กาย ฟอกส์
กาย ฟอกส์ | |
---|---|
ภาพวาดกาย ฟอกส์ของจอร์จ ครุกแชงก์ ตีพิมพ์ในนวนิยายปี 1840 โดยวิลเลียม แฮร์ริสัน เอนส์เวิร์ธ | |
เกิด | 13 เมษายน ค.ศ. 1570 (สันนิษฐาน) ยอร์ก ประเทศอังกฤษ |
เสียชีวิต | 31 มกราคม ค.ศ. 1606 เวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
สาเหตุเสียชีวิต | คอหัก |
สัญชาติ | อังกฤษ |
ชื่ออื่น | กวีโด ฟอกส์, จอห์น จอห์นสัน |
การศึกษา | โรงเรียนเซนต์ปีเตอร์ ยอร์ก |
อาชีพ | ทหาร; อัลเฟเรซ |
ปีปฏิบัติงาน | ค.ศ. 1591–1603 |
มีชื่อเสียงจาก | กบฏผู้มีส่วนในแผนดินปืน |
ถูกกล่าวหา | กบฏต่อแผ่นดิน |
รับโทษ | แขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ |
บิดามารดา | เอดเวิร์ด ฟอกส์, อีดิธ (สกุลเดิม เบลกหรือแจ็กสัน) |
กาย ฟอกส์ (อังกฤษ: Guy Fawkes; 13 เมษายน ค.ศ. 1570 – 31 มกราคม ค.ศ. 1606) ที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า กวีโด ฟอกส์ (อิตาลี: Guido Fawkes) อันเป็นชื่อที่เขาใช้ขณะสู้รบให้กับสเปนในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เป็นสมาชิกกลุ่มคาทอลิกอังกฤษแขวงผู้วางแผนแผนดินปืน (Gunpowder Plot) ที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1605
ฟอกส์เกิดและได้รับการศึกษาในยอร์ก บิดาเขาเสียชีวิตเมื่อฟอกส์อายุได้แปดขวบ จากนั้น มารดาเขาสมรสกับผู้นับถือคาทอลิกที่ไม่เข้าร่วมกิจการของศาสนจักรแห่งอังกฤษ (recusant) ภายหลังฟอกส์เปลี่ยนมานับถือคาทอลิกและเดินทางไปแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่ซึ่งเขาสู้รบในสงครามแปดสิบปี โดยอยู่ฝ่ายสเปนคาทอลิก และสู้รบกับนักปฏิรูปดัตช์โปรเตสแตนต์ เขาเดินทางไปสเปนเพื่อแสวงการสนับสนุนกบฏคาทอลิกในอังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังเขาพบทอมัส วินเทอร์ (Thomas Wintour) ซึ่งเดินทางกลับอังกฤษพร้อมกับเขาด้วย
วินเทอร์แนะนำฟอกส์ให้รู้จักรอเบิร์ต เคตส์บี (Robert Catesby) ผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 และฟื้นฟูพระมหากษัตริย์คาทอลิกสู่ราชบัลลังก์ กลุ่มผู้วางแผนเช่าห้องใต้ดินใต้สภาขุนนาง และฟอกส์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบระเบิดดินปืนที่พวกเขาเก็บสะสมไว้ที่นั่น ทางการค้นพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในช่วงเช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายนหลังได้รับการแจ้งเตือนจากจดหมายนิรนาม และพบฟอกส์กำลังเฝ้าระเบิดอยู่ เขาถูกสอบสวนและทรมานอยู่สองสามวันจนยอมเปิดเผยข้อมูลในที่สุด ก่อนการประหารชีวิตในวันที่ 31 มกราคม ฟอกส์กระโดดจากตะแลงแกงที่เขากำลังจะถูกแขวนคอ และคอหัก จึงไม่ได้รับความทรมานจากการถูกตัดและคว้านอวัยวะที่ตามมา
ชื่อของฟอกส์กลายเป็นคำพ้องกับแผนระเบิดดินปืน มีการเฉลิมฉลองความล้มเหลวของแผนดังกล่าวในอังกฤษตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ตามประเพณีมีการเผาหุ่นจำลองของเขาบนกองไฟ ซึ่งมักร่วมด้วยการแสดงดอกไม้ไฟ
ชีวิตช่วงต้น
[แก้]วัยเด็ก
[แก้]กาย ฟอกส์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1570 ในย่านสโตนเกตของเมืองยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่สองจากสี่คนของเอดเวิร์ด ฟอกส์ ผู้แทนในคดี (proctor) และทนายความของศาลคันซิสทอรี (consistory court) หรือศาลสงฆ์ประเภทหนึ่งในยอร์ก[a] และภรรยา อีดิธ[b] บิดามารดาของกายเป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งอังกฤษเช่นเดียวกับปู่ย่า ย่าเขาซึ่งมีชื่อเมื่อเกิดว่า เอลเลน แฮร์ริงตัน เป็นธิดาพ่อค้าคนสำคัญที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองยอร์กในปี ค.ศ. 1536[4] ทว่า ครอบครัวของมารดาเป็นคาทอลิกที่ไม่เข้าร่วมกิจการของคริสตจักรแห่งอังกฤษ (recusant) และลูกพี่ลูกน้อง ริชาร์ด คาวลิง บวชเป็นบาทหลวงคณะเยสุอิต[5] กายเป็นชื่อที่พบน้อยในประเทศอังกฤษ แต่อาจได้รับความนิยมในยอร์กเพราะเป็นชื่อของผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นคือ เซอร์กาย แฟร์แฟกซ์แห่งสตีตัน[6]
