ข้ามไปเนื้อหา

หมีแว่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tremarctos ornatus)
หมีแว่น
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Ursidae
สกุล: Tremarctos
Gervais, 1855
สปีชีส์: T.  ornatus
ชื่อทวินาม
Tremarctos ornatus
(Cuvier, 1825)
แผนที่แสดงที่อยู่อาศัย
ชื่อพ้อง

หมีแว่น หรือ หมีแอนดีน (อังกฤษ: Spectacled bear, Andean bear; ชื่อวิทยาศาสตร์: Tremarctos ornatus) เป็นหมีขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จัดเป็นหมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่พบได้ในทวีปอเมริกาใต้ และเป็นหมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Tremarctos[2]

หมีแว่นมีขนสีดำกับสีเบจมีลักษณะสีที่โดดเด่น เกือบทั่วใบหน้าและส่วนบนของหน้ามีขนสีขาวอมเหลือง โดยเฉพาะรอบดวงตาเป็นวงกลมคล้ายสวมแว่นอยู่ อันเป็นที่มาของชื่อ ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย

หมีแว่นตัวผู้ขนาดโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 100–200 กิโลกรัม (220–440 ปอนด์) ขณะที่ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 35–82 กิโลกรัม มีความสูงตั้งแต่ 120–200 เซนติเมตร (47–79 นิ้ว) ขณะที่ความยาวหางประมาณ 7 เซนติเมตร (2.8 นิ้ว) ความกว้างของบ่าตั้งแต่ 60–90 เซนติเมตร (24–30 นิ้ว)[3] จัดเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้[4]

หมีแว่น อาศัยอยู่ในป่าเมฆและป่าดิบ หรือที่ราบสูงของทวีปอเมริกาใต้แถบเทือกเขาแอนดีส เช่น โบลิเวีย, เอกวาดอร์, เวเนซุเอลา, เปรู, ปานามา และอาร์เจนตินา โดยพบได้ในพื้นที่สูงถึง 4,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปริมาณในธรรมชาติในปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 2,000–3,000 ตัว[5] เป็นหมีที่หากินและอยู่อาศัยบนต้นไม้เป็นหลัก แม้จะมีน้ำหนักตัวมากก็สามารถปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยใช้กรงเล็บที่แหลมคม ซึ่งประกอบด้วยสารเคอราตินที่แข็งแกร่ง รวมถึงสามารถกระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งได้ด้วย แต่หมีวัยอ่อนกว่าจะมีความชำนาญน้อยกว่าหมีที่มีอายุมากกว่า ขณะที่จะปีนลงต้นไม้นอกจากจะใช้การไต่ลงด้วยกรงเล็บแล้วยังใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงอีกด้วย[6] ตัวเมียมีลูกคราวละ 1–2 ตัว ลูกหมีจะอาศัยอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุได้ 8 เดือน โดยมักจะเกาะหลังแม่ไปไหนมาไหนตลอด [4]

หมีแว่น เป็นหมีที่กินผลไม้เป็นอาหารหลัก ที่ชื่นชอบมากที่สุดคือ พืชในวงศ์มะม่วง และพืชในวงศ์สับปะรดที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ในยอดไม้ โดยเฉพาะส่วนของก้านใบที่สดช่ำ[5] และก็กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลง เป็นอาหารเสริมได้ด้วย[6] นอกจากนี้แล้วยังมีคำกล่าวอ้างจากชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ของหมีแว่น ยืนยันว่า หมีแว่นเป็นสัตว์ที่ล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหารด้วย เช่น ปศุสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงแมวป่าด้วย จึงทำให้หมีแว่นถูกล่าจากเหตุนี้ รวมถึงการถูกล่าเพื่อนำไปเป็นอาหารและการค้าด้วย[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Goldstein, I., Velez-Liendo, X., Paisley, S. & Garshelis, D.L. (2008). Tremarctos ornatus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 27 January 2009. Listed as Vulnerable (VU A4cd)
  2. "Tremarctos". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Brown, Gary (1996). Great Bear Almanac. p. 340. ISBN 1-55821-474-7.
  4. 4.0 4.1 4.2 จุดประกาย 7 WILD, สวัสดี...หมีแว่น จากมังสวิรัติสู่นักล่า. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10199: วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559
  5. 5.0 5.1 "สารคดี BBC : มนต์เสน่ห์แห่งอเมริกาใต้ ตอนที่ 7 คลิป 1/2". ช่อง 7. 20 December 2014. สืบค้นเมื่อ 21 December 2014.
  6. 6.0 6.1 In Too Deep, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Tremarctos ornatus ที่วิกิสปีชีส์