ประกาศก้องจอมราชา
ประกาศก้องจอมราชา | |
---|---|
โปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์ | |
กำกับ | ทอม ฮูปเปอร์ |
เขียนบท | เดวิด ไซด์เลอร์ |
อำนวยการสร้าง | Iain Canning Emile Sherman Gareth Unwin Geoffrey Rush |
นักแสดงนำ | โคลิน เฟิร์ธ เจฟฟรีย์ รัช เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ กาย เพียร์ซ ทิโมธี สปอลล์ เซอร์ ดีเรค จาโคบี เจนนิเฟอร์ อีห์ลี ไมเคิล แกมบอน |
กำกับภาพ | แดนนี โคเฮน |
ตัดต่อ | ฏอริก อันวัร |
ดนตรีประกอบ | Alexandre Desplat |
บริษัทผู้สร้าง | ซี-ซอว์ ฟีลมส์ เบดแลม โปรดักชันส์ |
ผู้จัดจำหน่าย | พาราเมาต์พิกเจอส์ (ออสเตรเลีย) The Weinstein Company (สหรัฐอเมริกา) Momentum Pictures (สหราชอาณาจักร) |
วันฉาย |
|
ความยาว | 118 นาที |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
ภาษา | ภาษาอังกฤษ |
ทุนสร้าง | 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] |
ทำเงิน | 423.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ประกาศก้องจอมราชา[3] (อังกฤษ: The King's Speech) เป็นภาพยนตร์จากสหราชอาณาจักรแนวดรามาอิงประวัติศาสตร์ กำกับการแสดงโดย ทอม ฮูเปอร์ เขียนบทภาพยนตร์โดย เดวิด ไซด์เลอร์ นำแสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ รับบทเป็นเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ผู้ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักรที่ต้องรับมือกับการพูดติดอ่าง และ เจฟฟรีย์ รัช รับบทเป็น ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดชาวออสเตรเลีย ผู้มีหน้าที่รักษาผู้ที่มีความผิดปกติทางการพูด
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุคแห่งยอร์ก (พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ผู้ที่ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร อย่างกะทันหันเนื่องจากผลของเหตุการณ์วิกฤตการณ์สละราชสมบัติของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 โดยพระเชษฐาของพระองค์ทรงสละราชสมบัติเพื่อสมรสกับหญิงหม้ายชาวอเมริกัน ทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ตที่เป็นพระอนุชาต้องขึ้นครองราชย์แทนอย่างไม่ได้เตรียมใจนัก แต่ด้วยปัญหาเกี่ยวกับพระอาการพูดติดอ่างจึงนำมาสู่ความกังวลของพระองค์ว่าบุคคลิกของพระองค์อาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีได้ โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เข้ารับการรักษาพระอาการผิดปกติทางการพูดจาก ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดที่เป็นสามัญชนชาวออสเตรเลียตั้งแต่ยังดำรงพระอิสสริยยศเป็นดยุกแห่งยอร์ก จากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการบำบัดทำให้เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างสามัญชนและกษัตริย์ขึ้นและทำให้สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องในเรื่องของการพยายามต่อสู้เอาชนะปมด้อยของตนเองในเวลาต่อมา
เดวิด ไซด์เลอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้มีโอกาสอ่านเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในการต่อสู้กับการพูดติดอ่างของพระองค์ที่เป็นมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเขาเริ่มเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสามัญชนที่เป็นนักอรรถบำบัดชาวออสเตรเลียกับผู้เข้ารับการรักษาที่เป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์สหราชอาณาจักร ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 แต่เนื่องจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (ควีนมัม)ได้มีรับสั่งให้เขาระงับการเขียนเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคต ซึ่งภายหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตในปี 2002 ไซด์เลอร์จึงได้กลับมาเขียนเรื่องราวดังกล่าวขึ้นอีกครั้งโดยเริ่มเขียนเป็นบทสำหรับละครเวทีซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสามัญชนและผู้ที่เป็นถึงเชื้อพระวงศ์ระดับสูง และในเก้าสัปดาห์ก่อนเริ่มมีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้มีการค้นพบสมุดบันทึกรายละเอียดและขั้นตอนการบำบัดพระอาการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ฉบับจริงของ ไลโอเนล โล้ก โดยทางผู้ผลิตภาพยนตร์ได้ยืมมาใช้และปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ด้วย
