การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้
การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ (อังกฤษ: Reliability-centered maintenance, RCM) เป็นกระบวนการที่กำหนดว่าต้องทำอะไรบ้างจึงจะมั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ (อุปกรณ์ หรือ ระบบ หรือ เครื่องจักร หรือ ยุทโธปกรณ์) จะสามารถทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมหรือบริบทที่ใช้งานในปัจจุบัน ถ้าหากทำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้อย่างถูกต้องแล้วจะทำให้สามารถยกระดับความเชื่อถือได้ของสินทรัพย์ รวมทั้งความพร้อมใช้และที่สำคัญค่าใช้จ่ายในงานบำรุงรักษาจะมีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจถึงความเสี่ยงจากการใช้งานสินทรัพย์และสามารถช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เพื่อที่จะจัดการกับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริบท
[แก้]การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ช่วยให้องค์กรสามารถประสบความสำเร็จในการกำหนดแผนงานบำรุงรักษาที่น้อยที่สุดแต่มีความปลอดภัยสูงในการใช้งานสินทรัพย์ ซึ่งเป็นคำที่ มร. จอห์น มัวเบรย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ มร. สแตนเลย์ โนวแลน และ มร. โฮเวิร์ด ฮีพ จากสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ มาตรฐาน SAE JA1011 เกณฑ์การประเมินกระบวนการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้กำหนดเกณฑ์การประเมินขั้นต่ำสุดที่ใช้ในการประเมินว่ากระบวนการใดสามารถเรียกว่าการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยคำถามหลักเจ็ดข้อด้วยกันดังต่อไปนี้
- หน้าที่และมาตรฐานสมรรถนะของสินทรัพย์ภายใต้สภาวะแวดล้อมการใช้งานปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
- การที่ไม่สามารถทำตามหน้าที่นั้นจะเป็นไปอย่างไรได้บ้าง?
- อะไรคือสาเหตุที่จะทำให้เกิดการล้มเหลวของหน้าที่?
- จะมีเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อความเสียหายได้ปรากฏขึ้นมา?
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้นมีความสำคัญอย่างไรบ้าง?
- จะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะพยากรณ์หรือป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นมา?
- ควรจะทำอะไรถ้าหากการพยากรณ์หรือการป้องกันความเสียหายไม่มีความเหมาะสม?
การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้เป็นกรอบการทำงานทางวิศวกรรมที่จะนำมาใช้ช่วยในการกำหนดแผนการบำรุงรักษาสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยที่การบำรุงรักษาจะเริ่มจากการกำหนดหน้าที่ของสินทรัพย์ตามความต้องการของผู้ใช้งานสินทรัพย์ภายใต้สภาวะแวดล้อมในการใช้งาน กระบวนการที่สองจะเป็นการกำหนดการล้มเหลวของหน้าที่ กระบวนการที่สามจะกำหนดรูปแบบความเสียหาย กระบวนการที่สี่จะเป็นการกำหนดผลของความเสียหาย ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการที่หนึ่งถึงกระบวนการที่สี่จะถูกบันทึกไว้ในตารางข้อมูลการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ กระบวนการที่ห้าจะเป็นการประเมินผลพวงความเสียหายที่เกิดขึ้น กระบวนการที่หกจะเป็นการกำหนดการทำงานเชิงรุก กระบวนการที่เจ็ดซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายจะเป็นการกำหนดการทำงานเพิกเฉย ในกระบวนการที่ห้าถึงกระบวนการสุดท้ายจะมีการใช้แผนผังการตัดสินใจการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ โดยข้อมูลที่ได้จากกระบวนการที่ห้าถึงกระบวนการสุดท้ายจะถูกบันทึกไว้ในตารางการตัดสินใจการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการรวบรวมกลุ่มงานที่ทำเพียงครั้งเดียวและงานบำรุงรักษา ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการนำแผนงานที่ได้ไปปฏิบัติ ควรจัดให้มีการทบทวนการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมกับองค์กรเพื่อยกระดับความสมบูรณ์ของกระบวนการการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้
ประวัติ
[แก้]คำว่า "การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้" ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2521 จากการเผยแพร่หนังสือ การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ โดย สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ซึ่งกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้อุปถัมภ์ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา หนังสือเล่มนี้เขียนโดย มร. สแตนเลย์ โนวแลน และ มร. โฮเวิร์ด ฮีพ หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายถึงกระบวนการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของเครื่องบินโบอิ้ง 747 โดยสายการบินพาณิชย์
