กระสือ
กระสือ (ไทย) หรือ อ๊าบ (เขมร) และ "ปาลาซิก", "กูยัง", "เลอัก", "ป็อปโป", "ปารากัง", "เซอลักเมอเติม" (อินโดนีเซีย), "สกัล" (กาโร) ผี | |
กลุ่ม | ปีศาจ |
---|---|
กลุ่มย่อย | ออกหากินเวลากลางคืน, เรืองแสง |
เทพปกรณัม | ตำนานพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ชื่ออื่น | อ๊าป, ปินังกาลัน, เลอยัก, "กูยัง", "ปาลาซิก" |
ประเทศ | ประเทศไทย, ประเทศลาว, ประเทศกัมพูชา, ประเทศเวียดนาม, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศอินโดนีเซีย |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
กระสือ เป็นชื่อผีชนิดหนึ่งที่ถือว่าเข้าสิงในตัวผู้หญิงและชอบกินของโสโครก คู่กับ "กระหัง" ซึ่งเข้าสิงในตัวผู้ชาย
ความเชื่อเกี่ยวกับกระสือ
[แก้]กระสือเป็นผีชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าสิงสู่อยู่ในตัวของคนเพศหญิงซึ่งโดยมากมักเป็นหญิงสูงอายุ ชอบรับประทานของสดคาว มักออกหากินเวลากลางคืนและไปแต่หัวกับตับไตไส้พุง ส่วนร่างกายคงทิ้งไว้ที่บ้าน เวลาไปจะเห็นเป็นดวงไฟดวงโตมีแสงสีแดง แต่ส่วนมากจะเป็นแสงสีเขียวเรืองวาม ๆ โดยจะเริ่มออกหากินตั้งแต่เวลาหัวค่ำไปจนถึงทั้งคืน และจะกลับเข้าร่างเวลาใกล้รุ่งสาง
เวลากลางวันจะมีลักษณะร่างกายเหมือนคนทั่วไป แต่มีพฤติกรรมหรืออาการแบบแปลก ๆ ผิดปกติ เช่น ไม่ชอบสบตาคน เงียบ ๆ ไม่พูดไม่จากับใคร ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว บ้างก็ไม่ชอบแสงสว่างก็มี
กระสือเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใดก็ยังไม่เป็นที่ทราบ ซึ่งคนในสมัยโบราณมักจะเรียกว่า "ผีลากไส้" และต่อมาก็จึงเรียกว่า "กระสือ"หรือ "ผีกระสือ" ในสมัยปัจจุบันนี้
ปกติแล้วกระสือจะไม่ทำร้ายคน ว่ากันว่าเมื่อกระสือออกหากินเวลากลางคืนแล้วเมื่อพบกับคนก็จะลอยหนีหายไป ถ้าหากคนทำให้กระสือเกิดความไม่พอใจ โกรธ กระสือจะมีความแค้น อาฆาตพยาบาท เมื่อกระสือได้ชำระแค้นกับคน ๆ นั้นแล้ว ก็อยู่ที่ว่าจะแค่บาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิตเลย
ใครคลอดลูกใหม่ๆ กลิ่นสดคาวของเลือดจะชักนำให้ผีกระสือมาและกินตับไตไส้พุงของหญิงที่คลอดลูกหรือของทารกที่คลอดนั้น เหตุนี้ชาวบ้านจึงมักเอาหนามพุทราสะไว้ที่ใต้ถุนเรือนตรงที่มีร่องมีรู เพื่อป้องกันมิให้กระสือเข้ามา เชื่อกันว่ากระสือกลัวหนามเกี่ยวไส้
นอกจากของสดของคาวแล้ว กระสือยังชอบรับประทานของโสโครกเช่นอุจจาระเป็นต้น เมื่อรับประทานแล้วเห็นผ้าของใครตากทิ้งค้างคืนไว้ก็เข้าไปเช็ดปาก ผ้านั้นจะปรากฏเป็นรอยเปื้อนดวง ๆ ถ้าเอาผ้านั้นไปต้มกระสือจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนปากทนไม่ไหวจนต้องมาขอร้องไม่ให้ต้มต่อไป
กระสือนั้นเมื่อเจ็บจวนจะตายก็ไม่ตายเด็ดขาด และจะต้องคายน้ำลายของตนถ่ายเข้าปากลูกหลานคนใดคนหนึ่งไว้ให้สืบทายาทเป็นกระสือต่อก่อน ตนจึงจะตายได้โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานอีกต่อไป