การถ่ายภาพในภาพยนตร์เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2009 ถึงเดือนมกราคม 2010 ที่กรุงลอนดอนและทั่วสหราชอาณาจักร มีการใช้แสงแข็งเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและใช้เลนส์มุมกว้างกว่าปกติเพื่อแสดงถึงความรู้สึกหดหู่ของดยุกแห่งยอร์ก นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคการจัดวางตำแหน่งของตัวละครให้อยู่นอกบริเวณจุดกึ่งกลางของภาพ เพื่อดึงให้ผู้ชมสนใจและมองสิ่งที่อยู่รอบๆภาพทั้งหมดไม่ใช่แค่ตัวละครที่อยู่ตรงกลางเฟรม
ประกาศก้องจอมราชา ประสบความสำเร็จอย่างสูงในบ็อกซ์ออฟฟิศ โดยได้รับกระแสคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในเรื่องรูปแบบภาพ การกำกับงานศิลป์ บทภาพยนตร์ การกำกับการแสดง ดนตรีประกอบ และนักแสดง นอกจากนี้ตัวภาพยนตร์ยังได้รับการพูดถึงในเรื่องของการนำเสนอรายละเอียดที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์เช่นท่าทีของเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล กับการสละราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 จากความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และคำชื่นชมในวงกว้าง ทำให้ภาพยนตร์ได้รับรางวัลใหญ่จากวงการหลายรางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ โคลิน เฟิร์ธ นักแสดงชาวอังกฤษ ผู้รับบทเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 83
ประกาศก้องจอมราชา ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 12 สาขา ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนั้น และชนะ 4 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม เดิมทีภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสมาคมภาพยนตร์ (สหรัฐ) จัดระดับผู้รับชมให้อยู่ในระดับอาร์เนื่องจากบางช่วงตัวละครมีการสบถด้วยคำหยาบคาย แต่ได้รับคำวิพากย์วิจารณ์และโต้แย้งจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในสหราชอาณาจักร จึงได้มีการจัดระดับใหม่อีกครั้งให้อยู่ในระดับพีจี 13 (สามารถรับชมได้ทุกวัย โดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปีควรได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองขณะรับชม) ซึ่งการฉายในโรงภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกาได้มีการทำให้เป็นเสียงเงียบในฉากที่ตัวละครสบถเป็นคำหยาบไว้ โดยภาพยนตร์ทำรายได้มากถึง 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เนื้อเรื่อง
[แก้]ปี ค.ศ. 1925 เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานพระราชดำรัสปิดงานนิทรรศการแห่งจักรวรรดิบริติชที่สนามกีฬาเวมบลีย์ และต้องประสบกับพระอาการพูดติดอ่างต่อหน้าราษฎรจำนวนมาก ทำให้พระองค์เกิดความวิตกกังวลและขาดความมั่นใจเมื่อต้องมีพระราชดำรัสใดๆกับราษฎร พระองค์เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยความท้อแท้ จนกระทั่งเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งยอร์ก พระมหสีของพระองค์ ได้พาไปพบกับ ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดชาวออสเตรเลียผู้รักษาอาการผิดปกติทางการพูดด้วยวิธีการที่แหวกแนวและไม่เหมือนใครในสมัยนั้น โดยเขาไม่เคยผ่านหลักสูตรเกี่ยวกับแพทย์และไม่มีประกาศนียบัตรรับรองใดๆ
