กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ต้องการเก็บกวาด ตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขรูปแบบ เพิ่มแหล่งอ้างอิง ใส่หมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือภาษาที่ใช้ ในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนด้วยกัน เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานวิกิพีเดียไทย คุณสามารถช่วยแก้ไขได้ โดยการตรวจสอบและปรับปรุงบทความนี้ กรุณาเปลี่ยนไปใช้ป้ายข้อความอื่น เพื่อระบุสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ หรือแก้ไข ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ วิธีแก้ไขหน้าพื้นฐาน คู่มือการเขียน และ นโยบายวิกิพีเดีย เมื่อบทความนี้ได้รับการแก้ไขตามนโยบายแล้ว ให้นำป้ายนี้ออก |
กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ | |
---|---|
กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ | |
เครื่องหมายประจำกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
ปลดประจำการ | 30 กันยายน พ.ศ. 2562 |
ประเทศ | ไทย |
รูปแบบ | ราชองครักษ์ |
บทบาท | ทหารราบ |
กำลังรบ | กรม |
กองบัญชาการ | เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร (บก.กรม, กองพันที่ 1, กองพันที่ 2 และ กองพันที่ 3) |
สมญา | กรมทหารล้อมวัง |
สีหน่วย | น้ำเงิน-ขาว |
เพลงหน่วย | มาร์ชราชวัลลภ |
วันสถาปนา | 20 มกราคม พ.ศ. 2445 |
ปฏิบัติการสำคัญ | สงครามเวียดนาม การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย |
กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์[1] (อักษรย่อ กรม ทม.ที่ 11 มหด.รอ.) เป็นกรมทหารรักษาพระองค์ สังกัดกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กรมทหารแบ่งออกเป็น 3 กองพัน ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ[2] เดิมมีหน้าที่เฝ้ารักษาการณ์ในพระราชวังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงได้ตั้งเป็นกรมทหารรักษาพระองค์หรือกรมทหารล้อมวังขึ้นมีเครื่องแบบเต็มยศสีน้ำเงินน่าจะมาจากสีชุดของกรมวัง (สำนักพระราชวัง) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารเป็นพันเอกพิเศษของกรมทหาร ซึ่งทำให้หน่วยมีความผูกพันกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับเป็นผู้บังคับการพิเศษ ปัจจุบัน พลตรี กุลบุตร ปัจฉิม เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์[3]
ประวัติหน่วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งหน่วยราชองครักษ์ขึ้นเพื่อรับใช้และปกป้องสถาบันกษัตริย์โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยอารักขาและดูแลความเรียบร้อยด้านความปลอดภัยภายในราชสำนัก จนทำให้คนทั่วไปเรียกพวกเขาว่า "ทหารล้อมวัง"[4]
1 มิถุนายน พ.ศ. 2495 ได้ย้ายที่ตั้งหน่วยจากสะพานแดงมาเข้าที่ตั้งแห่งใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันเลขที่ 2 หมู่ที่ 3 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับธงชัยเฉลิมพลที่ได้รับ คือ เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 1 ซึ่งได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
นอกจากนี้แล้ว กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ยังเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) รวมถึงเป็นที่พักและบัญชาการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี พ.ศ. 2553[5]
1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 หน่วยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
18 มกราคม พ.ศ. 2562 หน่วยได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
23 เมษายน พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาประกาศชื่อหน่วยเป็น กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เฉพาะกองบังคับการ)[6]
4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เนื่องด้วยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จึงมีการเปลี่ยนนามหน่วยอีกครั้งเป็น กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และกองพันขึ้นตรงเรียกนามหน่วยว่า กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกำหนดที่กำหนดให้โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปเป็นของ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ พร้อมกับ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยให้มีผลนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562[7]
การจัดกำลังหน่วย
กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.11 ทม.รอ.) จัดแบ่งกำลังพลภายในหน่วยออกเป็น 3 กองพัน โดยชื่อกองพันเรียกนามหน่วยว่า กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ
- กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.11/1 รอ.)
- กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.11/2 รอ.)
- กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.11/3 รอ.)
เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ประจำหน่วย
กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์และกองพันที่ขึ้นตรงกับกรมนี้ทุกกองพัน ใช้เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์แบบเดียวกันทั้งหมด ดังนี้
- หมวก หมวกยอดสีขาว มีพู่สีน้ำเงิน หน้าหมวกมีตราพระราชลัญจกร ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง
- เสื้อ สักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงิน ปลอกคอโดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ ปลอกคอด้านบนมีแถบไหมสีเหลือง 1 แถบ แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 7 ดุม ที่ดุมมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ที่บ่ามีอินทรธนูอ่อน ขัดดุมสีทองขนาดเล็ก
- คันชีพ สายสะพาย ทำด้วยหนังสีน้ำตาลแก่ นายทหารทำด้วยไหมสีทอง
- เข็มขัด ทำด้วยหนังสีน้ำตาล หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง มีตราเครื่องหมายกองทัพบกดุนนูน
- กางเกง สักหลาดหรือเสิร์จสีดำ ที่แนวตะเข็บข้างมีแถบสักหลาดสีแดง 1 แถบ กว้าง 1 ซม.
- รองเท้า หุ้มข้อหนังสีดำ
- กระเป๋าคันชีพ ทำด้วยหนังสีขาว มีตราพระราชลัญจกรทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่ฝากระเป๋า
- ชายเสื้อด้านหลัง มีดุมโลหะสีทองขนาดกลางข้างละ 1 ดุม
- แขนเสื้อด้านข้าง ปลอกข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง ติดอักษรพระปรมาภิไธย วปร.
- คอสังกัด ทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่คอเสื้อด้านซ้ายเป็นเครื่องหมายตราราชวัลลภ คอเสื้อด้านขวาเป็นเครื่องหมายเหล่าทหารราบ
อ้างอิง
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
- ↑ "ทำไมต้อง 'ราบ 11' ?". 29 March 2010.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ "'ข่าวสด' เผย 'กองทัพบก' เตรียมย้ายที่ตั้งหน่วยทหาร ออกนอกกรุงเทพฯ".
- ↑ ลับลวงเลือด โดย วาสนา นาน่วม สำนักพิมพ์มติชน: กันยายน พ.ศ. 2553 ISBN 9789740206521
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
- ↑ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๒
แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์