ข้ามไปเนื้อหา

มาตุภูมิเพรียกหา

พิกัด: 48°44′33″N 44°32′13″E / 48.74250°N 44.53694°E / 48.74250; 44.53694
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก The Motherland Calls)
มาตุภูมิเพรียกหา
รัสเซีย
สร้างเพื่อรำลึกถึง วีรชนแห่งยุทธการณ์ที่สตาลินกราด
แล้วเสร็จ15 ตุลาคม 1967
ที่ตั้ง48°44′33″N 44°32′13″E / 48.74250°N 44.53694°E / 48.74250; 44.53694
มามาเยฟคูร์กัน วอลโกกราด ประเทศรัสเซีย
ออกแบบโดยเยฟเกนี วูเชติช, ยากอฟ เบโลปอลสกี, นีโกไล นีคีติน

มาตุภูมิเพรียกหา (รัสเซีย: Родина-мать зовёт!, อักษรโรมัน: Rodina-mat' zovyot!, อังกฤษ: The Motherland Calls) เป็นประติมากรรมอนุสรณ์สงครามขนาดมหึมา ศิลปะนีโอคลาสสิกและสัจนิยมสังคมนิยม ตั้งอยู่บนเนินมามาเยฟคูร์กันใน วอลโกกราด ประเทศรัสเซีย ผลงานออกแบบนำโดยประติมากร เยฟเกนี วูเชติช ร่วมออกแบบโดยสถาปนิก ยาคอฟ เบโลปอลสกี ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นจากคอนกรีตเพื่อระลึกถึงวีรชนในยุทธการณ์ที่สตาลินกราด และเป็นส่วนสำคัญของอนุสรณ์สถานซึ่งยังมีประติมากรรมชิ้นอื่น ๆ ตลอดจนลานจัตุรัสต่าง ๆ ตัวประติมากรรมมีความสูงจากฐาน 85 เมตร (279 ฟุต) และเคยเป็นรูปปั้นที่สูงที่สุดในโลกเมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1967 และสูงที่สุดในยุโรปหากไม่นับส่วนฐาน ประติมากรรมตลอดจนอนุสรณ์สถานทั้งหมดได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโกในรายชื่อแหล่งมรดกโลกตั้งแต่ปี 2014

ประติมากรรมนี้แสดงรูปบุคลาธิษฐานของรัสเซียที่ซึ่งนิยมเรียกกันว่า มารดารัสเซีย ในรูปสตรีสวมผ้าคลุมที่ถูกลมพัดจนเป็นประดุจปีก ในมือขวาถือดาบ มือซ้ายกางออกเพรียกหาชาวโซเวียตให้เข้าร่วมสงคราม แรกเริ่มวางแผนจะสร้างประติมากรรมนี้ด้วยแกรนิต ด้วยความสูงเพียง 30 เมตร (98 ฟุต) และยังออกแบบให้มีทหารกองทัพแดงคุกเข่าคำนับและวางดาบต่อเบื้องหน้าของมารดารัสเซียและถือธงที่พับไว้ ก่อนจะเปลี่ยนในปี 1961 เป็นประติมากรรมคอนกรีตขนาดใหญ่โตที่สูงขึ้นกว่าเดิมเกือบสองเท่าและกลายมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์โดยนักเขียนและเจ้าหน้าที่ทหารของโซเวียต การออกแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เทพีแห่งชัยชนะที่มีปีกแห่งซามอธเทธรซ ประติมากรรมกรีกโบราณรูปเทพีแห่งชัยชนะ นีเก

ภูมิหลัง

[แก้]

ยุทธการณ์ที่สตาลินกราดเป็นการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างสหภาพโซเวียตและเยอรมนีของนาซีบนแนวรบตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่สอง การต่อสู้ดำเนินนานหกเดือนระกว่างกรกฎาคม 1942 ถึงกุมภาพันธ์ 1943[1] โดยโซเวียตชนะการศึกแต่ด้วยราคาที่สูงลิ่วด้วยชาวโซเวียตเสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านราย[2] การยุทธ์นี้ได้กลายมาเป็นตำนานในวัฒนธรรมโซเวียตอย่างรวดเร็ว และได้รับการยอมรับแพร่หลายว่าเป็นจุดเปลี่ยนในตำราประวัติศาสตร์โซเวียต[3]

แนวคิดก่อสร้างอนุสรณ์ฉลองชัยชนะของโซเวียตในศึกที่สตาลินกราดมีที่มาในช่วงปีท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สองนักการเมืองและศิลปินโซเวียตได้พิจารณาการออกแบบต่าง ๆ สำหรับอนุสรณ์ก่อนสงครามจะสิ้นสุด และพิพิธภัณฑ์โซเวียตแห่งแรกที่ระลึกถึงสงครามโลกครั้งที่สองมีสถาปนาขึ้นเร็วถึงเดือนมีนาคม 1943[4] ในปี 1944 ชิ้นงานตีพิมพ์ Arkhitektura SSSR ออกบทความตำนวนหนึ่งที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบที่เป็นไปได้สำปรับอนุสรณ์[4] หลังสิ้นสุดสงครามในปี 1945 มีการสร้างและตั้งเสาโอเบลิสก์กับแผ่นป้ายระลึกจำนวนมากทั่วสหภาพโซเวียต กระนั้น โจเซฟ สตาลิน ได้เข้ามาตัดตอนแผนการใหญ่สำหรับอนุสรณ์ อันเนื่องมาจากปัญหาสงครามเย็น[5]

