ข้ามไปเนื้อหา

การฉ้อฉลแบบพอนซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภายถ่ายปี 2463 ของนายชาลส์ พอนซี่ ที่ชื่อกลายเป็นชื่อวิธีการฉ้อฉล ในช่วงที่ยังทำงานเป็นนักธุรกิจในสำนักงานของตนในเมืองบอสตัน

กลเม็ดพอนซี, ธุรกิจแบบพอนซี, หลักการฉ้อฉลแบบพอนซี (อังกฤษ: Ponzi scheme) หรือนิยามบัญญัติตรงความหมายในภาษาไทยว่า ธุรกิจแบบพีรามิดรวบยอด หรือ แชร์ลูกโซ่ เป็นปฏิบัติการลงทุนแบบฉ้อฉลที่ผู้ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นองค์กร จ่ายผลกำไรให้แก่นักลงทุนโดยใช้เงินลงทุนใหม่จากนักลงทุนใหม่ แทนที่จะใช้ผลกำไรที่ผู้ดำเนินการลงทุนหาได้ ผู้ดำเนินการวิธีนี้มักจะโน้มน้าวชักชวนผู้ลงทุนใหม่ โดยให้ผลกำไรที่สูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ ในรูปแบบที่ได้ผลเร็ว ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่สูงหรืออย่างสม่ำเสมอโดยไม่น่าเชื่อ

ธุรกิจพอนซีบางครั้งจะเริ่มตั้งตัวเป็นธุรกิจที่สมควรตามเหตุผล จนกระทั่งประสบความล้มเหลวที่จะได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง แล้วธุรกิจก็จะกลายเป็นการฉ้อฉลแบบพอนซีถ้ายังดำเนินการต่อไปโดยแสดงผลตอบแทนที่ทำไม่ได้จริง ๆ ไม่ว่าสถานการณ์ตอนแรกจะเป็นอย่างไร การแสดงผลตอบแทนระดับสูงบังคับให้ต้องมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากนักลงทุนใหม่ ๆ เพื่อจะดำรงธุรกิจ[1]

การฉ้อฉลเป็นแบบธุรกิจที่มีชื่อตามนายชาลส์ พอนซี่[2] ที่กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงอื้อฉาวหลังจากที่ได้ใช้เทคนิคนี้ในปี พ.ศ. 2463[3] แต่ความจริง ไอเดียนี้มีอยู่ในหนังสือนิยายมาตั้งนานแล้ว เช่น ในนิยายของชาลส์ ดิกคินส์ในปี 2387 (Martin Chuzzlewit) และในปี 2400 (Little Dorrit)[4] แต่นายพอนซี่ได้นำกลเม็ดนี้มาใช้จริง ๆ และได้เงินมามากจนเป็นผู้ที่รู้จักกันดีทั่วสหรัฐอเมริกา ธุรกิจเริ่มต้นของนายพอนซี่เป็นการซื้อและขายในต่างตลาดเวลาเดียวกัน (arbitrage) ซึ่งวิมัยบัตร (IRC) ที่สามารถใช้แลกแสตมป์ได้ แต่ไม่นานเท่าไรเขาก็ต้องเปลี่ยนไปใช้กลเม็ดพอนซี่โดยการเอาเงินทุนของนักลงทุนใหม่ไปจ่ายนักลงทุนเก่าและตัวเขาเอง[1] นายพอนซี่ได้โฆษณาว่า เขาสามารถให้ผลตอบแทนเป็นเท่าตัวภายใน 90 วัน จนเขาได้เงินรวมกัน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 440 ล้านบาทคิดเทียบค่าเงินปัจจุบัน) จากผู้ลงทุน 30,000 คนภายใน 7 เดือนก่อนที่ธุรกิจจะล้มเหลว แล้วต่อมาจึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปีในฐานะฉ้อฉลผ่านไปรษณีย์

