก. เศษเท่ากับ 0.09 คน
  • พรรค ข. เศษเท่ากับ 0.32 คน
  • พรรค ค. เศษเท่ากับ 0.05 คน
  • พรรค ง. เศษเท่ากับ 0.54 คน

พรรค ง. เศษมีมากที่สุดจึงได้ สส. เพิ่มอีก 1 คน จาก 17 เป็น 18 คน ซึ่งเมื่อรวมจำนวนจากพรรคอื่น ๆ จะเท่ากับ 100 คนครบพอดี สรุปได้ว่า

  • พรรค ก. ได้สส. 35 คน
  • พรรค ข. ได้สส. 26 คน
  • พรรค ค. ได้สส. 21 คน
  • พรรค ง. ได้สส. 18 คน
  • พรรค จ. ช. และ ซ. ไม่ได้สส.
ที่ พรรคการเมือง ได้คะแนน จำนวน ส.ส. จากการคำนวณครั้งแรก เหลือเศษ จำนวน ส.ส. ที่ได้เพิ่มจากการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น
1 พรรค ก. 20,000,000 35 50,000 0 35
2 พรรค ข. 15,000,000 26 180,000 0 26
3 พรรค ค. 12,000,000 21 30,000 0 21
4 พรรค ง. 10,000,000 17 310,000 1 18
5 พรรค จ. 2,000,000 0 - - 0
6 พรรค ช. 700,000 0 - - 0
7 พรรค ซ. 300,000 0 - - 0
รวม 99 1 100

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

[แก้]

ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ไม่มีการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ แต่มีการเลือกตั้งในอีกรูปแบบที่คล้ายกัน คือ แบบสัดส่วน โดยให้มีผู้แทนในระบบสัดส่วน 80 คน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะแบ่งประเทศไทยออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน และแต่ละเขตมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นผืนเดียว แต่ละพรรคการเมืองจะต้องส่งรายชื่อผู้สมัคร 8 บัญชี ลงสมัครใน 8 กลุ่มจังหวัด บัญชีละไม่เกิน 10 คน เรียงตามลำดับหมายเลข

ในแต่ละกลุ่มจังหวัด จะมีการการคำนวณจำนวนผู้แทนในแต่ละพรรคหลังการนับคะแนนแล้วในเงื่อนไขเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ได้ยกเลิกเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทิ้งไป ซึ่งจะได้จำนวนผู้แทนกลุ่มจังหวัดละ 10 คน เมื่อรวมผู้แทนทั้ง 8 กลุ่มจังหวัดเข้าด้วยกันก็จะได้จำนวนผู้แทนทั้งสิ้น 80 คน

ตัวอย่างการคิดคะแนน

[แก้]

ในกลุ่มจังหวัดหนึ่ง มีพรรคการเมืองลงสมัคร 7 พรรค ได้แก่พรรค ก., ข., ค., ง., จ., ช., ซ. ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบอบบัญชีรายชื่อผลออกมาเป็นดังนี้

  • พรรค ก. ได้ 2.0 ล้านคะแนน
  • พรรค ข. ได้ 1.5 ล้านคะแนน
  • พรรค ค. ได้ 1.2 ล้านคะแนน
  • พรรค ง. ได้ 1.0 ล้านคะแนน
  • พรรค จ. ได้ 0.2 ล้านคะแนน
  • พรรค ช. ได้ 7 หมื่นคะแนน
  • พรรค ซ. ได้ 3 หมื่นคะแนน

คะแนนรวมในกลุ่มจังหวัดเท่ากับ 6 ล้านคะแนน แต่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 แล้ว ทุกพรรคจึงมีสิทธิ์ได้ร่วมในการคำนวณ

6 ล้านคะแนน หารจำนวนผู้แทน 10 คน ได้คะแนนเฉลี่ย 600,000 คะแนนต่อผู้แทน 1 คน นำตัวเลข 600,000 หารจำนวนคะแนนของแต่ละพรรค ได้ดังนี้

