ข้ามไปเนื้อหา

ซูเปอร์แฟมิคอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Super Nintendo Entertainment System)
ซูเปอร์แฟมิคอม (ซูเปอร์นินเท็นโด)
Super Famicom (Super Nintendo Entertainment System)
Super Nintendo Entertainment System logo
Super Famicom logo
The North American SNES (circa 1991)
A Japanese Super Famicom
ด้านบน: อเมริกาเหนือ ซูเปอร์นินเท็นโด
ด้านล่าง: ญี่ปุ่น ซูเปอร์แฟมิคอม
ผู้ผลิตนินเท็นโด
ชนิดเครื่องเล่นวิดีโอเกม
ยุคยุคที่สี่
วางจำหน่าย21 พฤศจิกายน 1990 (JP)
13 สิงหาคม 1991 (NA)
11 เมษายน 1992 (EU)
ยอดจำหน่าย20 ล้านเครื่อง (US) 49.10 ล้านเครื่อง (ทั่วโลก)[1]
สื่อตลับเกม
ซีพียู16-bit 65c816 Ricoh 5A22 3.58 MHz
บริการออนไลน์Satellaview (เฉพาะในญี่ปุ่น)
รุ่นก่อนหน้าแฟมิคอม
รุ่นถัดไปนินเท็นโด 64

ซูเปอร์แฟมิคอม (ญี่ปุ่น: スーパーファミコンโรมาจิSūpāfamicon; อังกฤษ: Super Famicom/SFC) หรือชื่อที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาคือ ซูเปอร์นินเท็นโดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ซิสเตม (อังกฤษ: Super Nintendo Entertainment System/SNES) เป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมของบริษัทนินเท็นโด

ซูเปอร์แฟมิคอมเป็นเครื่องเล่นเกมรุ่นที่สองของนินเท็นโด (นับเป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมยุคที่สี่) ถัดจากแฟมิคอม เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมเป็นเครื่องเกมคอนโซลแบบ 16 บิทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนั้น สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่างเครื่องเมกาไดรฟ์ของเซกาได้ แม้แต่หลังจากที่ยุคของเกม 16 บิทจะสิ้นสุดลงไปนานแล้ว เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมก็ยังเป็นที่นิยมของนักสะสม และนักพัฒนาอีมูเลเตอร์

ประวัติ[แก้]

ในปี 1988 เซกาได้ผลิตเครื่องเล่นเกม 16 บิทรุ่นใหม่ที่ชื่อ "เมกาไดรฟ์" ออกวางตลาด เครื่องเมกาไดรฟ์มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแฟมิคอมของนินเทนโด ในช่วงแรกทางนินเทนโดยังลังเลที่จะเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจพัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่มาทดแทนเครื่องแฟมิคอมที่เริ่มจะล้าสมัยแล้ว

เครื่องซูเปอร์นินเทนโดออกแบบโดยนาย มาซายูกิ อุเอมูระ ผู้ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครื่องแฟมิคอม และเครื่องซูเปอร์นินเทนโดได้ออกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 ในราคา 25,000 เยน ซึ่งการวางขายก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว สามารถขายได้ถึง 300,000 เครื่องภายในไม่กี่ชั่วโมงแรก สร้างกระแสในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมขายดีมากจนถึงกับไปดึงดูดความสนใจของพวกยากูซ่า ทำให้ทางนินเทนโดถึงกับต้องตัดสินใจเลื่อนย้ายสินค้าในตอนกลางคืนเพื่อป้องกันการปล้นชิงเลยทีเดียว ความสำเร็จอย่างล้นหลามนี้ ทำให้นินเทนโดยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในวงการอุตสาหกรรมวิดีโอเกมเอาไว้ได้ เครื่องซูเปอร์นินเทนโดออกวางขายในอเมริกาในปี 1991 โดยทางนินเทนโดได้ออกแบบรูปร่างของเครื่องใหม่ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ซูเปอร์ นินเทนโด เอนเตอร์เทนเม้นท์ ซิสเทม (SNES) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นกัน

สงครามคอนโซล[แก้]

