รัฐไวโอมิง
รัฐไวโอมิง State of Wyoming | |
---|---|
สมญา: รัฐเสมอภาค (ทางการ), รัฐคาวบอย, บิกไวโอมิง[1] | |
คำขวัญ: | |
เพลง: "ไวโอมิง" | |
แผนที่สหรัฐเน้นรัฐไวโอมิง | |
ประเทศ | สหรัฐ |
สถานะก่อนเป็นรัฐ | ดินแดนไวโอมิง |
เข้าร่วมสหรัฐ | 10 กรกฎาคม 1890[2] (ลำดับที่ 44) |
เมืองหลวง (และเมืองใหญ่สุด) | ไชแอนน์ |
มหานครใหญ่สุด | ไชแอนน์ |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าการ | มาร์ก กอร์ดอน (ร) |
• เลขานุการ | ชัก เกรย์ (ร) |
สภานิติบัญญัติ | สภานิติบัญญัติไวโอมิง |
• สภาสูง | วุฒิสภา |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนราษฎร |
ฝ่ายตุลาการ | ศาลสูงสุดไวโอมิง |
สมาชิกวุฒิสภา | จอห์น บาร์ราสโซ (ร) ซินเทีย ลัมมิส (ร) |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | แฮร์เรียต เฮเกอมัน (ร) |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 97,914[1] ตร.ไมล์ (253,600 ตร.กม.) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 10 |
ขนาด | |
• ความยาว | 371.8 ไมล์ (599 กิโลเมตร) |
• ความกว้าง | 279 ไมล์ (451 กิโลเมตร) |
ความสูง | 6,700 ฟุต (2,040 เมตร) |
ความสูงจุดสูงสุด (แกนนิตต์พีก[3][4]) | 13,809 ฟุต (4,209.1 เมตร) |
ความสูงจุดต่ำสุด (แม่น้ำเบลล์ฟูช ที่พรมแดนรัฐเซาท์ดาโคตา[4]) | 3,101 ฟุต (945 เมตร) |
ประชากร (2020) | |
• ทั้งหมด | 576,851 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 50 |
• ความหนาแน่น | 5.97 คน/ตร.ไมล์ (2.31 คน/ตร.กม.) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 49 |
• ค่ามัธยฐานรายได้ครัวเรือน | 62,268 ดอลลาร์[5] |
• อันดับรายได้ | อันดับที่ 19 |
ภาษา | |
• ภาษาทางการ | อังกฤษ |
เขตเวลา | UTC−07:00 (เวลาภูเขา) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC−06:00 (เวลาออมแสงภูเขา) |
อักษรย่อไปรษณีย์ | WY |
รหัส ISO 3166 | US-WY |
อักษรย่อเดิม | Wyo. |
ละติจูด | 41° เหนือ ถึง 45° เหนือ |
ลองจิจูด | 104°3′ ตะวันตก ถึง 111°3′ ตะวันตก |
เว็บไซต์ | wyo |
ไวโอมิง (อังกฤษ: Wyoming, ออกเสียง: /waɪˈoʊmɪŋ/ ( ฟังเสียง)) เป็นรัฐหนึ่งในอนุภูมิภาคตะวันตกภูเขาของภาคตะวันตกของสหรัฐ มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐมอนแทนาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ รัฐเซาท์ดาโคตาและรัฐเนแบรสกาทางทิศตะวันออก รัฐโคโลราโดทางทิศใต้ รัฐยูทาห์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และรัฐไอดาโฮทางทิศตะวันตก ด้วยจำนวนประชากร 576,851 คนในสำมะโนประชากรสหรัฐ ค.ศ. 2020[6] ไวโอมิงเป็นรัฐที่มีประชากรน้อยที่สุดของประเทศถึงแม้จะเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 10 ก็ตาม โดยมีความหนาแน่นของประชากรต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากรัฐอะแลสกา เมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐคือไชแอนน์ซึ่งมีประชากรประมาณ 63,957 คนใน ค.ศ. 2018[7]
พื้นที่ครึ่งหนึ่งทางตะวันตกของรัฐไวโอมิงถูกปกคลุมด้วยเทือกเขาร็อกกีเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่พื้นที่อีกครึ่งทางตะวันออกของรัฐเป็นทุ่งหญ้าแพรรีบนพื้นที่สูงที่เรียกว่าไฮเพลนส์ รัฐนี้มีอากาศแห้งและลมแรงกว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ด้วยความแตกต่างระหว่างภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งกับภูมิอากาศภาคพื้นทวีปซึ่งนำไปสู่ความแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างมีนัยสำคัญ เกือบครึ่งหนึ่งของที่ดินในรัฐไวโอมิงเป็นของรัฐบาลกลางและโดยทั่วไปได้รับการคุ้มครองเพื่อใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ไวโอมิงอยู่ในอันดับที่ 6 ในแง่ขนาดพื้นที่และอันดับที่ 5 ในแง่สัดส่วนของที่ดินของรัฐที่รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของ[8] ที่ดินของรัฐบาลกลางประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง (แกรนด์ทีตันและเยลโลว์สโตน) พื้นที่นันทนาการแห่งชาติ 2 แห่ง อนุสรณ์สถานแห่งชาติ 2 แห่ง รวมถึงป่าสงวนแห่งชาติ แหล่งประวัติศาสตร์ โรงเพาะฟักปลา และเขตพักพิงสัตว์ป่าอีกหลายแห่ง
ชนพื้นเมืองหลายกลุ่มอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาหลายพันปี เผ่าชนที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางทั้งในอดีตและในปัจจุบันรวมถึงชาวอะแรพาโฮ ชาวโครว์ ชาวลาโคตา และชาวโชโชนี ระหว่างที่ชาวยุโรปเข้ามาสำรวจพื้นที่ จักรวรรดิสเปนเป็นจักรวรรดิแรกที่ "อ้างกรรมสิทธิ์" เหนือพื้นที่ตอนใต้ของไวโอมิง เมื่อเม็กซิโกเป็นเอกราช พื้นที่ตอนใต้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามเม็กซิโก–สหรัฐ เม็กซิโกก็ยกพื้นที่ดังกล่าวให้แก่สหรัฐใน ค.ศ. 1848
