ข้ามไปเนื้อหา

การรณรงค์งดสูบบุหรี่ในนาซีเยอรมนี

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โฆษณาเชิญชวนงดสูบบุหรี่ของนาซีหัวข้อว่า "การสูบบุหรี่ลูกโซ่" กล่าวว่า "เขาไม่ได้กลืนมัน (บุหรี่) แต่เป็นมันที่กลืนเขาเข้าไป"

การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในนาซีเยอรมนี นับว่าเป็นการรณรงค์งดสูบบุหรี่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 จนถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1940[1] นาซีเยอรมนีเป็นชาติแรก ๆ ที่มีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่[2][3] การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ได้เจริญขึ้นอย่างมากในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20[4][5] แต่ว่าประสบความสำเร็จน้อยมาก ยกเว้นในนาซีเยอรมนีซึ่งได้มีการรณรงค์อย่างแข็งขันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคนาซี[4] ผู้นำชาติสังคมนิยมได้คัดค้านการสูบบุหรี่[6] และวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากการสูบบุหรี่อย่างเปิดเผย[1] การวิจัยถึงบุหรี่และผลของการสูบบุหรี่ได้รับการสนับสนุนในยุคสมัยของพรรคนาซี[7] และกลายเป็นงานวิจัยที่มีความสำคัญมากในสมัยนั้น[8] ส่วนตัวของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เองแล้ว เขาเป็นคนเกลียดบุหรี่[9] และมีนโยบายในการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ และนโยบายดังกล่าวต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากลัทธิต่อต้านยิวและคตินิยมเชื้อชาติ[10]

การรณรงค์งดสูบบุหรี่ในนาซีเยอรมนียังรวมไปถึง การห้ามสูบบุหรี่ในรถราง รถโดยสารประจำทางและรถไฟประจำเมือง[1] การสนับสนุนวิชาสุขศึกษา[11] การกำหนดการปันส่วนบุหรี่ในกองทัพบก การจัดการบรรยายเรื่องยาให้แก่ทหาร และการเพิ่มภาษีบุหรี่[1] พวกชาติสังคมนิยมยังกำหนดให้มีการจำกัดการโฆษณาบุหรี่และการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ รวมไปถึงการวางระเบียบร้านอาหารและบ้านกาแฟ[1] การรณรงค์งดสูบบุหรี่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักในช่วงต้นของยุคนาซี และปริมาณการบริโภคบุหรี่ก็เพิ่มมากขึ้นในช่วง ค.ศ. 1933 ถึง ค.ศ. 1939[12] แต่การสูบบุหรี่โดยทหารลดลงในช่วงปี ค.ศ. 1939 ถึงปี ค.ศ. 1945[13] จนกระทั่งถึงตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การรณรงค์งดสูบบุหรี่ในเยอรมนีหลังสงครามก็ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่ากับการรณรงค์ของนาซี

อารัมภกถา

[แก้]

ความรู้สึกในการต่อต้านบุหรี่เริ่มเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีในช่วงตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1900 กลุ่มผู้วิจารณ์การสูบบุหรี่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านบุหรี่แห่งแรกของประเทศ ชื่อว่า "สมาคมผู้ต่อต้านการสูบบุหรี่เพื่อปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่แห่งเยอรมนี" (เยอรมัน: Deutscher Tabakgegnerverein zum Schutze der Nichtraucher) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1904 แต่ได้มีการดำเนินการเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น องค์การต่อต้านบุหรี่ถัดมา คือ สหพันธ์ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมัน (เยอรมัน: Bund Deutscher Tabakgegner) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1910 ในเมืองเทราเตนาว แคว้นโบฮีเมีย องค์การต่อต้านบุหรี่อีกแห่งหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ในเมืองฮันโนเฟอร์และเดรสเดิน ในปี ค.ศ. 1920 ได้มีการก่อตั้ง "สหพันธ์ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมันในเชโกสโลวาเกีย" (เยอรมัน: Bund Deutscher Tabakgegner in der Tschechoslowakei) ขึ้นในกรุงปราก หลังจากประเทศเชโกสโลวาเกียได้แยกตัวออกจากประเทศออสเตรียภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการก่อตั้ง "สหพันธ์ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมันในสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย" (เยอรมัน: Bund Deutscher Tabakgegner in Deutschösterreich) ในเมืองกราซ ในปี ค.ศ. 1920[14]

กลุ่มงดสูบบุหรี่ดังกล่าวได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการงดสูบบุหรี่ หนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาเยอรมันฉบับแรก คือ "ผู้ต่อต้านบุหรี่" (เยอรมัน: Der Tabakgegner) ซึ่งได้ตีพิมพ์โดยองค์การในแคว้นโบฮีเมียระหว่างปี ค.ศ. 1912 ถึงปี ค.ศ. 1932 ส่วนหนังสือพิมพ์ "ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมัน" (เยอรมัน: Deutsche Tabakgegner) ได้ตีพิมพ์ในเมืองเดรสเดน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 ถึงปี ค.ศ. 1935 และเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาสนับสนุนการงดสูบบุหรี่เป็นอันดับที่สอง[15] องค์การต่อต้านการสูบบุหรี่เหล่านี้ยังรณรงค์ให้มีการงดการบริโภคแอลกอฮอล์อีกด้วย[16]