ไม่มีใครทราบวันเกิดของฟอกส์ แต่เขาผ่านพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนในโบสถ์เซนต์ไมเคิลเลเบลฟรีย์ (St. Michael le Belfrey) ในวันที่ 16 เมษายน ตามจารีตประเพณีมีการเว้นช่วงระหว่างการเกิดกับพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนสามวัน จึงเป็นไปได้ว่าเขาเกิดวันที่ 13 เมษายน[5] ในปี ค.ศ. 1568 อีดิธให้กำเนิดธิดาคนหนึ่งชื่อแอนน์ แต่ทารกเสียชีวิตเมื่ออายุได้ราวเจ็ดสัปดาห์คือในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เธอคลอดบุตรอีกสองคนหลังจากกาย ได้แก่ แอนน์ (เกิดปี ค.ศ. 1572) และเอลิซาเบธ (เกิดปี ค.ศ. 1575) ทั้งคู่สมรสในปี ค.ศ. 1599 และ ค.ศ. 1594 ตามลำดับ[6][7]
ในปี ค.ศ. 1579 เมื่อกายอายุได้แปดขวบ บิดาเขาเสียชีวิต อีกหลายปีให้หลังมารดาสมรสใหม่กับเดนิส เบย์นบริดจ์ (Denis Baynbridge) ผู้นับถือคาทอลิกชาวบ้านสกอตตัน เขตแฮร์โรเกต ฟอกส์อาจเปลี่ยนมานับถือคาทอลิกตามความนิยมเรคิวซันซีของตระกูลเบย์นบริดจ์ และตามสายคาทอลิกของตระกูลพุลลีน (Pulleyn) และเพอร์ซีแห่งบ้านสกอตตัน[8] รวมทั้งจากสมัยที่เขาเรียนที่โรงเรียนเซนต์ปีเตอส์ในเมืองยอร์ก ผู้ว่าการโรงเรียนนี้รับโทษจำคุก 20 ปีฐานเรคิวซันซี ส่วนครูใหญ่ จอห์น พุลลีน มาจากตระกูลนักเรคิวซันซีที่สำคัญ คือ ตระกูลพุลลีนแห่งบ้านบลับเบอร์เฮาซิส (Blubberhouses) ในหนังสือ เดอะพุลลีนส์ออฟยอร์กเชอร์ (The Pulleynes of Yorkshire) งานปี ค.ศ. 1915 ผู้ประพันธ์ แคเธอริน พุลลีน เสนอว่า การศึกษาคาทอลิกของฟอกส์มาจากญาติฝั่งแฮร์ริงตันของเขา ซึ่งทราบกันว่าให้ที่ซ่อนเร้นแก่นักบวชผู้กระทำความผิด นักบวชหนึ่งในนั้นภายหลังเดินทางกับฟอกส์ไปฟลานเดอส์ในปี ค.ศ. 1592–1593 ด้วย[9] ศิษย์ของฟอกส์มีจอห์น ไรต์ และน้องชาย คริสโตเฟอร์ (ต่อมาทั้งคู่เข้าร่วมกับฟอกส์ในแผนดินปืน) และออสวัลด์ เทซิมอนด์ (Oswald Tesimond), เอดเวิร์ด โอลด์คอร์น (Edward Oldcorne) และรอเบิร์ต มิดเดิลตัน ซึ่งได้บวชเป็นบาทหลวง (มิดเดิลตันถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1601)[10]
หลังออกจากโรงเรียน ฟอกส์เข้ารับใช้แอนโทนี บราวน์ ไวเคานต์มอนทากิวที่ 1 (Anthony Browne, 1st Viscount Montagu) เขาไม่ชอบฟอกส์และปลดเขาในไม่ช้า ต่อมา แอนโทนี-มารีอา บราวน์ ไวเคานต์มอนทากิวที่ 2 (Anthony-Maria Browne, 2nd Viscount Montagu) ซึ่งสืบยศจากปู่ด้วยวัย 18 ปี จ้างเขาใหม่[11] มีอย่างน้อยหนึ่งแหล่งอ้างว่า ฟอกส์แต่งงานและมีบุตร แต่ไม่มีบันทึกร่วมสมัยเท่าที่ทราบยืนยันข้อมูลนี้[12][c]
อาชีพทหาร
[แก้]ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1591 ฟอกส์ขายที่ดินกรรมสิทธิ์ในคลิฟตันที่ตกทอดมาจากบิดา[d] เขาเดินทางไปยังยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่อสู้รบในสงครามแปดสิบปีร่วมกับสเปนคาทอลิกซึ่งต่อต้านสาธารณรัฐดัตช์ (และฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1595 จนมีการทำสนธิสัญญาแวร์แว็งในปี ค.ศ. 1598) แม้อังกฤษมิได้เข้าร่วมในปฏิบัติการภาคพื้นดินต่อสเปนในเวลานั้น แต่ทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม และเหตุการณ์อาร์มาดาสเปน ค.ศ. 1588 เพิ่งผ่านไปได้ห้าปี เขาเข้าร่วมกับเซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ ชาวอังกฤษคาทอลิกและผู้บังคับบัญชาผ่านศึกในวัยห้าสิบกลาง ๆ ผู้สร้างกองทัพในไอร์แลนด์เพื่อต่อสู้ในกองทหารของเลสเตอร์ที่ส่งไปปฏิบัติการนอกประเทศในเนเธอร์แลนด์ สแตนลีย์เคยได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แต่หลังจากที่เขายอมสละเมืองเดเฟินเตอร์ให้สเปนในปี ค.ศ. 1587 เขาและทหารส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนฝ่ายไปรับใช้สเปน ฟอกส์กลายเป็นอัลเฟเรซ (alférez) หรือนายทหารผู้น้อย ซึ่งสู้รบอย่างดีในการล้อมเมืองกาแลในปี ค.ศ. 1596 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1603 ก็ได้รับการเสนอเลื่อนยศเป็นร้อยเอก[3] ในปีนั้น เขาเดินทางไปสเปนเพื่อแสวงหาการสนับสนุนแก่กบฏคาทอลิกในอังกฤษ ในโอกาสนั้นเขาได้ใช้ชื่อตัวว่า "กวีโด" (Guido) ซึ่งเป็นชื่อเขาในภาษาอิตาลี และบรรยายพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ในบันทึกของเขาว่าเป็น "คนนอกศาสนา" ผู้ทรงเจตนา "ขับทั้งนิกายสันตะปาปาออกจากอังกฤษ" เขาประณามสกอตแลนด์และผู้ที่พระมหากษัตริย์โปรดในบรรดาอภิชนชาวสกอต โดยเขียนว่า "การปรองดองสองชาติดังที่เป็นนี้จะเป็นไปได้ไม่นานนัก"[13] แม้เขาได้รับการต้อนรับอย่างสุภาพ แต่ราชสำนักของพระเจ้าเฟลีเปที่ 3 ไม่เต็มใจเสนอความช่วยเหลือใด ๆ แก่เขา[14]