ในการพบกันครั้งแรก ไลโอเนล ยืนยันที่จะเรียกเจ้าชายอัลเบิร์ตด้วยชื่อเล่นว่า "เบอร์ตี" ซึ่งเป็นชื่อที่มีเพียงคนในครอบครัวเท่านั้นที่จะกล้าเรียกพระองค์เช่นนี้ได้ นั่นทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ต ดูไม่พอพระทัยเขาตั้งแต่แรกพบ แต่ไลโอเนล ยังคงยืนกรานที่จะเรียกพระนามของเจ้าชายเช่นนั้นนอกจากนี้เขายังแจ้งแก่พระองค์ว่าเมื่อขณะอยู่ในขั้นตอนการรักษาจะต้องมีการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมระหว่างตัวเขาและเจ้าชาย ในการรักษาครั้งแรก ไลโอเนล เริ่มให้เจ้าชายอัลเบิร์ต อ่านออกเสียงบทพูดที่ชื่อ To be, or not to be จากบทประพันธ์เรื่องแฮมเลตของวิลเลียม เชคสเปียร์ ซึ่งเจ้าชายอัลเบิร์ตรู้ตัวว่าพระองค์ไม่สามารถอ่านออกเสียงได้คล่องเหมือนคนปกติและปฏิเสธไปในทันที ไลโอเนล จึงลองให้เจ้าชายอัลเบิร์ตใส่หูฟังพร้อมกับเปิดเพลงโหมโรง งานแต่งงานของฟีกาโร ของ ว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท และด้วยเสียงเพลงที่ดังอยู่ในหูฟังทำให้พระองค์ไม่สามารถได้ยินเสียงของพระองค์เองได้ โดย ไลโอเนล ได้ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตอ่านออกเสียงบทประพันธ์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน และได้ทำการบันทึกเสียงการอ่านของพระองค์ใส่แผ่นอะซิเตท วิธีการรักษาและการปฏิบัติตัวของ ไลโอเนล ทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ตรู้สึกไม่พอพระทัยอยู่ลึกๆและมีพระราชดำรัสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธว่าพระองค์จะไม่เสด็จมารักษาที่นี่อีก โดย ไลโอเนล ได้มอบแผ่นอะซิเตทที่บันทึกเสียงอ่านของพระองค์ให้เป็นที่ระลึก
ต่อมาหลังจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร ได้มีพระราชดำรัสอำนวยพรเนื่องในวันคริสต์มาส ผ่านการกระจายเสียงทางคลื่นวิทยุให้แก่พสกนิกรแล้ว พระองค์ได้ทรงตรัสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตถึงเรื่องความสำคัญของการมีพระราชดำรัสออกอากาศผ่านทางคลื่นวิทยุที่จะเป็นวิธีที่ทำให้เสียงจากราชวงศ์เข้าไปยังประตูบ้านของราษฎรทุกๆคนได้ และได้มีพระราชปรารภถึงเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งเป็นรัชทายาทและเป็นพระเชษฐาของเจ้าชายอัลเบิร์ต ที่แลดูจะไม่ใส่พระทัยในงานของราชวงศ์เท่าที่ควรและประพฤติตนเป็นการไม่สมควรที่ไปครองรักกับ วอลลิส ซิมป์สัน หญิงหม้ายชาวอเมริกันที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วถึง 2 ครั้ง อีกทั้งยังไม่หย่าขาดกับสามีคนที่ 2 อย่างเป็นทางการ โดยการที่องค์รัชทายาททรงดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของคริสตจักรอังกฤษและอดีตสามี 2 คนก่อนหน้านี้ของ วอลลิส ซิมป์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้การแต่งงานขององค์รัชทายาทไม่สามารถเกิดขึ้นได้และจะไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากทุกฝ่าย ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงผิดหวังในตัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นรัชทายาท จึงทรงเข้มงวดกับเจ้าชายอัลเบิร์ตและพยายามฝึกให้พระองค์เอาชนะการพูดติดอ่างให้ได้แต่ก็ไม่เป็นผล ในคืนหนึ่งเจ้าชายอัลเบิร์ตที่กำลังท้อแท้ได้หยิบแผ่นอะซิเตทที่ไลโอเนล มอบให้มาเปิดฟังเป็นครั้งแรก และพบว่าเมื่อพระองค์อ่านบทประพันธ์ขณะบันทึกเสียงนั้นพระองค์ไม่มีพระอาการพูดติดอ่างเลย จากนั้นพระองค์จึงกลับไปเข้ารับการบำบัดทุกวันเพื่อเอาชนะต้นเหตุทางร่างกายและจิตใจของพระองค์
ในปี ค.