การปิดล้อมไซ่ง่อน
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ เพราะใช้โปรแกรมแปล คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
การปิดล้อมไซ่ง่อน เกิดขึ้นเป็นเวลานานสองปี โดยฝ่ายเวียดนาม หลังจากที่มันถูกยึดโดยกองเรือฝรั่งเศส-สเปนที่นำโดยพลเรือเอก ชาลส์ ริโก เดอ เยนูลี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1859 ยุทธการนี้ถือเป็นยุทธการสำคัญในการทัพโคชินจีน (ค.ศ. 1856-1862) เมืองไซ่ง่อนมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นทั้งพื้นที่ผลิตอาหารหลักของเวียดนาม และยังเป็นประตูไปสู่ภูมิภาคโคชินจีนที่เหลืออีกด้วย[1]
ภูมิหลัง
[แก้]ในปี 1858 พลเรือเอก ชาลส์ ริโก เดอ เยนูลีโจมตีเวียดนามภายใต้คำสั่งของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 หลังจากที่ภารกิจของทูตชาลส์ เดอ มอทินีล้มเหลว ภารกิจของเขาคือการหยุดการดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในเวียดนาม และทำให้การเผยแพร่ศาสนาเป็นไปอย่างไม่ติดขัด[2] เพื่อยกพลขึ้นเวียดนาม ริโก เดอ เยนูลีนำเรือรบ 14 ลำ, ทหารนาวิกโยธินฝรั่งเศส 1,000 นาย และทหารสเปนที่ประจำการอยู่ในฟิลิปปินส์อีก 1,000 นาย (ประกอบไปด้วยทหารราบชาวสเปน 550 นาย และทหารราบเบาชาวฟิลิปปินส์อีก 450 นาย)[3] กองกำลังพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือของเมืองทูฮาน (ดานัง) ในเดือนกันยายน ปี 1858 และยึดเมืองได้ หลังจากระดมยิงด้วยปืนใหญ่สักพักหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยึดเมืองได้ไม่นานเท่าไร ฝ่ายพันธมิตรก็ถูกปิดล้อมโดยฝ่ายเวียดนาม ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนทัพเข้าไปได้ไกลเกินว่าการคุ้มกันจากปืนใหญ่ของกองเรือ และจำต้องประจำการอยู่ที่เมืองทูฮาน[4][5]
การยึดเมืองไซง่อน (17 กุมภาพันธ์ 1859)
[แก้]เนื่องด้วยตระหนักดีว่าทหารที่ประจำการอยู่ที่เมืองทูฮานไม่สามารถทำประโยชน์ใด ๆ ริโก เดอ เยนูลีจึงตัดสินใจที่จะตีเมืองอื่นในเวียดนาม เขาพิจารณาและปฏิเสธความคิดที่จะยกพลขึ้นบกที่เมืองตังเกี๋ย และในเดือนมกราคม ปี 1850 เขาก็เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงนาวีที่จะยกพลขึ้นบกที่เมืองไซง่อนแห่งภูมิภาคโคชินจีน เมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในระดับสำคัญ เนื่องจากเป็นเหล่งอาหารของกองทัพเวียดนาม ข้อเสนอได้รับการอนุมัติ และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยปล่อยเมืองทูฮานให้อยู่ใต้การควบคุมของร้อยเอกโตยงกับทหารประจำการอีกเล็กน้อยและเรือปืนอีกสองลำ รีโก เดอ เยนูลีล่องเรือไปทางใต้ของไซ่ง่อน กองเรือของเขาประกอบด้วยเรือคอร์เวตฟลีจิตง และพริโมเกต์, เรือปืนอลาร์ม อาวาลอนช์ และดรากอน , เรือเอล คาโน ที่สเปนส่งมาช่วย และเรือขนส่งโซว์น ดูฮองซ์ และเมิร์ธ[6]