ในประเทศไทย แชร์แม่ชม้อย แชร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5]เป็นรูปแบบหนึ่งของกลเม็ดพอนซี่[6] โดยทำเป็นสัญญากู้ยืมเพื่อลงทุนในแชร์น้ำมัน ส่วนการฉ้อฉลแบบพอนซี่ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลกคือ "คดีอื้อฉาวการลงทุนแมดอฟฟ์"[7][8] ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ นายเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ ทำธุรกิจฉ้อฉลกับลูกค้า 4,800 รายโดยเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดีประเมินขนาดการฉ้อฉลว่าประมาณ 64,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,317,215 ล้านบาทต้นปี 2559)[7] แต่ที่อดีตประธานขององค์กรตรวจสอบและควบคุมของรัฐผู้หนึ่งประเมินว่า การฉ้อฉลจริง ๆ อยู่ที่ระหว่าง 10,000-17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 359,846 - 611,739 ล้านบาท) โดยไม่รวมเอารายได้ที่ไม่มีจริง ๆ ที่บันทึกใส่บัญชีของลูกค้า[9]

ลักษณะ

[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ดำเนินการจะสัญญาว่าจะให้ผลกำไรที่พิเศษสำหรับเงินทุนที่ให้[10] โดยอาจจะกล่าวถึงรายละเอียดอย่างคลุมเครือว่าเป็น "การค้าขายสัญญาการประกันความเสี่ยงที่จะได้ผลข้างหน้า" (hedge futures trading) หรือ "โปรแกรมการลงทุนที่ได้ผลกำไรสูง" หรือ "การลงทุนนอกประเทศ" ผู้โปรโหมตแนวคิดจะขายแชร์ให้แก่ผู้ลงทุน โดยฉวยโอกาสจากการไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถ หรืออ้างว่าจะใช้กลวิธีการลงทุนที่บริษัทมีกรรมสิทธิ์โดยเฉพาะที่ต้องเก็บเป็นความลับเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งอื่น

ธุรกิจพอนซี่บางครั้งเริ่มปฏิบัติการเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผล เช่น กองทุนบริหารความเสี่ยง แต่ว่า กองทุนบริหารความเสี่ยงสามารถเสื่อมลงกลายไปเป็นธุรกิจพอนซี่ถ้าเกิดการขาดทุนอย่างไม่คาดฝัน (หรือแม้แต่ไม่สามารถที่จะได้ผลกำไรตามที่สัญญาหรือตามที่คาดหวัง) และถ้าผู้ดำเนินการแทนที่จะยอมรับความผิดพลาดไม่สามารถทำได้ตามสัญญา กลับกุว่าได้ผลกำไรที่ไม่มีจริงและปลอมรายงานบัญชีเพื่อแสดงผลกำไรถ้าจำเป็น

มีวิธีหรือกลยุทธ์การลงทุนหลายอย่างที่ตอนแรกเป็นธุรกิจที่สมเหตุสมผล แต่ภายหลังกลับกลายไปเป็นธุรกิจพอนซี่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนายแอลเลน สแตนฟอร์ด ที่ใช้บัตรเงินฝากของธนาคารเพื่อฉ้อโกงคนเป็นหมื่น ๆ ในรัฐเท็กซัส บัตรเงินฝากของธนาคารปกติเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยและมีประกันจากรัฐบาล แต่ว่า บัตรธนาคารของสแตนฟอร์ดเป็นเรื่องฉ้อฉล[11] ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐฟ้องคดีว่าเป็นธุรกิจที่ฉ้อโกงทรัพย์สินเป็นจำนวนเงิน 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 243,000-247,000 ล้านบาท)[12][13] และคดีแชร์แม่ชม้อย ที่นางชม้อย ทิพย์โสได้รับชวนจากเพื่อนร่วมงานให้ลงทุนค้าน้ำมันซึ่งตนเห็นว่าได้ผลตอบแทนสูงจริง จึงได้ชักชวนบุคคลอื่น ๆ ให้เขามาร่วมลงทุนด้วย จนในที่สุดก็กลายเป็นธุรกิจที่ฉ้อโกงประชาชนไปกว่า 4 พันล้านบาท

ในตอนแรกผู้โปรโหมตการลงทุนจะจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น และเป็นการชักชวนให้นักลงทุนปัจจุบันเพิ่มเงินลงทุน เมื่อนักลงทุนอื่น ๆ เริ่มลงทุน ก็จะกลายเป็นผลที่สืบเนื่องกัน ผลตอบแทนที่ให้แก่นักลงทุนพวกแรกมาจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่อ ๆ มา ไม่ใช่มาจากผลกำไรที่ได้จริง ๆ

