ข้ามไปเนื้อหา

การแปลสิ่งเร้าผิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การลวงประสาทสัมผัส)
งานศิลป์ "Head on a Platter (ศีรษะในจาน)" แสดงที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ประจำภาค ในเมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย

การแปลสิ่งเร้าผิด[1] หรือ มายา[1][2] (อังกฤษ: illusion) หมายถึงความผิดพลาดหรือความบิดเบือนของการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีที่สมองจัดระเบียบและแปลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัส แม้ว่า การแปลสิ่งเร้าผิดจะบิดเบือนความเป็นจริง แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดกับคนโดยมาก[3]

การแปลสิ่งเร้าผิดอาจเกิดขึ้นทางประสาทสัมผัสใดก็ได้ในมนุษย์ แต่ภาพลวงตาเป็นการแปลสิ่งเร้าผิดที่รู้จักกันดีที่สุดและมีความเข้าใจกันมากที่สุด ที่มีความสนใจในภาพลวงตามากก็เพราะว่า การมองเห็นเป็นประสาทสัมผัสที่มีอิทธิพลมากที่สุด ซึ่งเห็นได้ในตัวอย่างเช่น คนที่กำลังดูการพูดดัดเสียง (ventriloquism[4]) ได้ยินเสียงว่ามาจากหุ่นที่อยู่ที่มือของคนพูด เนื่องจากว่า เห็นหุ่นนั้นขยับปากตามเสียงคำพูด (แต่ไม่เห็นคนพูดขยับปาก)[5]

การแปลสิ่งเร้าผิดบางอย่างมีเหตุจากข้อสันนิษฐานที่สมองมีเกี่ยวกับความเป็นจริงเมื่อเกิดการรับรู้ ข้อสันนิษฐานเหล่านั้นเกิดขึ้นอาศัยรูปแบบของสิ่งที่รับรู้, ความสามารถในการรับรู้ความลึกและการรับรู้ความเคลื่อนไหว, และความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยว่า วัตถุหรือลักษณะต่าง ๆ ของวัตถุนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงแม้ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสเกี่ยวกับวัตถุนั้นจะได้เปลี่ยนไปแล้ว ส่วนการแปลสิ่งเร้าผิดอื่น ๆ เกิดขึ้นอาศัยความเป็นไปในระบบการรับรู้ภายในร่างกาย หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ภายนอกร่างกายในสิ่งแวดล้อม

คำว่า การแปลสิ่งเร้าผิด หมายถึงการบิดเบือนความเป็นจริงทางการรับรู้ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยที่ไม่เหมือนกับอาการประสาทหลอน (hallucination) ซึ่งเป็นความบิดเบือนความเป็นจริงโดยไม่มีสิ่งเร้า การแปลสิ่งเร้าผิดเป็นการแปลผลความรู้สึก (อาศัยสิ่งเร้า) ที่มีขึ้นจริง ๆ ผิด ยกตัวอย่างเช่น การได้ยินเสียงโดยไม่มีเสียงจริง ๆ ในสิ่งแวดล้อมเป็นอาการประสาทหลอน แต่ว่า การได้ยินเสียงคนในเสียงน้ำที่กำลังไหลอยู่ (หรือในเสียงอื่น ๆ) เป็นการแปลสิ่งเร้าผิด

ละครไมม์ ผู้แสดงทำท่าเหมือนกับพิงอะไรอยู่ที่ไม่มีจริง ๆ

ละครไมม์เป็นบทการละเล่นลวงตาที่สร้างขึ้นโดยอาศัยการเคลื่อนไหวกาย คือผู้เล่นละครสร้างภาพลวงตาโดยเคลื่อนกายเหมือนกับทำปฏิกิริยากับวัตถุที่ไม่มี ภาพลวงตาเช่นนี้เกิดขึ้นได้อาศัยข้อสันนิษฐานที่ผู้ชมมีเกี่ยวกับความเป็นไปในโลกจริง ๆ บทเล่นที่รู้จักกันดีก็คือ "กำแพง" (คือทำปฏิกิริยากับกำแพงที่ไม่มี) "ปีนขึ้นบันได" "พิง" (ดูรูป) "ปีนลงบันได" และ "ดึงและผลัก"

