การสังหารหมู่ที่เคลียร์เลก
39°53′51″N 122°31′58″W / 39.8974°N 122.53288°W
การสังหารหมู่ที่เคลียร์เลก (อังกฤษ: Clear Lake Massacre) หรือในสมัยหลังเรียก การสังหารหมู่ที่เกาะบลาดี (อังกฤษ: Bloody Island Massacre) เป็นการสังหารหมู่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1850 บนเกาะอันมีชื่อเป็นภาษาโปโมว่า โบโนโพที (Bo-no-po-ti) หรือ บาดอนนาโพที (Badon-napo-ti) หมายความว่า เกาะเก่า ตั้งอยู่ทางเหนือปลายเมืองเคลียร์เลก (Clear Lake) เทศมณฑลเลก (Lake County) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา[1][2] หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว ผู้คนก็ขนานนามเกาะโบโนโพทีว่า เกาะบลาดี (Bloody Island, หมายความว่า เกาะเลือดนอง)
ภูมิหลัง
[แก้]ปี 1847 ชาวอเมริกันสองคน คือ แอนดรูว์ เคลเซย์ (Andrew Kelsey) และ ชาลส์ สโตน (Charles Stone) ซื้อปศุสัตว์ฝูงใหญ่จากโคเซ มานูเอล ซัลบาดอร์ บาย์เยโค (Jose Manuel Salvador Vallejo) นายทหารชาวเม็กซิโก แล้วล่องไปถึงเกาะโบโนโพทีเป็นพวกแรก ณ ที่นั้น มีชาวโปโม (Pomo) กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นชนเผ่าฮูลานาโพ (Hoolanapo) อาศัยอยู่แล้ว ชาวอเมริกันสองคนนั้นจับเอาชาวโปโมลงเป็นทาส และทารุณกรรมนานัปการ เพื่อให้เลี้ยงปศุสัตว์ฝูงนั้นและทำไร่ไถนาให้แก่เขา ทั้งคู่เฆี่ยนตีและสังหารทาสตามอำเภอใจ ทั้งยังข่มขืนสตรีโปโมอีกจำนวนมาก วันหนึ่ง ๆ จะให้อาหารเป็นแป้งสาลีสี่ถ้วยต่อหนึ่งครอบครัว ถ้ามีผู้ขอเพิ่ม มีบันทึกไว้ว่า สโตนก็ฆ่าผู้นั้นเสียโดยไม่ชักช้า[3] ครั้นฤดูใบไม้ร่วง ปี 1849 เคลเซย์บังคับชาวโปโมอีกกลุ่ม เป็นชายทั้งสิ้นห้าสิบคน ไปขุดหาทองให้เขา ใช้งานเสร็จแล้วก็ขายทาสโปโมพวกนี้ให้แก่นักถลุงแร่ต่อ มีบันทึกว่า ชาวโปโมกลุ่มนี้อดอยากจนตายเป็นอันมาก และเหลือรอดกลับไปหาครอบครัวเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น[4]
ความอดทนของชาวโปโมมาถึงที่สุด เมื่อเคลเซย์กับสโตนข่มขืนภริยาของ ออกัสติน (Augustine) หัวหน้าเผ่าฮาลานาโพ ทั้งเผ่าจึงตัดสินใจบุกที่พำนักของเคลเซย์กับสโตน โดยวางแผนให้ภริยาหัวหน้าออกัสตินราดน้ำลงบนดินปืนของทั้งคู่เพื่อให้ใช้มิได้เสีย จากนั้น นักรบชาวโปโมแห่มาล้อมบ้านของคนทั้งสองในยามเช้าตรู่ แล้วใช้เกาทัณฑ์ระดมยิงเข้าไป เคลเซย์ต้องลูกเกาทัณฑ์ตาย ส่วนสโตนโจนออกหน้าต่างแล้วซ่อนหลังต้นหลิว แต่หัวหน้าออกัสตินตามเจอ และใช้ศิลาทุบเขาจนถึงแก่ชีวิต[4]
การสังหารหมู่
[แก้]กรมอัศวานึกที่ 1 แห่งทัพม้าสหรัฐอเมริกา (1st Dragoons Regiment of the United States Cavalry) ภายใต้การนำของ ร้อยโทนาธาเนียล ลีออน (Nathaniel Lyon) กับร้อยโท เจ. ดับเบิลยู. เดวิสัน (J. W. Davison)[2] เข้ายึดเกาะเพื่อลงโทษชาวโปโม พบเจอที่ใด ก็สังหารที่นั้น ไม่เลือกหญิง ชาย หรือเด็ก ชรา[2] กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาประเมินว่า กองทัพได้ฆ่าชาวโปโมไปหกสิบคน จากทั้งหมดสี่ร้อยคน ขณะที่เอกสารอื่น ๆ ว่า ชาวโปโมตายไปหลายร้อย ในบรรดาผู้ตายนี้ ถูกฆ่าที่แม่น้ำรัสเชิน (Russian River) เจ็ดสิบห้าคน[3]