สาเหตุ

[แก้]

ทัศนคติของฮิตเลอร์ต่อการสูบบุหรี่

[แก้]
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นคนสูบบุหรี่จัดในช่วงต้นของชีวิต เขาสูบบุหรี่ถึงวันละ 25-40 มวน แต่ในภายหลังก็เลิกเสีย โดยสรุปว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์[9] หลายปีต่อมา ฮิตเลอร์มองว่าการสูบบุหรี่เป็น "ความเสื่อม"[13] และ "ความแค้นของพวกพื้นเมืองอเมริกันต่อชนผิวขาว และการแก้แค้นสำหรับสุรากลั่น"[9] เขาเสียใจที่ว่า "คนที่เยี่ยมยอดจำนวนมากต้องเสียท่าต่อพิษภัยของบุหรี่"[17] เขาไม่มีความสุขเลยที่อีวา บราวน์ และมาร์ติน บอร์แมนน์ เป็นคนติดบุหรี่ และเป็นกังวลต่อเฮอร์มานน์ เกอริง ซึ่งยังคงสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เขาโกรธมากที่มีการมอบหมายให้สร้างอนุสาวรีย์ของเกอริงขณะที่เขากำลังสูบบุหรี่อยู่[9] ฮิตเลอร์มักจะถูกมองว่าเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่สนับสนุนให้งดสูบบุหรี่[18]

ฮิตเลอร์นั้นไม่พอใจที่เสรีภาพของทหารในการสูบบุหรี่ และในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้กล่าวในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1942 ว่า: "มันเป็นความผิดพลาด และความผิดที่มาจากผู้นำของกองทัพในเวลานั้น ในช่วงต้นของสงคราม" และ "เป็นการไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่าทหารไม่อาจจะอยู่ได้หากปราศจากบุหรี่" เขาได้ให้สัญญาว่า เขาจะยุติการสูบบุหรี่ในกองทัพหลังจากสงครามสงบแล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ฮิตเลอร์สนับสนุนให้เพื่อนสนิทไม่ให้สูบบุหรี่และให้รางวัลหากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ความไม่ชอบบุหรี่โดยส่วนตัวของฮิตเลอร์นั้นเป็นเพียงหนึ่งในเหตุผลที่ซ่อนอยู่หลังการรณรงค์งดสูบบุหรี่[9]

นโยบายการสืบพันธุ์

[แก้]

นโยบายการสืบพันธุ์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการรณรงค์งดสูบบุหรี่[10] สตรีที่สูบบุหรี่นั้นถูกมองว่ามีโอกาสที่จะสูงอายุก่อนวัยและสูญเสียความดึงดูดทางกาย ซึ่งพรรคนาซีเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นภรรยาหรือแม่ในครอบครัวชาวเยอรมัน เวอร์เนอร์ ฮัตติงแห่งสำนักงานนโยบายทางเชื้อชาติ (เยอรมัน: Rassenpolitisches Amt) ได้กล่าวว่าการสูบบุหรี่ทำให้น้ำนมมารดาปนเปื้อนสารนิโคติน[19] ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่พิสูจน์ได้จริงในการวิจัยสมัยใหม่[20][21][22][23] มาร์ติน สเต็มมเลอร์ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในนาซีเยอรมนี ออกความเห็นว่าการสูบบุหรี่โดยสตรีมีครรภ์ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ความคิดเห็นดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากสตรีผู้สนับสนุนแนวคิดความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ อักเนส บลูฮ์ม ซึ่งเธอได้ออกความคิดเห็นในหนังสือของเธอซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1936 ในทิศทางเดียวกัน คณะผู้นำนาซีเยอรมนีเป็นกังวลกับเรื่องนี้เพราะว่าพวกเขาต้องการให้สตรีชาวเยอรมันสามารถสืบพันธุ์ได้ มีบทความหนึ่งในวารสารนรีเวชวิทยา ในปี ค.ศ. 1943 บอกว่า สตรีที่สูบบุหรี่ตั้งแต่สามมวนขึ้นไปต่อวัน ส่วนมากแล้วจะยังคงไม่มีบุตรต่อไปเมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่ได้สูบบุหรี่[24]

การวิจัย

[แก้]