แผนดินปืน
[แก้]ในปี ค.ศ. 1604 ฟอกส์เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคาทอลิกอังกฤษขนาดเล็กซึ่งนำโดยรอเบิร์ต เคตส์บี เคตส์บีวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ซึ่งทรงถือโปรเตสแตนต์ แล้วยกพระธิดา คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งอยู่ในลำดับสามของลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ ขึ้นครองราชย์แทน[15][16] ออสวัลด์ เทซิมอนด์ นักบวชคณะเยสุอิตและอดีตเพื่อนสมัยเรียน อธิบายฟอกส์ว่า "น่าเข้าหาและมีท่าทีร่าเริง ไม่เห็นด้วยกับการทะเลาะและความขัดแย้ง ... ซื่อสัตย์ต่อเพื่อน ๆ ของเขา" เทซิมอนด์ยังอ้างว่าฟอกส์เป็น "ชายผู้มีทักษะสูงในกิจการสงคราม" และอ้างว่า การผสมระหว่างความศรัทธาในศาสนากับความเป็นมืออาชีพนี้เองที่ทำให้ผู้คบคิดคนอื่น ๆ รักใคร่เขา[3] ผู้ประพันธ์ แอนโทเนีย เฟรเซอร์ (Antonia Fraser) บรรยายฟอกส์ว่าเป็น "ชายกำยำ ร่างสูง มีผมสีน้ำตาลแดงหนา หนวดเฟิ้มตามประเพณีสมัยนั้น และเคราน้ำตาลแดงดก" และเป็น "คนเน้นลงมือ ... มีความสามารถในการถกเถียงอย่างปัญญาชนเช่นเดียวกับที่มีความอดทนทางกายสูง ซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจสำหรับศัตรูของเขา"[5]
ห้าผู้คบคิดหลักประชุมกันครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1604 ที่โรงเตี๊ยมชื่อ ดั๊กแอนด์เดรก ในเขตสแตรนด์ (Strand district) ที่ทันสมัยของกรุงลอนดอน[e] เคตส์บีได้เสนอในการประชุมกับทอมัส วินเทอร์ และจอห์น ไรต์ ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และรัฐบาลของพระองค์โดยระเบิด "ทำเนียบรัฐสภาด้วยดินปืน" วินเทอร์ซึ่งตอนแรกคัดค้านแผนนี้ถูกเคตส์บีเกลี้ยกล่อมให้เดินทางไปยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่อแสวงความช่วยเหลือ วินเทอร์เข้าพบกับผู้บัญชาการกองทัพแห่งกัสติยา (สเปน), ฮิว โอเวน (Hugh Owen) สายลับชาวเวลส์ที่ถูกเนรเทศ[18] และเซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ ซึ่งบอกว่าเคตส์บีจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสเปน อย่างไรก็ตาม โอเวนได้แนะนำวินเทอร์ให้รู้จักฟอกส์ซึ่งในขณะนั้นอยู่นอกประเทศอังกฤษมาหลายปี ฉะนั้นจึงแทบไม่เป็นที่รู้จักในประเทศ วินเทอร์และฟอกส์มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งคู่เป็นนักรบและมีประสบการณ์ตรงจากการที่ชาวสเปนไม่เต็มใจช่วยเหลือ วินเทอร์บอกฟอกส์ถึงแผน "ทำการบางอย่างในอังกฤษหากสันติภาพกับสเปนไม่เอื้อต่อพวกเรา" (doe some whatt in Ingland if the pece with Spaine healped us nott)[3] และฉะนั้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1604 ทั้งสองจึงกลับประเทศอังกฤษ[17] ข่าวของวินเทอร์ไม่ทำให้เคตส์บีประหลาดใจ เพราะแม้มีเสียงทางบวกจากทางการสเปน แต่เขาก็กลัวอยู่ว่า "การกระทำนั้นจะไม่ตรงคำตอบ" (the deeds would nott answere)[f]
ทอมัส เพอร์ซี (Thomas Percy) ผู้คบคิดคนหนึ่ง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1604 ทำให้สามารถเข้าถึงบ้านหลังหนึ่งในกรุงลอนดอนซึ่งเป็นของจอห์น วินเนียร์ด (John Whynniard) ผู้ดูแลเสื้อผ้าของพระมหากษัตริย์ ฟอกส์รับตำแหน่งรักษาการ และเริ่มใช้นามแฝงว่าจอห์น จอห์นสัน คนรับใช้ของเพอร์ซี[20] บันทึกการฟ้องคดีอาญาร่วมสมัย (มาจากคำสารภาพของทอมัส วินเทอร์)[21] อ้างว่า กลุ่มผู้คบคิดพยายามขุดอุโมงค์จากใต้บ้านวินเนียร์ดไปยังรัฐสภา แต่รัฐบาลอาจสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเอง เพราะการฟ้องคดีอาญานี้ไม่มีหลักฐานว่ามีอุโมงค์ดังกล่าวอยู่ และไม่พบร่องรอยอุโมงค์ที่ว่า ตัวฟอกส์เองไม่ยอมรับว่ามีแผนการดังกล่าวกระทั่งการสอบสวนครั้งที่ห้า แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอุโมงค์อยู่ตรงจุดไหน[22] อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้เป็นความจริง เมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1604 ผู้คบคิดก็กำลังง่วนขุดอุโมงค์จากบ้านเช่าไปยังสภาขุนนาง พวกเขาหยุดเมื่อได้ยินเสียงจากข้างบนระหว่างการขุดอุโมงค์ ฟอกส์ถูกส่งไปสืบและกลับมาพร้อมข่าวว่า ไม่ไกลนักภรรยาม่ายของผู้เช่ากำลังเก็บกวาดห้องใต้ดินซึ่งอยู่ใต้สภาขุนนางพอดี[3][23]
