วันนวมินทรมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันนวมินทรมหาราช
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ (อดีตสนามม้านางเลิ้ง)
ชื่ออื่นNawamintha Maharat Day (อังกฤษ)
九世皇升遐纪念日 (จีน)
จัดขึ้นโดยรัฐบาลไทย
สีมงคลสีเหลือง
ประเภทวันหยุดราชการ
ความสำคัญวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันที่13 ตุลาคม
ครั้งหน้า13 ตุลาคม 2567 (2024-10)
ความถี่ทุกปี
ครั้งแรกพ.ศ. 2560
ริเริ่มโดยคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61
ส่วนเกี่ยวข้องวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันปิยมหาราช

วันนวมินทรมหาราช [อ่านว่า นะ-วะ-มิน-ทระ-มะ-หา-ราด][1] (อังกฤษ: Nawamintha Maharat Day)[2] ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เป็นวันหยุดราชการ[3] และออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 และในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดให้เป็น "วันสำคัญของชาติไทย" และให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับวันปิยมหาราช[4]

เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 มีมติเห็นชอบให้กำหนดชื่อวันดังกล่าวตามที่ได้ขอพระราชทานชื่อจากรัชกาลที่ 10 ซึ่งได้รับประทานชื่อเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยมาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ว่า "วันนวมินทรมหาราช"[5] แปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566[6]

กิจกรรม[แก้]

รัฐบาลได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดกิจกรรมเนื่องในวันนวมินทรมหาราช ดังนี้

  1. จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพร้อมภริยา, ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ ให้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม รวมทั้งเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
  2. จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่ กำหนดระหว่างวันที่ 1 - 31 ตุลาคม ของทุกปี โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศดำเนินการ
  3. จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศจัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษดังกล่าว
  4. คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เผยแพร่สารคดีโทรทัศน์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ[7]

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในวันนวมินทรมหาราช[แก้]

วันศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2566 เวลา 17.28 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันนวมินทรมหาราช พุทธศักราช 2566 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จในการนี้ด้วย

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองทิศ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพวงมาลาส่วนพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองทิศ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ เสร็จแล้ว ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันนวมินทรมหาราช ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมหาราชวัง

จากนั้น เวลา 17.50 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานเนื่องในวันนวมินทรมหาราช ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช 2566 (ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย) โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 พระพุทธมหาราช ฉ ปริวัตน์ และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งบุษบกมาลา จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยาราชาวดี และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย กราบถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยารอง และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย พระสงฆ์ 89 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์แก่เจ้าพนักงานพระราชพิธี เชิญไปปักที่จงกลธรรมาสน์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรสำหรับพระบรมอัฐิ และพระอัฐิทรงธรรม ทรงศีล พระพรหมวชิรธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนา จบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ แล้วทรงทอดผ้าไตร 18 ไตร แด่พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์ และที่ถวายพระธรรมเทศนาสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วทรงทอดผ้าไตรเที่ยวล่ะ 18 รูป พระสงฆ์สดับปกรณ์จนครบ 4 เที่ยว แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 พระพุทธมหาราช ฉ ปริวัตน์ และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา เสร็จแล้ว ทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการ และประชาชน เข้าถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดรด้วย[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วันนวมินทรมหาราช". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  2. "Nawamintha Maharat Day". KMIDS
  3. "มติ ครม.ยกเลิกวันหยุด 5 พ.ค. เพิ่ม 28 ก.ค.และ 13 ต.ค.เป็นวันหยุดราชการ". ไทยพีบีเอส. 11 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "กำหนดให้ 28 ก.ค.และ 13 ต.ค.เป็นวันสําคัญของชาติ". พีพีทีวี. 25 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "ครม.เห็นชอบประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น'วันนวมินทรมหาราช'". แนวหน้า. 26 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช"" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 140 (พิเศษ 244 ง): 2. 2 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
  7. ฐานเศรษฐกิจ (2023-10-10). "รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรมเนื่องใน "วันนวมินทรมหาราช" 13 ตุลาคม 2566". thansettakij.
  8. "ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ วันนวมินทรมหาราช 2566". matichon.co.th. 2023-10-13.