การวิจัยและการศึกษาถึงผลของบุหรี่ต่อสุขภาพของประชากรนั้นมีความเจริญก้าวหน้าในนาซีเยอรมนีมากกว่าชาติอื่นใดในโลก ในสมัยที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ[1] การเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับโรคมะเร็งปอด สามารถพิสูจน์ได้ครั้งแรกในนาซีเยอรมนี[17][25][26] ตรงกันข้ามกับนักวิทยาศาสตร์อเมริกันและอังกฤษที่ค้นพบเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1950[17] แนวคิดการสูบบุหรี่มือสอง (เยอรมัน: Passivrauchen) ก็ได้มีการริเริ่มในนาซีเยอรมนีเช่นกัน[3] โครงการวิจัยหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากรัฐบาลนาซีได้ค้นพบผลร้ายแรงที่มีต่อสุขภาพ[27] นาซีเยอรมนียังสนับสนุนให้มีการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาถึงผลของการสูบบุหรี่[28] ฮิตเลอร์ยังได้ให้เงินสนับสนุนส่วนตัวให้แก่ สถาบันวิจัยภัยบุหรี่ (เยอรมัน: Wissenschaftliches Institut zur Erforschung der Tabakgefahren) ในมหาวิทยาลัยจีนา นำโดยคาร์ล อัสเทลอีกด้วย[13][29] ซึ่งสถาบันดังกล่าวก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1941 และได้กลายเป็นสถาบันวิจัยต่อต้านบุหรี่ที่สำคัญที่สุดของนาซีเยอรมนี[29]

ฟรานซ์ ฮา. มึลเลอร์ และ เอ. ไชเรอร์ได้ใช้ทฤษฎีการควบคุมตัวแปรทางระบาดวิทยาเพื่อศึกษาถึงโรคมะเร็งปอดในหมู่ผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1939 และปี ค.ศ. 1943 ตามลำดับ[13] ในปี 1939 มึลเลอร์ได้ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาในวารสารด้านโรคมะเร็งในเยอรมนี ซึ่งกล่าวอ้างว่าการสูบบุหรี่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด[2] มึลเลอร์ได้รับสมญานามว่า "บิดาแห่งวิชาระบาดวิทยาทดลองที่ถูกลืม"[30] ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะยานยนต์ชาติสังคมนิยมและพรรคนาซี การแสดงความคิดเห็นของมึลเลอร์ในปี 1939 นั้นเป็นการศึกษาด้านระบาดวิทยาภายใต้การควบคุมเป็นครั้งแรกของโลกในด้านความเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับโรคมะเร็งปอด จากการศึกษาโรคมะเร็งปอดพบว่ายังมีอีกหลายสาเหตุที่นำไปสู่โรคมะเร็งปอด อย่างเช่น ฝุ่นละออง ไอเสียจากรถยนต์ วัณโรค รังสีเอกซ์ และของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รายงานของมึลเลอร์ได้ชี้ว่า "การสูบบุหรี่ได้รับการผลักดันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นได้ทั่วไป"[31]

บรรดาแพทย์ในนาซีเยอรมนียังเห็นด้วยว่า ผลจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นผลที่ร้ายแรงที่สุดของการสูบบุหรี่ บางครั้ง ได้มีการพิจารณาว่านิโคตินเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากขึ้นในประเทศ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง นักวิจัยได้พิจารณาว่านิโคตินเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารี ซึ่งทหารเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกเป็นโรคนี้กันมาก ผู้ชำนาญด้านอายุรเวชประจำกองทัพบกเยอรมันได้ทำการตรวจสอบทหารหนุ่มจำนวนสามสิบสองนายที่เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเอกสารศึกษาในปี ค.ศ. 1944 ได้ระบุว่าพวกเขาเป็นคนที่สูบบุหรี่จัด เขาได้อ้างอิงจากความคิดเห็นของผู้ชำนาญอายุรเวชฟรานซ์ บุชเนอร์ที่ว่าบุหรี่นั้นเป็น "พิษของโคโรนารีขั้นแรก"[19]

กฎหมายและมาตรการ

[แก้]
ไรเนอ ลุฟท์ (เยอรมัน: Reine Luft) ซึ่งเป็นวารสารสำคัญที่ทำให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ โดยการใช้การเล่นสำนวนและภาพการ์ตูนในการโฆษณา อย่างเช่นว่า การสูบบุหรี่นั้นมาพร้อมกับโรคมะเร็งและได้รับการสนับสนุนจากปีศาจ

