การเนรเทศพระภิกษุสงฆ์ออกจากประเทศเนปาล
การเนรเทศพระภิกษุสงฆ์ออกจากประเทศเนปาล เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลราณา ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในประเทศเนปาล ตรงกับต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มต้นจากการเนรเทศพระภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงกาฐมาณฑุสองครั้ง ใน พ.ศ. 2469 และ พ.ศ. 2487 ตามลำดับ
พระภิกษุกลุ่มนี้คือนักบวชนิกายเถรวาทที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ หลังนิกายดังกล่าวสูญหายไปจากเนปาลตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ก่อนถูกแทนที่ด้วยศาสนาพุทธแบบเนวาร ซึ่งเป็นศาสนาพุทธนิกายวัชรยานรูปแบบหนึ่ง ทว่าตระกูลราณา ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ไม่ชอบใจการดำรงอยู่ของศาสนาพุทธและภาษาเนวาร พวกเขามองว่ากิจกรรมฟื้นฟูศาสนาของพระภิกษุ และจำนวนพุทธศาสนิกชนที่เพิ่มขึ้นเป็นภัยคุกคาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำการข่มเหงคะเนงร้ายหรือคุมขังพระภิกษุชาวเนวาร ที่สุดแล้วพระภิกษุทั้งสองกลุ่มก็ถูกเนรเทศออกไป โดยตั้งข้อหาไว้ว่าการกระทำของพระภิกษุนั้นเป็นการเผยแผ่ศาสนาใหม่, ทำให้ผู้คนละทิ้งศาสนาฮินดู, ส่งเสริมให้สตรีละทิ้งครอบครัว และเขียนหนังสือด้วยภาษาเนวาร[1][2]
การขับไล่ใน พ.ศ. 2469
[แก้]มีการขับไล่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 5 รูป และคุรุชาวทิเบตอีกคนหนึ่งออกนอกประเทศเนปาล มีรายชื่อ คือ พระพุทธฤษี มหาปรัชญา, พระมหาวิริยะ, พระมหาจันทระ, พระมหาขันติ และพระมหาชญานะ ส่วนคุรุชาวทิเบต มีนามว่า เซริง นอร์บู (Tsering Norbu) โดยพระภิกษุสงฆ์นี้ผ่านการอุปสมบทในศาสนาพุทธแบบทิเบต
รัฐบาลต่อต้านพระพุทธฤษี มหาปรัชญา เพราะพระรูปนี้มีชาติกำเนิดเป็นชาวฮินดู แต่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุเดินบิณฑบาตในกรุงกาฐมาณฑุ ตำรวจจึงจับกุมพระภิกษุสงฆ์ส่งเข้าคุก แล้วสอบปากคำ ต่อมาจันทระ ศัมเศร์ ชังค์ พหาทุระ ราณา นายกรัฐมนตรีเนปาลในขณะนั้นได้สั่งเนรเทศพระภิกษุสงฆ์นี้ทั้งหมด โดยมีคำสั่งให้พระภิกษุเก็บของภายในสองสามวัน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องกลับมาพักในสถานีตำรวจ เมื่อการเก็บของเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจก็นำส่งคณะสงฆ์นี้ไปยังชายแดนประเทศอินเดีย พระภิกษุทั้งห้ารูปและคุรุเดินทางไปยังพุทธคยา ประเทศอินเดีย ต่อมาพระสงฆ์ได้แยกย้ายกระจัดพลัดพรายกันไป บางรูปอยู่ที่ประเทศพม่า บางรูปไปอยู่ทิเบต[3]
การขับไล่ใน พ.ศ. 2487
[แก้]มีการขับไล่พระภิกษุสงฆ์จำนวนแปดรูป ประกอบด้วย พระปรัชญานันทะ มหาสถวีร์, พระธัมมโลก มหาสถวีร์, พระสุโภธนันทะ, พระปรัชญารัศมี, พระปรัชญารสะ, พระรัตนชโยติ, พระอัคคธัมมะ และพระกุมารกาศยัป มหาสถวีร์[4] คราวนี้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า สั่งสอนให้สตรีละทิ้งศาสนาฮินดู และเขียนหนังสือด้วยภาษาเนวาร จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดถูกเรียกไปพบกับชุทธะ ศัมเศร์ ชังค์ พหาทุระ ราณา นายกรัฐมนตรีเนปาลในขณะนั้น โดยให้พระภิกษุสงฆ์ลงนามเพื่อปฏิญาณว่าจะหยุดกิจกรรมทางศาสนา แต่พระภิกษุทั้งหมดปฏิเสธ จึงมีคำสั่งเนรเทศพระภิกษุสงฆ์ออกนอกประเทศอีกครั้ง[5]
เมื่อเดินทางออกนอกประเทศ พระภิกษุเดินทางไปยังกุสินาราและสารนาถในประเทศอินเดีย ณ ที่นั่น พวกเขาได้ก่อตั้งสมาคมธรรโมทยสภา เป็นองค์กรพลัดถิ่นเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาและตีพิมพ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนา ภิกษุบางรูปยังคงพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย แต่บางรูปก็เดินทางไปยังประเทศศรีลังกา ภูฏาน และทิเบต[6] โดยมีภาชุรัตนะ กังสการ พ่อค้าชาวเนปาลในเมืองกาลิมปง เป็นโยมอุปัฏฐาก เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูรายใหญ่เมื่อคราวพระภิกษุสงฆ์พลัดถิ่นอยู่นานหลายปี[7][8] ทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญในการฟื้นฟูศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในประเทศเนปาล[9][10]
