ข้ามไปเนื้อหา

กระต่ายจันทร์ (ความเชื่อ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระต่ายจันทร์
ภาพกระต่ายตำข้าวในครกบนพื้นผิวดวงจันทร์
ชื่อภาษาจีน
ภาษาจีน月兔
ความหมายตามตัวอักษรกระต่ายดวงจันทร์
ชื่อภาษาจีนอื่น ๆ
ภาษาจีน玉兔
ความหมายตามตัวอักษรกระต่ายหยก
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
달토끼
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ月の兎
การถอดเสียง
โรมาจิtsuki no usagi
จันทรสมุทรบนดวงจันทร์ ที่ปรากฏภาพคล้ายกระต่าย

กระต่ายจันทร์ เป็นความเชื่อรวมกันของหลายชนชาติ ที่เชื่อว่าบนดวงจันทร์มีกระต่ายอาศัยอยู่ โดยพิจารณาจากจันทรสมุทร (หลุมดำบนดวงจันทร์) แล้วเกิดเป็นพาเรียโดเลีย (จินตภาพ) รูปกระต่ายขึ้นมา

ความเชื่อนี้มีในหลายชนชาติทั่วโลก เช่น แอฟริกา, ทิเบต, จีน, ญี่ปุ่น รวมถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้[1][2]

ในปกรณัมของฮินดู พระจันทร์ เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ เป็นผู้ถือกระต่ายไว้ในพระหัตถ์ เนื่องจากคำว่ากระต่ายในภาษาสันสกฤต คือ "ศศะ" ดังนั้นจึงเรียกดวงจันทร์ว่า "ศศิน" (ศศินฺ) แปลว่า "ซึ่งมีกระต่าย"[3]

ในปกรณัมของจีน ภาพที่ปรากฏบนดวงจันทร์ คือ กระต่ายขาวกำลังตำข้าวในครก กระต่ายนี้เชื่อกันว่าเป็นผู้รับใช้เซียนหรือผู้วิเศษ โดยมีหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ หรือเป็นสัตว์เลี้ยงของฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์[4] [5]

ในชาดก ซึ่งเป็นนิทานของพุทธศาสนา มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า มีชายคนหนึ่งหลงทางในป่า ขณะที่หมดสติไปเพราะความหิวและยากลำบาก มีสัตว์ป่า 3 ชนิดมาพบเข้า ได้แก่ หมี, หมาจิ้งจอก และกระต่าย สัตว์ทั้ง 3 ตกลงกันที่จะช่วยชายผู้นี้ หมีนำปลามาให้ ขณะที่หมาจิ้งจอกนำองุ่นมาให้ แต่กระต่ายไม่อาจหาอะไรมาได้ เพราะกินเป็นแต่หญ้า จึงเสียสละตัวเองกระโดดเข้ากองไฟเพื่อเป็นอาหารให้แก่ชายผู้นี้[6] พระอินทร์จึงวาดภาพกระต่ายจารึกไว้บนดวงจันทร์เพื่อระลึกถึง อย่างไรก็ตามชาดกเรื่องนี้ได้มีรายละเอียดต่างไปเล็กน้อย ๆ เช่น ชายผู้นี้บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพราหมณ์บ้าง หรือกระทั่งว่า กระต่ายตัวนี้คือพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าก็มี [7]

ในชนชาติฮอตเทนทอต ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเร่ร่อนล่าสัตว์ ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เรื่องราวของกระต่ายบนดวงจันทร์ช่วยอธิบายอาการปากแหว่งเพดานโหว่ ตั้งแต่เกิดของมนุษย์ ตามตำนานพระจันทร์ส่งกระต่ายลงมายังโลกเพื่อบอกกับมนุษย์ว่าเมื่อเธอตายจะกลับฟื้นขึ้นอีกครั้ง และมนุษย์ก็เช่นกัน แต่กระต่ายไม่ใส่ใจจึงจำข้อความผิด ๆ ถูก ๆ ไปบอกมนุษย์ว่า พระจันทร์ตายแล้ว จะไม่ฟื้นคืนมาใหม่ และมนุษย์ก็จะเป็นเช่นเดียวกับเธอ เมื่อพระจันทร์ทราบว่ากระต่ายทำอะไรลงไป เธอโกรธมากและพยายามจะใช้ขวานจามหัวกระต่าย แต่พลาดไปโดนริมฝีปากบนของกระต่ายแทน กระต่ายบาดเจ็บก็ตอบแทนเธอด้วยการข่วนเข้าที่ใบหน้าด้วยอุ้งเล็บ ทำให้เกิดรอยปื้นดำปรากฏบนดวงจันทร์ดังที่เห็นกันทุกวันนี้[7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Great Hare". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-09. สืบค้นเมื่อ 2012-11-17.
  2. "Windling, Terri. The Symbolism of Rabbits and Hares". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-12. สืบค้นเมื่อ 2012-11-17.
  3. ศศินจากพจนานุกรมฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร
  4. เรื่องของฉางอี้, หน้า 184-191. สนุกกับเทศกาลเฉลิมฉลอง Goh Pei Ki เขียน แสงจินดา กันยาทิพย์ แปลและเรียบเรียง (พิมพ์ครั้งที่สอง: พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 สำนักพิมพ์ดอกหญ้า) ISBN 974-604-217-3
  5. กระต่าย
  6. มะซะมิ คุรุมะดะ เซนต์เซย่า Vol.10 หน้า 121-122, สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (15 มิถุนายน พ.ศ. 2545) ISBN 974-218-114-4
  7. 7.0 7.1 กระต่ายในดวงจันทร์