กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา
![]() โครงสร้างกระโจมไฟ มองจากทะเลอันดามันเข้าไปยังเกาะลันตาใหญ่ | |
![]() | |
ที่ตั้ง | แหลมโตนด (หัวแหลมต้านใต้) เกาะลันตาใหญ่ |
---|---|
พิกัด | 7°28′06.10″N 99°05′52.92″E / 7.4683611°N 99.0980333°E |
รากฐาน | คอนกรีต |
การก่อสร้าง | คอนกรีตเสริมแรง |
ความสูง | 11 เมตร (36 ฟุต) |
รูปร่าง | หอคอยคอนกรีต |
เครื่องหมาย | ทาสีขาว |
ผู้ดำเนินการ | ![]() |
แสงไฟ | |
เริ่มใช้งาน | 23 มีนาคม พ.ศ. 2514 |
พิสัย | 10 ไมล์ทะเล (19 กิโลเมตร) |
ลักษณะ | วับหมู่ ประกอบด้วยไฟ 3 วับ สีขาว ทุก ๆ 15 วินาที สว่าง 0.5 วินาที มืด 1.5 วินาที 2 ครั้ง และสว่าง 0.5 วินาที มืด 10.5 วินาที |
รหัสประเทศไทย | THN-315 |
กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา[1][2] หรือ กระโจมไฟเกาะลันตา[2] (อังกฤษ: Patachotwachirapha Light Beacon, Ko Lanta Light Beacon, Ko Lanta Yai Light Beacon[3]) เป็นกระโจมไฟควบคุมการเดินเรือบริเวณแหลมโตนด หรือหัวแหลมด้านใต้ของเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่[1] เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2514[4] ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
บางครั้ง กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา มักถูกเรียกว่า ประภาคารปัชโชติวชิราภา[4] แต่ในความเป็นจริง กรมอุทกศาสตร์และกรมเจ้าท่าได้กำหนดให้เป็นกระโจมไฟ[2]
ประวัติ
[แก้]กระโจมไฟปัชโชติวชิราภาเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2470 ได้รับการพระราชทานนามโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2470 หลังจากการก่อสร้างและพระราชทานนามให้กับกระโจมไฟวชิรรุ่งโรจน์ (กระโจมไฟเกาะแรด) และพระราชทานเงินของราชนาวีสมาคมที่เหลือจากการซื้อเรือหลวงพระร่วงให้กับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ได้ดำเนินการก่อสร้างกระโจมไฟใหม่เพิ่มเติมอีก 6 แห่งในมณฑลภูเก็ต และนำไปซ่อมแซมปรับปรุงกระโจมไฟเก่าที่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นใช้งานแก๊สอะเซทิลีน โดยนามที่ได้พระราชทานมานั้นจะมีพระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นองค์ราชูปถัมภ์ราชนาวีสมาคมซึ่งเป็นแหล่งของเงินทุนในการก่อสร้าง และเมื่อนำมาเรียงกันจะมีความคล้องจองกัน[2] ประกอบไปด้วย
- วชิรรุ่งโรจน์ (กระโจมไฟเกาะแรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ปัชโชติวิชราภา (กระโจมไฟเกาะลันตา) จังหวัดกระบี่
- นิสาวชิรกาส (กระโจมไฟเกาะเละละ) จังหวัดสตูล
- ประภาสวชิรกานต์ (กระโจมไฟเกาะรา) จังหวัดพังงา
- ชัชวาลวชิรโอฆ (กระโจมไฟเกาะนมสาวน้อย) จังหวัดพังงา
- อาโลกวชิรยุตต์ (กระโจมไฟหยงสตาร์) จังหวัดตรัง
- สมุทรวชิรนัย (กระโจมไฟเกาะนก) จังหวัดกระบี่
กระโจมไฟปัชโชติวชิราภาเดิม มีการใช้งานจนถึงช่วงปี พ.ศ. 2514 จึงยุติการใช้งานเนื่องจากสภาพที่ทรุดโทรมจนซ่อมแซมไม่ได้ ระหว่างนั้นได้มีการสร้างกระโจมไฟขึ้นมาใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกันเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2510 และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2514 ให้แสงสว่างโดยตะเกียงแก๊สอะเซทิลีน โดยได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2533[4]
โครงสร้าง
[แก้]กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา เป็นคอนกรีตเสริมแรงลักษณะหอคอย ทาด้วยสีขาว ความสูง 11 เมตร ความสูงของแสงไฟเหนือจากระดับน้ำทะเล 37 เมตร ตั้งอยู่บริเวณแหลมโตนด (หัวแหลมด้านใต้) ของเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่[1] และอยู่ในพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
รายละเอียด
[แก้]กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา ตามทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 7 องศา 28 ลิปดา 06.10 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูดที่ 99 องศา 05 ลิปดา 52.92 ฟิลิปดาตะวันออก ลักษณะไฟเป็นไฟวับหมู่ แต่ละหมู่ประกอบด้วยไฟ 3 วับสีขาว สว่างทุก ๆ 15 วินาที โดยจะสว่าง 0.5 วินาที มืด 1.5 วินาที จำนวนสองครั้ง และสว่าง 0.5 วินาที มืด 10.5 วินาทีในครั้งที่สาม[1] ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา มีรหัสประจำกระโจมไฟว่า
- กองทัพเรือไทย (THN): 315[1]
- ทำเนียบไฟอังกฤษ เล่ม F (Admiralty): F1183[1]
- สำนักข่าวกรองภูมิสารสนเทศแห่งชาติสหรัฐ (NGA): 22180[3][5]
- สมาคมวิทยุสมัครเล่นประภาคาร (ARLHS): THA021[6]
การเดินทาง
[แก้]กระโจมไฟปัชโชติวชิราภา เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของเกาะลันตาและจังหวัดกระบี่ โดยการเดินทางสามารถเดินทางด้วยรถยนต์มายังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูมิประเทศที่มีความลาดชันประมาณ 13 กิโลเมตรจึงจะเข้าไปถึงที่ทำการอุทยานและกระโจมไฟ โดยหลังจากถึงที่ทำการอุทยานแล้วจะต้องเดินเท้าไปต่อเพื่อไปยังกระโจมไฟซึ่งอยู่บนเนินเขาที่ยื่นออกไปเป็นแหลมในทะเลอันดามัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย[7]
ระเบียงภาพ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 12 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 ที่ระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์ ครบรอบ 84 ปี วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2548 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2548. pp. 33–35. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 9 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2023.
- ↑ 3.0 3.1 Bub.112 List of Lights: Radio aids and fog signals 2023 - Western Pacific and Indian Oceans, Including Persian Gulf and Red Sea. National Geospatial-Intelligence Agency. 2023. p. 344.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Tum Sikwae : ตุ้ม สี่แคว (26 พฤษภาคม 2015). "ประภาคาร ปัชโชติวชิราภา". tumsikwae.blogspot.com.
- ↑ "Lighthouses of Southern Thailand: West Coast". www.ibiblio.org. 28 กุมภาพันธ์ 2006.
- ↑ "Ko Lanta Light - ARLHS THA-021". wlol.arlhs.com. 12 พฤษภาคม 2008.
- ↑ "ประภาคารเกาะลันตา". PM Andaman Tour. 26 กรกฎาคม 2023.