การออกแบบ

[แก้]

การออกแบบแรกของวูเชติชและเบปอลสกีมีความทะเยอทะยายและได้อิทธิพลอย่างมากจากอนุสรณ์ที่อุทยานเทรพโทในเบอร์ลิน[6] โดยในแผนแรกเริ่มตั้งใจจะมีการสร้างประตูชัยที่เปิดออกสู่ขั้นบันไดหินแกรนิต ตามด้วยขั้นบันไดอิฐบนเส้นทางเดินที่ล้อมรอบด้วยต้อนพอพลาร์ลอมบาร์ดี[7] ขั้นบันไดหินแกรนิตชุดที่สองจะเปิดออกสู่ลานกว้างรูปวงกลม ตรงกลางเป็นประติมากรรมหินแกรนิตขนาดใหญ่แสดงรูปชายชาวรัสเซีย ชื่อชิ้นงานว่า หยัดยืนตราบสิ้นชีวี (Stand To the Death!)[8] ด้านหลังจะเป็นขั้นบันไดหินแกรนิตชุดสุดท้ายที่เปิดออกสู่ลานกว้างและมีทางเข้าสู่ใต้ดิน ชื่อว่า "ปาโนรามา" (Panorama)[9] โถงใต้ดินทรงคัพพอลานี้ภายในมีทั้งไฟนิรันดร์เพื่อระลึกถึงวีรชนแห่งสตาลินกราด, ประติมากรรมรูปชายตีดาบเป็นพานไถ และผนังสลักชื่อของผู้เสียชีวิตในศึกครั้งนั้น[10] ทางออกจากโถงนี้จะเปิดออกสู่ชั้นลอยเป็นจุดชมวิวที่สองซึ่งมีภาพจิตรกรรมพานอรามาแสดงสตาลินกราดที่เจริญรุ่งเรืองหลังสงคราม[10]

องค์ประแอบหลักของโครงการจะเป็นปริตมากรรมขนาดมหึมาบนยอดของเนินมามาเยฟคูร์กัน ที่ฐานมีชั้นสำหรับผู้เยี่ยมชมวางของที่ระลึกถึงผู้ตาย[10] ประติมากรรมนี้จะออกแบบโดยใช้องค์ประกอบอย่างนีโอคลาสสิกและสัจนิยมสังคมนิยมซึ่งเป็นทั้งสองศิลปกรรมที่วูเยวิชถนัด[11] แปลนเดิมออกแบบให้สร้างจากหินแกรนิตทั้งหมด และมีทหารโซเวียตคุกเข่าคำนับและวางดาบเบื้องหน้าบุคาธิษฐานของรัสเซียหรือมารดารัสเซียกำลังถือธงที่พับไว้ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็นรูปประติมากรรมคอนกรีตแสดงมารดารัสเซียคนเดียวสวมผ้าคลุมที่ถูกลมพัดจนกางออกคล้ายปีก มือขสาถือดาบ และมือซ้ายกางออกเพรียกหาคนโซเวียตมาต่อสู้กับศัตรู[12] การออกแบบนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก เทพีแห่งชัยชนะมีปีกแห่งซามอธเธรซ ประติมากรรมกรีกโบราณแสดงรูปเทพีแห่งชัยชนะ นีเก[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hellbeck 2015, pp. 1–2.
  2. Hellbeck 2015, pp. 1, 12; Hoffmann 2021, p. 90; Winchester 2011, p. 91.
  3. Hoffmann 2021, p. 90.
  4. 4.0 4.1 Palmer 2009, p. 380.
  5. Palmer 2009, pp. 380–381.
  6. Palmer 2009, p. 382.
  7. Palmer 2009, p. 383; Anon.(a) n.d.
  8. Palmer 2009, p. 383.
  9. Palmer 2009, pp. 383–384.
  10. 10.0 10.1 10.2 Palmer 2009, p. 385.
  11. Palmer 2009, pp. 378, 396; Farago 2018.
  12. Palmer 2009, pp. 385, 395.
  13. Palmer 2009, p. 395.

บรรณานุกรม

[แก้]

หนังสือ

[แก้]
  • Lowe, Keith (8 December 2020). Prisoners of History: What Monuments to World War II Tell Us About Our History and Ourselves. New York: St. Martin's Press. ISBN 978-1-250-23504-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 June 2024. สืบค้นเมื่อ 27 June 2024.

บทความวิชาการ

[แก้]

รายงานข่าว

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]