กะหล่ำดอกเจดีย์
กะหล่ำดอกเจดีย์ | |
---|---|
กะหล่ำดอกเจดีย์ซึ่งมีรูปแบบคล้ายตนเอง | |
ชนิด | Brassica oleracea |
กลุ่มพันธุ์ปลูก | Botrytis |
กะหล่ำดอกเจดีย์ หรือ กะหล่ำเจดีย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica oleracea var. Botrytis) คือกะหล่ำดอกอิตาลีพันธุ์หนึ่ง (ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าเป็นลูกผสมระหว่างกะหล่ำดอกกับบรอกโคลี) เมื่อเทียบกับกะหล่ำดอกแบบดั้งเดิม กะหล่ำพันธุ์นี้จะมีเนื้อสัมผัสแน่นกว่าและมีรสชาติละเอียดอ่อนกว่า แม้จะมีกะหล่ำดอกสีม่วงและสีเหลือง แต่ก็ไม่มีกะหล่ำดอกพันธุ์ใดที่มีรูปทรงเฉพาะตัวอย่างกะหล่ำดอกเจดีย์[1]
เริ่มมีการเพาะปลูกกะหล่ำดอกเจดีย์ในยุโรปอย่างน้อยตั้งแต่สมัยใหม่ตอนปลายซึ่งอาจจะเป็นที่อิตาลีในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อ ค.ศ. 1834 จูเซปเป โจอากีโน เบลลี กวีชาวอิตาลี กล่าวถึงผักชนิดนี้ในบทกวีบทหนึ่งเป็นภาษาอิตาลีถิ่นโรม (คนละภาษากับภาษาอิตาลีมาตรฐาน) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกกะหล่ำพันธุ์นี้ว่า กะหล่ำดอกโรม หรือ บรอกโคลีโรม (อิตาลี: broccolo romanesco)[2]
เช่นเดียวกับผักชนิดอื่น ๆ ในวงศ์ผักกาด กะหล่ำดอกเจดีย์อุดมไปด้วยใยอาหารชนิดละลายน้ำและสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินเค โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส กรดโฟลิก แคโรทีนอยด์ เป็นต้น[3] นิยมนำมารับประทานโดยต้มหรือนึ่งจนสุก แต่อาจรับประทานเป็นผักสดก็ได้[1]
ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของกะหล่ำดอกเจดีย์คือกระจุกดอกที่แตกตัวออกเป็นสาทิสรูป (แฟร็กทัล) จำนวนตาดอกที่ประกอบกันเป็นช่อดอกนั้นเป็นจำนวนฟีโบนัชชี[4] ผลการศึกษาล่าสุดชิ้นหนึ่งได้อธิบายถึงต้นกำเนิดทางพันธุกรรมของกะหล่ำพันธุ์นี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่ารูปลักษณ์และคุณสมบัติสาทิสรูปดังกล่าวน่าจะเกิดจากการถูกรบกวนภายในเครือข่ายควบคุมการแสดงออกของยีนที่รับผิดชอบการออกดอก ทำให้เนื้อเยื่อเจริญพัฒนาไปเป็นดอกไม่สำเร็จ แต่ก็ยังพยายามแตกตัวเป็นดอกต่อไปเรื่อย ๆ ในรูปแบบคล้ายตนเอง[5][6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "El romanesco". El Diario Montañes (ภาษาสเปน). 1 April 2017. สืบค้นเมื่อ 15 December 2018.
- ↑ Gil, Francisco (1 September 2016). "Romanesco, la geometría del brécol y la coliflor". La Región (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 15 December 2018.
- ↑ Tufts Nutrition. "Tufts Nutrition Top 10". Tufts Nutrition Magazine. สืบค้นเมื่อ 26 February 2020.
- ↑ Ron Knott (30 October 2010). "Fibonacci Numbers and Nature". Ron Knott's Web Pages on Mathematics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 November 2018.
- ↑ Azpeitia, Eugenio; Tichtinsky, Gabrielle; Masson, Marie Le; Serrano-Mislata, Antonio; Lucas, Jérémy; Gregis, Veronica; Gimenez, Carlos; Prunet, Nathanaël; Farcot, Etienne; Kater, Martin M.; Bradley, Desmond (2021-07-09). "Cauliflower fractal forms arise from perturbations of floral gene networks". Science (ภาษาอังกฤษ). 373 (6551): 192–197. doi:10.1126/science.abg5999. ISSN 0036-8075. PMID 34244409.
- ↑ Farcot, Etienne. "Why do cauliflowers look so odd? We've cracked the maths behind their 'fractal' shape". The Conversation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-07-20.