ข้ามไปเนื้อหา

การอ่านใจแบบเย็น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การอ่านใจแบบเย็น (อังกฤษ: cold reading) เป็นเทคนิคที่ใช้โดยบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งผู้อ้างว่าตนมีอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่นผู้มีอำนาจทางจิตวิญญาณ (psychic) ผู้ทำนายอนาคต และสื่อวิญญาณ รวมทั้งนักแสดงเช่นนักมายากล[1] คือโดยที่ไม่ได้รู้อะไรล่วงหน้ามาก่อน ผู้ใช้เทคนิคนี้สามารถได้ข้อมูลเป็นจำนวนมากโดยวิเคราะห์สีหน้า อากัปกิริยา ท่าทาง อายุ เสื้อผ้า แฟชั่น ทรงผม เพศ รสนิยมทางเพศ ศาสนา เชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ระดับการศึกษา วิธีสำเนียงการพูด แหล่งกำเนิด ฯลฯ เทคนิคนี้มักจะเริ่มด้วยการเดาที่มีโอกาสถูกสูง แล้วตรวจดูปฏิกิริยาว่าอยู่ในแนวที่ถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นจึงกล่าวเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องที่ถูกโดยบังเอิญ โดยไม่ใส่ใจผ่านเรื่องที่เดาไม่ถูกไป

วิธีการโดยหลัก

[แก้]

ก่อนที่จะเริ่มการอ่าน ผู้อ่านอาจจะพยายามหาความร่วมมือ โดยกล่าวคำเป็นต้นว่า "ฉันมักจะเห็นภาพที่ไม่ค่อยชัดเจน ซึ่งอาจจะมีความหมายต่อคุณมากกว่าฉัน ถ้าคุณช่วย เราจะสามารถพบอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับคุณ" องค์ประกอบสำคัญที่สุดในการอ่านใจที่น่าเชื่อก็คือ ผู้รับการอ่านที่กระตือรือร้นในการเชื่อมความสัมพันธ์หรือตีความคำพูดที่คลุมเครือ เป็นการช่วยผู้อ่านให้เหมือนกับจะกล่าวสิ่งที่เฉพาะเจาะจงโดยรู้เอง แม้ว่าผู้อ่านจะเป็นคนพูดโดยมาก แต่ก็จะเป็นผู้รับอ่านที่ตีความให้ความหมายกับคำพูด

เมื่อกำหนดแล้วว่า ผู้รับการอ่านจะให้ความร่วมมือ ผู้อ่านจะกล่าวคำที่หาข้อมูลหรือถามปัญหา โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป ผู้รับการอ่านจะให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นผ่านคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นโดยการพูดหรือสีหน้าอากัปกิริยา ซึ่งจะทำให้การอ่านดำเนินต่อไปได้ โดยติดตามประเด็นที่ดูเหมือนจะถูกต้อง และทิ้งหรือหลีกเลี่ยงประเด็นที่จะไม่ให้ผลอะไร โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสิ่งที่เปิดเผยอาจจะดูเหมือนมาจากผู้อ่าน แต่ข้อมูลความจริงและคำพูดจะมาจากผู้รับการอ่าน ซึ่งผู้อ่านจะพูดประดิดประดอย เพื่อเสริมความคิดว่า ผู้อ่านได้กล่าวสิ่งที่ถูกต้อง

ตัวช่วยแม้ละเอียดเช่นสีหน้าหรืออากัปกิริยาจะสามารถบอกให้รู้ได้ว่า คำถามในแนวทางหนึ่ง ๆ ได้ผลแค่ไหน ถ้ารวมข้อมูลที่ได้จากเทคนิคนี้ กับที่ได้แบบแอบทำ (โดยเทคนิคที่เรียกว่า การอ่านใจแบบร้อน [hot reading]) จะทำให้เกิดความประทับใจว่า ผู้อ่านรู้หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลเป็นจำนวนมากของผู้รับการอ่าน และเพราะว่า ส่วนใหญ่ของเวลาในช่วงการอ่านจะใช้เน้นสิ่งที่พูดถูก และไม่สนใจผ่านส่วนที่ผิด ผลที่ได้คือความประทับใจว่า ผู้อ่านรู้เรื่องเกี่ยวกับผู้รับอ่านมากเกินกว่าที่คนแปลกหน้าจะรู้ได้

