กบหนังห้อย
กบหนังห้อย | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Amphibia |
อันดับ: | Anura |
วงศ์: | Leptodactylidae |
วงศ์ย่อย: | Telmatobiinae |
สกุล: | Telmatobius |
สปีชีส์: | T. culeus |
ชื่อทวินาม | |
Telmatobius culeus (Garman, 1876) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
กบหนังห้อย (อังกฤษ: Titicaca water frog, Saggy-skinned frog; ชื่อวิทยาศาสตร์: Telmatobius culeus) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกกบชนิดหนึ่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น
กบหนังห้อย จัดอยู่ในวงศ์ Leptodactylidae ซึ่งเป็นวงศ์กบที่มีจำนวนสมาชิกมาก นับเป็นวงศ์ใหญ่ กระจายพันธุ์ตั้งแต่อเมริกากลาง, แคริบเบียน จนถึงอเมริกาใต้
กบหนังห้อยมีลักษณะเด่น คือ มีผิวหนังที่ใหญ่มาก จนห้อยย้อยและพับโก่งตัวขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งผิวหนังที่พับย่นนี้มีเพื่อสำหรับหายใจในน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัดและในระดับที่ลึก เนื่องจากเป็นกบที่พบเฉพาะทะเลสาบตีตีกากา ในประเทศโบลิเวีย ใกล้กับเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ตั้งอยู่บนที่สูงถึง 3,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล นับเป็นทะเลสาบแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่สูงแห่งหนึ่งของโลก ทำให้มีปริมาณออกซิเจนต่ำ และอุณหภูมิของน้ำเย็นยะเยือก ซึ่งผิวหนังที่พับย่นของกบหนังห้อยเป็นการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับการอาศัยในสภาพแวดล้อมแห่งนี้ [2][3]
โดยภายในผิวหนังมีหลอดเลือดฝอยหนาแน่นมากเพื่อช่วยแลกเปลี่ยนออกซิเจน และมีลักษณะการว่ายน้ำแบบส่ายไปมาเพื่อให้น้ำปะทะกับผิวหนังให้มากที่สุดเพื่อหายใจ ปอดมีขนาดเล็กกว่ากบวงศ์อื่น ๆ ถึง 4 เท่า และมีปริมาณแมตาบอลิสซึมต่ำมากที่สุดชนิดหนึ่งของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั้งหมด [2]
กบหนังห้อยจะอาศัยเฉพาะอยู่แต่ในน้ำชั่วชีวิต นิ้วตีนทั้ง 4 ข้างมีพังผืดขนาดใหญ่มากเชื่อมต่อกัน จึงเป็นกบที่กระโดดไม่ได้ โดยปกติจะหลบซ่อนตัวอยู่ในกอพืชน้ำและสาหร่าย มีขนาดโตเต็มที่ราว 25-30 เซนติเมตร กบตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้หลายเท่า ซึ่งขนาดที่ใหญ่ที่สุด ถูกบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1973 โดย ฌาคส์ คุสโต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสว่ายาวได้ถึง 2 ฟุต น้ำหนัก 2 ปอนด์ เมื่อยืดขาหลังออกเต็มที่ นับเป็นกบชนิดหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก กบหนังห้อยเป็นสัตว์ที่ชาวอินคา ชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ใช้ปรุงเป็นยามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน [2]
ปัจจุบัน สถานะของกบหนังห้อยอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์เต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประมงที่มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่รังสีอัลตราไวโอเลตที่สาดส่องมายังผิวน้ำทะเลสาบตีตีกากามากขึ้น ที่ทำให้กบตายได้เนื่องจากมีผิวหนังที่บอบบาง[3] [2]
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Telmatobius culeus ที่วิกิสปีชีส์