ผู้คบคิดขอเช่าห้องใต้ดินนั้นซึ่งเป็นของจอห์น วินเนียร์ดเช่นกัน ห้องนั้นไม่ได้ใช้และโสโครก จึงถือเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเก็บซ่อนดินปืนที่ผู้คบคิดวางแผนสะสมไว้ ตามที่ฟอกส์เปิดเผย ตอนแรกมีการนำดินปืนมา 20 ถัง และอีก 16 ถังในวันที่ 20 กรกฎาคม[24] ทว่า โรคระบาดที่คุกคามอยู่เนือง ๆ ทำให้การเปิดประชุมรัฐสภาเลื่อนไปเป็นวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน[25]
โพ้นทะเล
[แก้]ในความพยายามให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนจากต่างประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1605 ฟอกส์เดินทางข้ามทะเลและแจ้งแผนของผู้คบคิดแก่ฮิว โอเวน[26] ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างการเดินทางนี้ ชื่อของเขาก็เข้าไปอยู่ในแฟ้มของรอเบิร์ต เซซิล เอิร์ลที่ 1 แห่งซอลส์บรี (Robert Cecil, 1st Earl of Salisbury) ซึ่งมีเครือข่ายสายลับอยู่ทั่วทวีปยุโรป สายลับคนหนึ่ง ร้อยเอก วิลเลียม เทอร์เนอร์ อาจเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลที่เขาให้แก่ซอลส์บรีโดยปกติจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่ารายงานการรุกรานที่มีรูปแบบคลุมเครือ และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแผนดินปืนเลย แต่ในวันที่ 21 เมษายน เขาก็เล่าว่าเทซิมอนด์จะนำฟอกส์กลับไปยังประเทศอังกฤษด้วยวิธีการใด ฟอกส์เป็นทหารรับจ้างชาวเฟลมิช (Flemish) ที่เป็นที่รู้จักกันดี และจะถูกแนะนำตัวต่อ "นายเคตส์บี" และ "บรรดามิตรผู้มีเกียรติของขุนนางและคนอื่น ๆ ที่จะเตรียมอาวุธและม้าไว้ให้พร้อม"[27] อย่างไรก็ตาม รายงานของเทอร์เนอร์ไม่ได้กล่าวถึงจอห์น จอห์นสัน (นามแฝงของฟอกส์ในประเทศอังกฤษ) และข่าวนี้ไม่ไปถึงเซซิลจนกระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลาหลังแผนถูกเปิดโปงแล้ว[3][28]
ไม่แน่ชัดว่าฟอกส์กลับประเทศอังกฤษเมื่อใด แต่เขากลับถึงลอนดอนเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 1605 เมื่อเขาและวินเทอร์พบว่าดินปืนที่สะสมไว้ในห้องใต้ดินเสื่อมไปแล้ว มีการนำดินปืนเข้ามาในห้องเพิ่มเติม ร่วมกับไม้ฟืนเพื่ออำพราง[29] มีการกำหนดบทบาทสุดท้ายของฟอกส์ในแผนนี้ระหว่างการประชุมหลายครั้งในเดือนตุลาคม เขาจะเป็นผู้จุดชนวนแล้วหลบหนีข้ามแม่น้ำเทมส์ ในเวลาเดียวกันนั้น การก่อการกำเริบในมิดแลนส์จะช่วยให้มีการคุมตัวเจ้าหญิงเอลิซาเบธ การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์จะไม่เป็นที่ยอมรับ ฉะนั้น ฟอกส์จะมุ่งหน้าไปยังยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่ออธิบายให้ประเทศมหาอำนาจคาทอลิกเข้าใจถึงภารกิจศักดิ์สิทธิ์ในการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และฆ่าข้าราชบริพาร[30]
การตรวจพบ
[แก้]ผู้คบคิดจำนวนหนึ่งเป็นห่วงผู้นับถือคาทอลิกที่จะปรากฏตัวที่รัฐสภาระหว่างการเปิดสมัยประชุม[31] ในเย็นวันที่ 26 ตุลาคม ลอร์ดมอนทีเกิล (Lord Monteagle) ได้รับจดหมายนิรนามเตือนให้เขาอยู่ห่าง ๆ และ "กลับคฤหาสน์ชนบทของท่านไปเสีย ณ ที่นั้นท่านจะปลอดภัย เพราะ ... พวกเขาจะโดนระเบิดอย่างร้ายแรงในรัฐสภาแห่งนี้" (retyre youre self into yowre contee whence yow maye expect the event in safti for ... they shall receyve a terrible blowe this parleament)[32] แม้ว่ากลุ่มผู้คบคิดจะทราบเรื่องจดหมายอย่างรวดเร็ว (เพราะคนรับใช้คนหนึ่งของมอนทีเกิลเป็นผู้แจ้ง) แต่พวกเขาก็ตัดสินใจดำเนินแผนการต่อไป เพราะเห็นว่า "ทุกคนเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นข่าวลวง"[33] ฟอกส์ตรวจห้องใต้ดินเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม และรายงานว่าไม่มีสิ่งใดถูกรบกวน ทว่ามอนทีเกิลรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลจึงแสดงจดหมายฉบับนั้นต่อพระเจ้าเจมส์ พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้เซอร์ทอมัส นิเวต (Thomas Knyvet) ค้นห้องใต้ดินใต้รัฐสภา ซึ่งเขาดำเนินการในช่วงกลางดึกของเช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน ฟอกส์เข้าประจำตำแหน่งสายเมื่อคืนก่อน[34] มีไม้ขีดไฟเผาไหม้ช้าและนาฬิกาข้อมือที่เพอร์ซีให้เขาไว้ติดตัว "เพราะเขาควรรู้ว่าเวลาผ่านไปอย่างไร" (becaus he should knowe howe the time went away)[3] เขาถูกพบขณะกำลังออกจากห้องใต้ดินหลังเที่ยงคืนไม่นาน และถูกจับกุม พบถังดินปืนใต้กองไม้ฟืนและถ่านหินในห้องนั้น[35]