เทคนิคอื่น ๆ

[แก้]

นักวิมตินิยมเจมส์ อันเดอร์ดาวน์ ขององค์การนอกภาครัฐ "ศูนย์เพื่อการสอบสวน" (Center for Inquiry) ได้กล่าวไว้ว่า "ในสถานการณ์ห้องส่งที่เต็มไปด้วยผู้ชม การอ่านใจแบบเย็นไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ" เขาอธิบายจากมุมมองของคณิตศาสตร์ว่า ผู้ชมในห้องส่งจะมีประมาณ 200 แบ่งออกเป็น 3 พวก การประเมินอย่างต่ำแสดงว่า ผู้ชมแต่ละคนจะรู้จักคน 150 คน เมื่อผู้อ่านถามว่า "ใครคือมาร์กาเร็ต" เขาหวังว่า จะมีคนชื่อมาร์กาเร็ตคนหนึ่งในคนจำนวน 10,000 คนที่ผู้ชมพวกหนึ่งจะรู้จัก และถ้าไม่ได้คำตอบ ผู้อ่านก็จะเปิดคำถามนี้สำหรับผู้ชมทั้ง 3 พวก รวมคนรู้จักที่เป็นไปได้ถึง 30,000 คน มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจไหมล่ะถ้าจะพบคนชื่อมาร์กาเร็ต จากจำนวนตัวอย่างขนาดใหญ่นี้[2]

เทคนิคปืนลูกซอง

[แก้]

การยิงปืนลูกซอง (Shotgunning) เป็นชื่อของเทคนิคที่ใช้ในการอ่านใจแบบเย็น โดยใช้ชื่อตามปืนลูกซองที่ยิงกระสุนลูกเล็ก ๆ เป็นกลุ่มโดยหวังว่า กระสุนลูกหนึ่งหรือมากกว่านั้นจะถูกเป้า คือผู้อ่านให้ข้อมูลทั่วไปเป็นจำนวนมากอย่างช้า ๆ บ่อยครั้งแก่ผู้ชมทั้งหมด (บางชิ้นจะเป็นไปได้สูงที่จะถูกต้อง หรือว่าเกือบจะถูกต้อง หรือไม่ก็น่าแปลกใจสำหรับบางคน) แล้วสังเกตดูปฏิกิริยาของผู้ชม โดยเฉพาะทางสีหน้าอากัปกิริยา แล้วเริ่มใช้คำพูดที่แคบลง เป็นการตอบรับคนบางคนหรือแนวคิดบางอย่าง โดยประดิดประดอยคำพูดเดิมตามปฏิกิริยาที่ได้สังเกต เพื่อที่จะสร้างการตอบสนองทางอารมณ์จากผู้ชม ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ในห้องจะได้สูญเสียญาติผู้ใหญ่ หรือรู้จักคนอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีชื่อสามัญ (ของคนตะวันตก) เช่น ไมค์หรือจอห์น

การยิงปืนลูกซองอาจจะเป็นชุดคำพูดที่คลุมเครือเช่น

  • "ฉันเห็นปัญหาทางหัวใจกับคนที่เป็นเหมือนพ่อในครอบครัวของคุณ เช่นพ่อ ปู่หรือตา ลุง ลูกพี่ลูกน้อง ฉันเห็นการเจ็บหน้าอกอย่างชัดเจนสำหรับบุคคลเหมือนพ่อในครอบครัวของคุณ" (ปัญหาทางการแพทย์เป็นจำนวนมากมีอาการเจ็บหน้าอก และโรคหัวใจเป็นเหตุชั้นนำเรื่องความตายทั่วโลก)
  • "ฉันเห็นหญิงที่ไม่ใช่ญาติโดยสายเลือด เป็นคนใกล้เคียงคุณเมื่อกำลังโตขึ้น เป็นป้า เป็นเพื่อนแม่ เป็นแม่เลี้ยง ที่มีจุดดำอยู่ที่หน้าอก เป็นมะเร็งปอด โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม..." (คนโดยมากจะรู้จักหญิงคนหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคเหล่านี้)
  • "ฉันรู้สึกว่ามีชายอายุมากกว่าผู้หนึ่งในชีวิตของคุณ ที่ต้องการให้คุณรู้ว่า แม้ว่าพวกคุณจะมีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ในชีวิต เขาก็ยังรักคุณ" (คนเป็นจำนวนมากหรือแม้แต่โดยมากจะได้ทะเลาะกับคนเช่นว่ามาก่อน)

