กบฏวังเหรินหยิน
กบฏวังเหรินหยิน | |
---|---|
วันที่ | พฤศจิกายน ค.ศ. 1542 |
เป้าหมาย | จักรพรรดิเจียจิ้ง |
ประเภท |
|
ตาย | 17 |
เจ็บ | 1 |
เหตุจูงใจ | การถูกทรมาน |
กบฏวังเหรินหยิน (จีน: 壬寅宫變) หรือ การลุกฮือของนางใน (จีน: 宮女起義) เป็นความไม่สงบในพระราชวังช่วงราชวงศ์หมิงของประเทศจีน เมื่อนางใน (宮女) จำนวน 16 คนพยายามลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖) ด้วยการรัดพระศอใน ค.ศ. 1542 ซึ่งปฏิทินจีนเรียกว่า ปีเหรินหยิน
สาเหตุ
[แก้]จักรพรรดิเจียจิ้งเป็นที่เรียกขานกันว่า "กษัตริย์เต๋า"[1] เพราะทรงฝักใฝ่ลัทธิเต๋า ด้วยทรงเชื่อว่า เป็นหนทางสู่ความเป็นอมตะ พระองค์พอพระทัยเสวยสิ่งที่นักพรตเต๋าปรุงถวายเป็นยาอายุวัฒนะ หนึ่งในนั้น คือ "ตะกั่วแดง" (红铅) ซึ่งปรุงจากโลหิตหญิงพรหมจารี[2] และเพื่อการนี้ มีรับสั่งให้นางในอายุ 13–14 ปีบริโภคแต่น้ำค้างกับใบหม่อน จะได้มีโลหิตบริสุทธิ์มาปรุงยาถวาย[2] การบริโภคเพียงน้ำค้างและใบหม่อนทำให้นางในหลายคนล้มป่วย คนใดล้มป่วย ก็รับสั่งให้โบยตีเป็นโทษทัณฑ์[3] นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่า นี้เป็นสาเหตุให้นางในจำนวนหนึ่งลุกขึ้นต่อต้านพระองค์[2]
เหตุการณ์
[แก้]ใน ค.ศ. 1542 ขณะที่จักรพรรดิเจียจิ้งบรรทม ณ ตำหนักของสนมตฺวัน (端妃) นางในจำนวน 16 คนแสร้งเข้าปรนนิบัติพระองค์ เมื่อได้ทีก็เอาเชือกคล้องพระศอและพยายามดึงรัดให้สิ้นพระชนม์[4] แต่หนึ่งในสิบหกคนนั้นเกิดเปลี่ยนใจกลางคันด้วยเกรงราชอาญา จึงหนีไปทูลแถลงต่อจักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ย (孝烈皇后) พระมเหสีของพระองค์ จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยทรงนำกำลังขันทีรุดมาจับกุมผู้ก่อการทั้งหมดได้ และแก้ไขพระองค์จนฟื้นคืนพระสติ[4]
ผู้ก่อการ
[แก้]นางในที่ร่วมปลงพระชนม์ตามที่ถูกไต่สวนและบันทึกไว้มีดังนี้
- สนมตฺวัน (端妃) เจ้าของตำหนักที่เกิดเหตุ
- หนิงผินหวังชื่อ (宁嫔王氏; "นางหวัง (ผู้เป็น) หนิงผิน") หัวหน้าผู้ก่อการ
- กวัน เหมย์ซิ่ว (关梅秀) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- เฉิน จวี๋ฮวา (陈菊花) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- ซู ชวนเย่า (苏川药) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- สิง ชุ่ยเหลียน (邢翠莲) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- หยาง จินอิง (杨金英) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- หยาง ชุ่ยอิง (杨翠英) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- หยาง ยฺวี่เซียง (杨玉香) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- เหยา ชูชุ่ย (姚淑翠) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- หลิว เมี่ยวเหลียน (刘妙莲) ผู้ลงมือรัดพระศอ