เทคนิคและองค์ประกอบ

[แก้]

โดยองค์ประกอบและการรับรู้แล้วสมองจะมีการรับรู้แยกกันเป็นส่วนเบื้องต้นแล้วรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยมองภาพ รับสี เสียง การตัดสินใจจากความรู้ พฤติกรรมที่เป็นไปได้ ถ้าสิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อการควบคุมการทำงานการประมวลผลของสมอง เช่น การใช้แสงเพิ่มเข้ามา การทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ จะทำให้เกิดการบิดเบือนไปว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง แทนที่จะผิดพลาดหรือทำไม่ได้เลย

ผลกระทบกับสมอง

[แก้]

เนื่องด้วยเทคนิคนี่มีผลกระทบต่อการรับรู้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และการรับรู้ที่ผิดพลาด ส่วนมากเทคนิคดังกล่าวนั้นจะมีการนำไปใช้ในการแสดงมายากล และการแสดงในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถกระทำได้เลย เช่น การลอยตัว การบิน การเดินบนน้ำ การยกคนด้วยน้ำหรือสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ตามปกติธรรมดา

ซูเปอร์อิลลูชั่น

[แก้]

เป็นรูปแบบการแสดงที่ใช้เทคนิคระดับสูงในการเบี่ยงเบนสายตาและมุมมองให้เหมือนกับว่าทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถทำได้โดยปกติธรรมดา โดยมีการใช้เทคนิคนี้เป็นอย่างมากในการแสดงมายากล เช่น การลอยตัว การบิน การหายตัว การตัดตัว เดินบนน้ำ และการแสดงอื่น ๆ อีกมากมาย

ภาพลวงตา

[แก้]
จัตุรัส A มีสีเดียวกับจัตุรัส B แต่ดูเหมือนสีจะต่างกันโดยสิ้นเชิง (ภาพลวงตาสีเดียวกัน)

ภาพลวงตา หรือ การแปลสิ่งเร้าผิดทางตา (อังกฤษ: optical illusion) ก็คือ การเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือที่ทำให้เกิดความคิดผิด ๆ ดังนั้น ข้อมูลที่ตาได้รับเกิดการแปลผลในสมองที่ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่ตรงกับลักษณะจริง ๆ ของวัตถุที่เป็นสิ่งเร้า

มีความเชื่อโดยทั่ว ๆ ไปว่า มีภาพลวงตาที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และมีภาพลวงตาที่สร้างขึ้นได้โดยใช้กลอุบาย ที่สามารถใช้ศึกษาให้เข้าใจในระดับพื้นฐานว่า ระบบการรับรู้ในมนุษย์นั้นทำงานอย่างไร คือ สมองสร้างโลกจำลองขึ้นในหัวของเราโดยมีพื้นฐานจากข้อมูลที่มันเอามาเป็นตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม แต่ว่า บางครั้ง มันพยายามจัดระเบียบข้อมูลเหล่านั้นโดยวิธีที่คิดว่าดีที่สุด (ที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง) และบางครั้ง มันก็เติมข้อมูลที่ไม่มีให้เต็มเอง[6] วิธีการทำงานของสมองแบบนี้เป็นเหตุของการแปลสิ่งเร้าผิด ๆ

เสียงลวงหู

[แก้]
เสียงลวงประสาทหูแบบ Shepard tone ซึ่งเป็นวิธีการทำเสียงให้เหมือนกับกำลังสูงขึ้นหรือทุ้มลงอย่างต่อเนื่อง ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่ได้ไปทางไหนเลย

