การทดลองหนูน้อยอัลเบิร์ต
การทดลองหนูน้อยอัลเบิร์ต (อังกฤษ: Little Albert experiment) เป็นกรณีศึกษาแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ของการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิมในมนุษย์ การศึกษานี้ยังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการวางนัยทั่วไปสิ่งเร้า การทดลองมีขึ้นใน ค.ศ. 1920 โดยผู้ทดลอง จอห์น บี. วอตสัน ร่วมกับโรซาลี เรย์เนอร์ ผู้ช่วย ณ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์
จอห์น บี. วอตสันรู้สึกสนใจที่จะหาหลักฐานสนับสนุนความคิดของเขาที่ว่า ปฏิกิริยาของเด็ก ไม่ว่าจะได้ยินเสียงดังเมื่อใดก็ตาม ถูกกระตุ้นจากความกลัว ยิ่งไปกว่านั้น เขาให้เหตุผลว่า ความกลัวนี้เป็นสันดานหรือเป็นการตอบสนองโดยไม่มีเงื่อนไข เขารู้สึกว่า ตามหลักการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม เขาสามารถวางเงื่อนไขให้เด็กกลัวสิ่งเร้าอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันซึ่งโดยปกติแล้วเด็กจะไม่กลัวได้
ระเบียบวิธี
[แก้]ในขั้นต้น หนูน้อยอัลเบิร์ต ซึ่งเป็นทารกอายุ 9 เดือน[1] ได้รับการทดสอบทางอารมณ์เส้นฐาน (baseline) ก่อน ทารกถูกให้สัมผัสกับกระต่ายขาว หนู สุนัข ลิง หน้ากากทั้งที่มีและไม่มีขน หนังสือพิมพ์ที่ถูกเผา ฯลฯ เป็นช่วงสั้น ๆ และเป็นครั้งแรก ระหว่างเส้นฐาน หนูน้อยอัลเบิร์ตไม่ได้แสดงความกลัวต่อสิ่งเหล่านี้ จากนั้น อัลเบิร์ตถูกนำไปไว้บนโต๊ะกลางห้อง และมีการวางหนูทดลองสีขาวใกล้กับตัวอัลเบิร์ต และอนุญาตให้อัลเบิร์ตเล่นกับมันได้ เมื่อถึงจุดนี้ เด็กไม่แสดงความกลัวต่อหนู
ในการทดลองต่อมา วอตสันและเรย์เนอร์ทำเสียงดังด้านหลังตัวอัลเบิร์ต โดยการตีเหล็กเส้นด้วยค้อนเมื่อทารกสัมผัสกับหนู หนูน้อยอัลเบิร์ตสนองต่อเสียงด้วยการร้องไห้และแสดงความกลัว หลังการจับคู่ระหว่างสิ่งเร้าทั้งสองหลายครั้ง ผู้ทดลองได้นำเฉพาะหนูมาให้อัลเบิร์ต แต่คราวนี้ เด็กรู้สึกเป็นทุกข์ที่หนูปรากฏในห้อง เขาร้องไห้ ปลีกหนีจากหนู และพยายามเคลื่อนที่ออกห่าง ชัดเจนว่า ทารกได้เชื่อมโยงหนูขาว (เดิมเป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง แต่ขณะนี้เป็นสิ่งเร้าที่ถูกวางเงื่อนไข) กับเสียงดัง (สิ่งเร้าที่ไม่ถูกวางเงื่อนไข) และกำลังสนองความกลัวหรือทางอารมณ์ด้วยการร้องไห้ ซึ่งเดิมเป็นการตอบสนองอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อเสียง แต่ขณะนี้เป็นการตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไขต่อหนู
การทดลองแสดงให้เห็นว่า หนูน้อยอัลเบิร์ตดูเหมือนจะสามัญการการสนองของเขาต่อวัตถุที่มีขนปุย โดยที่เมื่อวอตสันส่งกระต่ายที่ไม่ใช่สีขาวเข้าไปในห้องสิบเจ็ดวันหลังการทดลองครั้งแรก อัลเบิร์ตยังคงรู้สึกเป็นทุกข์ เขาแสดงปฏิกิริยาคล้ายกันเมื่อนำสุนัขที่มีขนปุย เสื้อโค้ตขนแมวน้ำ และแม้แต่เมื่อวอตสันปรากฏตัวตรงหน้าเขาด้วยหน้ากากซานตาคลอสที่มีก้อนฝ้ายสีขาวทำเป็นเครา แม้ว่าอัลเบิร์ตจะมิได้กลัวทุกอย่างที่มีขน
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Watson & Rayner, 1920, p. 1
อ้างอิง
[แก้]- Watson, J.B.; Rayner, R. (1920). "Conditioned emotional reactions". Journal of Experimental Psychology. 3 (1): 1–14. doi:10.1037/h0069608.