พรรคนาซีได้นำยุทธวิธีหลายแบบในที่สาธารณะมาใช้เพื่อทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศงดสูบบุหรี่ นิตยสารด้านสุขภาพที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ผู้มีสุขภาพดี (เยอรมัน: Gesundes Volk)[27] สุขภาพประชาชน (เยอรมัน: Volksgesundheit) และ ชีวิตสุขภาพดี (เยอรมัน: Gesundes Leben)[32] ซึ่งได้ตีพิมพ์คำเตือนเกี่ยวกับผลของการสูบบุหรี่[27][32] และยังมีโปสเตอร์แสดงผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่อีกด้วย รวมไปถึงการส่งข้อความการต่อต้านบุหรี่ไปยังสถานที่ทำงานของผู้ใหญ่ทุกแห่ง[27] ด้วยการช่วยเหลือของยุวชนฮิตเลอร์และสันนิบาตเด็กสาวเยอรมัน[10][27][32] การรณรงค์งดสูบบุหรี่ดำเนินการโดยรัฐบาลนาซี รวมไปถึงการส่งเสริมวิชาสุขศึกษาด้วย[11][25][33] ในเดือนมิถุนายน 1939 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานต่อต้านภัยบุหรี่และแอลกอฮอล์ และสำนักงานเพื่อการกำจัดยาเสพติด (เยอรมัน: Reichsstelle für Rauschgiftbekämpfung) ซึ่งได้มีส่วนช่วยในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ด้วย ได้มีการตีพิมพ์บทความที่สนับสนุนให้คนเลิกสูบบุหรี่ในนิตยสารหลายฉบับ อย่างเช่น เครื่องบำรุงหัวใจรังสรรค์ (เยอรมัน: Die Genussgifte) การคุ้มกัน (เยอรมัน: Auf der Wacht) และ อากาศบริสุทธิ์ (เยอรมัน: Reine Luft)[34] นอกเหนือจากนิตยสารเหล่านี้ นิตยสาร ไรเนอ ลุฟต์ ได้เป็นนิตยสารหลักที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านบุหรี่[1][35] สถาบันวิจัยผลกระทบจากบุหรี่ของคาร์ล อัสเทลที่มหาวิทยาลัยจีนาได้สั่งซื้อและแจกจ่ายสำเนากว่าหลายร้อยเล่มจาก ไรเนอ ลุฟต์[35]

หลังจากได้ทีการค้นพบผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ ทำให้รัฐบาลนาซีได้ออกกฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ขึ้นมาหลายฉบับ[36] ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 กฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาล ในปี ค.ศ. 1938 รัฐบาลได้กำหนดให้ลุควาฟเฟและไรชซโพสห้ามสูบบุหรี่ นอกจากจะมีการสั่งห้ามสูบบุหรี่ในสถานรักษาพยาบาลแล้ว ยังรวมไปถึงสถานที่สาธารณะจำนวนมากและในบ้านด้วย[1] การสั่งห้ามหมอตำแยไม่ให้สูบบุหรี่ระหว่างการทำคลอด ในปี ค.ศ. 1939 พรรคนาซีกำหนดให้การสูบบุหรี่ในสำนักงานของพรรคเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเฮนริช ฮิมม์เลอร์ หัวหน้าหน่วยชุทซซทัฟเฟิล (หรือ หน่วยเอสเอส) ได้สั่งห้ามไม่ให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสสูบบุหรี่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่[37] และได้มีการสั่งห้ามในโรงเรียนอีกด้วย[27]

ในปี ค.ศ. 1941 กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรถรางได้ประกาศใช้ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศกว่า 60 เมือง[37] นอกจากนี้ ยังมีการสั่งห้ามการสูบบุหรี่ในหลุมหลบภัยทางอากาศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลุมหลบภัยบางแห่งมีห้องแยกต่างหากสำหรับสูบบุหรี่โดยเฉพาะ[1] นอกจากนี้ ยังมีความห่วงใยเป็นพิเศษในการห้ามสตรีสูบบุหรี่ ประธานสมาคมทางยาในเยอรมนีได้กล่าวว่า "สตรีชาวเยอรมันจะไม่สูบบุหรี่"[38] สตรีมีครรภ์ สตรีที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีและสตรีที่มีอายุมากกว่า 55 ปีไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับการปันส่วนบุหรี่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการขายบุหรี่ให้แก่สตรีในการต้อนรับแขกและอุตสาหกรรมอาหารขายปลีก[37] และยังได้มีการสร้างภาพยนตร์ต่อต้านบุหรี่โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มสตรีในที่สาธารณะ ในส่วนของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้มีการอภิปรายถึงประเด็นการสูบบุหรี่และพิษภัยของบุหรี่ นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อออกมาควบคุมในการพิจารณาดังกล่าวและสำนักงานองค์การโรงงานอุตสาหกรรมชาติสังคมนิยมได้ประกาศออกมาว่าจะขับไล่สมาชิกสตรีออกจากการเป็นสมาชิกหากพบว่าสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ[39] ก้าวต่อไปในการรณรงค์งดสูบบุหรี่มาถึงในเดือนกรกฎาคม 1943 เมื่อกำหนดให้การที่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย[10][32][37] ในปีต่อมา การสูบบุหรี่ในรถโดยสารประจำทางและรถไฟประจำเมืองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย[13] เนื่องจากฮิตเลอร์เกรงว่าสตรีที่ขึ้นรถโดยสารประจำทางและรถไฟประจำเมืองจะได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่มือสอง[1]

รัฐบาลนาซียังกำหนดห้ามให้มีการโฆษณาสินค้าบุหรี่[40] ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 1941 และได้รับการลงนามโดย เฮนริช ฮุนเคอ ประธานสภาโฆษณา โฆษณามักจะพรรณนาถึงบุหรี่ว่าเป็นสิ่งไร้พิษภัยหรือไม่ก็สิ่งที่แสดงถึงความเป็นชาย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้การพูดจาเยาะเย้ยนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านบุหรี่เป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วย[41] นอกจากนี้ การโฆษณาบุหรี่ทางโปสเตอร์โฆษณาตามรางรถไฟ ในพื้นที่เขตชนบท สนามกีฬาและสนามแข่งรถ รวมไปถึงการสั่งห้ามการโฆษณาผ่านทางลำโพงกระจายเสียงและจดหมายด้วย[42]