การทรมาน
[แก้]ฟอกส์บอกว่าตัวเองชื่อจอห์น จอห์นสัน และตอนแรกถูกข้าราชบริพารห้องประทับส่วนพระมหากษัตริย์ (Privy chamber) สอบสวน ซึ่งเขายังขัดขืนอยู่[36] เมื่อมีขุนนางคนหนึ่งถามว่าเขากำลังทำอะไรถึงมีดินปืนในครอบครองมากขนาดนั้น ฟอกส์ตอบว่าเจตนาของเขาคือ "เพื่อระเบิดพวกมึงขอทานสกอตกลับภูเขาบ้านเกิดของมึงไงล่ะ"[37] เขาระบุตนว่าเป็นคนคาทอลิกวัย 36 ปีจากเนเธอร์เดล (Netherdale) ในยอร์กเชอร์ และบอกว่าบิดาชื่อทอมัส ส่วนมารดาชื่ออีดิธ แจ็กสัน เมื่อผู้สอบสวนสังเกตเห็นบาดแผลบนร่างกาย เขาก็อธิบายว่าเป็นผลมาจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ฟอกส์ยอมรับว่าเขาเจตนาระเบิดสภาขุนนางและแสดงความเสียใจที่แผนล้มเหลว กิริยาอาการเด็ดเดี่ยวของเขาทำให้พระเจ้าเจมส์ทรงชื่นชม พระองค์ทรงบรรยายว่าฟอกส์มี "ความแน่วแน่อย่างโรมัน"[38]
แม้พระเจ้าเจมส์จะทรงชื่นชม แต่ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็มีพระราชดำรัสสั่งทรมาน "จอห์น จอห์นสัน" ให้แฉชื่อผู้ร่วมคบคิด[39] พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้ทรมานแต่น้อยก่อน คือหมายถึงใช้กุญแจมือ แต่ให้รุนแรงขึ้นถ้าจำเป็น โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องทรมานดึงแขนขา (rack)[36][40] ฟอกส์ถูกย้ายมายังหอคอยลอนดอน พระเจ้าเจมส์ทรงร่างรายการคำถามต่าง ๆ ที่จะถาม "จอห์นสัน" เช่น "เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเป็น เพราะฉันยังไม่เคยได้ยินว่ามีผู้ใดรู้จักเขา", "เขาเรียนพูดภาษาฝรั่งเศสเมื่อใดและที่ใด", "ถ้าเขาเป็นพวกนิยมโป๊ปแล้วใครเป็นผู้สั่งสอนเขา"[41] ห้องที่ฟอกส์ถูกสอบสวนต่อมาเรียก ห้องกาย ฟอกส์[42]
เซอร์วิลเลียม เวด (William Wade) รองผู้บัญชาการหอคอยลอนดอน (Lieutenant of the Tower) เป็นผู้ควบคุมการทรมานและได้คำสารภาพของฟอกส์[36] เขาค้นตัวฟอกส์และพบจดหมายจ่าหน้าถึงกาย ฟอกส์ เวดประหลาดใจที่ "จอห์นสัน" ยังนิ่งเงียบ ไม่เปิดเผยแผนหรือผู้ริเริ่มแผนเลย[43] ในคืนวันที่ 6 พฤศจิกายน เขาพูดกับเวดซึ่งรายงานต่อซอลส์บรีว่า "เขา [จอห์นสัน] บอกพวกเราว่า ตั้งแต่เขาเริ่มดำเนินการนี้ เขาก็สวดภาวนาต่อพระเป็นเจ้าทุกวันว่าเขาจะกระทำการเช่นนั้นเพื่อความก้าวหน้าของคาทอลิกและเพื่อคุ้มครองวิญญาณของเขาเอง" เวดเล่าว่า ฟอกส์ยังพักผ่อนได้ตลอดคืนแม้จะถูกเตือนว่าเขาจะถูกสอบสวนจนกว่า "ข้าพเจ้าจะได้ความลับจากก้นบึ้งของความคิดเขาและผู้สมคบทั้งหมดของเขา"[44] ความอดทนต่อการถูกทรมานของฟอกส์สิ้นสุดลงในวันรุ่งขึ้น[45]
ผู้สังเกตการณ์ เซอร์เอดเวิร์ด โฮบี (Edward Hoby) ตั้งข้อสังเกตว่า "ตั้งแต่จอห์นสันอยู่ในหอคอย เขาก็เริ่มพูดภาษาอังกฤษ" (Since Johnson's being in the Tower, he beginneth to speak English) ฟอกส์เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาในวันที่ 7 พฤศจิกายน และบอกผู้สอบสวนเขาว่ามีห้าคนเกี่ยวข้องในแผนปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ เขาเริ่มเผยชื่อในวันที่ 8 พฤศจิกายน และบอกว่าพวกเขาตั้งใจยกเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองบัลลังก์อย่างไร คำสารภาพที่สามของเขาในวันที่ 9 พฤศจิกายน พาดพิงฟรานซิส เทรชัม หลังเหตุการณ์แผนรีดอลฟี (Ridolfi plot) ในปี ค.ศ. 1571 นักโทษถูกบังคับให้บอกเขียนคำสารภาพของเขาเองก่อนคัดลอกและลงลายมือชื่อ หากยังสามารถเขียนได้[46] แม้ไม่ชัดเจนว่าเขาตกอยู่ใต้ความกลัวเครื่องทรมานดึงแขนขาหรือไม่ แต่ลายมือชื่อของฟอกส์ซึ่งไม่ดีไปกว่าการเขียนหวัด ๆ นัก ก็เป็นหลักฐานถึงความทุกข์ทรมานที่เขาต้องเจอในกำมือของผู้สอบสวน[47]
การพิจารณาคดีในศาลและการประหารชีวิต