การปราบกระสือนั้น ไม่สามารถไล่ผีที่มาสิงสู่ออกจากร่างเหยื่อได้ ว่ากันว่าวิญญาณนั้นได้หยั่งลึกลงในใจของคน ๆ นั้น ซึ่งสังเกตได้ว่าเป็นการหยั่งลึกในขั้นที่วิญญาณ (กายทิพย์) สามารถบังคับให้ร่างกาย (กายหยาบ) ของผู้ถูกสิงนั้นอยู่ในสภาพที่วิปลาสผิดธรรมชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นการถอดหัวและอวัยวะภายในให้หลุดออกมาจากร่างกาย รวมถึงการลอยตัวอยู่ในอากาศ ฉะนั้น ร่างกายของคน ๆ นั้นเมื่อถูกวิญญาณร้ายบังคับให้ทำในสิ่งที่หากมนุษย์ธรรมดาทำแล้วเสียชีวิต ก็เท่ากับว่ากายนั้นเป็นร่างกายที่ไร้สิ้นซึ่งความเป็นมนุษย์ เป็นร่างกายที่เสียหายและยังคงมีชีวิตอยู่ได้โดยอำนาจของวิญญาณภูติกระสือที่อยู่ในร่างเท่านั้น ถึงแม้กระสือจะถูกไล่ออกจากร่างไป แต่ร่างการนั้นก็ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างคนปกติ ดังนั้นการปราบกระสือก็เท่ากับต้องฆ่าคน ๆ นั้นไปด้วยเลย บางท้องที่เล่าว่ากระสือชราเมื่อมีการถ่ายทอดความเป็นกระสือสู่ลูกหลานรุ่นต่อไปแล้ว ตนเองจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นานก่อนจะเสียชีวิตในสภาพที่หัวกับอวัยวะภายในหลุดออกมาจากตัว ซึ่งเป็นผลพวงจากการถูกวิญญาณร้ายบังคับให้แยกออกไปหากินเมื่อครั้งยังมีกระสืออยู่ในร่าง เมื่อถ่ายทอดกระสือออกจากร่างไปแล้ว หัวกับตัวก็จะไม่สามารถต่อติดเชื่อมกันอีกต่อไป
ลักษณะของกระสือ
[แก้]กระสือในรูปแบบที่รับรู้กันในยุคปัจจุบัน คือ เป็นผีผู้หญิงแก่ที่ล่องลอยไปพร้อมกับหัวและไส้และอวัยวะส่วนอื่น เช่น หัวใจ, ปอด และเรืองแสงได้เรือง ๆ แต่ทว่าตามนิยามของ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) แล้ว กระสือเป็นเพียงผีผู้หญิงแก่ที่มีเพียงหัวกับไส้ที่ส่องแสงเรือง ๆ โดยที่ไม่มีอวัยวะส่วนอื่นใด ซึ่งที่มาของกระสือที่มีหัวกับไส้และอวัยวะส่วนอื่น ๆ แบบที่คุ้นเคยกันนั้น มาจากภาพวาดของ ทวี วิษณุกร ที่แต่งเติมเอาจากจินตนาการในใบปิดภาพยนตร์เรื่อง "กระสือสาว" ที่ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2516 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ พิศมัย วิไลศักดิ์ [1]
กระสือในทางวิทยาศาสตร์
[แก้]กระสือมักได้รับการอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ว่า คือ ดวงไฟที่ลุกโชนจากโมเลกุลของก๊าซมีเทนที่เกิดจากการสะสมของซากเน่าเปื่อยของอินทรียสารในนาข้าวหรือท้องทุ่ง แต่ในทัศนะของ รองศาสตราจารย์ ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องพลังงานธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแก๊สมีเทนในนาข้าวนั้นไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะเกิดการลุกไหม้ อีกทั้งถ้าลุกไหม้จริงก็จะปรากฏอยู่บริเวณเฉพาะผิวหน้าของวัตถุ มิได้ลอยขึ้นไปในอากาศหรือเคลื่อนที่ได้[1]