ในยุคแรกของเครื่องบินโดยสารแบบเจ็ทได้ประสบปัญหาอัตราการตกที่สูงมาทำให้องค์การบริหารการบินของสหรัฐหรือที่เรียกชื่อย่อว่า FAA และสายการบินมีความพยายามและหาวิธีการที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ ตอนต้นปี พ.ศ. 2500 FAA และสายการบินได้ทำการศึกษาและวิจัยทางวิศวกรรมสำหรับการเสียหายของเครื่องบิน จากการศึกษาวิจัยพบว่าความเชื่อของนักออกแบบ และผู้บำรุงรักษา มีความเชื่อว่า"ทุกชิ้นส่วนของเครื่องบินมีอายุการใช้งาน" ทำให้แผนการบำรุงรักษาเครื่องบินในยุคนั้นได้กำหนดเวลาในการโอเวอร์ฮอลหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องบินเกือบทั้งหมด แต่ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยกลับพบว่า "ความเสียหายของเครื่องบินเกือบทั้งหมดนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับอายุ" หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อกำหนดแผนการบำรุงรักษาเครื่องบินจนกระทั่งประสบความสำเร็จด้วยหลักการของการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ ทำให้สามารถลดอัตราการตกของเครื่องบินได้ถึง 20 เท่า การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ได้ยกระดับความคิดในการบำรุงรักษาสินทรัพย์ดังต่อไปนี้
- แบบฉบับการเสียหายมีอยู่ 6 แบบด้วยกันซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีสามแบบฉบับการเสียหายซึ่งความเสียหายจะมีความสัมพันธ์กับอายุจะมีประมาณ 10% กลุ่มที่สองมีสามแบบฉบับการเสียหายที่ความเสียหายไม่มีความสัมพันธ์กับอายุหรือเป็นแบบสุ่มจะมีประมาณ 90%
- การบำรุงรักษาเชิงป้องกันไม่ใช่เทคนิคที่ถูกต้องที่จะนำมาใช้จัดการความเสียหายของสินทรัพย์เพราะว่าการเสียหายเกือบทั้งหมดไม่มีความสัมพันธ์กับอายุ
- การบำรุงรักษาควรให้ความสำคัญกับผลพวงความเสียหายมากกว่าการดูแลทางกายภาพของสินทรัพย์
- ทำให้เรามีความเข้าใจถึงพื้นฐานเทคนิคงานบำรุงรักษาว่ามีสี่เทคนิคด้วยกันดังนี้ งานแก้ไข งานป้องกัน งานตามสภาพ และงานค้นหาความเสียหาย โดยที่แต่ละเทคนิคมีความสำคัญและมีความเหมาะสมที่จะจัดการความเสียหายบางรูปแบบ ซึ่งการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ให้เกณฑ์การพิจารณาในการเลือกแต่ละเทคนิค
- การบำรุงรักษาเพียงลำพังไม่สามารถยกระดับความเชื่อถือได้ของสินทรัพย์ ดังนั้นการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ให้เกณฑ์การพิจารณากลยุทธ์อื่นที่อยู่นอกเหนือการบำรุงรักษาอีก เช่น การออกแบบทางกายภาพใหม่ การเพิ่มความรู้ให้กับผู้ใช้และผู้ทำการบำรุงรักษาสินทรัพย์ การพัฒนาเอกสารมาตรฐานวิธีการใช้งานและการบำรุงรักษาสินทรัพย์
แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ให้บริการบางรายได้คิดหาวิธีการรวบรัดในการทำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้แต่ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ได้จากการนำไปใช้ การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้แบบรวบรัด (streamlined reliability centered maintenance) โดยส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินของ SAE JA1011 ดังนั้นกระบวนการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้แบบรวบรัดไม่ใช่กระบวนการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้แต่อย่างใด
การนำมาใช้
[แก้]หลังจากที่อุตสาหกรรมมการบินพาณิชย์ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการตกของเครื่องบินจากการทำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ ก็ได้นำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้มาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่จนถึงทุกวันนี้ทำให้เราสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารได้อย่างปลอดภัย
ความมั่นคงและทางทหาร
[แก้]ประมาณ พ.ศ. 2520 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้นำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ไปใช้กับกองทัพเรือ กองทัพบกและกองทัพอากาศ ในปี พ.ศ. 2542 กองทัพประเทศอังกฤษได้นำมาตรฐานการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้มาใช้ในการบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ของประเทศอังกฤษ ทำให้ประหยัดงบประมาณได้อย่างมากมายและยังช่วยเพิ่มความถือได้และเพิ่มความพร้อมใช้งานอีกด้วย แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการบำรุงรักษาสำหรับยุทโธปกรณ์ของกองทัพ (กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- อุบัติเหตุทางอากาศยานของกองทัพไทย ระหว่างปี 2550-2565 เกิดขึ้นทั้งหมด 67 ครั้ง สูญเสียชีวิต 69 คน บาดเจ็บ 64 คน สูญเสียเครื่องบินรบ F16 เป็นจำนวน 5 ลำ เครื่องบินรบกริพเพน 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์หลายลำ และอื่นๆอีก