[แก้]การพิจารณาคดีผู้ก่อการแปดคนในศาลเริ่มเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1606 ฟอกส์ลงเรือลำเดียวกับผู้ร่วมคบคิดเจ็ดคนจากหอคอยไปยังเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์[g] พวกเขาถูกคุมตัวในห้องดาวก่อนถูกนำไปยังเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ที่นั่น พวกเขาถูกแสดงบนตะแลงแกงที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ พระมหากษัตริย์และพระญาติใกล้ชิดทอดพระเนตรอย่างลับ ๆ อยู่ท่ามกลางบรรดาผู้ชมระหว่างที่กรรมการที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (Lords Commissioners) อ่านรายการข้อกล่าวหา ฟอกส์ถูกขานนามว่า กวีโด ฟอกส์ "หรือเรียกอีกอย่างว่า กวีโด จอห์นสัน" เขาให้การปฏิเสธ แม้จะเห็นได้ว่าเขายอมรับว่ากระทำความผิดตั้งแต่ตอนที่ถูกจับแล้ว[49]
ผลแทบไม่ต้องสงสัย คณะลูกขุนวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด และประธานศาลสูงสุด (Lord Chief Justice) เซอร์จอห์น พอพัม (John Popham) ประกาศให้พวกเขามีความผิดฐานกบฏต่อแผ่นดิน[50] อัยการสูงสุด เซอร์เอดเวิร์ด คุก กล่าวต่อศาลว่า ผู้ถูกพิพากษาลงโทษจะถูกม้าลากถอยหลังจนตาย โดยปล่อยศีรษะเรียดพื้น พวกเขาจะถูก "ประหารชีวิตครึ่งทางระหว่างสวรรค์กับโลกเพราะไม่คู่ควรแก่ทั้งสอง" อวัยวะเพศจะถูกตัดและเผาซึ่งหน้า และลำไส้และหัวใจจะถูกนำออก แล้วพวกเขาจะถูกตัดศีรษะ และชิ้นส่วนร่างกายที่ถูกตัดออกจะถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้เป็น "เหยื่อแก่นกในอากาศ"[51] มีการอ่านออกเสียงคำให้การของฟอกส์และเทรชัมเกี่ยวกับกบฏสเปน ตลอดจนคำสารภาพที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับแผนดินปืน หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่นำมาอ่านคือบทสนทนาระหว่างฟอกส์กับวินเทอร์ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกคุมตัวไว้ในห้องขังติดกัน ดูเหมือนว่าทั้งสองคิดว่าตนกำลังคุยกันส่วนตัว แต่บทสนทนาของพวกเขาถูกสายลับรัฐบาลดักได้ เมื่อเหล่านักโทษได้รับอนุญาตให้พูด ฟอกส์ก็อธิบายว่าเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาเพราะไม่รู้คำฟ้องคดีในบางด้าน[52]
ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1606 ฟอกส์และอีกสามคน ได้แก่ ทอมัส วินเทอร์, แอมโบรส รุกวุด และรอเบิร์ต เคย์ส (Robert Keyes) ถูกลากบนเลื่อนสานจากหอคอยไปยังลานพระราชวังเดิมที่เวสต์มินสเตอร์ ตรงข้ามกับอาคารที่พวกเขาพยายามทำลาย[53] ผู้ร่วมคบคิดของเขาถูกแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ ฟอกส์เป็นคนสุดท้ายที่ยืนบนตะแลงแกง เขาทูลขออภัยโทษจากพระมหากษัตริย์และรัฐ ขณะที่ยังคง "ทำเครื่องหมายกางเขนและพิธีกรรมไร้สาระ" ฟอกส์เริ่มปีนบันไดสู่บ่วงอย่างอ่อนแรงจากการถูกทรมานโดยมีเพชฌฆาตแขวนคอคอยพยุง แต่ไม่ว่าจะมาจากการกระโดดลงมาตายหรือจากการปีนสูงเกินไปเพื่อให้เชือกจัดไม่ถูกต้อง เขาก็สามารถเลี่ยงความเจ็บปวดจากการประหารขั้นตอนหลังไปได้เพราะคอหักเสียชีวิตทันที[36][54][55] กระนั้น ร่างไร้วิญญาณของเขาก็ถูกผ่าสี่[56] แล้วตามจารีตประเพณี[57] ชิ้นส่วนร่างของเขาถูกส่งกระจายไปยัง "มุมทั้งสี่ของราชอาณาจักร" เพื่อนำไปประจานเป็นการเตือนแก่ผู้ที่คิดจะทรยศต่อไป[58]
มรดก
[แก้]วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ชาวกรุงลอนดอนได้รับการเชิญชวนให้เฉลิมฉลองการที่พระมหากษัตริย์ทรงรอดการลอบปลงพระชนม์ได้ด้วยการจุดกองไฟ "โดยให้ 'หลักฐานของความสุขสันต์นี้เป็นไปโดยระวังไม่ให้มีอันตรายหรือความวุ่นวายใด ๆ' อยู่เสมอ"[3] มีพระราชบัญญัติกำหนดให้วันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันขอบคุณสำหรับ "วันแคล้วคลาดสุขสันต์" และมีผลใช้บังคับจนถึงปี 1859[59] แม้ว่าฟอกส์เป็นเพียงหนึ่งในผู้ก่อการสิบสามคน แต่ปัจจุบันเขาเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าวมากที่สุด[60]
