ขนมเม็ดขนุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เม็ดขนุน
ประเภทของว่าง
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้สร้างสรรค์คนไทย
ส่วนผสมหลักถั่วกะเทาะเปลือก, ไข่แดง, น้ำตาล, กะทิ
พลังงาน
(ต่อหน่วยบริโภค 100 กรัม)
347[1] กิโลแคลอรี
คุณค่าทางโภชนาการ
(ต่อหน่วยบริโภค 100 กรัม)
โปรตีน11 กรัม
ไขมัน11 กรัม
คาร์โบไฮเดรต51 กรัม

ขนมเม็ดขนุน เป็นขนมไทยโบราณ[2] มีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยอยุธยา[3] และเป็นขนมหนึ่งใน 9 ขนมมงคล[4] สำหรับงานแห่ขันหมาก งานบุญ งานมงคลอื่น ๆ และของว่าง ทำจากถั่วเลาะเปลือกปั้นเป็นรูปทรงรีคล้ายเม็ดขนุน ชุบไข่แดงแล้วนำไปหยอดในน้ำเชื่อมเข้มข้นจนมีสีเหลืองนวลคล้ายสีทอง มีรสหวาน

ขนมเม็ดขนุนเป็นขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในสยามหลัง พ.ศ. 2059[5] รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เชื่อว่าชาวสยามในขณะนั้นดัดแปลงวิธีการทำขนมกลายเป็นขนมประจำชาติของตนโดยใช้ไข่ น้ำตาล เป็นส่วนผสมหลักซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวโปรตุเกส ส่วนหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ อธิบายว่า ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ซึ่งเป็นผู้นำขนมโปรตุเกสมาเผยแพร่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง แต่ขนมเม็ดขนุนนั้นคนกรุงศรีอยุธยาดัดแปลงวิธีของท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) มาอีกทอดหนึ่ง[6]

ประวัติ[แก้]

สมัยรัตนโกสินทร์[แก้]

ขนมเม็ดขนุนกับตำนานเรื่อง แม่ครัวหัวป่าก์ เมืองพรหมบุรี มีเรื่องเล่าในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐิน ณ วัดพรหมเทพาวาส (วัดชลอน) เมืองพรหมบุรี (ปัจจุบันคือ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี) ว่า คณะแม่ครัวบ้านหัวป่าเมืองพรหมบุรีได้จัดเครื่องเสวยมีแกงมัสมั่น แกงบอน ต้มปลาร้าหัวตาล ขนมจีนน้ำยา ส่วนเครื่องหวานมีขนมปิ้ง สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน และข้าวตอกน้ำกะทิ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนั้น พระองค์ทรงโปรดฝีมือการปรุงเครื่องเสวยคณะแม่ครัวบ้านหัวป่าเมืองพรหมบุรีอย่างมาก ครั้นเสด็จประพาสกลับ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลังยัคมินส์) จึงกราบบังคมทูลขอชื่อพระราชทานแก่คณะแม่ครัวชุดนี้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า แม่ครัวหัวป่าก์ จึงเป็นที่มาของชื่อตำราอาหารไทย[7]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พลังงานและสารอาหารจาก ขนมเม็ดขนุน. CalForLife.com. Retrieved on 15 May 2024.
  2. Shurtleff, William R. (1996). Soy Fiber and Dietary Fiber: Bibliography and Sourcebook, A.D. 1445 to 1995: Detailed Information on 633 Published Documents (extensively Annotated Bibliography), 203 Commercial Soy Fiber Products, 111 Original Interviews (many Full Text) and Overviews, 95 Unpublished Archival Documents from Cornell University. Washington, D.C.: Soyfoods Association of North America (SANA). p. 194.
    • University of Illinois at Urbana-Champaign, College of Agriculture. "Chemical analysis (Med Khanoon)", International Agricultural Publications: INTSOY Series, 7(1974): 99.
    • Shurtleff, William R. and Aoyagi, A. (2011). History of Fermented Black Soybeans (165 B.C. To 2011): Extensively Annotated Bibiography and Sourcebook. Lofayette, California: Soyinfo Center. p. 285. ISBN 978-192-8-91441-9
  3. กรมศิลปากร. วารสารศิลปากร, 44(1)(2544):66. "ขนมที่กำเนิดในสมัยอยุธยา เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ..."
  4. หอสมุดกรุงเทพมหานคร. ส่องกรุง, 3(1)(2005):122
  5. Krondl, M. (2011). "Portuguese in Asia", Sweet Invention: A History of Dessert. Chinago, Illinois: Chicago Review Press, Inc. p. 55. ISBN 978-156-9-76954-6
  6. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ม.ร.ว. (2542). ถนัดศรีชี้ทางอร่อย ชุด 2. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 113. ISBN 978-974-3-22272-6
  7. ศิลปวัฒนธรรม, 24(1)(2545): 33-34.