ข้ามไปเนื้อหา

ม้าลาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Zebra)
ม้าลาย
ม้าลายธรรมดา (Equus quagga)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Perissodactyla
วงศ์: Equidae
สกุล: Equus
สกุลย่อย: Hippotigris
ชนิด

E. capensis
E. grevyi
E. koobiforensis
E. mauritanicus
E. oldowayensis
E. quagga
E. zebra

ม้าลายสามสายพันธุ์ที่มีชีวิตสมัยใหม่

ม้าลาย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคี่ จัดอยู่ในสกุลม้า (Equus) และจัดอยู่ในสกุลย่อย Hippotigris (แปลว่า ม้าลายเสือ) แบ่งออกได้เป็น 7 ชนิด (ดูในตาราง)

ม้าลายเป็นสัตว์ที่กินหญ้าเป็นอาหารหลัก สัตว์ที่ล่าม้าลายเป็นอาหารเช่น สิงโต ไฮยีนาลายจุด ในพื้นที่แบบที่ราบและภูเขา ม้าลายจะมีลักษณะสังคมแบบฝูงที่มีเพศผู้เป็นหัวหน้าเพียงตัวเดียว และประกอบด้วยม้าเพศเมียตัวเต็มวัยและลูก ๆ ส่วนม้าลายพันธุ์ เกรย์วีจะใช้ชีวิตแบบตัวเดียว หรือเป็นฝูงแบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวไม่แนบแน่น

ลักษณะ

[แก้]

ม้าลายเป็นม้าจำพวกหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าม้า แต่มีปลายหางคล้ายลา มีแผงคอที่สั้นเหมือนขนแปรง มีลักษณะเด่น คือ มีลำตัวเป็นสีดำลายขาวตลอดทั้งตัว ซึ่งสีอันโดดเด่นนี้ เป็นคำถามมาเป็นระยะเวลานานแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วม้าลายเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน

ภาพแสดงลายบนใบหน้าของม้าลาย 4 ตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งลายเหล่านี้จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่เหมือนกันอันเป็นผลมาจากเซลล์เม็ดสีและพันธุกรรม

[1] สิ่งที่เหมือนกับม้าป่าชนิดอื่นคือ ม้าป่ามีส่วนลำตัวคล้ายถังเบียร์ ส่วนใบหน้าที่ยื่นยาว หางยาว คอยาว และแผงคอยาว ขายาวเรียว กีบเท้า กีบเท้ารูปร่างคล้ายจอบขุดดิน ลักษณะฟันวิวัฒนาการเพื่อกินหญ้า ฟันหน้ามีขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการจับหญ้า ฟันกรามมีลักษณณะสันที่ยาวคมเพื่อใช้ในการบดตัดหญ้า ม้าลายเพศผู้มีฟันเขี้ยวเพื่อใช้ในการต่อสู้กับม้าลายตัวอื่น ม้าลายเป็นสัตว์ที่มีสายตาดี โดยตำแหน่งตาอยู่ด้านข้างของกะโหลกและค่อนไปทางด้านบน เพื่อให้พ้นตำแหน่งจากต้นหญ้าสูงขณะก้มกินหญ้า รวมทั้งใบหูยาวที่สามารถขยับส่วนปลายหูเพื่อหาตำแหน่งของเสียง

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ม้าลายแท้ที่จริงเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำและมีลายแถบสีขาวพาดผ่านลำตัว ซึ่งลายแถบสีขาวนั้นเกิดจากเซลล์ประสาทที่เรียงรายตามแนวกระดูกสันหลังส่วนหนึ่ง จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์ผลิตเม็ดสีสีดำ เรียกว่า เมลาโนไซท์ หลังจากนั้น เมลาโนไซท์เหล่านี้ จะเคลื่อนออกไปด้านข้างของกระดูกสันหลังในแนวตั้งฉาก แล้วเปลี่ยนสภาพไปเป็นผิวหนังที่มีเม็ดสีสีดำ ซึ่งรูปแบบของเม็ดสีในสัตว์แต่ละชนิดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นทางพันธุกรรม ในการเปลี่ยนสภาพ และการเคลื่อนที่ของเมลาโนไซท์ โดยจากการศึกษาพบว่าตัวอ่อนของม้าลายที่อยู่ในท้องแม่ จะเป็นตัวสีดำก่อน จากนั้นลายแถบสีขาวจึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งม้าลายแต่ละตัวก็จะมีลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการที่ม้าลายมีลายแถบสีขาวเหล่านี้ เชื่อว่าใช้ในการพรางตัวจากศัตรู และทำให้ศัตรูซึ่งได้แก่ สัตว์กินเนื้อต่าง ๆ ตาลายได้เมื่อได้พบเจอม้าลายที่อยู่รวมกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้ากว้าง ทำให้จับระยะทางที่จะโจมตีผิดพลาดไป สำหรับทัศนะของชาร์ลส์ ดาร์วิน เชื่อว่าม้าลายมีลายเพื่อจดจำกันได้ และตัวผู้ใช้เกี้ยวพาตัวเมีย รวมทั้งเชื่อว่ามีไว้ป้องกันแมลง โดยเฉพาะแมลงวัน มีหลักฐานว่าม้าลายดึงดูดแมลงน้อยกว่าสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ ในแอฟริกา จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีกลุ่มหนึ่ง ที่ทดลองโดยการนำหุ่นของม้า 4 ตัว ที่มีสีสันต่าง ๆ แตกต่างกันไป ไปตั้งไว้ในทุ่งหญ้า รวมถึงม้าลาย พบกว่าหุ่นม้าลายมีแมลงมาเกาะน้อยที่สุด ทั้งนี้เชื่อว่าเพราะตาของแมลงเป็นระบบตารวมที่มีส่วนประกอบมากมาย และแมลงจะลงเกาะโดยการใช้แสงโพลาไรซ์ช่วย เป็นไปได้ว่าลายทางของม้าลายไปรบกวนแสงโพลาไรซ์ในการมองของแมลง ทำให้ยากในการลงเกาะบนตัวของม้าลาย[2]

