การกลายเป็นกรดของมหาสมุทร
การกลายเป็นกรดของมหาสมุทร (อังกฤษ: ocean acidification) เป็นการลดลงของ pH ของมหาสมุทรโลกอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ น้ำทะเลเป็นเบสเล็กน้อย (หมายความว่า pH > 7) และกระบวนการดังกล่าวหมายถึงการเลื่อนสู่ภาวะ pH เป็นกลางมากกว่าการเปลี่ยนไปสู่สภาวะกรด (pH < 7) โดยสิ้นเชิง กระบวนการนี้ไม่ได้เปลี่ยนสภาพด่างของมหาสุมทร หรือสภาพด่างอาจเพิ่มขึ้นตามเวลาเนื่องจากการแตกตัวคาร์บอเนต ประมาณว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 30–40% จากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศละลายในมหาสมุทร แม้น้ำและทะเลสาบ เพื่อให้ถึงสมดุลเคมี ก๊าซบางส่วนจะทำปฏิกิริยากับน้ำเพื่อเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก โมเลกุลกรดคาร์บอนิกที่เกิดขึ้นนี้บางส่วนทำปฏิกิริยากับโมเลกุลน้ำให้เป็นไอออนไบคาร์บอเนตและไอออนไฮโดรเนียม จึงเพิ่มสภาพกรดของมหาสมุทร (คือ ความเข้มข้นของไอออน H+) ระหว่างปี 1751 ถึง 1996 pH ผิวมหาสมุทรประมาณว่าลดลงจากประมาณ 8.25 เหลือ 8.14 หมายความว่า มีความเข้มข้นของ H+ ในมหาสมุทรโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 35% แบบจำลองระบบโลกทำนายว่าภายในทศวรรษหลังสุดสภาพกรดของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเกินสภาพกรดในอดีต และเมื่อร่วมกับการเปลี่ยนแปลงชีวธรณีเคมีอื่นสามารถบั่นทอนการทำหน้าที่ของระบบนิเวศทางทะเลและรบกวนการจัดหาสินค้าและบริการจำนวนมากที่สัมพันธ์กับมหาสมุทร