ริโก เดอ เยนูลีหยุดพักที่อ่าวคามรานเพื่อรอเรือเสบียงสี่ลำที่จะเข้ามาร่วมการบุก และได้วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เขาก็กลับมาเดินทางต่อ ในวันที่ 10 กองเรือพันธมิตรระดมยิงปืนใหญ่ใส่ป้อมปราการที่ป้องกันท่าจอดเรือที่อยู่ลึกเข้าไปในแหลมแซงแชค (หวุงต่าว) และสักพักเสียงปืนใหญ่ก็ซาลง ต่อมากองร้อยเบิกทาง ซึ่งประกอบไปด้วยกองกำลังผสมระหว่างทหารฝรั่งเศสและสเปน ที่อยู่ภายใต้การนำของร้อยเอกเรนอด์ ก็ยกพลขึ้นบกและบุกยึดป้อมปราการ[7]
เมื่อมาถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ การเดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำเป็นเวลาห้าวันก็เริ่มต้นขึ้น เรือขนส่งและสัมภาระถูกทิ้งไว้ที่แหลมแซงแชค เรือปืนดรากอนนำหน้าไปก่อน ตามด้วยเรือปืนสองลำ, เรือคอร์เวตสองลำ และเรือที่สเปนส่งมาช่วย กองร้อยเบิกทางประกอบด้วยทหารราบนาวิกโยธินสามกองร้อยและทหารสเปนอีกสองกองร้อย รวมทั้งหมดมี 2,000 นาย ถูกกระจายไปยังเรือลำต่าง ๆ ที่พ่วงมากับกองเรือ กองเรือพันธมิตรเคลื่อนทัพไปข้างหน้าอย่างระมัดระวังเมื่อไม่รู้กระแสทิศทางน้ำ และเมื่อตกค่ำ ก็ทอดสมอกลางแม่น้ำ ระหว่างการเดินทาง เรือของฝรั่งเศสและสเปนต้องหยุดเพื่อระดมยิงป้อมริมแม่น้ำหกป้อม และหมู่ทหารช่างภายใต้บังคับบัญชาของทหารช่างเอกแกลลิมาร์ด ถูกปล่อยขึ้นบกเพื่อเผารั้วไม้ที่เชื่อมป้อมปราการเข้าไว้ด้วยกัน ฝ่ายเวียดนามป้องกันตนเองอย่างแข็งขัน เรือดรากอนถูกกระสุนปืนใหญ่ยิงใส่สามนัด ในขณะที่อวาลอนช์โดนเจ็ดนัด ผู้รุกรานจัดการให้แน่ใจว่าแม่น้ำจะไม่ถูกปิดล้อมจากด้านหลัง หลังจากที่แต่ละป้อมถูกยึดแล้ว ปืนใหญ่ของป้อมจะถูกอุดหรือไม่ก็ถูกนำขึ้นเรือ[8]
ในตอนเย็นของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ กองเรือที่มีเรือพริฌองเพิ่มเข้ามาก็เข้ามาใกล้ป้อมปราการสองป้อมที่ถูกสร้างโดยทหารช่างชาวฝรั่งเศสของจักรพรรดิเจี้ยหลง ป้อมทั้งสองทำหน้าที่ป้องกันไซง่อนจากทางทิศใต้ ในตอนกลางคืน ก็มีการส่งกองกำลังติดอาวุธไปทำลายทำนบที่สร้างมาจากเรือที่ถูกต่อเข้าไว้ด้วยกันและถูกยัดระเบิดไว้ ในรุ่งสางของวันที่ 16 เรือฟลีจิตง, พริโมเกต์, อลาร์ม และอาวาลอนช์ทอดสมอห่างจากป้อมปราการไป 800 เมตร ช่องแคบนั้นแคบมากเสียจนพลเรือเอก ชาร์เน่ที่อยู่บนสะพานเรือสามารถตะโกนสั่งกัปตันของเรือลำอื่น ๆ ได้ ในขณะที่เรือพรีฌอง, ดรากอนและเอล คาโนตามหลังมาไม่ห่าง[9]
กองเรือพันธมิตรเปิดฉากยิงใส่ป้อมปราการของฝ่ายเวียดนาม และภายในเวลาไม่นานก็หาระยะยิงได้ พลแม่นปืนแห่งกองทหารราบนาวิกโยธินสังหารพลปืนของเวียดนามจากเสาเรือของฝรั่งเศสและสเปน ฝ่ายเวียดนามตอบโต้อย่างดุเดือด แต่การเล็งของพวกเขานั้นไม่แม่น และในไม่ช้าฝ่ายฝรั่งเศสและสเปนก็สามารถสยบการยิงของอีกฝ่ายได้ กองร้อยเบิกทางถูกส่งขึ้นบกมาเพื่อบุกยึดป้อมปราการ จนถึงเวลา 8 นาฬิกา ก็สามารถทำให้ป้อมทั้งสองอยู่ภายใต้การควบคุมของสเปน[10]