บ่อยครั้ง ผลตอบแทนที่สูงจะกระตุ้นให้นักลงทุนไม่ถอนผลกำไรหรือต้นทุนออกจากกองทุน ดังนั้น ผู้ดำเนินการจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่นักลงทุนมากนัก เพียงแค่ต้องส่งใบแจ้งว่าตนกำลังได้ผลตอบแทนเท่าไร ซึ่งทำให้ดำรงภาพพจน์ได้ง่ายว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง

ผู้ดำเนินการจะพยายามลดการถอนเงินโดยสร้างโปรแกรมใหม่ ๆ สำหรับผู้ลงทุน บ่อยครั้งเป็นการไม่ให้ถอนเงินเป็นระยะเวลายาวขึ้น แลกกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ผู้ดำเนินการบ่อยครั้งได้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นโดยแจ้งว่า ผู้ลงทุนไม่สามารถถ่ายโอนทุนจากโปรแกรมแรกไปยังโปรแกรมที่สอง และถ้ามีผู้ลงทุนไม่มากที่ต้องการถอนเงินตามสัญญา ก็จะมีการจ่ายเงินให้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างภาพพจน์หลอกลวงแก่ผู้ลงทุนอื่น ๆ ว่า กองทุนมีเงินจริง ๆ

การล่มสลายของธุรกิจ

[แก้]

ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถยุติธุรกิจแบบพอนซี่ ไม่ช้าก็เร็วธุรกิจจำต้องล่มสลายเพราะเหตุดังต่อไปนี้[1]

  1. ผู้ดำเนินการหนี โดยเอาเงินทุนที่เหลือทั้งหมดไปด้วย (ยกเว้นเงินที่จ่ายไปแล้วกับผู้ลงทุนที่ถอนเงิน)
  2. เนื่องจากกลเม็ดจำเป็นต้องมีเงินทุนเข้ามาใหม่ ๆ เสมอเพื่อที่จะให้ผลตอบแทนที่สูง เมื่อเงินลงทุนใหม่น้อยลง ธุรกิจก็จะล้มเพราะว่าผู้ดำเนินการมีปัญหาในการจ่ายผลตอบแทน ผลตอบแทนที่สัญญาสูงยิ่งเท่าไร โอกาสธุรกิจล้มก็สูงขึ้นเท่านั้น และวิกฤติการณ์ถอนเงินไม่ได้ก็จะสร้างความตกใจกลัว ทำให้นักลงทุนจำนวนมากขึ้น ๆ ขอเงินคืน คล้ายกับที่มีเมื่อประชาชนมีปัญหากับธนาคาร
  3. ปัจจัยทางตลาดภายนอก เช่นเมื่อเศรษฐกิจตก ก็จะเป็นเหตุให้นักลงทุนถอนเงินบางส่วนหรือทั้งหมดออก

รูปแบบอื่น ๆ ที่มีส่วนคล้ายกัน

[แก้]
  • ธุรกิจแบบพีระมิดเป็นธุรกิจฉ้อฉลที่คล้ายกับธุรกิจพอนซี่เป็นบางส่วน โดยมีมูลฐานตั้งอยู่บนความเชื่อทางการเงินที่ไม่เป็นจริง รวมทั้งความหวังว่าจะได้ผลตอบแทนมีค่าสูง แต่ว่า มีลักษณะหลายอย่างที่ไม่เหมือนธุรกิจพอนซี่คือ[1]
    • ในธุรกิจพอนซี่ ผู้ดำเนินการเกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนโดยตรง ในธุรกิจแบบพีระมิด ผู้ที่สรรหาคนลงทุนได้ใหม่ได้ผลประโยชน์โดยตรง (และเป็นความจริงว่า การไม่ได้ผู้ลงทุนหมายความว่าจะไม่ได้ผลตอบแทน)
    • ธุรกิจพอนซี่มักจะอ้างวิธีการลงทุนที่ไม่เหมือนใครและบ่อยครั้งจะดึงดูดนักลงทุนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว เปรียบเทียบกับธุรกิจแบบพีระมิด ที่บอกตรง ๆ ว่า "เงินลงทุนใหม่" จะเป็นแหล่งได้ผลตอบแทน
    • ธุรกิจแบบพีระมิดล้มเร็วกว่าธุรกิจพอนซี่ เพราะว่าจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเงินทุนแบบยกกำลัง เพื่อที่จะดำรงผลตอบแทน เปรียบเทียบกับธุรกิจพอนซี่ ที่สามารถอยู่รอดได้โดยชักชวนให้นักลงทุนไม่ถอนเงินแต่ลงทุนผลตอบแทนที่ได้ และต้องมีผู้ลงทุนใหม่ ๆ น้อยกว่า
  • ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ คล้ายกับธุรกิจพอนซี่ตรงที่ว่า ผู้มีส่วนร่วมคนหนึ่งได้ผลกำไรจากเงินทุนของผู้มีส่วนร่วมที่เข้ามาในภายหลัง จนกระทั่งเกิดความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฟองสบู่เกิดขึ้นเพราะราคาของวัตถุสิ่งของที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดเปิด (เช่น ราคาหุ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาดอกทิวลิป) ที่เกิดขึ้นเพราะผู้ซื้อให้ราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากราคาในตลาดกำลังสูงขึ้น และเหมือนกับ ธุรกิจพอนซี ราคาของวัตถุนั้นสูงกว่ามูลค่าในตัว (มูลค่าตามความเป็นจริง) แต่ไม่เหมือนกับธุรกิจพอนซี่ เพราะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่หลอกลวง

