การว่าราชการในวัด
การว่าราชการในวัด (ญี่ปุ่น: 院政, insei; อังกฤษ: cloistered rule) เป็นการปกครองแผ่นดินญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่งในยุคเฮอัง ซึ่งจักรพรรดิญี่ปุ่นสละราชบัลลังก์แล้วแต่ยังคงพระราชอำนาจและอิทธิพลไว้อยู่ จักรพรรดิที่สละราชย์เหล่านี้มักเสด็จไปประทับในวัด แต่ยังคงควบคุมราชการต่อไปเพื่อคานอำนาจกับผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิพระองค์ใหม่และเหล่าแม่ทัพนายกอง ส่วนจักรพรรดิพระองค์ใหม่ก็ทำหน้าที่แต่ในทางประเพณีหรือทางการ[1]
การว่าราชการในวัดมีจักรพรรดิชิรากาวะเป็นผู้ริเริ่มเมื่อ ค.ศ. 1086[2]
ประวัติ
[แก้]จักรพรรดิญี่ปุ่นที่สละราชสมบัตินั้นเรียก ไดโจเท็นโน (มหาจักรพรรดิ) ไดโจเท็นโนที่ออกผนวชเรียก ไดโจโฮโอ (มหาธรรมราชา)
ประมวลกฎหมายริสึเรียวให้ไดโจเท็นโนยังคงใช้พระราชอำนาจบางประการได้ต่อไปอย่างเช่นกษัตริย์ การใช้อำนาจเช่นนี้ปรากฏครั้งแรก ๆ ในคราวจักรพรรดินีจิโตเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 จักรพรรดิโชมุเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 และจักรพรรดิอูดะเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 9
ครั้นสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตระกูลฮกเกะจากเครือฟูจิวาระครองราชสำนักในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เอาพระเจ้าแผ่นดินเป็นหุ่นเชิด พอ ค.ศ. 1068 จักรพรรดิโก-ซันโจขึ้นเสวยราชย์ นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในรอบ 200 ปีที่ไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลฮกเกะเลยไม่ว่าทางสายเลือดหรือสมรส พระองค์พยายามลดทอนอำนาจของตระกูลนี้ลง โดยอาศัยโอกาสที่ตระกูลฮกเกะขัดแย้งกับเหล่าพระญาติพระวงศ๋ต่าง ๆ เช่น ฟูจิวาระ โนะ โยริมิจิ และฟูจิวาระ โนะ โนริมิจิ พระองค์ได้ตราราชบัญญัติหลายประการที่ลดการสำเร็จราชการแทนพระองค์ลง ครั้น ค.ศ. 1072 พระองค์ประชวร จึงสละราชย์ให้จักรพรรดิชิรากาวะ แล้วเสด็จสวรรคตในปีถัดมา
ครั้น ค.ศ. 1086 จักรพรรดิชิรากาวะสละราชบัลลังก์ให้แก่จักรพรรดิโฮริกาวะ ผู้เป็นพระโอรสซึ่งเวลานั้นมีพระชนม์เพียง 4 พรรษา เพื่อปกป้องพระโอรสองค์น้อยจากบรรดาผู้พยายามช่วงชิงราชสมบัติ จักรพรรดิชิรากาวะจึงใช้พระบารมีจัดตั้งระบบว่าราชการในวัดขึ้น
เมื่อสิ้นยุคเฮอังนั้น ปรากฏว่า ระบบว่าราชการในวัดทำให้เกิดราชสำนักต่างหากจากราชสำนักในวัง ราชสำนักต่างหากนี้เป็นที่ว่าการของจักรพรรดิผู้พ้นจากบัลลังก์แล้ว แต่การตัดสินพระทัยต่าง ๆ ใช้บังคับได้เสมือนของพระมหากษัตริย์บนบัลลังก์ มีเจ้าหน้าที่คอยบังคับการตามพระราชประสงค์ เช่น อินเซ็ง (院宣) และอินโนโชกูดะชิบูมิ (院庁下文) ทั้งยังมีกองทัพส่วนพระองค์ต่างหาก เรียกว่า โฮกูเม็งโนะบูชิ (北面の武士) พฤติการณ์เหล่านี้เปิดช่องให้ตระกูลไทระ ซึ่งเป็นทหารในสังกัดโฮะกูเม็งฯ ได้เถลิงอำนาจทางการเมือง
ปลายยุคเฮอังนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินสละราชสมบัติออกผนวชต่อเนื่องกันหลายรัชกาล ถึงขนาดที่บางคราวมีไดโจโฮโอซึ่งยังทรงพระชนม์อยู่หลายพระองค์ในเวลาเดียวกัน[1]
แต่ในที่สุด การว่าราชการในวัดทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าแผ่นดินในวัดกับพระเจ้าแผ่นดินในวังนำไปสู่กบฏโฮเง็งเมื่อจักรพรรดิโทบะเสด็จสวรรคต ตามมาด้วยสงครามกลางเมือง คือ สงครามเก็มเป และการขึ้นสู่อำนาจของมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ โชกุนคนแรกแห่งยุคคามากูระ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Nussbaum, Louis-Frédéric. (2005). "Insei" in Japan Encyclopedia, p. 391., p. 391, ที่กูเกิล หนังสือ
- ↑ Ponsonby-Fane, Richard. (1959). The Imperial House of Japan, pp. 257-258.