มีชาวโปโมรอดตายมาเพียงเล็กน้อย ในจำนวนนั้นรวมถึง นิคา (Ni'ka) เด็กหญิงวัยหกปี หรือต่อมารู้จักในชื่อ ลิวซี มัวร์ (Lucy Moore) เธอหลบใต้แม่น้ำ แล้วหักปล้องอ้อมาใช้หายใจ ในภายหลัง ลูกหลานของเธอตั้งมูลนิธิลิวซีมัวร์ (Lucy Moore Foundation) เพื่อทำงานกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองกับชนที่มาอยู่ใหม่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งนี้[3]
เหตุการณ์ภายหลัง
[แก้]เมื่อการสังหารสงบแล้ว รัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกาสั่งให้ชาวโปโมล่าถอยไปอาศัยในตูบ (rancheria) เล็ก ๆ ที่รัฐบาลปลูกให้ ทำให้จำนวนชาวโปโมลดน้อยถอยลงเป็นอันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เหลืออยู่ก็ดำรงชีวิตอย่างแร้นแค้น และมีหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์เพียงสองสามเล่มในรัฐแคลิฟอร์เนียที่เอ่ยถึงเหตุการณ์สังหารหมู่หรือการที่ชาวแคลิฟอร์เนียทารุณชนพื้นเมือง[5]
มีการจัดทำหมุดประวัติศาสตร์สองหมุดไว้บนเกาะ หมุดแรกนั้น องค์การเนทีฟซันส์ออฟเดอะโกลเดินเวสต์ (Native Sons of the Golden West) ปักเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1942 บนถนนเรเคฺลอเมเชิน (Reclamation Road) ห่างจากทางหลวงแคลิฟอร์เนียหมายเลข 20 ไป 0.3 ไมล์ บนหมุดมีจารึกสั้น ๆ ว่า เป็นสมรภูมิระหว่างทหารอเมริกันกับชาวอินเดียนของหัวหน้าออกัสติน[5] ส่วนหมุดที่สองนั้น กรมอุทยานและนันทนาการ (Department of Parks and Recreation) ร่วมกับมูลนิธิลิวซีมัวร์ ปักเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2005 บนทางหลวงฯ หมายเลข 20 นั้นเอง บนหมุดมีถ้อยคำว่า พื้นที่ "สังหารหมู่ชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็ก" (massacre mostly of women and children)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Clear Lake's First People. เก็บถาวร 2009-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (pdf file) Habematolel Pomo of Upper Lake. (retrieved 27 Feb 2009)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Key, Karen. Bloody Island (Bo-no-po-ti). เก็บถาวร 2007-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Historical Marker Database. 18 June 2007 (retrieved 27 Feb 2009)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Elizabeth Larson, "Bloody Island atrocity remembered at Saturday ceremony" เก็บถาวร 2010-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Lake County News, 13 May 2007 (retrieved 27 Feb 2009)
- ↑ 4.0 4.1 Richerson, Pete and Scott Richerson. "Bloody Island" เก็บถาวร 2007-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, in Putah and Cache: A Thinking Mammal's Guide to the Watershed, ed. Amy J. Boyer, Jan Goggans, Daniel Leroy, David Robertson, and Rob Thayer, University of California, Davis, 2001 (retrieved 27 Feb 2009)
- ↑ 5.0 5.1 Historical Marker Database. Bloody Island เก็บถาวร 2011-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 1 Mar 2010.
- ↑ Montoliu, Raphael. Lake County News. "Lucy Moore Foundation seeks to create healing, understanding." เก็บถาวร 2011-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 26 Aug 2007. Retrieved 1 Mar 2010.