พิศวงไทยทอง
พิศวงไทยทอง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophyta |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงเดี่ยว Monocots |
อันดับ: | อันดับกลอย |
วงศ์: | วงศ์หญ้าข้าวก่ำ |
สกุล: | สกุลพิศวง |
สปีชีส์: | Thismia thaithongiana |
ชื่อทวินาม | |
Thismia thaithongiana Chantanaorr. & Suddee |
พิศวงไทยทอง หรือ พิศวงตานกฮูก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thismia thaithongiana) เป็นพืชอาศัยรา (myco-heterotrophic plant) ชนิดหนึ่ง เป็นพรรณไม้ล้มลุกถิ่นเดียว พบในป่าเต็งรังบนภูเขาหินปูนโดยขึ้นบริเวณต้นเป้งดอยหรือพืชตระกูลปาล์ม ลำต้นสูงประมาณ 2 มิลลิเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนเกลี้ยงสีขาวรูปสามเหลี่ยมแคบหรือรูปไข่ ดอกมีสีเขียวอมน้ำเงิน กลีบรวมมี 6 กลีบ วงกลีบหลอดรูปทรงคนโทสูง 7.5–11 มิลลิเมตร[1] ดอกบานช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน–ต้นเดือนพฤศจิกายน ส่วนฤดูอื่นต้นจะพักตัว ปัจจุบันพิศวงไทยทองมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
การค้นพบ
[แก้]พบครั้งแรกที่ดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยกนกอร ศรีม่วง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา และสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ และได้ประสานงานให้ผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลพิศวงในประเทศไทย คือ รองศาสตราจารย์สหัช จันทนาอรพินท์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการตรวจสอบพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ ต่อมามีการติดตามเก็บตัวอย่างต้นแบบจากดอยหัวหมดโดยสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญจากหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557[2] ข้อมูลพรรณไม้ชนิดนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa ใน พ.ศ. 2561[3]
ชื่อชนิด thaithongiana และชื่อสามัญ "พิศวงไทยทอง" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่รองศาสตราจารย์อบฉันท์ ไทยทอง ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยความที่พืชชนิดนี้มีรูปลักษณ์คล้ายกับนกฮูก จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "พิศวงตานกฮูก"[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "นักท่องเที่ยว แห่ชมพิศวงตานกฮูก หรือพิศวงไทยทอง 1 ปีมีครั้งเดียว ออกช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก". เชียงใหม่นิวส์. 20 ตุลาคม 2021.
- ↑ "รู้จัก "พิศวงไทยทอง" พันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของไทย หน้าตาน่ารัก พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด". ไทยรัฐ. 12 ตุลาคม 2021.
- ↑ Sahut Chantanaorrapint; Somran Suddee (9 มกราคม 2018). "Thismia thaithongiana (Dioscoreaceae: Thismieae), a new species of mycoheterotroph from an unusual habitat". Phytotaxa. 333 (2): 287–292. doi:10.11646/phytotaxa.333.2.14. ISSN 1179-3155.
- ↑ "อวดโฉมแล้ว! "พิศวงตานกฮูก-อุ้มผาง" น่ารัก-เหมือนนกฮูกเป๊ะสมชื่อ". ผู้จัดการออนไลน์. 23 ตุลาคม 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Thismia thaithongiana Chantanaorr. & Suddee", Catalogue of Life