ข้ามไปเนื้อหา

กองเรือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายกองเรือใน "คีลลิน" : กองเรือประจัญบานชั้นเยอรมนีจัดรูปขบวนแบบคีลไลน์ (keel line)

กองเรือ[1] (อังกฤษ: squadron หรือ naval squadron) เป็นกลุ่มของเรือรบหลักที่มีขนาดเล็กกว่าที่จะกำหนดเป็นทัพเรือ (naval fleet) ได้ ซึ่งปกติกองเรือจะเป็นส่วนหนึ่งของทัพเรือ[2] ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนในการจำแนกกองเรือจากทัพเรือ (หรือจากหมวดเรือ) โดยขนาดและความแข็งแกร่งของกองเรือจะแตกต่างกันไปตามประเทศและช่วงเวลา[3] กลุ่มของเรือรบขนาดเล็ก หรือกลุ่มขนาดเล็กของเรือรบหลัก อาจจะถูกกำหนดให้เป็นหมวดเรือ (flotilla) โดยกองทัพเรือบางประเทศตามศัพท์เฉพาะ เนื่องจากขนาดของกองเรือมีความแตกต่างกันสูงมาก ทำให้ยศของนายทหารที่บัญชาการจึงมีความแตกต่างกันสูงมากเช่นกัน

ก่อนปี พ.ศ. 2407 ทัพเรือทั้งหมดของราชนาวีถูกแบ่งออกเป็น 3 กองเรือ คือกองเรือเรด ไวท์ และบลู ซึ่งกองเรือของราชนาวีเพียงกองเรือเดียวก็อาจมีแสงยานุภาพที่สูงกว่าทั้งกองทัพเรือของหลายประเทศ ปัจจุบันกองเรือหนึ่งอาจมีจำนวนเรือ 3 ถึง 10 ลำ ซึ่งอาจจะประกอบด้วยเรือรบหลัก เรือขนส่ง เรือดำน้ำ หรือเรือขนาดเล็กในกองเรือเฉพาะกิจขนาดใหญ่หรือทัพเรือ กองเรืออาจประกอบไปด้วยเรือประเภทต่าง ๆ หลายประเภทที่ได้รับมอบหมายในการทำภารกิจเฉพาะ เช่น การป้องกันชายฝั่ง การปิดล้อม หรือการกวาดทุ่นระเบิด ในกองทัพเรือสหรัฐ คำว่ากองเรือมักใช้สำหรับการจัดรูปขบวนเรือพิฆาตและเรือดำน้ำ

การบัญชาการ

[แก้]

โดยปกติกองเรือจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาจากนายทหารชั้นนายพล เช่น พลเรือโทหรือพลเรือตรี แต่บางครั้งกองเรืออาจอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือจัตวา หรือนาวาเอกที่มีความอาวุโส (หรือในระดับเดียวกัน) ขึ้นอยู่กับความสำคัญของการบัญชาการ กองเรือขนาดใหญ่บางครั้งจะถูกแบ่งออกเป็นสองหมู่เรือขึ้นไป ซึ่งแต่ละหมู่เรือจะบัญชาการโดยนาวาเอกที่อาวุโสรองลงมาเช่นเดียวกับทัพเรือ กองเรือมักจะเป็นรูปขบวนถาวร แต่อาจจะเป็นการประกอบกองเรือเฉพาะกิจขึ้นมาก็ได้

รูปแบบกองเรือ

[แก้]

กองเรือมีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่:

  • กองเรืออิสระ (Independent squadron) ในความเป็นจริงแล้วนั้น กองเรือรูปแบบนี้มีขนาดเล็กเกินกว่าจะเรียกว่าทัพเรือ จึงใช้คำนี้ กองเรืออิสระอาจจะได้รับมอบภารกิจและตั้งชื่อตามมหาสมุทรหรือทะเลที่ไปประจำการเป็นการเฉพาะ โดยที่พลเรือเอกที่เป็นผู้บัญชาการกองเรืออาจจะเป็นผู้บัญชาการยุทธบริเวณนั้น ตัวอย่างของหน่วยประเภทนี้คือ กองเรือเอเชียติก (Asiatic Squadron) ของกองทัพเรือสหรัฐที่ประจำการอยู่ในจีนระหว่างปี พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2445
  • หมู่เรือย่อยชั่วคราวของทัพเรือ (Temporary sub-division of a fleet) ในยุคสมัยของเรือใบ (Age of Sail) ทัพเรือถูกแบ่งออกเป็นหมู่เรือหน้า หมู่เรือกลาง และหมู่เรือระวังหลัง ตั้งชื่อตามสถานที่ในแนวเส้นประจัญบาน (line of battle) โดยการแยกหน่วยชั่วคราวจากทัพเรือจะถูกเรียกว่ากองเรือ (squadron)
กองเรือประจัญบานที่ 2 ของกองเรือหลวงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  • รูปขบวนการรบถาวร (Permanent battle formation) ในช่วงที่เรือรบวิวัฒนาการช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรือรบขนาดใหญ่เริ่มเกิดขึ้นและมีการฝึกกำลังพลสำหรับจัดเป็นกองเรือถาวรที่มีหมายเลขกำกับในเรือรบชั้นเดียวกัน เช่น กองเรือประจัญบานที่ 5 ของราชนาวี ในขณะที่ประเภทของกองทัพเรือสหรัฐ ประกอบไปด้วย กองเรือประจัญบาน (Battleship Squadrons), กองเรือลาดตระเวน (Cruiser Squadrons: CruRons), กองเรือพิฆาต (Destroyer Squadrons: DesRons), กองเรือคุ้มกัน (Escort Squadrons), กองเรือขนส่ง[4] (Transport Squadrons: TransRons) และกองเรือดำน้ำ (Submarine Squadrons: SubRons)

ในกองทัพเรือสมัยใหม่ กองเรือมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นหน่วยธุรการ กองทัพเรือส่วนใหญ่เริ่มละทิ้งรูปแบบของกองเรือเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้รูปขบวนเชิงยุทธวิธี (tactical formation) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และมีความต้องการเรือรบหลักที่มีระบบต่อต้านและป้องกันเรือดำน้ำอย่างเรือพิฆาตที่มีหน้าที่ในการเป็นแนวสกรีนป้องกันและการคุ้มกันทางอากาศจากเรือบรรทุกอากาศยาน นำไปสู่การปรับรูปแบบไปสู่หมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน หรือกองเรือเฉพาะกิจมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยเรือลำใดก็ตามที่สามารถตอบสนองเฉพาะต่อปฏิบัติการ

เมื่อเรือรบมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น คำว่ากองเรือจึงค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยคำว่าหมวดเรือ (flotilla) สำหรับรูปขบวนของเรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือดำน้ำในกองทัพเรือหลายชาติ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. คู่มือศัพท์ และคำย่อทางทหาร (PDF). มณฑลทหารบกที่ 16.[ลิงก์เสีย]
  2. A naval encyclopædia: comprising a dictionary of nautical words and phrases: biographical notices, and records of naval officers: special articles of naval art and science. Harvard University. Philadelphia, L. R. Hamersly & co. 1881. p. 769.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  3. Keegan, John (1989). The Price of Admiralty. New York: Viking. p. 280. ISBN 0-670-81416-4.
  4. "OPNAV 29-P1000". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2011-04-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Squadron. GlobalSecurity.org. Retrieved 2009-08-30.