เสียงลวงหู หรือ การแปลสิ่งเร้าผิดทางหู (อังกฤษ: auditory illusion) ก็คือ การได้ยินเสียงที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือที่ทำให้เกิดความคิดผิด ๆ ซึ่งก็คือ การได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่ หรือว่าเป็นเสียงที่เป็นไปไม่ได้ โดยสรุปก็คือ การแปลสิ่งเร้าผิดทางหูชี้ข้อเท็จจริงว่า หูและสมองของมนุษย์เป็นเพียงอวัยวะทางชีวภาพ เป็นเพียงอุปกรณ์ชั่วคราวที่ไว้ใช้เฉพาะหน้า ไม่ใช่ระบบรับรู้เสียงที่สมบูรณ์ ตัวอย่างของการแปลสิ่งเร้าผิดทางหูอย่างหนึ่งก็คือ Shepard tone ซึ่งเป็นวิธีการทำเสียงให้เหมือนกับกำลังสูงขึ้นหรือทุ้มลงอย่างต่อเนื่อง ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่ได้ไปทางไหนเลย

การแปลสิ่งเร้าผิดทางสัมผัส

[แก้]

การแปลสิ่งเร้าผิดทางสัมผัส (อังกฤษ: tactile illusion) ก็คือ การรู้สึกทางสัมผัสที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือที่ทำให้เกิดความคิดผิด ๆ ตัวอย่างของการแปลสิ่งเร้าผิดทางสัมผัสรวมทั้งกลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ การลวงสัมผัสตะแกรงเหล็กร้อน การลวงสัมผัสที่ผิวหนังแบบกระต่าย และการลวงสัมผัสแปลกอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อไขว้นิ้วชี้กับนิ้วกลางแล้วใช้นิ้วทั้งสองลูบที่ดั้งจมูก โดยแต่ละนิ้วอยู่ที่แต่ละด้านของจมูก จะมีผลเป็นความรู้สึกว่ามีจมูกสองจมูก

ที่น่าสนใจก็คือ เขตในสมองที่เกิดการทำงานในการรับรู้สัมผัสที่ลวงประสาทกลับมีความคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นเมื่อมีสัมผัสแบบนั้นจริง ๆ[7] การลวงสัมผัสสามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้เทคโนโลยีสัมผัส (haptic technology)[8] เช่น สามารถใช้เทคนิคการลวงสัมผัสเพื่อใช้เป็นวัตถุเสมือน (virtual คือไม่มีอยู่จริง ๆ) เช่นในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้กำลังจัดการวัตถุเสมือน[9]

ประสาทสัมผัสอื่น ๆ

[แก้]

การแปลสิ่งเร้าผิดสามารถเกิดขึ้นทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ รวมทั้งที่ใช้ในการรับรู้เกี่ยวกับอาหาร ทั้งเสียง[10] และสัมผัส[11] สามารถลวง (บิดเบือน) ความรู้สึกเกี่ยวกับความเก่า (ความไม่สด) และความกรอบของอาหาร คือพบว่า

  • ถ้าให้ผู้รับการทดสอบเคี้ยวของที่ควรจะเป็นของกรอบ แต่เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงเหมือนกับเคี้ยวของนิ่ม ๆ ก็จะทำให้รู้สึกว่าของที่เคี้ยวไม่กรอบ (คือไม่สด) ในนัยตรงกันข้ามก็เช่นกัน[10]
  • ถ้าให้ผู้รับการทดลองถือขนมปังกรอบที่นิ่ม แต่ให้ทานขนมปังกรอบที่สด จะทำให้มีความรู้สึกว่า ขนมปังที่ทานเป็นของเก่า แต่ถ้าให้ถือขนมปังกรอบที่กรอบ แต่ให้ทานขนมปังกรอบที่นิ่ม (คือเก่า) จะทำให้มีความรู้สึกว่า ขนมปังที่ทานเป็นของสด[11]

นอกจากนั้นแล้ว ยังพบว่า ถ้าเซลล์ประสาทรับรสบนลิ้นเกิดความเสียหาย ก็ยังสามารถทำให้เกิดรสลวงโดยกระตุ้นความรู้สึกทางสัมผัสได้[12] มีหลักฐานด้วยว่า การแปลสิ่งเร้าผิดทางกลิ่นสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเล่าถึงกลิ่นนั้นให้ฟัง จะเป็นข้อมูลที่ถูกหรือจะผิดก็ตาม ก่อนที่จะให้ดมกลิ่นนั้น[13]

โรค

[แก้]

