ข้ามไปเนื้อหา

กล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์ (อังกฤษ: Wide Field/Planetary Camera) คือ กล้องที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกติดตั้งตั้งแต่ตอนขนส่งขึ้นสู่วงโคจร ประสิทธิภาพของมันมันลดลงเนื่องจากข้อบกพร่องของกระจกหลักในกล้องโทรทรรศน์ อย่างไรก็ตาม มันยังคงถ่ายภาพวัตถุทางดาราศาสตร์ที่สว่างมากด้วยความละเอียดสูง ทำให้เกิดการค้นพบที่สำคัญต่างๆมากมาย

กล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์เกิดจากแนวคิดของ James A. Westphal ศาสตราจารย์วิชาอวกาศดาวเคราะห์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่นขององค์การนาซา ในเวลานั้น อุปกรณ์ถ่ายเทประจุ (CCD) ยังไม่ถูกนำมาใช้งานทางดาราศาสตร์มากนัก แต่ประสิทธิภาพของมันก็ทำให้นักดาราศาสตร์เห็นว่าควรใช้มันในกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

กล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์ประกอบด้วยกล้องสองตัวแยกจากกัน ได้แก่ กล้องถ่ายภาพสนามกว้าง และกล้องถ่ายภาพดาวเคราะห์ กล้องแต่ละตัวมีอุปกรณ์ถ่ายเทประจุ (CCD) ขนาด 800 x 800 พิกเซล จำนวน 4 ตัว วางติดกันให้สามารถถ่ายรูปได้โดยไร้รอยต่อ กล้องถ่ายภาพสนามกว้างมีพิกเซลขนาด 0.1 พิลิปดา ใช้สำหรับถ่ายภาพวัตถุมัวในมุมกว้าง กล้องถ่ายภาพดาวเคราะห์มีพิกเซลขนาด 0.043 พิลิปดา ใช้สำหรับถ่ายภาพความละเอียดสูง พีระมิดสี่หน้าที่เอียง 45 องศาเป็นตัวเลือกว่าจะใช้กล้องใด

กล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์ถูกเปลี่ยนเป็นกล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์ 2 ในภารกิจซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 เพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องของกระจกหลัก

ดูเพิ่ม

[แก้]