ต่อมาในวันเดียวกัน นาวาโทเบอร์นาร์ด ฌองกีเบรี อนาคตนายพลเรือและรัฐมนตรีกระทรวงนาวีของฝรั่งเศส ออกไปดูลาดเลาป้อมปราการไซ่ง่อนโดยแล่นเรืออาวาลอนช์ไป ในเช้าของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ฝ่ายฝรั่งเศสและสเปนสามารถยกพลขึ้นฝั่งและบุกยึดป้อมปราการได้ จ่าสิบเอกดีพัลเลียร์แห่งทหารราบนาวิกโยธินเป็นคนแรกที่บุกเข้าไปในป้อมปราการ และเมื่อฝ่ายพันธมิตรสามารถเข้าไป ทหารเวียดนามจึงจำต้องล่าถอยไป กองกำลังทหารเวียดนามประมาณ 1,000 นายพยายามที่จะโจมตีตอบโต้ พลเรือเอก ชาร์เน่ ซึ่งเข้าร่วมรบโดยตรง ตีโต้กลับไปด้วยทหารฟิลิปปินส์ของพันเอกลันซาโรเต จนกระทั่งเวลา 10 นาฬิกา ธงชาติฝรั่งเศสและสเปนก็ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาของป้อมปราการ[11]
การยึดครองไซ่ง่อนของฝ่ายพันธมิตร (กุมภาพันธ์ 1859-กุมภาพันธ์ 1860)
[แก้]ป้องปราการแห่งไซ่ง่อนมีขนาดใหญ่มาก ฝ่ายพันธมิตรมีคนไม่พอที่จะวางกำลังคุ้มกันป้อมได้อย่างเพียงพอ ริโก เดอ เยนูลีจึงตัดสินใจที่จะทำลายมันทิ้ง มีการเตรียมระเบิดไว้ 32 ลูก และในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1859 ป้อมปราการก็ถูกทำลาย ห้องเก็บข้าวยังถูกเผาอีกด้วย ส่งผลให้เกิดการเผาไหม้ไปหลายเดือน[12]
ในเดือนเมษายน ปี 1859 ริโก เดอ เยนูลีก็กลับไปเมืองทูฮานพร้อมกองกำลังส่วนหนึ่ง โดยทิ้งทหารจำนวนน้อยไว้ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาโทเบอร์นาร์ด ฌองกีเบรีเพื่อเฝ้าเมืองไซ่ง่อนไว้ กองกำลังของฌองกีเบรีประกอบไปด้วยทหารราบนาวิกโยธินฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งกองร้อย, ทหารราบเบาชาวฟิลิปปินส์ภายใต้การสั่งการของสเปนจำนวนหนึ่งกองร้อย และกะลาสี 400 คนที่มีหน้าที่เป็นพลปืนของกองเรือฝรั่งเศส ริโกยังเดินทางกลับไปไซ่ง่อนพร้อมกับเรือคอร์เวตพริโมเกต์, เรือปืนอาวาลอนช์และดรากอน และเรือขนส่งดูฮองซ์ ฝ่ายฝรั่งเศสซ่อมแซมป้อมทางใต้ ที่ยึดมาจากฝ่ายเวียดนามในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วดัดแปลงมันให้เป็นที่มั่นของกองประจำการ[13]
ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1859 ฌองกีเบรีโจมตีป้อมปราการที่อยู่ทางตะวันตกของเมืองอย่างไม่ทันตั้งตัว ฝ่ายพันธมิตรโจมตีได้สำเร็จ ทำให้ที่ตั้งของฝ่ายเวียดนามถูกเผาลงมา แต่ฝ่ายพันธมิตรมีผู้บาดเจ็บถึง 31 นาย และมีผู้เสียชีวิตถึง 14 นายจากจำนวนทหารที่ต่อสู้ทั้งหมด 800 นาย ซึ่งถือว่าเสียหายมาก เนื่องด้วยปริมาณกำลังที่น้อย จึงทำให้ฌองกีเบรีไม่โจมตีต่อ กองทหารฝรั่งเศส-สเปนประจำเมืองไซ่ง่อนจึงถอนกำลังไปจากป้อมทางทิศใต้และรอคอยเวลา[14]
การล้อมเมืองไซง่อน (มีนาคม 1860-กุมภาพันธ์ 1861)