ในบริเตน วันที่ 5 พฤศจิกายนมีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น คืนกาย ฟอกส์, วันกาย ฟอกส์, คืนแห่งแผน (Plot Night)[61] และคืนแห่งกองไฟ ซึ่งชื่อสุดท้ายนี้สามารถย้อนความเป็นมาไปได้ถึงการเฉลิมฉลองดั้งเดิมในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605[62] มีการจุดกองไฟร่วมกับดอกไม้ไฟตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1650 เป็นต้นมา และการเผาหุ่นจำลอง (ปกติจะเป็นพระสันตะปาปา) ก็กลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1673 เมื่อทายาทโดยสันนิษฐาน เจมส์ ดุ๊กแห่งยอร์ก แพร่การเข้ารีตเป็นคาทอลิกของเขา[3] หุ่นจำลองของบุคคลสำคัญคนอื่น ๆ ที่กลายเป็นเป้าความโกรธเกรี้ยวของสาธารณชน (เช่น พอล ครูเกอร์, มาร์กาเรต แทตเชอร์) ก็ถูกนำไปเผาเช่นกัน[63] แต่หุ่นจำลองสมัยใหม่ส่วนมากเป็นหุ่นฟอกส์[59] ปกติเด็ก ๆ สร้างหุ่น "กาย" จากเสื้อผ้า หนังสือพิมพ์เก่า และหน้ากาก[59] ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า "กาย" (guy) ถูกนำมาใช้หมายถึงบุคคลที่แต่งตัวแปลก แต่ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน คำนี้สูญความหมายเชิงดูหมิ่นไปและใช้เรียกชายใดก็ได้[59][64]
กาย ฟอกส์ หรือ กบฏดินปืน (Guy Fawkes; or, The Gunpowder Treason) นิยายวีรคติเชิงประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 1841 ของวิลเลียม แฮร์ริสัน เอนส์เวิร์ธ พรรณนาฟอกส์โดยรวมในมุมมองเห็นอกเห็นใจ[65] และเปลี่ยนภาพของฟอกส์ในความรับรู้ของสาธารณะเป็น "ตัวละครบันเทิงคดีที่พอยอมรับได้" ต่อมาฟอกส์ปรากฏเป็น "พระเอกบู๊โดยพื้นฐาน" ในหนังสือเด็กและนวนิยายสิบสตางค์ เช่น วันวานในวัยเด็กของกาย ฟอกส์ หรือ กลุ่มผู้คบคิดแห่งลอนดอนเก่า (The Boyhood Days of Guy Fawkes; or, The Conspirators of Old London) ซึ่งตีพิมพ์ในราวปี ค.ศ. 1905[66] นักประวัติศาสตร์ลูอิส คอลล์ สังเกตว่า ปัจจุบันฟอกส์เป็น "บุคคลสัญลักษณ์สำคัญในวัฒนธรรมการเมืองสมัยใหม่" เขาเขียนว่า ภาพใบหน้าของฟอกส์กลายเป็น "เครื่องมือที่มีศักยะทรงพลังสำหรับการแสดงออกถึงแนวคิดอนาธิปไตยหลังสมัยใหม่" ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยยกตัวอย่างหน้ากากที่วีสวมในชุดหนังสือการ์ตูน วีฟอร์เวนเดตตา (V for Vendetta) ซึ่งต่อสู้กับรัฐฟาสซิสต์อังกฤษในบันเทิงคดี[67]
บางครั้งกาย ฟอกส์ ได้รับสดุดีว่าเป็น "คนสุดท้ายที่เข้ารัฐสภาด้วยเจตนาซื่อสัตย์"[68]
อ้างอิง
[แก้]- หมายเหตุ
- ↑ แหล่งหนึ่งว่า เขาอาจเป็นนายทะเบียนศาลคดีภาษีอากรของอัครมุขนายก[1]
- ↑ ชื่อสกุลก่อนสมรสของมารดาฟอกส์ระบุเป็นอีดิธ เบลก[2] หรืออีดิธ แจ็กสัน[3]
- ↑ ตามดัชนีพงศาวลีวิทยาระหว่างประเทศที่รวบรวมโดยศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (LDS Church) ฟอกส์สมรสกับมารีอา พุลลีน (เกิด 1569) ในสกอตตันในปี 1590 และมีบุตรคนหนึ่งชื่อทอมัส เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1591[9] ทว่า ข้อมูลนี้ปรากฏว่ามาจากแหล่งทุติยภูมิและมิได้มาจากระเบียนของเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง[12]
- ↑ แม้พจนานุกรมชีวประวัติแห่งชาติออกซฟอร์ดอ้างว่าเป็นปี 1592 แต่แหล่งทางเลือกจำนวนมากระบุปี 1591 Peter Beal, A Dictionary of English Manuscript Terminology, 1450 to 2000 รวมหนังสือสำคัญขายที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ทำขึ้นเป็นคู่ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 1591 (pp. 198–199)
- ↑ ที่ประชุมด้วยคือผู้สมคบ จอห์น ไรต์, ทอมัส เพอร์ซี และทอมัส วินเทอร์ (ซึ่งเขารู้จักแล้ว)[17]
- ↑ พระเจ้าเฟลีเปที่ 3 ทรงตกลงสันติภาพกับประเทศอังกฤษในเดือนสิงหาคม 1604[19]
- ↑ ทอมัส เบตส์ (Thomas Bates) คนที่แปด ถือว่าด้อยกว่าโดยสถานภาพของเขา และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเกตเฮาส์แทน[48]
- เชิงอรรถ
- ↑ Haynes 2005, pp. 28–29
- ↑ Guy Fawkes, The Gunpowder Plot Society, สืบค้นเมื่อ 19 May 2010
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 Nicholls, Mark (2004), "Fawkes, Guy (bap. 1570, d. 1606)", Oxford Dictionary of National Biography (online ed.), Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/9230, สืบค้นเมื่อ 6 May 2010 (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- ↑ "Fawkes, Guy" in The Dictionary of National Biography, Leslie Stephen, ed., Oxford University Press, London (1921–1922).