- จาง ชุนจิ่ง (张春景) ผู้สมรู้
- เติ้ง จินเซียง (邓金香) ผู้สมรู้
- หฺวัง ยฺวี่เหลียน (黄玉莲) ผู้สมรู้
- สฺวี ชิวฮวา (徐秋花) ผู้สมรู้
- จาง จินเหลียน (张金莲) ผู้กลับใจไปเปิดเผยแผนต่อจักรพรรดินี
โทษ
[แก้]แผนการไม่ลุล่วง แต่ก็ทำให้จักรพรรดิเจียจิ้งทรงมิได้พระสติไปหลายวัน จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยจึงทรงลงโทษสถานหนักต่อนางในทั้งสิบหกคน ซึ่งรวมถึงจาง จินเหลียน ผู้กลับใจมาทูลแผนลับ และสนมตฺวันผู้เป็นเจ้าของตำหนัก แม้ไม่อยู่ในตำหนักเมื่อเกิดเหตุก็ตาม จักรพรรดินีทรงให้ประหารคนเหล่านั้นโดยวิธีหลิงฉือ (凌遲) คือ สับเป็นพันชิ้นหมื่นชิ้น (千刀萬剮)[4] แล้วให้เอาศพเสียบประจาน[5] นอกจากนี้ ยังทรงให้จับสมาชิกครอบครัวของนางในเหล่านั้นมาตัดศีรษะครอบครัวละ 10 คน เอาลงเป็นทาสอีกครอบครัวละ 20 คน[5]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]การที่จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยประหารสนมตฺวันคนโปรดของจักรพรรดิเจียจิ้งนั้น ทำให้จักรพรรดิโทมนัสอย่างยิ่ง ภายหลัง จักรพรรดิเจียจิ้งทรงประกาศว่า สนมตฺวันไม่รู้เห็นในการลอบปลงพระชนม์ ต่อมาใน ค.ศ. 1547 เกิดไฟไหม้ใหญ่ในพระราชวัง จักรพรรดิทรงปล่อยให้จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยสิ้นพระชนม์ในกองเพลิง[6]
แต่แม้จะมีผู้ลุกฮือเพราะการคลั่งไคล้ยาอายุวัฒนะของพระองค์ จักรพรรดิเจียจิ้งก็มิได้ทรงเลิกล้มการผลิตยา กลับรับสั่งให้ควบคุมนางในอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น และใน ค.ศ. 1547 ก็มีการคัดเลือกหญิงอายุ 11–14 ปีเข้าเป็นนางในเพิ่มอีก 300 คน ต่อมาใน ค.ศ. 1552 เลือกเพิ่มอีก 200 คน อายุก็ลดลงเป็นไม่เกิน 8 ปี[2] ครั้น ค.ศ. 1555 มีการเลือกหญิงอายุต่ำกว่า 8 ปีเข้าเป็นนางในเพิ่มอีก 150 คน ทั้งนี้ เพื่อเอาโลหิตมาปรุงยาถวาย[2]
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- History Office, บ.ก. (1620s). 明實錄:明世宗實錄 [Veritable Records of the Ming: Veritable Records of Shizong of Ming] (ภาษาจีน). Ctext.
- Huang 黄, Weibo 伟波 (2011). "壬寅宫变与嘉靖皇帝之崇奉方术" [The palace rebellion of ‘’renyin’’ and the Jiajing Emperor’s belief in alchemy]. Xiang Chao (ภาษาจีน) (10).
- Zhang Tingyu, บ.ก. (1739). "《明史》卷一百十四 列傳第二 后妃二" [History of Ming, Volume 114, Historical Biography 2, Empresses and Concubines 2]. Lishichunqiu Net (ภาษาจีน). Lishi Chunqiu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-14. สืบค้นเมื่อ 27 June 2017.
- Zhang 张, Yongchang 永昌 (2007). "壬寅宫变 宫女献身" [The ‘’renyin’’ palace rebellion: palace women sacrifice themselves]. Quanzhou Wenxue (ภาษาจีน) (01).