[แก้]การยึดเมืองไซ่ง่อนปรากฏว่าเป็นชัยชนะที่ว่างเปล่าสำหรับฝ่ายฝรั่งเศสและสเปน เฉกเช่นการยึดเมืองดานังเมื่อก่อนหน้านี้ กองกำลังของฌองกีเบรีที่ไซ่ง่อนนั้นเล็กเกินกว่าที่จะออกจากแนวป้องกันไปได้ ในขณะที่กองประจำการอันน้อยนิดที่ดานังของร้อยเอกโตยงก็ถูกปิดล้อมโดยฝ่ายเวียดนาม อีกทั้งในตอนนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็ถูกทำให้ไขว้เขวจากความทะเยอทะยานในภูมิภาคตะวันออกไกลเนื่องจากเกิดสงครามออสเตรีย-ซาร์ดิเนีย ทำให้ทหารฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากต้องอยู่ในอิตาลี ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1850 ริโก เดอ เยนูลี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผลงานในโคชินจีนที่ฝรั่งเศส ถูกแทนที่โดยพลเรือเอก ฟรังซัวส์ พาจ ผู้ได้รับคำสั่งให้เจรจาสนธิสัญญาเพื่อคุ้มครองศาสนาคริสต์คาทออลิกในเวียดนาม แต่ไม่ให้ทำการล่าดินแดนใด ๆ[15]
ฝ่ายเวียดนามทราบถึงการไขว้เขวของฝรั่งเศสดี จึงปฏิเสธข้อเสนอที่จะประนีประนอมของฝรั่งเศส และเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจาไปในทางที่จะทำให้ฝ่ายพันธมิตรยอมตัดส่วนเสียและล้มเลิกการทัพทั้งหมดไป ในขณะเดียวกัน ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถที่จะเสริมกำลังทหารที่ประจำการอยู่ที่ดานังและไซ่ง่อนได้ และทันทีที่สงครามออสเตรีย-ซาร์ดิเนียจบลง ในช่วงต้นปี 1860 ฝรั่งเศสก็กลับมาทำสงครามกับจีนอีกครั้ง ทำให้พาจต้องโยกกำลังส่วนใหญ่ไปสนับสนุนกองกำลังบุกจีนของพลเรือเอก ลีโอนาร์ด ชาร์เน่
ในเดือนเมษายน ปี 1860 พาจก็เดินทางออกจากโคชินจีนเพื่อไปร่วมทัพกับชาร์เน่ที่กวางตุ้ง และหน้าที่ป้องกันไซ่ง่อนกับโชลอง ย่านคนจีนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ก็ถูกมอบหมายไปให้กับร้อยเอกดาเย เพื่อกระจายทหารไปประจำการยังเมืองทั้งสอง ดาเยมีทหารราบนาวิกโยธินเพียงแค่ 600 นายกับทหารสเปนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของพันเอกอีกูทีเรซ และเรือคอร์เวตพริโมเกต์, นอซาการาย และลาพลาเซ่เป็นกองเรือสนับสนุน เพื่อเสริมกำลังที่น้อยนิดนี้ ฝรั่งเศสติดอาวุธให้กับเรือสำเภาเพื่อลาดตระเวนแม่น้ำ และยังเกณฑ์ชาวญวนและชาวจีนมาเป็นกำลังสนับสนุนเพื่อช่วยออกลาดตระเวน และประจำป้อมที่อยู่แนวหน้า[16]
ในเดือนมีนาคม ปี 1860 กองกำลังฝรั่งเศส-สเปนที่ไซ่ง่อนจำนวนแค่ 1,000 นาย ถูกปิดล้อมโดยกองทัพเวียดนามที่มีกำลังประมาณ 10,000 นาย ซึ่งจำเป็นต้องมีเสบียงเป็นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการล้อมเมืองที่นานถึงสิบเอ็ดเดือน[17] ในเวลาเดียวกัน กำลังของฝรั่งเศสลดลงอย่างรวดเร็วจากการล้อมเมืองดานังตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 1858 ถึงเดือนมีนาคม ปี 1860 และท้ายที่สุดแล้วในเดือนมีนาคมนั้นเอง ฝ่ายฝรั่งเศสก็อพยพออกจากเมืองดานัง