การกำหนดการห้ามสูบบุหรี่ยังได้มีนำเข้ามาในกองทัพบกเยอรมันด้วย การปันส่วนบุหรี่ในกองทัพถูกจำกัดเหลือหกมวนต่อนายต่อวัน บุหรี่เพิ่มเติมสามารถจำหน่ายให้แก่ทหารได้ เมื่อยังไม่มีกำหนดการบุกหรือการถอนทัพในสนามรบ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายบุหรี่เพิ่มเติมก็ถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกินห้าสิบมวนต่อเดือน[1] ทหารวัยรุ่นซึ่งอยู่ในกองพลเอสเอสแพนเซอร์ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกนด์ ได้รับแจกเสบียงขนมหวานแทนที่จะเป็นบุหรี่[43] สตรีในกองทัพบกเยอรมันได้รับการสั่งห้ามมิให้สูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด และได้มีการจัดการบรรยายทางยาขึ้นเพื่อชักชวนให้ทหารเลิกสูบบุหรี่ เทศบัญญัติแห่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 1941 ได้ปรับอัตราภาษีบุหรี่ขึ้นอย่างน้อย 80-95% ของราคาขายปลีก ซึ่งนับว่าเป็นการขึ้นภาษีบุหรี่ที่สูงสุดมาจนกระทั่งถึงยุคสมัยเยอรมนีในอีก 25 ปีให้หลังจากยุคนาซี[1]

ผลที่ตามมา

[แก้]

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า การรณรงค์ในช่วงแรก ๆ นั้นไม่ประสบความสำเร็จเลย และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ถึงปี ค.ศ. 1937 จำนวนการบริโภคบุหรี่ในเยอรมนีมีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก[12] อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวสูงกว่าในฝรั่งเศส ที่ซึ่งมีการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ที่มีขนาดเล็กกว่าเสียอีก ระหว่างปี 1932 ถึงปี 1939 จำนวนการบริโภคบุหรี่ต่อหัวในเยอรมนีเพิ่มขึ้นจาก 570 มวน มาเป็น 900 มวนต่อปี ขณะที่ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นจาก 570 มวน มาเป็น 630 มวนต่อปี[1][44]

บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในเยอรมนีได้พยายามที่จะขัดขวางความพยายามในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ พวกเขาได้ตีพิมพ์วารสารขึ้นมาใหม่และพรรณนาถึงการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ว่าเป็น "คนบ้า" และ "ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์"[1] อุตสาหกรรมบุหรี่ยังพยายามที่จะตอบโต้การรณรงค์ของรัฐบาลในการห้ามไม่ให้ผู้หญิงสูบบุหรี่ และจ้างนางแบบให้สูบบุหรี่ในการโฆษณาของพวกเขา[38] แม้ว่าจะมีการวางระเบียบจากรัฐบาล แต่ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในเยอรมนีนั้นสูบบุหรี่ รวมไปถึงภรรยาของสมาชิกพรรคนาซีระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น เม็กกา เกบเบิลส์ ซึ่งสูบบุหรี่แม้กระทั่งขณะตอนที่เธอกำลังได้รับการสัมภาษณ์จากนักหนังสือพิมพ์ ภาพสมัยนิยมแสดงภาพผู้หญิงกำลังสูบบุหรี่นั้นมักจะได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น "แฟชั่นเบเยอรส์สำหรับทุกคน" (เยอรมัน: Beyers Mode für Alle) และภาพปกของเพลงชื่อดัง ลีลี มาร์เลน ได้มีภาพของนักร้อง ลาเลอ แอนเดอร์เซน ขณะกำลังสูบบุหรี่อยู่ด้วย[39]

ปริมาณการบริโภคบุหรี่ต่อหัวต่อปี
ในนาซีเยอรมนีเทียบกับสหรัฐอเมริกา (มวน)[12]
ปี
1930 1935 1940 1944
นาซีเยอรมนี 490 510 1,022 743
สหรัฐอเมริกา 1,485 1,564 1,976 3,039

รัฐบาลนาซีได้ส่งเสริมให้มีนโยบายควบคุมบุหรี่มากขึ้นในตอนปลายของคริสต์ทศวรรษ 1930 และในช่วงตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ปริมาณการบริโภคบุหรี่ก็ลดลงอย่างมาก และเนื่องจากมีการกำหนดมาตรการต่อต้านบุหรี่ในกองทัพ[1] ทำให้ปริมาณการบริโภคบุหรี่ของทหารลดลงตั้งแต่ปี 1939 จนถึงปี 1945[13] ตามผลของการสำรวจที่จัดทำขึ้นในปี 1944 พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในกองทัพบกเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ปริมาณการบริโภคบุหรี่โดยเฉลี่ยต่อหัวนั้นลดลงถึง 23.4% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง และจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 มวนต่อวัน ลดลงจาก 4.4% เหลือเพียง 0.3%[1]