ถิ่นอาศัย

[แก้]

พบทั่วไปในทวีปแอฟริกาแถบที่ราบโล่งทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด และแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดย่อย ในอดีตการจำแนกแบ่งประเภทของม้าลายแบ่งออกได้เป็นกว่า 10 ชนิด และแบ่งออกตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 3 ชนิด และไม่สามารถแบ่งได้ตามที่อาศัยได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาวะความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป[3]

การดำรงชีวิต ( Life History )

[แก้]

ม้าลายใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงในการนอน ถ้าเป็นช่วงกลางวันจะนอนในท่ายืน แต่เป็นช่วงกลางคืนจะล้มตัวลงนอน จะใช้ลำตัวสีกับต้นไม้ ก้อนหิน ใช้การคลุกกับดินหรือทรายเพื่อลดการรบกวนจากแมลง ม้าลายทั้ง 3 ชนิดจะมีการเคลื่อนย้ายเพื่อหาแหล่งน้ำ ซึ่งฝูงม้าลายจะสามารถจดจำแหล่งอาหารที่อยู่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายได้ ม้าลายธรรมดาหรือม้าลายทุ่งหญ้า (Plain Zebra) จะเป็นชนิดที่การดำเนินชีวิตจะต้องอาศัยแหล่งน้ำมากกว่าม้าลายชนิดอื่น ๆ โดยจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำไม่เกิน 10–12 กิโลเมตร[4] ม้าลายภูเขาจะอยู่ในพื้นที่ระดับควาสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 2000 เมตรขึ้นไป

ลักษณะสังคมฝูง ( Social Structure )

[แก้]

ม้าลายจะมีลักษณะฝูงอยู่ 2 แบบ ม้าลายที่ราบ (plain zebra) และม้าลายภูเขาจะเป็นฝูงในลักษณะเรียนว่าฮาเร็ม (harem) ที่ตัวผู้หนึ่งตัวเป็นจ่าฝูงและสมาชิกฝูงจะประกอบด้วยแม่ม้าหลายตัวและลูก ๆ โดยฝูงนี้จะมีอาณาเขตของตัวเองซึ่งอาจซ้อนทับกับฝูงอื่น ๆ ฝูงจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วยการมีม้าลายเพศเมียจากฝูงอื่นเข้ามาเพิ่ม ฝูงจะคงโครงการและสมาชิกต่อเนื่องจนกว่าตัวจ่าฝูงจะตาย หรือมีการเปลี่ยนตัวจ่าฝูง ม้าลายพื้นราบจะมีช่วงเวลาที่หลายฝูงมารวมกัน ทำให้ม้าจากหลายฝูงได้มีโอกาสรู้จักกับม้าลายตัวอื่น ๆ ในฝูงในลักษณะที่เรียกว่าฮาเร็มนี้ยังพบได้ในลิงเจลาด้า (gelada) และในลิงบาบูนฮามาดิยาส (baboon hamadryas)

พฤติกรรมและการสืบพันธุ์

[แก้]

ชอบอาศัยอยู่ตามที่ราบโล่งที่เป็นหญ้า มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีหลายร้อยตัวจนถึงเป็นพัน โดยจะเล็มหญ้าหากินร่วมกับสัตว์อื่นในทุ่งกว้าง เช่น นกกระจอกเทศ ยีราฟ แอนทิโลป และสัตว์กีบชนิดอื่น ๆ ม้าลายมักจะมีนกกินแมลงจับเกาะอยู่บนหลัง เพื่อช่วยระวังภัยและกินพวกแมลงที่มารบกวน และมีนกกระจอกเทศและยีราฟคอยช่วยเป็นป้อมยามคอยเตือนภัยและระวังภัยให้ เพราะม้าลายสายตาไม่ค่อยดี แต่จมูกและหูไวมาก ฟันของม้าลายค่อนข้างคม จึงแทะเล็มในส่วนที่เป็นโคนและลำต้นของหญ้าได้ ขณะที่สัตว์อื่น ๆ เช่น แอนทีโลป จะกินยอดหญ้า นับเป็นการแบ่งปันอาหารกันตามธรรมชาติ มีอายุยืนประมาณ 25–30 ปี ม้าลายเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี ตั้งท้องนานประมาณ 345–390 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกม้าลายแรกเกิดจะมีขนปุกปุยและมีแถบสีน้ำตาลสลับขาว และใช้เวลาไม่นานในการยืนและวิ่งได้ทันทีหลังคลอด

