ข้ามไปเนื้อหา

การตรวจการได้ยิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การตรวจการได้ยิน
(hearing test)
การวินิจฉัยทางการแพทย์
นักวิชาชีพด้านสุขภาพการได้ยินกำลังดำเนินการทดสอบการได้ยินในห้องเก็บเสียง
นักวิชาชีพด้านสุขภาพการได้ยินกำลังดำเนินการทดสอบการได้ยินในห้องเก็บเสียง
ICD-10-PCSF13Z
ICD-9-CM95.41
MeSHD006320

การตรวจการได้ยิน[1][2] หรือ การทดสอบการได้ยิน[3] (อังกฤษ: hearing test) เป็นการประเมินความไวของประสาทการได้ยินของบุคคล ทำโดยนักโสตสัมผัสวิทยา (นักแก้ไขการได้ยิน) ด้วยเครื่องตรวจวัดการได้ยิน (ออดิโอมิเตอร์) เพื่อกำหนดความไวของการได้ยินที่ความถี่ต่าง ๆ แต่ก็มีการทดสอบอื่น ๆ ด้วย เช่น การทดสอบเวเบอร์ (Weber test) และ การทดสอบรินเน (Rinne test)

การตรวจหู

[แก้]

ก่อนจะทดสอบการได้ยิน โดยปกติแพทย์จะตรวจหูของผู้ป่วยด้วยกล้องส่องหูเพื่อตรวจสอบว่าปราศจากขี้หู เยื่อแก้วหูปกติ ไม่มีการติดเชื้อ และช่องหูชั้นกลางไม่มีน้ำ (ซึ่งบ่งการติดเชื้อ)

การตรวจการได้ยินด้วยโทนเสียงบริสุทธิ์

[แก้]

การทดสอบการได้ยินแบบมาตรฐานและพบมากที่สุดคือการตรวจการได้ยินด้วยโทนเสียงบริสุทธิ์ (pure tone audiometry) ซึ่งวัดระดับการนำเสียงผ่านอากาศและกระดูกหูสำหรับหูแต่ละข้าง ที่ความถี่มาตรฐาน 8 ช่วงระหว่าง 250–8,000 เฮิรตซ์ การทดสอบจะทำในห้องเสียงโดยใช้หูฟังโฟมที่สอดเข้าหูหรือหูฟังครอบ ซึ่งต่อเข้ากับออดิโอมิเตอร์ข้างนอกห้อง ผลที่ได้เป็นกราฟออดิโอแกรมซึ่งแสดงความไวการได้ยินในช่วงความถี่ที่ทดสอบ ในกราฟ เครื่องหมาย "x" แสดงระดับเสียงเบาสุดที่ได้ยินในแต่ละความถี่สำหรับหูซ้าย และเครื่องหมาย "o" แสดงระดับเสียงเบาสุดของหูขวา ยังมีการตรวจแบบความถี่สูงซึ่งครอบคลุมเสียงระหว่าง 8,000–16,000 เฮิรตซ์ โดยจะใช้ในกรณีพิเศษ

การตรวจการได้ยินที่บ้านโดยใช้แอปมือถือ

[แก้]

การมีหูฟังสเตอริโอและสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่มีระบบการเล่นเสียงอย่างแพร่หลาย จึงมีการพัฒนาการวินิจฉัยรูปแบบใหม่ที่ช่วยระบุระดับการสูญเสียการได้ยินของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นช่วย สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้ มีแอปหลายแอปที่มีฟังก์ชันการทดสอบการได้ยิน ยังมีแอปสำหรับเครื่องช่วยฟังที่มีการทดสอบการได้ยินในตัวเพื่อปรับการตั้งค่าเครื่องช่วยฟังด้วย

เมื่อทดสอบการได้ยินด้วยแอปที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ จะเริ่มต้นด้วยการตรวจเกณฑ์ระดับเสียงที่ได้ยินในความถี่ต่าง ๆ (เป็นออดิโอแกรม) เกณฑ์ระดับการได้ยิน โดยเหมือนกับการตรวจด้วยออดิโอมิเตอร์ จะระบุด้วยชุดเสียงความถี่มาตรฐานจาก 125-8,000 เฮิรตซ์ อนึ่ง แอปอาจมีฟังก์ชันตรวจการแยกแยะเสียงและการเข้าใจคำพูดเมื่อมีเสียงรบกวนในรูปแบบต่าง 