นโยบายการต่อต้านบุหรี่ของรัฐบาลนาซีกำหนดให้บางอย่างก็มีความขัดแย้งกันเอง ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย "สุขภาพประชากร" (เยอรมัน: Volksgesundheit) และนโยบาย "หน้าที่รักษาสุขภาพ" (เยอรมัน: Gesundheitspflicht) ได้มีผลในรูปแบบคู่ขนาน ซึ่งจะมีการแจกจ่ายบุหรี่ให้แก่บุคคลผู้พบเห็น "กลุ่มที่เป็นแบบอย่าง" สูบบุหรี่ (อย่างเช่น ทหารในแนวหน้า หรือสมาชิกของยุวชนฮิตเลอร์) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง "คนที่ไม่สมควร" หรือคนชั้นต่ำ อย่างเช่น ชาวยิวหรือนักโทษสงครามไม่ได้รับอนุญาตให้สูบบุหรี่เช่นกัน[45]

การร่วมมือกับลัทธิต่อต้านชาวยิวและลัทธิเผ่าพันธุ์นิยม

[แก้]

นอกเหนือจากความกังวลจากเหตุผลทางด้านสาธารณสุขแล้ว การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ยังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดด้านเชื้อชาติของรัฐบาลนาซี[27] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเผ่าพันธุ์นิยมและความบริสุทธิ์ทางสายเลือด[46] ผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีเชื่อว่าเชื้อชาติอันยิ่งใหญ่ไม่ควรจะสูบบุหรี่[27] และการบริโภคบุหรี่เท่ากับทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางเชื้อชาติ[47] พรรคนาซีมองว่าบุหรี่เป็น "พิษภัยต่อการกำเนิด"[46] นักเคลื่อนไหวผู้มีแนวคิดความบริสุทธิ์ทางสายเลือดก็ต่อต้านการสูบบุหรี่เช่นกัน ด้วยกลัวว่ามันจะ "กลืนกินรากเหง้าของความเป็นเยอรมนี"[48] นักเคลื่อนไหวต่อต้านบุหรี่ของพรรคนาซีเองก็พยายามพรรณนาว่าบุหรี่เป็น "ชั้นรอง" ยิ่งกว่าพวกแอฟริกันที่ล้าหลังเสียอีก

พรรคนาซีกล่าวหาว่าชาวยิวมีส่วนรับผิดชอบต่อการนำมาซึ่งบุหรี่และพิษภัยของบุหรี่ คริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ในเยอรมนีได้ประกาศว่าการสูบบุหรี่อาจเป็นความเลวทรามที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพซึ่งมาจากพวกยิว[48] โจฮันน์ ฟอน เลรส์ บรรณาธิการของ โลกนอร์ดิก (เยอรมัน: Nordische Welt) ได้กล่าวถึง "ลัทธิทุนนิยมชาวยิว" ว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดของบุหรี่ในทวีปยุโรป ระหว่างการเปิดงาน Wissenschaftliches Institut zur Erforschung der Tabakgefahren ในปี 1941 เขากล่าวว่าบุหรี่สามารถแพร่มายังเยอรมนีได้เพราะว่าพวกยิวเป็นคนนำมา และพวกเขาได้ควบคุมอุตสาหกรรมบุหรี่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม และเป็นจุดนำเข้า Nicotiana ของยุโรปที่สำคัญ[49]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