- เหตุการณ์เรือรบหลวงสุโขทัยอับปางกลางอ่าวไทย ธันวาคม 2565 ทำให้กำลังพลสูญเสียชีวิต 24 คน และสูญหายอีก 5 คน
ภาคอุตสาหกรรม
[แก้]ประมาณ พ.ศ. 2525 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็นำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ไปใช้ หลังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตและบริการก็ได้นำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ไปใช้เหมือนกัน เช่น โรงไฟฟ้า โรงเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเคมี โรงงานกระดาษ เหมืองแร่ โรงประปา รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ได้รับความนิยมอย่างมากมาย
การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต
[แก้]ประมาณปี 2535 หน่วยงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration : OSHA)ได้ออกกฎหมาย "การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต" (Process Safety Management: PSM) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการควบคุมความปลอดภัยและป้องกันการเกิดเหตุร้ายแรงจากโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายร้ายแรง (ระเบิด ไฟไหม้ แก๊สพิษรั่ว) การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้เป็นมาตรฐานการบำรุงรักษาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ อย่างไรก็ตามโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายร้ายแรงในประเทศไทยยังไม่ได้นำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้มาใช้
- ธันวาคม 2542 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์เพลิงไหม้บริเวณคลังน้ำมัน มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 5 คน
- พฤษภาคม 2555 บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด เหตุการณ์ถังบรรจุก๊าซระเบิด มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บ 141 ราย
- กรกฎาคม 2556 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์น้ำมันดิบ 50,000 ลิตร รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเล
- ตุลาคม 2563 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์ท่อก๊าซธรรมชาติรั่ว ไฟไหม้และระเบิด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย มีผู้บาดเจ็บ 66 ราย
- มกราคม 2565 บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจำนวน 50,000 ลิตร จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล
ประโยชน์
[แก้]ถ้าหากทำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ถูกต้องตามมาตรฐานSAE JA1011แล้ว องค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตหรือบริการ หรือ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานราชการ หรือ หน่วยงานความมั่นคงก็จะได้รับประโยชน์จากการทำการบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ดังนี้
- สามารถใช้งานสินทรัพย์ได้อย่างปลอดภัย
- ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้สินทรัพย์
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสินทรัพย์
- ส่งเสริมการได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กร
- สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง
- เพิ่มพูนความรู้ให้กับพนักงานและเป็นที่เก็บองค์ความรู้ไว้ในองค์กร
- ส่งเสริมการทำงานร่วมกันในองค์กร
อ้างอิง
[แก้]- Nowlan F. Stanley and Howard F. Heap, Reliability-Centered Maintenance, United States Department of Defense Report Number AD-A066579, 1978 เก็บถาวร 2013-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- SAE JA1011, Evaluation Criteria for Reliability-Centered Maintenance (RCM) Processes, 1 Aug 1998
- SAE JA1012, A Guide to the Reliability-Centered Maintenance (RCM) Standard, 1 Jan 2002
- John Moubray, Reliability-Centered Maintenance, Industrial Press, New York, 1997, ISBN 978-0831131463
- MSG-3, Maintenance Program Development Document, Air Transport Association, Washington D.C., Revision 2, 1993.
- National Aeronautics and Space Administration, RCM Guide Reliability-Centered Maintenance Guide for Facilities and Collateral Equipment, 2000. เก็บถาวร 2017-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สุภนิติ แสงธรรม, การบำรุงรักษาเน้นความเชื่อถือได้ (Reliability Centered Maintenance), RCM THAI, เอ็มแอนด์อี, 2560, ISBN 978-974-686-131-1