ปรากกฏการณ์ฟอเรอร์ หรือปรากฏการณ์บาร์นัม

[แก้]

ปรากฏการณ์ฟอเรอร์เกิดขึ้นได้โดยอาศัยความกระตือรือร้นของบุคคลที่จะเติมเต็มรายละเอียด และสัมพันธ์เรื่องที่พูดกับบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของตน บ่อยครั้ง เทียบกับชีวิตทั้งชีวิตที่จะหาจุดสัมพันธ์ หรือแม้แต่ตีความคำพูดโดยประการต่าง ๆ ที่จะให้สิ่งที่พูดเข้าได้กับตน

บทความบาร์นัม (เรียกตามชื่อของโชว์แมนผู้ขายโชว์หลอกลวง) เป็นบทความที่ดูเหมือนจะเฉพาะเจาะจงบุคคล แต่ความจริงเป็นเรื่องที่เข้ากับคนได้หลายคน[3] และแม้ว่าจะดูเหมือนเฉพาะเจาะจง บทความมักจะคลุมเครือ สามารถตีความได้หลายอย่าง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสาะหาปฏิกิริยาจากผู้รับการอ่าน จากนั้น ผู้อ่านก็จะสามารถกล่าวข้อความได้อย่างละเอียดพิศดารยิ่งขึ้น ที่ดูเหมือนจะบอกรายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับบุคคลนั้น ผู้อ่านที่มีพรสวรรค์หรือมีเสน่ห์ความดึงดูดใจสูง บางครั้งจะสามารถเคี่ยวเข็ญให้ผู้รับการอ่านยอมรับว่าพูดถูก โดยเคี่ยวเข็ญแล้วเคี่ยวเข็ญเล่าให้ยอมรับว่า ข้อความหนึ่งที่พูดนั้นเกี่ยวข้องกับตน หรือยืนยันว่า ผู้รับการอ่านไม่พยายามนึกอย่างเพียงพอ หรือว่าอาจจะกดเก็บความรู้สึกความจำอันสำคัญไว้ในใจ

บทความเช่นนี้อาจจะเป็น

  • ผมรู้สึกว่า คุณไม่ค่อยรู้สึกมั่นใจในตน โดยเฉพาะกับคนที่คุณไม่รู้จักดี
  • คุณมีกล่องรูปถ่ายที่ไม่ได้เรียงให้ดีในบ้านของคุณ
  • คุณมีอุบัติเหตุเมื่อเป็นเด็กเกี่ยวกับน้ำ
  • คุณกำลังมีปัญหากับเพื่อนหรือญาติ
  • คุณพ่อของคุณได้ถึงแก่กรรมเนื่องจากปัญหาที่หน้าอกหรือท้อง

ในบทความสุดท้ายนี้ ถ้าผู้รับการอ่านมีอายุพอสมควร พ่อของเขามีโอกาสสูงที่จะถึงแก่กรรมแล้ว และบทความนี้สามารถใช้ได้กับสภาวะทางการแพทย์ได้อย่างมากมาย รวมทั้งโรคหัวใจ ปอดบวม เบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตับแข็ง ไตวาย มะเร็งโดยมาก หรือว่าการเสียชีวิตทุกชนิดที่หัวใจหยุดเต้นก่อนจะตาย หรือที่ส่วนสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับปอดและหัวใจเสียหาย

เทคนิคการอ่านใจแบบอุ่น

[แก้]

การอ่านใจแบบอุ่น (อังกฤษ: Warm reading) เป็นเทคนิคใช้โดยนักแสดงอ่านใจและคนหลอกลวงทางจิตวิญญาณ เทียบกับ การอ่านใจแบบร้อน (อังกฤษ: hot reading) ที่ใช้ความรู้ล่วงหน้า และการอ่านใจแบบเย็นที่ใช้เรื่องทั่ว ๆ ไปที่สามัญต่อความเป็นมนุษย์ การอ่านใจแบบอุ่น เป็นการใช้ข้อความบาร์นัมอย่างสุขุม