หลังจากการล่มสลายของนาซีเยอรมนีในตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ชาวอเมริกันได้รีบเข้าแย่งชิงตลาดเยอรมนีทันที การลอบนำเข้าบุหรี่อย่างผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องปกติ[50] และการรณรงค์งดสูบบุหรี่ของผู้นำนาซีในอดีตก็ถูกลืมเลือน[7] ในปี ค.ศ. 1949 บุหรี่ปริมาณกว่า 400 ล้านมวนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่เยอรมนีอย่างผิดกฎหมายทุกเดือน ในปี ค.ศ. 1954 บุหรี่เกือบสองล้านมวนที่ผลิตในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ทะลักเข้าสู่ตลาดเยอรมนีและอิตาลี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนมาร์แชลล์ สหรัฐอเมริกาจึงส่งมอบบุหรี่ฟรีให้แก่เยอรมนี บุหรี่ที่ส่งไปเยอรมนีในปี 1948 มีปริมาณ 24,000 ตัน และเพิ่มเป็น 69,000 ตันในปี 1949 รัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกค่าใช้จ่ายกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแผนการดังกล่าว ทำให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล[50] ปริมาณการบริโภคบุหรี่ต่อหัวต่อปีในเยอรมนีได้เพิ่มขึ้นจาก 460 มวนในปี 1950 เป็น 1,950 มวนในปี 1963 ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในเยอรมนีก็ไม่สามารถบรรลุถึงการรณรงค์อย่างจริงจังในยุคนาซีในปี 1939-1941 และการวิจัยเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในเยอรมนี ซึ่งบรรยายโดย โรเบิร์ต เอ็น. พรอกเตอร์ว่า "กลายเป็นใบ้"[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 Robert N. Proctor, Pennsylvania State University (December 1996), "The anti-tobacco campaign of the Nazis: a little known aspect of public health in Germany, 1933-45", British Medical Journal, 313 (7070): 1450–3, PMC 2352989, PMID 8973234, สืบค้นเมื่อ 2008-06-01
  2. 2.0 2.1 Young, T. Kue (2005), Population Health: Concepts and Methods, Oxford University Press, p. 205, ISBN 0-19-515854-7
  3. 3.0 3.1 Szollosi-Janze, Margit (2001), Science in the Third Reich, Berg Publishers, p. 15, ISBN 1-85973-421-9
  4. 4.0 4.1 Richard Doll (June 1998), "Uncovering the effects of smoking: historical perspective", Statistical Methods in Medical Research, 7 (2): 87–117, PMID 9654637, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-12, สืบค้นเมื่อ 2008-06-01 "นักวิทยาศาสตร์มีความคิดที่จะห้ามปรามการสูบบุหรี่ในช่วงต้นของศตวรรษในหลายประเทศ แต่พวกเขาประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย ยกเว้นในเยอรมนีที่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลหลังจากพรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจ"
  5. Borio, Gene (1993–2003), Tobacco Timeline: The Twentieth Century 1900-1949--The Rise of the Cigarette, Tobacco.org, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-17, สืบค้นเมื่อ 2008-11-15{{citation}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  6. Bynum, William F.; Hardy, Anne; Jacyna, Stephen; Lawrence, Christopher; Tansey, E. M. (2006), The Western Medical Tradition, Cambridge University Press, p. 375, ISBN 0-521-47524-4
  7. 7.0 7.1 Proctor, Robert N. (1996), Nazi Medicine and Public Health Policy, Dimensions, Anti-Defamation League, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-05, สืบค้นเมื่อ 2008-06-01
  8. Clark, George Norman; Briggs, Asa; Cooke, A. M. (2005), A History of the Royal College of Physicians of London, Oxford University Press, pp. 1373–1374, ISBN 0-19-925334-X
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 219, ISBN 0-691-07051-2
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 George Davey Smith (December 2004), "Lifestyle, health, and health promotion in Nazi Germany", British Medical Journal, 329 (7480): 1424–5, doi:10.1136/bmj.329.7480.1424, PMC 535959, PMID 15604167, สืบค้นเมื่อ 2008-07-01
  11. 11.0 11.1 Gilman, Sander L.; Zhou, Xun (2004), Smoke: A Global History of Smoking, Reaktion Books, p. 328, ISBN 1-86189-200-4
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 228, ISBN 0-691-07051-2
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 Clark, George Norman; Briggs, Asa; Cooke, A. M. (2005), A History of the Royal College of Physicians of London, Oxford University Press, p. 1374, ISBN 0-19-925334-X
  14. Proctor, Robert (1997), "The Nazi War on Tobacco: Ideology, Evidence, and Possible Cancer Consequences" (PDF), Bulletin of the History of Medicine, 71 (3): 435–88, PMID 9302840, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-25, สืบค้นเมื่อ 2008-07-22 "องค์การต่อต้านบุหรี่ในเยอรมนีแห่งแรกถูกก่อตั้งในปี 1904 (ชื่อว่า Deutscher Tabakgegnerverein zum Schutze für Nichtraucher แต่มีอายุเพียงสั้น ๆ) หลังจากนั้นก็ได้มีการก่อตั้ง Bund Deutscher Tabakgegner ในเมืองเทราเตนาว ในแคว้นโบฮีเมีย (1910) และได้มีการจัดตั้งองค์การที่คล้ายกันในฮันโนเฟอร์และเดรสเดน (ทั้งสองถูกก่องตั้งขึ้นเมื่อปี 1912) เมื่อเชโกสโลวาเกียแยกตัวจากออสเตรียหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Bund Deutscher Tabakgegner in der Tschechoslowakei ถูกก่อตั้งขึ้นในกรุงปราก (1920) ในปีเดียวกันในเมืองกราซ Bund Deutscher Tabakgegner in Deutschösterreich ก็ถูกก่อตั้งขึ้น"
  15. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 177, ISBN 0-691-07051-2
  16. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 178, ISBN 0-691-07051-2
  17. 17.0 17.1 17.2 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 173, ISBN 0-691-07051-2
  18. Tillman, Barrett (2004), Brassey's D-Day Encyclopedia: The Normandy Invasion A-Z, Potomac Books Inc., p. 119, ISBN 1-57488-760-2
  19. 19.0 19.1 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 187, ISBN 0-691-07051-2