การแปลสิ่งเร้าผิดสามารถเกิดขึ้นได้เพราะเหตุแห่งโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง แม้ว่าผู้มีโรคอาจจะไม่ได้มีอาการแบบนี้ทุกคน แต่อาการการแปลสิ่งเร้าผิดเฉพาะอย่างจะมีกับโรคเฉพาะอย่าง ยกตัวอย่างเช่น คนไข้โรคไมเกรนมักจะรายงายว่ามีการเห็นออร่า (scintillating scotoma) ก่อนจะเกิดไมเกรน

ภาพวาดศิลป์แสดงออร่าที่เห็นก่อนไมเกรน

ในประสาทวิทยาศาตร์

[แก้]

ในการทดลองหนึ่งกับคนไข้คนหนึ่ง การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในสมองซีกซ้ายที่จุดเชื่อมระหว่างสมองกลีบข้างกับสมองกลีบขมับ มีผลเป็นความรู้สึกลวงประสาทว่ามีคนอยู่ข้าง ๆ เธอ[14][15]

ในศาสนาฮินดู

[แก้]

คำว่า "มายา" (illusion) เป็นคำที่ใช้ในมุมมองต่าง ๆ ของศาสนาฮินดู ศาสนาและปรัชญาที่เป็นเอกนิยม (monism) รวมทั้งศาสนาฮินดู มักจะมีการแยกแยะมายาและความไม่เป็นจริง (falsehood) ออกจากกันอย่างชัดเจน ในความคิดตามลัทธิอไทวตะเวทานตะ (ที่ตั้งโดยศังกราจารย์) มายาไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงและก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เป็นจริง แม้ว่า มายา โดยทั่ว ๆ ไปจะหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นจริง แต่ว่าศาสนาฮินดูมีการแยกแยะระหว่างมายาและความไม่เป็นจริง

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ illusion ว่า "การลวงตา, การแปลสิ่งเร้าผิด, มายา, ภาวะลวงตา"
  2. "Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6". หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2546. ให้ความหมายของ 'มายา' (สิ่งลวงตาลวงใจ) ว่า 'illusion'
  3. Solso, R. L. (2001) . Cognitive psychology (6th ed.) . Boston: Allyn and Bacon. ISBN 0-205-30937-2
  4. การพูดดัดเสียง (ventriloquism) เป็นศิลปะในการพูดที่เสียงดูเหมือนว่าจะไม่ใช่มาจากคนพูด แต่มาจากแหล่งอื่นเช่นจากหุ่นเชิดที่อยู่ที่มือ
  5. McGurk,Hj. & MacDonald, J. (1976) . "Hearing lips and seeing voices", Nature 264, 746-748.
  6. Yoon Mo Jung and Jackie (Jianhong) Shen (2008), J. Visual Comm. Image Representation, 19 (1) :42-55, First-order modeling and stability analysis of illusory contours.
  7. Gross, L 2006 การอ้างอิงยังไม่สมบูรณ์
  8. "Robles-De-La-Torre & Hayward 2001" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-28. สืบค้นเมื่อ 2014-04-03.
  9. The Cutting Edge of Haptics (MIT Technology Review article)
  10. 10.0 10.1 Zampini M & Spence C (2004) "The role of auditory cues in modulating the perceived crispness and staleness of potato chips" Journal of Sensory Studies 19, 347-363.
  11. 11.0 11.1 Barnett-Cowan M (2010) "An illusion you can sink your teeth into: Haptic cues modulate the perceived freshness and crispness of pretzels" เก็บถาวร 2015-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Perception 39, 1684-1686.
  12. Todrank, J & Bartoshuk, L.M., 1991
  13. Herz, Rachel S (2001). "The influence of verbal labeling on the perception of odors: Evidence for olfactory illusions?" (PDF). Perception. 30: 381–391. doi:10.1068/p3179. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 2014-06-07.
  14. Arzy S, Seeck M, Ortigue S, Spinelli L & Blanke O. Induction of an illusory shadow person. Nature 2006; 443:287.
  15. Hopkin, Michael (20 September 2006), "Brain Electrodes Conjure up Ghostly Visions", Nature, doi:10.1038/news060918-4

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]