เมื่อใช้เทคนิคจิตวิทยาเหล่านี้อย่างถูกต้อง สิ่งที่พูดจะทำให้รู้สึกว่า นักแสดงอ่านใจหรือคนหลอกลวง สามารถหยั่งรู้เองได้และมีพรสวรรค์ทางจิตวิญญาณ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่พูดจะเข้ากับเกือบทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไร มีอายุเท่าไร มาจากไหน มีวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติเช่นไร

ต่อไปนี้เป็นเรื่องการอ่านใจแบบอุ่นที่มาจากเว็บไซต์ Skeptic's Dictionary (พจนานุกรมนักวิมตินิยม)

การอ่านใจแบบอุ่นบางครั้งใช้หมายถึง "การใช้หลักจิตวิทยาที่มีอยู่ที่ประยุกต์ใช้ได้เกือบกับทุกคน" เมื่อกำลังทำการอ่านใจโดยจิตวิญญาณ (นักวิมตินิยม) ไมเคิล เชอร์เมอร์ใช้บทนี้อย่างนี้ ... นายเชอร์เมอร์ให้ข้อสังเกตว่า คนที่กำลังไว้ทุกข์อยู่จะใส่เครื่องประดับที่เกี่ยวข้องกับคนรักที่เสียชีวิตไป และการอ้างว่า คุณได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องประดับชิ้นหนึ่งของคนตายในระหว่างการอ่านจะทำให้ผู้ที่รับการอ่านตะลึง และจะเชื่อมความโดยถือเอาความนั้นว่า เป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นว่า คุณได้สัมผัสกับอีกโลกหนึ่ง[4]

อุบายสายรุ้ง

[แก้]

อุบายสายรุ้ง (อังกฤษ: rainbow ruse) เป็นการบอกผู้รับการอ่านทั้งบุคลิกภาพส่วนตัวที่เฉพาะเจาะจง และบอกบุคลิกภาพตรงกันข้ามไปพร้อม ๆ กัน โดยวิธีนี้ ผู้อ่านสามารถครอบคลุมความเป็นไปได้ทั้งหมด และดูเหมือนจะได้อ่านใจผู้รับการอ่านอย่างแม่นยำ ถึงแม้เรื่องที่บอกจะคลุมเครือและขัดแย้งกันเอง เทคนิคนี้ใช้ได้เพราะว่า บุคลิกภาพไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ และเพราะว่า เกือบทุก ๆ คนมีประสบการณ์กับอารมณ์ความรู้สึกทั้งสองด้านในชีวิตของตน

บทความแบบนี้รวมทั้ง

  • โดยมาก คุณมีความคิดเชิงบวกและมีอารมณ์ดี แต่ก็มีบางครั้งในอดีตที่คุณวุ่นวายใจมาก
  • คุณเป็นคนที่ใจดีและเกรงใจผู้อื่น แต่ถ้ามีคนที่ทำให้คุณเสียความไว้วางใจ คุณก็จะรู้สึกโกรธแค้น
  • ผมคิดว่า คุณโดยมากเป็นคนขี้อายและเงียบ ๆ แต่เมื่อได้อารมณ์ คุณสามารถจะกลายเป็นจุดเด่นของสังคมได้อย่างง่าย ๆ

ผู้อ่านใจแบบเย็นสามารถเลือกจากบุคลิกภาพหลายอย่าง พิจารณาบุคคลิกตรงกันข้าม แล้วเชื่อมมันด้วยกันในบทความเดียวกัน ด้วยคำคลุมเครือเกี่ยวกับอารมณ์ เวลา หรือโอกาส เป็นต้น

ผู้แสดงที่เปิดเผยเทคนิค

[แก้]

กลุ่มนักอ่านใจที่เป็นนักมายากลเห็นด้วยเกี่ยวกับการใช้เทคนิคนี้ ถ้าโฆษณาอย่างชัดเจนว่า เป็นการบันเทิงศิลป์ และไม่ได้แสดงตนว่า เป็นผู้มีอำนาจทางจิตวิญญาณ[5]