คืนแผ่นดินแม่
[แก้]มีคณะเผยแผ่ศาสนาพุทธจากประเทศศรีลังกาเดินทางเข้าไปในกาฐมาณฑุใน พ.ศ. 2489 คณะเผยแผ่นี้ย้ำว่าเนปาลเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกของพระองค์ควรได้รับอิสระในการแสดงออกถึงศรัทธาในดินแดนพุทธภูมิ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเนปาลได้ยกเลิกต่อต้านศาสนาพุทธ พระภิกษุสงฆ์หวนกลับมาอุทิศตนเพื่อพระศาสนาอีกครั้ง[11][12]
ต่อมาการปกครองของตระกูลราณาถูกกำจัดโดยคณะปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2494 และจัดตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศเนปาล ด้วยเหตุนี้การปราบปรามศาสนาพุทธอย่างโจ่งแจ้งของรัฐบาลเนปาลจึงสิ้นสุดลงไป[13][14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ LeVine, Sarah and Gellner, David N. (2005). Rebuilding Buddhism: The Theravada Movement in Twentieth-Century Nepal. Harvard University Press. ISBN 0-674-01908-3, ISBN 978-0-674-01908-9. Page 48.
- ↑ "Theravada Buddhism in Modern Nepal". Lumbini Nepalese Buddha Dharma Society (UK). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 August 2014. สืบค้นเมื่อ 9 May 2013.
- ↑ Dietrich, Angela (1996). "Buddhist Monks and Rana Rulers: A History of Persecution". Buddhist Himalaya: A Journal of Nagarjuna Institute of Exact Methods. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2011.
- ↑ "Theravada Buddhism in Modern Nepal". Lumbini Nepalese Buddha Dharma Society (UK). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 August 2014. สืบค้นเมื่อ 15 May 2013.
- ↑ Tuladhar, Kamal Ratna (7 April 2012). "The monks in yellow robes". The Kathmandu Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 April 2012. สืบค้นเมื่อ 17 May 2013.
- ↑ Hilker, DS Kansakar (2005). "Expulsion of Buddhist monks from Nepal". Syamukapu: The Lhasa Newars of Kalimpong and Kathmandu. Kathmandu: Vajra Publications. p. 58. ISBN 99946-644-6-8.
- ↑ Dietrich, Angela (1996). "Buddhist Monks and Rana Rulers: A History of Persecution". Buddhist Himalaya: A Journal of Nagarjuna Institute of Exact Methods. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2013. สืบค้นเมื่อ 24 June 2013.
- ↑ Vandya, R. B. (1978). Sanghanayaka Ven. Pragnananda Mahasthabir: A Concise Biography. Chandra Devi Shakya, Ratna Devi Shakya. p. 35. สืบค้นเมื่อ 24 June 2013.
- ↑ LeVine, Sarah; Gellner, David N. (2005). Rebuilding Buddhism: The Theravada Movement in Twentieth-Century Nepal. Harvard University Press. p. 103. ISBN 978-0-674-01908-9.
- ↑ "Trading". Jyoti Group. สืบค้นเมื่อ 16 June 2013.
- ↑ Dietrich, Angela (1996). "Buddhist Monks and Rana Rulers: A History of Persecution". Buddhist Himalaya: A Journal of Nagarjuna Institute of Exact Methods. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2011.
- ↑ "Boudddha Bhichhuharu" (PDF). Gorkhapatra. 3 September 1946. สืบค้นเมื่อ 12 May 2013.[ลิงก์เสีย] Page 7.
- ↑ Savada, Andrea Matles, บ.ก. (1991). "The Return of the King". Nepal: A Country Study. Washington: GPO for the Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 16 May 2013.
- ↑ Panday, Tulsi Ram; Mishra, Surendra; Chemjong, Dambar; Pokhrel, Sanjeev; Rawal, Nabin (2006). "Forms and Patterns of Social Discrimination in Nepal" (PDF). UNESCO Kathmandu Office. p. 67. สืบค้นเมื่อ 16 May 2013.