การตัดอวัยวะออก
การตัดอวัยวะออก | |
---|---|
เจ. แม็กไนต์ (J. McKnight) ผู้เสียแขนขาในอุบัติเหตุทางรถไฟในปี 2408 เป็นคนที่สองที่รอดชีวิตจากการตัดสามรยางค์ในคราวเดียวเท่าที่มีบันทึก | |
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | T14.7 |
MeSH | D000673 |
การตัดอวัยวะออก (อังกฤษ: amputation) หมายถึง การที่แขนหรือขาหลุดออกโดยอุบัติเหตุ โรคหรือการผ่าตัด ในทางศัลยกรรม มีการตัดอวัยวะออกเพื่อควบคุมความเจ็บปวดหรือกระบวนการโรคในแขนหรือขาที่ได้รับผลกระทบ เช่น มะเร็งหรือเนื้อตายเน่า ในผู้ป่วยบางคน มีการตัดอวัยวะออกเป็นการผ่าตัดป้องกันปัญหาดังกล่าว มีกรณีพิเศษคือ การตัดอวัยวะออกแต่กำเนิด เป็นโรคแต่กำเนิดซึ่งแขนหรือขาของทารกถูกแถบรัดตีบ (constrictive band) ตัดออก บางประเทศใช้หรือเคยใช้การตัดมือ เท้าหรือส่วนอื่นของร่างกายเป็นการลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ การตัดอวัยวะยังเป็นยุทธวิธีในสงครามและการก่อการร้าย และอาจเกิดเป็นการบาดเจ็บในสงคราม ในบางวัฒนธรรมและศาสนา การตัดอวัยวะออกหรือการทำให้เสียอวัยวะเล็กน้อยถือเป็นพิธีกรรม เมื่อแขนหรือขาหลุดออกแล้วจะไม่งอกกลับคืน ไม่เหมือนกับบางอวัยวะ เช่น ตับบางส่วน และต่างจากสัตว์ที่มิใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เช่น กิ้งก่าที่สลัดหาง และปลาดาวที่สามารถงอกทั้งตัวใหม่ได้จากชิ้นส่วนเล็ก ๆ ทางเลือกสำหรับกู้แขนหรือขากลับคืนมีแต่การปลูกถ่ายหรือกายอุปกรณ์เท่านั้น
ในสหรัฐ การตัดอวัยวะออกรายใหม่ส่วนมากเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของระบบหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรคเบาหวาน ระหว่างปี 2531 ถึง 2539 มีผู้ถูกตัดอวัยวะออกโดยเฉลี่ย 133,175 คนต่อปีในสหรัฐ