ข้ามไปเนื้อหา

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) คือกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจเพื่อให้ลูกจ้างได้มีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ เงินที่ลูกจ้างจ่ายเรียกว่า "เงินสะสม" ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายเรียกว่า "เงินสมทบ" โดยนายจ้างจะจ่ายสมทบในจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเสมอ [1]

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

[แก้]

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “ ความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่องโดยมีนายจ้างช่วยออมแล้ว ยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพ และดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน [2]

เงินออมของสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเติบโตจากเงินสะสมและเงินสมทบที่ต้องมีการนำส่งเข้ากองทุนทุกเดือน รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุน โดยกองทุนจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้สมาชิก เนื่องจากจะสะสมยอดเงินทั้งหมดให้เป็นก้อนใหญ่ เพื่อเก็บไว้รอจ่ายคืนให้สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ เช่น เมื่อลาออกจากงาน นอกจากนี้ กองทุนจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ [1]

อ้างอิง

[แก้]