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Ponzi Schemes - Frequently Asked Questions". U.S Securities and Exchange Commission. U.S Securities and Exchange Commission. สืบค้นเมื่อ 2012-06-23.
  2. "Ponzi Schemes". US Social Security Administration. สืบค้นเมื่อ 2008-12-024. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. Peck, Sarah (2010), Investment Ethics, John Wiley and Sons, p. 5, ISBN 978-0-470-43453-6
  4. Markopolos, Harry; Casey, Frank (2010), No One Would Listen: A True Financial Thriller, John Wiley and Sons, p. 50, ISBN 978-0-470-55373-2
  5. ออกหมายจับ! รศ.ดร.ดังโกงกว่าพันล้าน
  6. "Ponzi Scheme ต้นแบบของแชร์ลูกโซ่". นิตยสารผู้จัดการ. 2009-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-13. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. 7.0 7.1 Bray, Chad (2009-03-12). "Madoff Pleads Guilty to Massive Fraud". The Wall Street Journal. Dow Jones, Inc. สืบค้นเมื่อ 2009-03-12.
  8. "Biggest Fraud in History $50 billion Madoff Ponzi Scheme". 2008-12-13.
  9. Hays, Tom; Larry Neumeister; Shlomo Shamir (2009-03-06). "Extent of Madoff fraud now estimated at far below $50b". Haaretz. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 2009-03-07.
  10. "What is a Ponzi scheme?". Mijiki. Mijiki.com. สืบค้นเมื่อ 2012-06-23.
  11. Kurdas, Chidem (2012), Political Sticky Wicket: The Untouchable Ponzi Scheme of Allen Stanford
  12. Securities and Exchange Commission, Plaintiff v. Stanford International Bank Ltd., Stanford Group Company, Stanford Capital Management LLC, R. Allen Stanford, James M. Davis, Laura Pendergest-Holt, Defendants, case no. 3:09-cv-00298-L .
  13. [http: //www.reuters.com/article/ousiv/idUSN1737429520090217 "Stanford, aides failed to appear for testimony: U.S"]. Reuters. 2009-02-17. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Frankel, Tamar (2012). The Ponzi Scheme Puzzle: A History and Analysis of Con Artists and Victims. USA: Oxford University Press. ISBN 0199926611.
  • Dunn, Donald (2004). Ponzi: The Incredible True Story of the King of Financial Cons (Library of Larceny) (Paperback). New York: Broadway. ISBN 0-7679-1499-6.
  • Zuckoff, Mitchell (2005). Ponzi’s Scheme: The True Story of a Financial Legend. New York: Random House. ISBN 1-4000-6039-7.
  • Leila Schneps and Coralie Colmez, Math on trial. How numbers get used and abused in the courtroom, Basic Books, 2013. ISBN 978-0-465-03292-1. (Eighth chapter: "Math error number 8: underestimation. The case of Charles Ponzi: American dream, American scheme").
  • Ponzi Schemes FAQ Information and advice from the US Securities and Exchange Commission
  • Fraud Awareness and Prevention Information about spotting fraud from the US Commodities Futures Trading Commission
  • Ponzimonium เก็บถาวร 2014-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Free e-book about Ponzi schemes from the US Commodity Futures Trading Commission