ในทางเทคนิค แอปทดสอบการได้ยินมีส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  • มอดูลสร้างสัญญาณเสียงในช่วงความถี่ที่ต้องตรวจ
  • ส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ เพื่อบันทึกปฏิกิริยาผู้ใช้เมื่อรับรู้เสียงในระดับต่าง 
  • ตัวแปลผลการทดสอบ (เป็นข้อความและกราฟ)
  • ฐานข้อมูลที่มีผลการตรวจครั้งก่อน ๆ และค่าระบุการได้ยินปกติที่ปรับตามอายุ

ผลการทดสอบจากแอปอาจคลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับการทดสอบโดยนักโสตวิทยา โดยมีเหตุดังนี้

  • การใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่สอบเทียบแล้ว
  • การเก็บเสียงในห้องตรวจ
  • ความต่าง ๆ กันของลักษณะเสียงในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงหูฟัง
  • เสียงรบกวนที่มีผลต่อการได้ยินเสียงโทน[4]

แม้อาจจะได้ผลผิดพลาดบ้าง แต่ข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้ของการใช้แอปตรวจได้แก่ การมีให้ใช้โดยสามารถทดสอบการได้ยินด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยคนอื่น[5]

นักวิทยาศาสตร์เสนอว่าการทดสอบการได้ยินโดยใช้แอปมือถือสามารถใช้ช่วยระบุความผิดปกติของการได้ยินและใช้เพื่อคัดกรองการได้ยิน[6][7]

การทดสอบแบบเวเบอร์และรินเน

[แก้]

การประเมินการได้ยินที่สมบูรณ์อาจต้องมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม[8]

เพื่อระบุประเภทของการสูญเสียการได้ยิน อาจมีการตรวจการได้ยินที่ใช้กระดูกนำเสียง ในการทดสอบนี้ ผู้ตรวจจะวางส้อมเสียงสั่นที่ด้านหลังหูบนปุ่มกกหู เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรู้สึกหรือได้ยินการสั่นอีกต่อไป ผู้ตรวจก็จะถือส้อมเสียงไว้หน้าหู ซึ่งผู้ป่วยควรได้ยินเสียงอีก หากไม่ได้ยิน แสดงว่าหูนั้นมีการสูญเสียการได้ยินชนิดนำเสียง นอกจากนี้ ผู้ตรวจจะวางส้อมเสียงบนหน้าผาก แล้วถามผู้ป่วยว่าได้ยินเสียงจากศูนย์กลางศีรษะหรือว่าดังในหูข้างใดยิ่งกว่า หากมีการสูญเสียการได้ยินชนิดนำเสียง เสียงปกติจะดังกว่าในหูที่มีปัญหา หากมีการสูญเสียการได้ยินทางประสาทสัมผัส เสียงจะเบากว่าในหูที่มีปัญหา

การทดสอบนี้ช่วยให้นักโสตสัมผัสวิทยาสามารถระบุได้ว่าการสูญเสียการได้ยินเป็นแบบนำเสียง (เกิดจากปัญหาในหูชั้นนอกหรือชั้นกลาง) หรือเป็นแบบประสาทสัมผัส (เกิดจากปัญหาที่คอเคลียซึ่งเป็นอวัยวะการได้ยิน) หรือเป็นแบบระบบประสาท (เกิดจากปัญหาในเส้นประสาทการได้ยินหรือวิถีประสาท/คอร์เทกซ์ส่วนการได้ยิน)

การได้ยินเมื่อมีเสียงรบกวน

[แก้]