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Fraser 2005, p. 84
- ↑ 6.0 6.1 Sharpe 2005, p. 48
- ↑ Fraser 2005, p. 86 (note)
- ↑ Sharpe 2005, p. 49
- ↑ 9.0 9.1 Herber, David (April 1998), "The Marriage of Guy Fawkes and Maria Pulleyn", The Gunpowder Plot Society Newsletter, The Gunpowder Plot Society, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-17, สืบค้นเมื่อ 16 February 2010
- ↑ Fraser 2005, pp. 84–85
- ↑ Fraser 2005, pp. 85–86
- ↑ 12.0 12.1 Fraser 2005, p. 86
- ↑ Fraser 2005, p. 89
- ↑ Fraser 2005, pp. 87–90
- ↑ Northcote Parkinson 1976, p. 46
- ↑ Fraser 2005, pp. 140–142
- ↑ 17.0 17.1 Fraser 2005, pp. 117–119
- ↑ Fraser 2005, p. 87
- ↑ Nicholls, Mark (2004), "Catesby, Robert (b. in or after 1572, d. 1605)", Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/4883, สืบค้นเมื่อ 12 May 2010 (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- ↑ Fraser 2005, pp. 122–123
- ↑ Nicholls, Mark (2004), "Winter, Thomas (c. 1571–1606)", Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/29767, สืบค้นเมื่อ 16 November 2009 (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- ↑ Fraser 2005, pp. 133–134
- ↑ Haynes 2005, pp. 55–59
- ↑ Fraser 2005, pp. 146–147
- ↑ Fraser 2005, pp. 159–162
- ↑ Bengsten 2005, p. 50
- ↑ Fraser 2005, p. 150
- ↑ Fraser 2005, pp. 148–150
- ↑ Fraser 2005, p. 170
- ↑ Fraser 2005, pp. 178–179
- ↑ Northcote Parkinson 1976, pp. 62–63
- ↑ Northcote Parkinson 1976, pp. 68–69
- ↑ Northcote Parkinson 1976, p. 72
- ↑ Fraser 2005, p. 189
- ↑ Northcote Parkinson 1976, p. 73
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 Northcote Parkinson 1976, pp. 91–92
- ↑ Cobbett 1857, p. 229.
- ↑ Fraser 2005, pp. 208–209
- ↑ Fraser 2005, p. 211
- ↑ Fraser 2005, p. 215
- ↑ Fraser 2005, p. 212
- ↑ Younghusband 2008, p. 46
- ↑ Bengsten 2005, p. 58
- ↑ Bengsten 2005, p. 59
- ↑ Fraser 2005, pp. 216–217
- ↑ Bengsten 2005, p. 60
- ↑ Fraser 2005, pp. 215–216, 228–229
- ↑ Fraser 2005, p. 263
- ↑ Fraser 2005, pp. 263–266
- ↑ Fraser 2005, p. 273
- ↑ Fraser 2005, pp. 266–269
- ↑ Fraser 2005, pp. 269–271
- ↑ Haynes 2005, pp. 115–116
- ↑ Fraser 2005, pp. 283
- ↑ Sharpe 2005, pp. 76–77
- ↑ Allen 1973, p. 37
- ↑ Thompson 2008, p. 102
- ↑ Guy Fawkes, York Museums Trust, สืบค้นเมื่อ 16 May 2010
- ↑ 59.0 59.1 59.2 59.3 House of Commons Information Office (September 2006), The Gunpowder Plot (PDF), parliament.uk at web.archive.org, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-02-15, สืบค้นเมื่อ 15 February 2011
{{citation}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Fraser 2005, p. 349
- ↑ Fox & Woolf 2002, p. 269
- ↑ Fraser 2005, pp. 351–352
- ↑ Fraser 2005, p. 356
- ↑ Merriam-Webster (1991), The Merriam-Webster new book of word histories, Merriam-Webster, p. 208, ISBN 0-87779-603-3, entry "guy"
- ↑ Harrison Ainsworth, William (1841), Guy Fawkes; or, The Gunpowder Treason, Nottingham Society
- ↑ Sharpe 2005, p. 128
- ↑ Call, Lewis (July 2008), "A is for Anarchy, V is for Vendetta: Images of Guy Fawkes and the Creation of Postmodern Anarchism", Anarchist Studies, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-02, สืบค้นเมื่อ 10 November 2008 – โดยทาง HighBeam Research (ต้องรับบริการ)
- ↑ Sharpe 2005, p. 6
- บรรณานุกรม
- Allen, Kenneth (1973), The Story of Gunpowder, Wayland, ISBN 978-0-85340-188-9
- Bengsten, Fiona (2005), Sir William Waad, Lieutenant of the Tower, and the Gunpowder Plot (illustrated ed.), Trafford Publishing, ISBN 1-4120-5541-5
- Cobbett, William (1857), A History of the Protestant Reformation in England and Ireland, Simpkin, Marshall and Company
- Fox, Adam; Woolf, Daniel R. (2002), The spoken word: oral culture in Britain, 1500–1850, Manchester University Press, ISBN 0-7190-5747-7
- Fraser, Antonia (2005) [1996], The Gunpowder Plot, Phoenix, ISBN 0-7538-1401-3
- Haynes, Alan (2005) [1994], The Gunpowder Plot: Faith in Rebellion, Hayes and Sutton, ISBN 0-7509-4215-0
- Northcote Parkinson, C. (1976), Gunpowder Treason and Plot, Weidenfeld and Nicolson, ISBN 0-297-77224-4
- Sharpe, J. A. (2005), Remember, Remember: A Cultural History of Guy Fawkes Day (illustrated ed.), Harvard University Press, ISBN 0-674-01935-0
- Thompson, Irene (2008), The A to Z of Punishment and Torture: From Amputations to Zero Tolerance, Book Guild Publishing, ISBN 978-1-84624-203-8
- Younghusband, George (2008), A Short History of the Tower of London, Boucher Press, ISBN 978-1-4437-0485-4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Guy Fawkes