อีกทั้งในทางกายวิภาค ร่างกายมนุษย์เมื่อถอดส่วนหัวแล้ว อวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ไส้, หัวใจ หรือปอด ก็จะไม่ติดออกมาด้วย[1]
ผีที่คล้ายกัน
[แก้]กระสือในกัมพูชาเรียกว่า "เอิบ" (เขมร: អាប, อาบ) มีการสันนิษฐานว่ากระสือมีที่มาจากประเทศกัมพูชา โดยเกิดจากผู้ที่บูชาไสยศาสตร์มนต์ดำเขมร แล้วทำผิดข้อห้าม
ในลาวเรียก "กะสือ" (ลาว: ກະສື)
ในเวียดนามเรียก "มาลาย" (เวียดนาม: ma lai)[2][3][4]
ในแถบมาเลเซียยังมีเรื่องของผีที่มีลักษณะคล้ายกระสือของไทยด้วย เรียกว่า "ฮันตูเปอนังกัล" หรือ "เปอนังกาลัน" (มลายู: Hantu penanggal, Penanggalan)
มีเรื่องเล่าว่า ครอบครัวหนึ่งประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก วันหนึ่งในตอนกลางคืน ผู้เป็นพ่อได้ออกไปธุระข้างนอกบ้าน ผู้เป็นแม่ปิดประตูอยู่ในห้อง แล้วนางก็หยิบเอาขวดน้ำมันมนต์มาทารอบคอ สักพักหัวกับตัวของนางก็แยกออกจากกันโดยมีตับไตไส้พุงห้อยติดออกมาด้วย เวลาที่ออกหากินจะเห็นเป็นแสงสีเหลือง และมีเสียงดังดุจลมพัดตลอดเวลาที่นางลอยไปเพื่อขับไล่สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่จะเข้ามายุ่งกับพวงไส้ของนาง ผู้เป็นลูกได้แอบเห็นดังนั้นจึงลองเอาน้ำมันมนต์ของแม่มาลองทาดูบ้าง ขณะที่หัวกำลังจะแยกออกจากตัว เด็กน้อยเกิดกลัวจนร้องโวยวายออกมาว่า "ช่วยด้วย หัวของฉันกำลังจะหลุดออกจากตัวแล้ว" จนชาวบ้านละแวกนั้นได้ยินกันทั่ว แต่ไม่มีใครกล้าเยี่ยมหน้าเข้ามาให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งหัวของผู้เป็นแม่ลอยกลับมา เสียงร้องโวยวายก็เงียบลง หลังจากวันนั้น ครอบครัวนั้นก็ย้ายหนีไปจากที่นั่น และไม่มีใครได้พบเห็นอีกเลย
ซึ่งความแตกต่างของฮันตูเปอนังกัล และกระสือ ต่างกันที่สีของดวงไฟ ที่กระสือจะเป็นสีเขียว และฮันตูเปอนังกัลจะเป็นสีเหลือง อีกทั้งฮันตูเปอนังกัลยังมีความดุร้ายกว่าด้วย[5]
ที่ฟิลิปปินส์ มีความเชื่อเรื่องมานานังกัล (ตากาล็อก: Manananggal) ผีดูดเลือดที่มีปีกเหมือนค้างคาวขนาดใหญ่อยู่ด้านหลัง เมื่ออกล่าเหยื่อจะถอดลำตัวท่อนบนออกแล้วบินไปในอากาศในเวลากลางคืน รวมถึงยังชอบที่จะกินเด็กทารกจากครรภ์ผู้เป็นแม่อีกด้วย[2][3][4]
นอกจากนั้นแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปีศาจที่สามารถถอดหัวหากินได้ในเวลากลางคืน เรียกกันว่า นูเกะ-คูบิ (ญี่ปุ่น: ぬけ首) อาศัยอยู่แถบภูเขาบริเวณมณฑลไค จนซามูไรผู้กล้าผู้หนึ่งที่เลิกจากการเป็นซามูไรแล้ว ได้บวชเป็นพระธุดงค์ผ่านไป หัวหน้าปีศาจในร่างมนุษย์ก็ได้นิมนต์ให้ไปพักที่บ้าน ในเวลากลางคืนพระก็ตื่นขึ้นมากลางดึก หวังจะดื่มน้ำโดยไม่รบกวนเจ้าบ้าน ขณะผ่านไปยังห้องที่เหล่าปีศาจนอนกันพบว่า ทั้งหมดเป็นร่างที่ไม่มีหัวแล้ว พระตามไปดูนอกบ้าน พบเป็นหัวปีศาจ 3-4 หัวล่องลอยไปมา ใช้ลิ้นตวัดกินมดปลวกตามพื้น และคุยกันว่าจะกินพระในเวลาก่อนรุ่ง พระเลยลากเอาร่างที่ไร้หัวเหล่านั้นไปซ่อนไว้ เมื่อปีศาจกลับไปดูที่บ้านไม่พบทั้งพระและร่างของตัวเองเลยตกใจและโกรธจัด ทั้งหมดได้รุมทำร้ายพระ แต่ไม่อาจทำอะไรพระได้ เพราะพระเคยเป็นซามูไรมาก่อน ก็ตายลงเมื่อถึงเวลาเช้า แต่หัวของหัวหน้าปีศาจก็ได้กัดติดกับจีวรพระไม่สามารถถอดออกได้ ต่อมา มีโจรผู้หนึ่งได้ขอซื้อหัวปีศาจนี้จากพระ โจรหวังจะใช้หัวปีศาจนี้หลอกผู้คนเอาเงิน แต่ต่อมากลัวปีศาจจะมาเอาคืน เลยทำสุสานฝังให้ ว่ากันว่าสุสานแห่งนี้ยังมีปรากฏจนถึงทุกวันนี้[6]
อิทธิพลของความเชื่อเรื่องกระสือ
[แก้]ราชบัณฑิตยสถานว่า ความเชื่อเรื่องกระสือนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนไทยโบราณหลายประการด้วยกัน เป็นต้นว่า
- ผลกล้วยที่แกร็นทั้งเครือ จะเรียกว่า "กล้วยกระสือดูด"
- คนตะกละกินหรือคนที่กินอย่างสวาปาม จะเรียกว่า "คนตะกละเหมือนผีกระสือ" หรือ "คนกินเหมือนผีกระสือ"
- โคมชนิดหนึ่งซึ่งมีที่เปิดปิดไฟได้และมีแว่นฉายแสงไปได้วาบ ๆ เรียกว่า "โคมตาวัว" หรือ "กระสือ"
- ไพลชนิดหนึ่งซึ่งเรืองแสงได้ในที่มืด เรียกว่า "ว่านกระสือ"
- เห็ดจำพวกหนึ่งสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด เรียกว่า "เห็ดกระสือ"[7]
- ที่ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อ "หนองเกษม" เดิมมีชื่อว่า "หนองกระสือ" ทั้งนี้มีเสียงร่ำลือกันว่าเมื่อปี พ.ศ. 2530 มีชาวบ้านพบเห็นกระสือที่นี่ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเพื่อลดความน่ากลัวลง[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "บางอ้อ : ท้าพิสูจน์ตำนานกระสือ". บางอ้อ. June 17, 2009.
- ↑ 2.0 2.1 Alip, Eufronio Melo (1950). Political and Cultural History of the Philippines. Philippines.
- ↑ 3.0 3.1 Ramos, Maximo D. (1971). Creatures of Philippine Lower Mythology. Philippines: Phoenix Publishing. ISBN 971-06-0691-3.
- ↑ 4.0 4.1 Bane, Theresa (2010). Encyclopedia of Vampire Mythology. USA: McFarland & Company, Inc. ISBN 978-0-7864-4452-6.
- ↑ "ผีนานาชาติ, "แฟนพันธุ์แท้ 2013"". แฟนพันธุ์แท้ 2013. May 10, 2013.
- ↑ หนังสือเรื่องผีผี โดย แล็ฟคาดิโอ เฮิร์น แปลโดย ปาริฉัตร เสมอแข, ผุสดี นาวาวิจิต, สำนักพิมพ์ผีเสือ (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2543) ISBN 974-14-0143-4
- ↑ naimaew1 (May 5, 2010). "เห็ดกระสือ เรืองแสงได้อย่างไร มาดูกัน{แตกประเด็นจาก X9199871}". พันทิปดอตคอม.
- ↑ "ตายายพบแสงสีเขียวในบ้านล้างหนองกระสือ". มหาวิทยาลัยบูรพา.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
- พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ). (2526). "กระสือ 1 - ผี". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 1 : ก-กลากเหล็ก). (พิมพ์ครั้งที่สาม). กรุงเทพฯ : ไพศาลศิลป์การพิมพ์. หน้า 380-381.