การทดสอบการได้ยินเมื่อมีเสียงรบกวน (HINT) ) เป็นการวัดการได้ยินคำพูดทั้งเมื่อเงียบและเมื่อมีเสียงรบกวน[9] ในการทดสอบ ผู้ป่วยต้องพูดประโยคตามทั้งในสภาพแวดล้อมที่เงียบและเมื่อมีเสียงรบกวนจากทิศทางต่าง ๆ มีการทดสอบ 4 อย่าง คือ (1) ประโยคที่ไม่มีเสียงรบกวน (2) ประโยคที่มีเสียงรบกวนข้างหน้า (3) เสียงรบกวนจากมุม 90° ทางขวาของผู้ป่วย และ (4) เสียงรบกวนจากมุม 90° ทางซ้ายของผู้ป่วย นี่เป็นการวัดอัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวน (SNR) ในการทดสอบแต่ละอย่าง เป็นการระบุว่าประโยคต้องมีเสียงดังเท่าไรเหนือเสียงรบกวนที่คนไข้จะกล่าวตามได้อย่างถูกต้อง 50%

การทดสอบคำเมื่อมีเสียงรบกวน

[แก้]

การทดสอบคำเมื่อมีเสียงรบกวน (WIN) ใช้คำพยางค์เดียวที่นำเสนอโดยมีเสียงรบกวนในอัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวน (SNR) 7 ระดับ เสียงรบกวนปกติจะอยู่ในความถี่ช่วงเสียงพูด[10] มีผลเป็นคะแนนว่า คนไข้สามารถเข้าใจคำพูดในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนมากเท่าไร นี่ไม่เหมือนกับการตรวจด้วยโทนเสียงบริสุทธิ์ เพราะเป็นการตรวจในสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดในชีวิตจริงมากกว่า[6]

การทดสอบคำสัมผัสแบบปรับปรุง

[แก้]

การทดสอบคำสัมผัสแบบปรับปรุง (MRT) อยู่ในมาตรฐานแห่งชาติอเมริกัน ANSI S3.2 เป็นวิธีการวัดความชัดเจนของคำพูดในระบบสื่อสาร[11] มีชุดคำพยางค์เดียว 50 ชุด โดยแต่ละชุดซึ่งมี 6 คำต่างกันที่พยัญชนะต้นหรือท้าย (เช่น not, tot, got, pot, hot, lot หรือ ray, raze, rate, rave, rake, race) ผู้ฟังจะได้ยินคำสั่งว่า "ให้กำหนดคำว่า___" แล้วได้ยินคำหนึ่งจากหกคำ ต่อมาก็จะได้ยินคำ 6 คำที่่สัมผัสกันเพื่อให้เลือก กองทัพอากาศสหรัฐได้ใช้วิธีนี้อย่างกว้างขวางเพื่อทดสอบระบบสื่อสารต่าง ๆ โดยมักจะมีการประกอบเสียงรบกวน ถ้าได้คำตอบที่ถูกต้อง 80% หรือยิ่งกว่า ถือว่ามีประสิทธิภาพพอใช้ได้[ต้องการอ้างอิง]

อื่น 

[แก้]
  • นักโสตสัมผัสวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟังอาจทดสอบด้วยคำพูด โดยให้ผู้ป่วยพูดตามคำที่ได้ยิน
  • นอกจากนี้ มีการทดสอบที่เรียกว่า Tympanometry (การวัดแก้วหู) โดยใช้หัววัดขนาดเล็กใส่ในหูแล้วเปลี่ยนความดันอากาศในช่องหูให้ต่าง ๆ กัน ซึ่งช่วยระบุว่า แก้วหูและโครงสร้างอื่น ๆ ในหูชั้นกลางทำงานได้ดีเพียงใด ปริมาตรช่องหูจะบ่งชี้ว่าอาจมีรูทะลุที่แก้วหู (เยื่อแก้วหู) หรือไม่ ความดันในหูชั้นกลางจะบ่งชี้ว่ามีของเหลวในช่องหูชั้นกลางหรือไม่ ("หูชั้นกลางมีน้ำ" หรือ "หูชั้นกลางอักเสบแบบมีน้ำ") การวัดความยืดหยุ่นจะบ่งชี้ว่าแก้วหูและกระดูกหู (กระดูกหูทั้งสามชิ้น) เคลื่อนไหวได้ดีเพียงใด
  • การทดสอบสุดท้ายที่นักแก้ไขการได้ยินอาจทำคือการทดสอบรีเฟล็กซ์ต่อเสียง (acoustic reflex) ของหู ในการทดสอบนี้ จะมีการใส่หัววัดเข้าไปในหูแล้วสร้างเสียงดังมากกว่า 70 dBSPL เป็นการวัดการเกร็งแบบรีเฟล็กซ์ของกล้ามเนื้อดึงกระดูกรูปโกลน (stapedius muscle) ซึ่งป้องกันหูจากเสียงดัง เช่น เสียงพูดของตัวเองซึ่งอาจดังถึง 90 dBSPL ที่แก้วหู ซึ่งอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นประสาททรงตัว (vestibular) และเส้นประสาทใบหน้า (facial) โดยบ่งชี้ว่ามีรอยโรคหรือไม่