  • พรรค ก. ได้ผู้แทน 3.33 คน = 3 คน เศษ 0.33
  • พรรค ข. ได้ผู้แทน 2.50 คน = 2 คน เศษ 0.50
  • พรรค ค. ได้ผู้แทน 2.00 คน = 2 คน ไม่มีเศษ
  • พรรค ง. ได้ผู้แทน 1.67 คน = 1 คน เศษ 0.67
  • พรรค จ. ได้ผู้แทน 0.33 คน = 0 คน เศษ 0.33
  • พรรค ช. ได้ผู้แทน 0.12 คน = 0 คน เศษ 0.12
  • พรรค ซ. ได้ผู้แทน 0.05 คน = 0 คน เศษ 0.05

รวมจำนวนผู้แทนในรอบแรก 3+2+2+1 = 8 คน แต่ต้องการ 10 คน จึงพิจารณาข้อมูลเศษของแต่ละพรรคการเมือง และเพิ่มจำนวนผู้แทนให้พรรคที่มีเศษสูงสุด 2 พรรคแรกพบว่า

พรรคที่มีเศษมากที่สุด คือ พรรค ง. มีเศษ 0.67 คน จึงเพิ่มจำนวนผู้แทนพรรค ง. ขึ้นอีก 1 คน เป็น 2 คน

พรรคที่มีเศษเป็นอันดับที่สอง คือ พรรค ข. มีเศษ 0.50 คน จึงเพิ่มจำนวนผู้แทนพรรค ข. อีก 1 คน รวมเป็น 3 คน สรุปได้ว่า

ที่ พรรคการเมือง ได้คะแนน จำนวน ส.ส. จากการคำนวณครั้งแรก จำนวน ส.ส. ที่ได้เพิ่มจากการคำนวณ ส.ส.แบบสัดส่วนทั้งสิ้น
1 พรรค ก. 2,000,000 3 0 3
2 พรรค ข. 1,500,000 2 1 3
3 พรรค ค. 1,200,000 2 0 2
4 พรรค ง. 1,000,000 1 1 2
5 พรรค จ. 200,000 0 0 0
6 พรรค ช. 70,000 0 0 0
7 พรรค ซ. 30,000 0 0 0
รวม 8 2 10

นี่คือตัวอย่างการคำนวณจำนวนผู้แทนในหนึ่งกลุ่มจังหวัด ทั้ง 8 กลุ่มจะมีการคำนวณในวิธีดังกล่าวนี้ แล้วจึงนำจำนวนผู้แทนมารวมกัน ในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 แล้ว คะแนนที่คำนวณมาจากคะแนนรวมทั้งหมดทุกพรรค ในตัวอย่างนี้แม้พรรค จ. ช. และ ซ. จะไม่ได้มีผู้แทน แต่เป็นเพราะคะแนนไม่พอที่จะปัดเศษได้ มิใช่เพราะไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฉบับแก้ไข

[แก้]

การเลือกตั้งแบบสัดส่วนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ เพราะการปัดเศษถึง 8 ครั้ง ใน 8 กลุ่มจังหวัด ทำให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นช่องว่างที่กว้างขึ้น และอีกหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นก่อนการเลือกตั้งปี 2554 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกระบบสัดส่วนทิ้งไป กลับมาใช้ระบบบัญชีรายชื่อ บัญชีเดียวทั่วประเทศ แต่ได้เพิ่มจำนวนจาก 80 เป็น 125 คน และไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนน

การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งหนังสือยินยอมของผู้สมัคร และเงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท และมีหลักฐานการสมัครครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 125 คน โดยไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำที่แต่ละพรรคจำเป็นจะต้องได้เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[1] ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้เคยถูกกำหนดไว้ให้พรรคที่นำมาคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีคะแนนขั้นต่ำร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งหมดจึงนำมาคำนวณ[2]

ตัวอย่างการคิดคะแนน

[แก้]

จำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้กำหนดสมมุติว่าเท่ากับ 61 ล้านคน (61 ล้านคะแนน)