จุดจบของการล้อมเมือง
[แก้]ท้ายที่สุดแล้ว หลังจากที่ฝรั่งเศสและอังกฤษชนะการรบที่ปาลี่เฉียว ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1860 และทำให้สงครามกับจีนสิ้นสุดลง กำลังสนับสนุนเป็นเรือ 70 ลำภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือเอก ชาร์แน่ และทหาร 3,500 นายของพลเอกดีวัสซวงก็ถูกส่งไปที่ไซ่ง่อน กองเรือของชาร์เน่ถือเป็นกองเรือรบที่ทรงอานุภาพที่สุดของฝรั่งเศสที่เคยแล่นเข้ามาในน่านน้ำเวียดนาม (ก่อนที่ฝรั่งเศสจะก่อตั้งกองเรือรบตะวันออกไกลก่อนสงครามจีน-ฝรั่งเศสในปี 1884) ประกอบไปด้วยเรือฟรีเกตกลไฟอัมพาราทรีซยูจีนี และเรนอมเม (ซึ่งเป็นเรือธงของชาร์เน่และพาจตามลำดับ), เรือคอร์เวตพริโมเกต์, ลาพลาเซ่ และ ดูเชเลอ, เรือกลไฟขับเคลื่อนด้วยสกรู 11 ลำ, เรือปืนชั้นหนึ่ง 5 ลำ, เรือขนส่ง 17 ลำและเรือพยาบาล 1 ลำ กองเรือรบยังได้รับเสริมกำลังด้วยเรือลอชาติดอาวุธอีกครึ่งโหลที่ถูกซื้อมาจากเกาะมาเก๊า[18]
หลังจากที่กำลังสนับสนุนจำนวนมหาศาลมาถึง ฝรั่งเศสก็สามารถเอาชนะฝ่ายเวียดนามที่ปิดล้อมอยู่ได้ที่ยุทธการคีฮัว ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 และยกการปิดล้อมออกไปได้[19]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Goldstein, 95
- ↑ Tucker, 29
- ↑ Gundry, 6 [1]; Thomazi, Conquête, 29
- ↑ Tucker, 29
- ↑ Chapuis, 48
- ↑ Thomazi, Conquête, 33
- ↑ Thomazi, Conquête, 33–4
- ↑ Thomazi, Conquête, 34
- ↑ Thomazi, Conquête, 34–5
- ↑ Thomazi, Conquête, 35
- ↑ Thomazi, Conquête, 35–6
- ↑ Thomazi, Conquête, 36
- ↑ Thomazi, Conquête, 37; Histoire militaire, 26
- ↑ Thomazi, Conquête, 39; Histoire militaire, 28
- ↑ Tucker, 29
- ↑ Thomazi, Conquête, 41
- ↑ Thomazi, La conquête de l'Indochine, 37–43
- ↑ Thomazi, Conquête, 45
- ↑ Goldstein, 95
บรรณานุกรม
[แก้]- "Charles Rigault de Genouilly" Encyclopædia Britannica Online
- Chapuis, O., The Last Emperors of Vietnam: From Tu Duc to Bao Dai (Westport, Connecticut, 2000)
- Goldstein, E., Wars and Peace Treaties, 1816–1991 (Routledge, 1992)
- Gundry, R. S., China and Her Neighbours (London, 1893)
- Thomazi, A., La conquête de l'Indochine (Paris, 1934)
- Thomazi, A., Histoire militaire de l'Indochine français (Hanoi, 1931)
- Tucker, S. C., Vietnam (University Press of Kentucky, 1999) ISBN 0813109663
- Bernard, Hervé, L'Amiral Henri Rieunier Ministre de la Marine - La vie extraordinaire d'un grand marin en quadrichromie, 718 pages format A4, autoédition Biarritz 2005 (ในภาษาฝรั่งเศส)