มีนักแสดงที่ใช้เทคนิคนี้ ที่บอกอย่างตรงไปตรงมาถึงการใช้เทคนิค[6][7] มีนักแสดงชาวตะวันตกหลายคน[8][7][9] ที่ใช้เทคนิคนี้ในการทำนายอนาคต หรือในเวทีเปิดเป็นแบบรายการ "คุยกับคนตาย" โดยเลียนแบบผู้ที่อ้างว่าเป็นสื่อวิญญาณได้จริง ๆ แต่หลังจากที่ได้รับการยกย่องและการปรบมือจากผู้ชม ก็จะเปิดเผยว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีอำนาจทางจิตวิญญาณที่จะแสดงได้อย่างนี้ เพียงแค่มีความรู้ทางจิตวิทยาที่สมควรและเทคนิคต่าง ๆ ในการอ่านใจแบบเย็น

การอ่านใจแบบเย็นโดยไม่ได้ตั้งใจ

[แก้]

มีอดีตผู้ชำนาญงานเกี่ยวกับจิตวิญญาณสมัยใหม่ผู้หนึ่งที่ได้กล่าวถึงการใช้ระบบการอ่านใจแบบเย็นโดยไม่รู้ตัว โดยให้สัมภาษณ์ว่า "ดิฉันไม่เข้าใจว่า ตัวเองได้ใช้รูปแบบหนึ่งของการอ่านใจแบบเย็นในงานของดิฉันมานานแล้ว ดิฉันไม่เคยได้ศึกษาเรื่องการอ่านใจแบบเย็น และไม่เคยจะคิดหลอกลวงใคร ดิฉันจับจุดเทคนิคได้ผ่านกระแสวัฒนธรรม" เธอบอกว่า เนื่องจากว่าเธอเป็นคนเข้าใจผู้อื่นได้ง่าย ดังนั้น จึงสามารถรู้ได้ง่าย ๆ ว่าคนมีปัญหาอะไรจึงมาหาเธอ และแทนที่จะแสดงความรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่างผู้ปรึกษาและผู้รับการปรึกษา เธอจึงแสดงสิ่งที่เธอสังเกตเห็นเป็นคำถามไม่ใช่เป็นข้อสังเกต การดำเนินงานอย่างมีมารยาทเช่นนี้ กลับชักชวนให้คนอื่นให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับปัญหายิ่งขึ้น[10]

นอกจากนั้นแล้ว สำหรับบางคนที่ได้ทำงานอ่านใจแบบเย็นเป็นร้อย ๆ ครั้งแล้ว ทักษะของตนอาจจะดีขึ้นถึงกับคิดว่าตนสามารถอ่านใจได้จริง ๆ คือจะเริ่มถามตนเองว่า ความสำเร็จที่ได้เป็นเพราะความรู้ทางจิตวิทยา การรู้เอง หรือว่าความสามารถเหนือธรรมชาติทางจิตวิญญาณ[11] นักวิมตินิยมในเรื่องเหนือธรรมชาติเรียกระยะความคิดเช่นนี้ว่า ช่วง "transcendental temptation" (การล่อใจอุตริวิสัย)[12] นักประวัติศาสตร์ในเรื่องอาถรรพ์และเวทมนตร์เตือนว่า ความรู้สึกเช่นนี้ อาจจะชักนำตนให้เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และนำไปสู่ความไร้เหตุผล[13]