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "การตรวจการได้ยิน มีขั้นตอนและการรักษาอย่างไร". MedPark Hospital. 2024-06-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-01-25. สืบค้นเมื่อ 2025-01-25.
  2. "การตรวจการได้ยิน". โรงพยาบาลวิภาวดี (Vibhavadi Hospital). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-04. สืบค้นเมื่อ 2025-01-25.
  3. Hearing test, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, อังกฤษ-ไทย: คลังศัพท์ไทย โดย สวทช., การทดสอบการได้ยิน [TU Subject Heading]
  4. Kiessling, Jürgen; Leifholz, Melanie; Unkel, Steffen; Pons-Kühnemann, Jörn; Jespersen, Charlotte Thunberg; Pedersen, Jenny Nesgaard (2015). "A comparison of conventional and in-situ audiometry on participants with varying levels of sensorineural hearing loss". Journal of the American Academy of Audiology. 26 (1): 68–79. doi:10.3766/jaaa.26.1.8. ISSN 2157-3107. PMID 25597462.
  5. "In-situ Thresholds for Hearing Aid Fittings". Hearing Review (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). November 2012. สืบค้นเมื่อ 2019-05-26.
  6. 6.0 6.1 van Tonder, Jessica; Swanepoel, De Wet; Mahomed-Asmail, Faheema; Myburgh, Hermanus; Eikelboom, Robert H. (2017). "Automated Smartphone Threshold Audiometry: Validity and Time Efficiency". Journal of the American Academy of Audiology. 28 (3): 200–208. doi:10.3766/jaaa.16002. hdl:2263/60435. ISSN 2157-3107. PMID 28277211. S2CID 3795810.
  7. Bright, Tess; Pallawela, Danuk (2016-12-23). "Validated Smartphone-Based Apps for Ear and Hearing Assessments: A Review". JMIR Rehabilitation and Assistive Technologies. 3 (2): e13. doi:10.2196/rehab.6074. ISSN 2369-2529. PMC 5454564. PMID 28582261.
  8. Yueh, B; Shapiro N; MacLean CH; Shekelle PG (April 2003). "Screening and management of adult hearing loss in primary care: scientific review". Journal of the American Medical Association. 289 (15): 1976–1985. doi:10.1001/jama.289.15.1976. PMID 12697801.
  9. Nilsson, M.; Soli, S. D.; Sullivan, J. A. (1994). "Development of the Hearing in Noise Test for the measurement of speech reception thresholds in quiet and in noise". The Journal of the Acoustical Society of America. 95 (2): 1085–1099. Bibcode:1994ASAJ...95.1085N. doi:10.1121/1.408469. PMID 8132902.
  10. Wilson, Richard H.; Carnell, Crystal S.; Cleghorn, Amber L. (2007). "The Words-in-Noise (WIN) Test with Multitalker Babble and Speech Spectrum Noise Maskers" (PDF). J Am Acad Audiol. 18 (6): 522–529. doi:10.3766/jaaa.18.6.7. PMID 17849640. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 2019-02-19.
  11. "ANSI/ASA S3.2-2009 (R2014) Method For Measuring The Intelligibility Of Speech Over Communication Systems". American National Standards Institute, Acoustical Society of America. 2014. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]