ภูมิภาคนี้มีชื่อว่า "ไวโอมิง" ในร่างกฎหมายที่เสนอต่อรัฐสภาสหรัฐใน ค.ศ. 1865 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวสำหรับดินแดนไวโอมิง ก่อนหน้านี้ชาวอาณานิคมใช้ชื่อนี้เรียกหุบเขาแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยเป็นชื่อที่แผลงมาจากคำในภาษามันซีว่า xwé:wamənk ซึ่งแปลว่า "ตรงที่ราบริมแม่น้ำใหญ่แห่งนั้น"[9][10]
ร่างกฎหมายสำหรับการรับดินแดนไวโอมิงเข้าเป็นรัฐของสหรัฐได้รับการเสนอทั้งในวุฒิสภาสหรัฐและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1889 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1890 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวและประธานาธิบดีเบนจามิน แฮร์ริสัน ได้ลงนามในร่างกฎหมายว่าด้วยความเป็นรัฐไวโอมิง ส่งผลให้ไวโอมิงกลายเป็นรัฐที่ 44 ของสหรัฐ[1]
ในอดีต ชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปทำฟาร์มและเลี้ยงสัตว์ที่นี่ โดยเกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างคนเลี้ยงแกะกับคนเลี้ยงวัวอยู่เนือง ๆ ในปัจจุบันเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของไวโอมิงขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและการสกัดแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ น้ำมัน โทรนา เป็นต้น สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ หญ้าแห้ง ปศุสัตว์ บีตน้ำตาล ข้าวสาลี และเส้นใยขนสัตว์ ไวโอมิงเป็นรัฐแรก (หากไม่นับรัฐนิวเจอร์ซีย์ก่อน ค.ศ. 1807) ที่ออกกฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและสิทธิในการเข้ารับตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นรัฐแรกที่มีผู้ว่าการรัฐเป็นผู้หญิง เนื่องจากประวัติศาสตร์ส่วนนี้ ไวโอมิงจึงมีชื่อเล่นว่า "รัฐเสมอภาค" และมีคำขวัญทางการว่า "สิทธิที่เท่าเทียมกัน"[1] ไวโอมิงเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองอนุรักษนิยมมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคริพับลิกันชนะการเลือกตั้งในรัฐนี้ทุกครั้งนับตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เป็นต้นมา[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Wyoming Facts and Symbols". State of Wyoming. 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 20, 2016. สืบค้นเมื่อ October 12, 2016.
- ↑ CHAP. 664.—An act to provide for the admission of the State of Wyoming into the Union, and for other purposes. 26 Stat. 222. Fifty-First US Congress. Approved July 10, 1890.
- ↑ "Gannett Peak Cairn". NGS data sheet. U.S. National Geodetic Survey.
- ↑ 4.0 4.1 "Elevations and Distances in the United States". United States Geological Survey. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 22, 2012. สืบค้นเมื่อ October 24, 2011.
- ↑ "Median Annual Household Income". The US Census Bureau. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 20, 2016. สืบค้นเมื่อ December 9, 2016.
- ↑ "2020 Census" (PDF). Census Bureau. April 26, 2021. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ April 26, 2021. สืบค้นเมื่อ July 12, 2021.
- ↑ "City and Town Population Totals: 2010-2018". United States Census Bureau. สืบค้นเมื่อ March 1, 2020.[ลิงก์เสีย]
- ↑ MainEnvironment.org เก็บถาวร พฤษภาคม 25, 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Public Land Ownership by State, 1995 Main Environment.org
- ↑ Bright, William (2004). Native American Place Names of the United States. Norman: University of Oklahoma Press, pg. 576
- ↑ State of Wyoming—Narrative เก็บถาวร พฤษภาคม 15, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Dave Leip's Atlas of U.S. Presidential Elections". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 9, 2018. สืบค้นเมื่อ November 18, 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์รัฐไวโอมิง
- รัฐไวโอมิง ที่เว็บไซต์ Curlie
- ดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ รัฐไวโอมิง ที่โอเพินสตรีตแมป