ในสื่อ

[แก้]
  • "The Biggest Douche in the Universe" (เซาท์พาร์ก ปี 2545) สแตน มาร์ช ผู้เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในการ์ตูนชุดนี้ ได้เจอกับนักจิตวิญญาณจอห์น เอ็ดวาร์ด ในช่วงที่เข้าไปร่วมอยู่ในห้องส่งรายการทีวี Crossing Over ของเอ็ดวาร์ด หลังจากนั้น สแตนจึงใช้เทคนิคอ่านใจแบบเย็นกับคนที่ผ่านไปผ่านมาเพื่อที่จะให้เพื่อนเชื่อว่า เอ็ดวาร์ดเป็นคนหลอกลวง แต่กลับถูกเข้าใจผิดว่า เป็นนักจิตวิญญาณเด็ก จึงมีคนยกให้แสดงในรายการโทรทัศน์ของตนเองแข่งกับเอ็ดวาร์ด ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ "การปะลองอำนาจทางจิตวิญญาณ" ระหว่างสแตนกับเอ็ดวาร์ด ในที่สุด มนุษย์ต่างดาวได้เดินทางมาถึงแล้วประกาศยกเอ็ดวาร์ดให้เป็น "น้ำล้างก้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล"
  • ไซค์ (ปี 2550) ชอน สเป็นเซอร์ซึ่งเป็นตัวละครเอก ใช้การอ่านใจแบบเย็นเพื่อให้ตำรวจสืบสวนเชื่อว่าเขามีความสามารถเหนือธรรมชาติทางจิตวิญญาณ แต่จริง ๆ เขาใช้หลักตรรกศาสตร์ เหตุผล ทักษะสังเกตการณ์ที่เฉียบแหลม และการจดจำที่แม่นยำ เพื่อไขเงื่อนงำในคดี
  • เจาะจิตผ่าปริศนา (2551) ตัวละครเอกเป็นผู้เคยใช้เทคนิคเพื่อหลอกลวงว่ามีอำนาจทางจิตวิญญาณ แต่ปัจจุบันใช้เทคนิคในการช่วยไขคดีอาชญากรรม โดยเฉพาะเมื่อสัมภาษณ์พยานและผู้ต้องสงสัย< =">>{cite news |last = Whitaker |first = Monique |date = 8 March 2009 |title = The devil is in the details |work = The Times |url = http://www.thetimes.co.za/PrintEdition/Magazine/Article.aspx?id=949560[ลิงก์เสีย] |accessdate = 3 August 2009 }}</ref>
  • Leverage ทีมยอดจารชน ปล้นเหนือเมฆ (2553) ในฤดู 2 ตอน 13 "The Future Job" ดัลตัน แรนด์ เป็นนักหลอกลวงที่ใช้ทั้งการอ่านใจแบบร้อน (โดยการหาข้อมูลเบื้องหน้าก่อน) และการอ่านใจแบบเย็นเพื่อให้ผู้ชมเชื่อว่า เขาสามารถติดต่อคนตายได้ วิธีอ่านใจของเขาภายหลังถูกเปิดโปงโดยกลุ่มพระเอก[14]
  • อาชญากล ปล้นโลก (2556) หนึ่งในนักมายากลสี่คนที่เป็นตัวเอกคือนายเมอร์ริตต์ แม็คคินลีย์ เป็นนักอ่านใจที่ใช้เทคนิคการอ่านใจแบบเย็น (และวิธีสะกดจิต) เพื่อการกรรโชก และเพื่อการแสดงกลของเขา

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. Dutton, Denis (1988). "The cold reading technique". Experientia. 44 (4): 326–332. doi:10.1007/BF01961271. PMID 3360083. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-14. สืบค้นเมื่อ 30 June 2009.
  2. Underdown, James. "They See Dead People - Or Do They?: An Investigation of Television Mediums". CSI. Skeptical Inquirer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2012. สืบค้นเมื่อ 11 July 2015.
  3. Derren Brown Astrology (ภาพยนตร์). Youtube. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.}}
  4. "warm reading". Skeptic's Dictionary.
  5. The Dance by Brad Henderson, Brad Henderson and Henderson Productions, 2007
  6. Kari Coleman (2001). "My Psychic Adventure". Swift. 2 (3&4). สืบค้นเมื่อ 11 December 2006.
  7. 7.0 7.1 Rowland, Ian (1 April 2008). The Full Facts Book of Cold Reading: A Comprehensive Guide to the Most Persuasive Psychological Manipulation Technique in the World (4 ed.). London: Ian Rowland Limited. p. 240. ISBN 978-0-9558476-0-8.
  8. Lynne Kelly, Kari Coleman Coleman, Kari (2001). "My Psychic Adventure". Swift. 2 (3&4). สืบค้นเมื่อ 11 December 2006.
  9. Derren Brown Interview (1/6) - Richard Dawkins (ภาพยนตร์). Youtube. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  10. McLaren, Karla (May 2004). "Bridging the Chasm between Two Cultures". Skeptical Inquirer. สืบค้นเมื่อ 29 August 2012.
  11. Lesley, Ted (1994). Paramiracles. Hermetic Press.
  12. Kurtz, Paul (1986). The Transcendental Temptation. Prometheus books.
  13. Christopher, Milbourne (1970). ESP, Seers & Psychics: What the Occult Really is. Thomas Y. Crowell Co.
  14. Walker, Chad (9 February 2010). "TV Review: Leverage 2.13 - "The Future Job"". fandomania. สืบค้นเมื่อ 5 August 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]