พรรค ก., ข., ค., ง., จ., ช., ซ. ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบอบบัญชีรายชื่อผลออกมาเป็นดังนี้

  • พรรค ก. ได้ 20 ล้านคะแนน
  • พรรค ข. ได้ 15 ล้านคะแนน
  • พรรค ค. ได้ 12 ล้านคะแนน
  • พรรค ง. ได้ 10 ล้านคะแนน
  • พรรค จ. ได้ 2 ล้านคะแนน
  • พรรค ช. ได้ 7 แสนคะแนน
  • พรรค ซ. ได้ 3 แสนคะแนน
  • ไม่ลงคะแนนพรรคใดหรือบัตรเสีย 1 ล้านคะแนน

ฉะนั้นคะแนนของ 7 พรรคจะรวมกันได้ 60 ล้านคะแนน จะต้องนำคะแนนมาหาร 125 จะได้เท่ากับ 4 แสน 8 หมื่นคะแนน

เราจะต้องเอา 480,000 มาหารกับคะแนนทั้งหมดของแต่ละพรรค ซึ่งถ้าคะแนนถึง 480,000 ก็จะได้สส.อย่างน้อย 1 คน (จำนวนที่คิดได้นี้จะปัดเศษทั้งหมด เพื่อดูก่อนว่าจะได้สส.ครบ 125 คนหรือไม่)

  • พรรค ก. ได้สส. 41 คน
  • พรรค ข. ได้สส. 31 คน
  • พรรค ค. ได้สส. 25 คน
  • พรรค ง. ได้สส. 20 คน
  • พรรค จ. ได้สส. 4 คน
  • พรรค ช. ได้สส. 1 คน
  • พรรค ซ. ได้สส. 0 คน

รวมแล้วจะได้สส. 122 คน ซึ่งจะขาดอีกเพียง 3 คน ฉะนั้นจะต้องพิจารณาเศษคะแนนว่าพรรคใดจะใกล้เคียงมากที่สุด ผลปรากฏว่า

  • พรรค ก. เศษเท่ากับ 320,000 คะแนน
  • พรรค ข. เศษเท่ากับ 120,000 คะแนน
  • พรรค ค. เศษเท่ากับ 0 คะแนน
  • พรรค ง. เศษเท่ากับ 400,000 คะแนน
  • พรรค จ. เศษเท่ากับ 80,000 คะแนน
  • พรรค ช. เศษเท่ากับ 220,000 คะแนน
  • พรรค ซ. เศษเท่ากับ 300,000 คะแนน
  • พรรค ง., ก., ซ. มีเศษมากที่สุด 3 อันดับแรก จึงได้ สส. เพิ่มอีกพรรคละ 1 คน ซึ่งจะเท่ากับ 125 คนพอดี สรุปได้ว่า

สรุปการคิดคะแนน

[แก้]
  • พรรค ก. ได้สส. 42 คน
  • พรรค ข. ได้สส. 31 คน
  • พรรค ค. ได้สส. 25 คน
  • พรรค ง. ได้สส. 21 คน
  • พรรค จ. ได้สส. 4 คน
  • พรรค ช. ได้สส. 1 คน
  • พรรค ซ. ได้สส. 1 คน
ที่ พรรคการเมือง ได้คะแนน จำนวน ส.ส. จากการคำนวณครั้งแรก เหลือเศษ จำนวน ส.ส. ที่ได้เพิ่มจากการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น
1 พรรค ก. 20,000,000 41 320,000 1 42
2 พรรค ข. 15,000,000 31 120,000 0 31
3 พรรค ค. 12,000,000 25 0 0 25
4 พรรค ง. 10,000,000 20 400,000 1 21
5 พรรค จ. 2,000,000 4 80,000 0 4
6 พรรค ช. 700,000 1 220,000 0 1
7 พรรค ซ. 300,000 0 300,000 1 1
รวม 122 3 125

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

[แก้]

ใช้ระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [1] เก็บถาวร 2011-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง : การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 2554.
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ เลือกตั้ง 2550

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]