การมาถึงของเครื่องซูเปอร์นินเทนโดก่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างนินเทนโดและเซกา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสงครามคอนโซลที่ดุเดือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเกมคอนโซล เซกาได้เจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นโดยมุ่งหมายให้เครื่องเมกาไดรฟ์ของตนมีเกมที่เจาะกลุ่มตลาดที่เป็นผู้ใหญ่กว่า และดีไซน์และเน้นความ "เท่ห์" ยอดขายของเครื่องซูเปอร์นินเทนโดและเมกาไดรฟ์เสมอกันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1992[2] โดยที่ไม่มีใครเป็นผู้นำตลาดอย่างถาวรเป็นเวลาหลายปี จนในที่สุดนินเทนโดก็เป็นผู้ชนะ สามารถครอบครองตลาดเครื่องเกมคอนโซลของประเทศสหรัฐอเมริกาไว้ได้[3]

SNES-CD[แก้]

เมื่อยุคของสื่อบันทึกข้อมูลด้วย CD-ROM มาถึง ทางนินเทนโดได้ให้ความสนใจกับสื่อบันทึกชนิดใหม่นี้ จนเมื่อบริษัทคู่แข่งอย่างเซกา ได้ออกอุปกรณ์เสริมที่ทำให้เครื่องเมกาไดรฟ์เล่นเกมจาก CD ได้ที่ชื่อ SEGA-CD ขึ้นมา ทางนินเทนโดจึงมีความต้องการพัฒนาอุปกรณ์เสริมสำหรับเล่น CD ของตนขึ้นมาบ้าง ทางนินเทนโดได้ติดต่อกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำอย่างโซนี่และฟิลิปในการร่วมทุนกันพัฒนาอุปกรณ์เสริมดังกล่าว แต่การร่วมทุนพัฒนากับทั้ง 2 บริษัทต่างก็ประสบความล้มเหลวทั้งคู่ นินเทนโดจึงจึงหันไปทุ่มเทความสนใจให้กับการพัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่ที่ใช้ตลับอย่างเครื่องนินเทนโด 64แทน แต่การเข้าร่วมทุนพัฒนาที่ไม่สำเร็จนี้ได้เป็นจุดกำเนิดเครื่องเกมคอนโซลยุคใหม่ 2 เครื่อง บริษัทโซนี่ได้เอาสิ่งที่เหลือจากการพัฒนาที่ล้มเหลวมาพัฒนาต่อเป็นเครื่องเพลย์สเตชัน ส่วนทางฟิลิปก็ได้พัฒนาเครื่อง CD-I ขึ้นมา[4]

เกม[แก้]

มีเกมสำหรับซูเปอร์แฟมิคอมออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 1,757 เกม โดยมีการวางจำหน่ายในอเมริกาเหนือ 717 เกม, ในยุโรป 521 เกม, และในญี่ปุ่น 1,448 เกม เกมของซูเปอร์แฟมิคอมหลายเกมได้รับการยกย่องว่าเป็นเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล เช่น ซูเปอร์มาริโอเวิลด์ (1990), เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา: อะลิงก์ทูเดอะพาสท์ (1991), ดองกีคองคันทรี (1994), เอิร์ธบาวด์ (1994), ซูเปอร์เมทรอยด์ (1994), โยชีไอแลนด์ (1995)

ยอดจำหน่าย[แก้]

เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมขายได้ 49.10 ล้านเครื่องทั่วโลก โดยในอเมริกาขายได้ 23.35 ล้านเครื่อง ในญี่ปุ่นขายได้ 17.17 ล้านเครื่อง เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น โดยเครื่องเกมที่มียอดขายรองลงมาคือเครื่องเมกาไดรฟ์และ TurboGrafx-16

อ้างอิง[แก้]

  1. จำนวนการขายเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม เก็บถาวร 2009-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน(อังกฤษ)
  2. "16-bit games take a bite out of sales - computer games". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2012-06-04.
  3. "A Brief History of Game Consoles". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2009-02-24.
  4. "Sony to Play Games". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02. สืบค้นเมื่อ 2009-02-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]