ระบบทางเดินอาหารของม้าลายจัดเป็นเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว (monogastric) ที่มีการย่อยอาหารคือหญ้าที่มีเป็นอาหารหลักที่มีเยื่อใยสูงที่ทางเดินอาหารส่วนปลายคือส่วนลำไส้ใหญ่ ( large intestine ) และซีกัม ( cecum )[5] อาหารหลักของม้าลายคือหญ้าหลากชนิด ในช่วงที่หญ้าหายากม้าลายจะกินเปลือกของต้นไม้ ใบไม้ ผลไม้และรากไม้ เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เคี้ยวเอื้อง (ruminant) ม้าลายจะมีประสิทธิภาพการย่อยที่ด้อยกว่า แต่จะทดแทนด้วยการกินหญ้าแห้งที่สามารถหาได้ง่ายกว่า และม้าลายเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาในแต่ละวันถึงร้อยละ 60–80 ในการกินอาหาร[6]

ความผูกพันกับมนุษย์

[แก้]
ม้าลายที่ใช้เป็นม้าเทียมรถ เป็นม้าลายชนิด ม้าลายเบอร์เชลล์ (Equus quagga burchelli)
ไฟล์:75px-Juventus-FC.png
สัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลยูเวนตุส

ม้าลาย โดยปกติจะไม่ใช้เป็นม้าใช้งานเหมือนกับม้าหรือลาชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าที่ฝึกให้เชื่องได้ยาก ม้าลายมีอารมณ์ฉุนเฉียวไม่แน่ไม่นอน อีกทั้งมีขนาดเล็ก จึงไม่เหมาะแก่การใช้งาน แต่ทว่าก็มีผู้ที่สามารถฝึกม้าลายได้บ้าง เช่น ฝึกให้เป็นม้าลากรถในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น[7] ส่วนมากม้าลายจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงแสดงกันตามสวนสัตว์ ม้าลายในธรรมชาติจะถูกล่าเพื่อเอาเนื้อบริโภคเป็นอาหารและหนังเพื่อทำเป็นเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ม้าลายบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว[8][9]

ม้าลาย เป็นสัตว์ที่เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวยุโรปในยุคศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะในอังกฤษ ม้าลายกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของขุนนางและพระราชวงศ์ โดยเป็นสัตว์เลี้ยงในพระราชวังบักกิงแฮมของพระนางเจ้าชาร์ล็อตต์ พระมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 3 ด้วยพระนางทรงสนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยา[2]

ด้วยลวดลายอันโดดเด่นของม้าลาย จึงทำให้ลายของม้าใช้เป็นสัญลักษณ์หรือตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ทางม้าลาย บนพื้นถนนสำหรับการข้ามถนนของผู้คนที่เดินสัญจรปกติ[10] และเป็นสัญลักษณ์หรือฉายาขององค์กรหรือสโมสรต่าง ๆ เช่น สโมสรฟุตบอลยูเวนตุส ในกัลโช่เซเรียอา ของอิตาลี ก็มีฉายาว่า "ม้าลาย" ตามสีของชุดแข่งขันและสัญลักษณ์ประจำสโมสร เป็นต้น[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Rubenstein DI (2001). "Horse, Zebras and Asses". In MacDonald DW (ed.). The Encyclopedia of Mammals (2nd ed.). Oxford University Press. pp. 468–473. ISBN 978-0-7607-1969-5.
  2. 2.0 2.1 "ท่องโลกกว้าง : เจาะความลับของธรรมชาติ ตอน สีสันและลวดลาย และ ก่อกำเนิด". ไทยพีบีเอส. 2015-01-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-06.[ลิงก์เสีย]
  3. ม้าลาย, "เรื่องเล่าข้ามโลก". สารคดีโดย ปองพล อดิเรกสาร ทางช่อง NOW26: เสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2557
  4. Estes R (1991). The Behavior Guide to African Mammals. University of California Press. pp. 235–248. ISBN 978-0-520-08085-0.
  5. Science on the Farm. University of Waikato. Archived from the original on 2012-05-02. Retrieved 2014-08-13
  6. Estes R (1991). The Behavior Guide to African Mammals. University of California Press. pp. 235–248. ISBN 978-0-520-08085-0.
  7. Hayes, Capt. Horace (1893), Points of the Horse, pp. 311–316, London: W. Thacker
  8. Hack, M. A.; East, R.; Rubenstein, D. I. (2008). Equus quagga quagga. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 5 January 2008.
  9. Max, D.T. (2006-01-01). "Can You Revive an Extinct Animal?". New York Times Magazine. สืบค้นเมื่อ 2010-08-25.
  10. ม้าลายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. สืบค้น 19 ตุลาคม 2556
  11. The zebra is Juventus' official mascot because the black and white vertical stripes in its present home jersey and emblem remembered the zebra's stripes.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]