กล้วยไข่
กล้วยไข่ ‘Kluai Khai’ | |
---|---|
ต้นกำเนิดลูกผสม | Musa × acuminata |
กลุ่มพันธุ์ปลูก | AA Group |
พันธุ์ปลูก | 'Lady Finger'[1] |
ต้นกำเนิด | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
กล้วยไข่ เป็นชื่อของผลไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลกล้วย (Musaceae) โดยมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ: Lady Finger, มลายู: Pisang Mas, กล้วยชนิดนี้สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศได้ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดกำแพงเพชร นิยมรับประทานกับกระยาสารท[2]
งานวิจัยของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า กล้วยไข่มีประโยชน์สูง โดยมีวิตามินอี เบตาแคโรทีน และวิตามีนซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง การอักเสบ รวมทั้งโรคตาต้อกระจกได้ ผลการวิจัยพบว่าใน 1 ผล ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 40 กรัม มีเบตาแคโรทีน 108 ไมโครกรัม, วิตามินอี 0.19 มิลลิกรัม, วิตามินซี 4 มิลลิกรัม และให้พลังงาน 44 กิโลแคลอรี ในการกินนั้น แนะนำให้รับประทานแทนข้าวได้ 2 ผล เด็กกินได้ 1–2 ผล โดยต้องลดปริมาณข้าวลงเพราะกล้วยไข่ 2 ผลเท่ากับข้าว 1 ทัพพี[3]
เศรษฐกิจ
[แก้]ประเทศไทย
[แก้]กล้วยไข่เป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย มีปริมาณ และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี พ.ศ. 2550 รายงานว่ามีปริมาณการส่งออก 15,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านบาท แต่ข้อมูลที่ได้รับฟังจากผู้ส่งออกมีปริมาณสูงกว่าทางราชการประมาณ 2-3 เท่า และมูลค่าการส่งออกนับพันล้านบาท ทำนองเดียวกับพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะกล้วยไข่มีปลูกทั้งเป็นพืชเชิงเดี่ยวและปลูกแซมในสวนผลไม้ ข้อมูลในปี พ.ศ. 2546 รายงานว่ามีพื้นที่ปลูก 75,177 ไร่[4] แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกกล้วยไข่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แหล่งปลูกกล้วยไข่เชิงเดี่ยว เช่น จังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ ลดพื้นที่ปลูกลง เพราะปัญหาลมพายุทำให้ผลผลิตเสียหาย ขณะเดียวกันก็มีพืชอื่นที่มีราคาดีเช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด จึงได้มีการนำมาปลูกแทน ทำให้พื้นที่ปลูกกล้วยไข่ลดลง ตรงกันข้ามกับในภาคตะวันออกนั้นได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เช่น ที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ปลูกแซมในสวนผลไม้ ทำให้ลดปัญหาการโค่นล้มจากลมพายุ ทางภาคใต้มีการปลูกมากที่จังหวัดชุมพร ซึ่งสามารถผลิตกล้วยไข่ออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Michel H. Porcher, บ.ก. (27 มีนาคม 2011). "Sorting Musa cultivars". The University of Melbourne. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2020.
- ↑ Porcher, Michel H.; Barlow, (Prof.) Snow (27 March 2011). "Sorting Musa cultivars". The University of Melbourne. สืบค้นเมื่อ 18 March 2024.
- ↑ "แนะกิน "กล้วยไข่" อร่อยดีมีสารต้านมะเร็ง". ผู้จัดการออนไลน์. 15 ตุลาคม 2012.
- ↑ จริยา วิสิทธิ์พานิช (มีนาคม–เมษายน 2008). "Trip นี้มีเรื่องเล่า : กล้วยไข่ตะเคียนเลื่อน". ประชาคมวิจัย. 13 (78). ISSN 1686-008X. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2022.