  20. Anders Dahlström, Christina Ebersjö, Bo Lundell (August 2008), "Nicotine in breast milk influences heart rate variability in the infant", Acta Pædiatrica, 97 (8): 1075–1079, doi:10.1111/j.1651-2227.2008.00785.x, PMID 18498428, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-30, สืบค้นเมื่อ 2008-11-15{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. M Pellegrini, E Marchei, S Rossi, F Vagnarelli, A Durgbanshi, O García-Algar, O Vall, S Pichini (2007), "Liquid chromatography/electrospray ionization tandem mass spectrometry assay for determination of nicotine and metabolites, caffeine and arecoline in breast milk", Rapid Communications in Mass Spectrometry, 21 (16): 2693–2703, PMID 17640086 {{citation}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  22. Julie A. Mennella, Lauren M. Yourshaw, and Lindsay K. Morgan (September 2007), "Breastfeeding and Smoking: Short-term Effects on Infant Feeding and Sleep", PEDIATRICS, 120 (3): 497–502, doi:10.1542/peds.2007-0488, PMID 17766521, สืบค้นเมื่อ 2008-11-15{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. Kenneth F. Ilett, Thomas W. Hale, Madhu Page-Sharp, Judith H. Kristensen, Rolland Kohan, L.Peter Hackett (December 2003), "Use of nicotine patches in breast-feeding mothers: transfer of nicotine and cotinine into human milk", Clinical Pharmacology & Therapeutics, 74 (6): 516–524, doi:10.1016/j.clpt.2003.08.003, PMID 14663454, สืบค้นเมื่อ 2008-11-17{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  24. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 189, ISBN 0-691-07051-2
  25. 25.0 25.1 Johan P. Mackenbach (2005), "Odol, Autobahne and a non-smoking Führer: Reflections on the innocence of public health", International Journal of Epidemiology, 34 (3): 537–9, PMID 15746205, สืบค้นเมื่อ 2008-06-01 {{citation}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  26. Schaler, Jeffrey A. (2004), Szasz Under Fire: A Psychiatric Abolitionist Faces His Critics, Open Court Publishing, p. 155, ISBN 0-8126-9568-2
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 27.7 Coombs, W. Timothy; Holladay, Sherry J. (2006), It's Not Just PR: Public Relations in Society, Blackwell Publishing, p. 98, ISBN 1-4051-4405-X
  28. Young, T. Kue (2005), Population Health: Concepts and Methods, Oxford University Press, p. 252, ISBN 0-19-515854-7
  29. 29.0 29.1 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 207, ISBN 0-691-07051-2
  30. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 191, ISBN 0-691-07051-2
  31. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 194, ISBN 0-691-07051-2
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 George Davey Smith, Sabine A Strobele, Matthias Egger (June 1994), "Smoking and health promotion in Nazi Germany" (PDF), Journal of Epidemiology and Community Health, 48 (3): 220–3, PMID 8051518, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-16, สืบค้นเมื่อ 2008-07-21{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  33. Berridge, Virginia (2007), Marketing Health: Smoking and the Discourse of Public Health in Britain, 1945-2000, Oxford University Press, p. 13, ISBN 0-19-926030-3
  34. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 199, ISBN 0-691-07051-2
  35. 35.0 35.1 Robert N. Proctor (February 2001), "Commentary: Schairer and Schöniger's forgotten tobacco epidemiology and the Nazi quest for racial purity", International Journal of Epidemiology, 30: 31–34, สืบค้นเมื่อ 2008-08-24
  36. George Davey Smith, Sabine Strobele and Matthias Egger (February 1995), "Smoking and death. Public health measures were taken more than 40 years ago", British Medical Journal, 310 (6976): 396, PMID 7866221, สืบค้นเมื่อ 2008-06-01
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 203, ISBN 0-691-07051-2
  38. 38.0 38.1 Daunton, Martin; Hilton, Matthew (2001), The Politics of Consumption: Material Culture and Citizenship in Europe and America, Berg Publishers, p. 169, ISBN 1-85973-471-5
  39. 39.0 39.1 Guenther, Irene (2004), Nazi Chic?: Fashioning Women in the Third Reich, Berg Publishers, p. 108, ISBN 1-85973-400-6
  40. Uekoetter, Frank (2006), The Green and the Brown: A History of Conservation in Nazi Germany, Cambridge University Press, p. 206, ISBN 0-521-84819-9
  41. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 204, ISBN 0-691-07051-2
  42. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 206, ISBN 0-691-07051-2
  43. Meyer, Hubert (2005), The 12th SS: The History of the Hitler Youth Panzer Division, Stackpole Books, p. 13, ISBN 978-0-8117-3198-0
  44. Lee, P. N. (1975), Tobacco Consumption in Various Countries, London: Tobacco Research Council {{citation}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |Edition= ถูกละเว้น แนะนำ (|edition=) (help)
  45. Bachinger E, McKee M, Gilmore A (May 2008), "Tobacco policies in Nazi Germany: not as simple as it seems", Public Health, 122 (5): 497–505, doi:10.1016/j.puhe.2007.08.005, PMID 18222506{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  46. 46.0 46.1 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 174, ISBN 0-691-07051-2
  47. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 220, ISBN 0-691-07051-2
  48. 48.0 48.1 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 179, ISBN 0-691-07051-2
  49. Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 208, ISBN 0-691-07051-2
  50. 50.0 50.1 Proctor, Robert (1999), The Nazi War on Cancer, Princeton University Press, p. 245, ISBN 0-691-07051-2

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]