ศ. 1936 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการประชวร ทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งเป็นรัชทายาท ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 หลังจากขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาได้ไม่นานพระองค์ก็แสดงพระราชประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะมีพระราชาภิเษกสมรสกับ วอลลิส ซิมป์สัน สตรีสามัญชนชาวอเมริกันที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้วถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้เกิดข้อครหาเป็นวงกว้างว่าพระราชประสงค์ของกษัตริย์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ปกครองคริสตจักรอังกฤษและอดีตสามีทั้ง 2 คนของ วอลลิส ก็ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านวอลลิสไปทั่วทั้งสหราชอาณาจักรและดินแดนอาณานิคม สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงไม่อาจนิ่งเฉยและตัดพระทัยจากคนรักได้จึงทรงสละพระราชสมบัติให้แก่เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นพระอนุชา ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร โดยหลังจากสละราชสมบัติพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งวินด์เซอร์" และทรงเสกสมรสกับวอลลิสในปีถัดมาตามพระประสงค์ โดยวอลลิส ซิมป์สัน ได้รับการสถาปนาให้เป็น "วอลลิส ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์"
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้มีปัญหาในการกล่าวพระราชดำรัสเนื่องจากพระอาการติดอ่าง ต้องขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุที่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์จวนเจียนเข้าสู่สงครามและจำเป็นต้องมี ผู้นำที่เข้มแข็ง เอลิซาเบธ (เฮเลนน่า บอนแฮม คาร์เตอร์) ภรรยาของเบอร์ตี และอนาคตราชินี จึงจัดแจงให้สามีของเธอได้พบกับไลโอเนล ล็อก (เจฟฟรีย์ รัช) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคผิดปกติทางการพูด
จากการเริ่มต้นที่แสนลำบาก ผู้รักษาและผู้รับการรักษาต่างร่วมกันแสวงหาวิธีบำบัดใหม่ ๆ ซึ่งก่อกำเนิดมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างชายทั้งคู่ ด้วยความช่วยเหลือของล็อก รวมทั้งครอบครัว, รัฐบาล และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (ทิโมธี สปอลล์) กษัตริย์จอร์จที่ 6 จะต้องเอาชนะอาการพูดติดอ่างให้ได้ เพื่อกล่าวปลุกปลอบพสกนิกรของพระองค์ให้ลุกขึ้นยืนหยัดเคียงข้างประเทศชาติ ในภาวะสงคราม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ชนะเลิศรางวัลจากสถาบันทางภาพยนตร์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 75 รางวัล โดยมีรางวัลที่สำคัญ คือการชนะเลิศรางวัลออสการ์ ใน 4 รางวัล ได้แก่
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากการแสดงของโคลิน เฟิร์ธ ในบท พระเจ้าจอร์จที่ 6
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการกำกับของ ทอม ฮูเปอร์
- บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
กระบวนการผลิต
[แก้]ขั้นแรก
[แก้]เดวิด ไซด์เลอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์ชาวอังกฤษเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดเผยว่าตนเองเคยเป็นผู้ประสบปัญหาการพูดติดอ่างอย่างรุนแรงตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเขาเชื่อว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลกระทบทางจิตใจที่ตนเองได้รับมาจากเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยปู่และย่าของเขาถูกสังหารในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปโดยนาซีเยอรมันและอพาร์ทเมนต์ที่ครอบครัวของเขาพักอาศัยอยู่ในลอนดอนถูกทิ้งระเบิดจากเหตุการณ์เดอะบลิตซ์โดยทัพอากาศลุฟท์วัฟเฟอ ทำให้ครอบครัวของเขาต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกาทางเรือ โดยมีจุดหมายอยู่ที่เกาะลอง, รัฐนิวยอร์ก ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเรือที่อพยพมาพร้อมกับครอบครัวของเขาถูกเรืออูของเยอรมันจมลงกลางมหาสมุทรหนึ่งลำ ซึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เขาเกิดบาดแผลทางใจและกลายเป็นเด็กพูดติดอ่างมาจนถึงอายุ 16 ปี
ช่วงวัยรุ่น เดวิด ไซด์เลอร์ เกิดความรู้สึกประทับใจในความสำเร็จของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร ในการเอาชนะอาการพูดติดอ่างของพระองค์เอง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับไซด์เลอร์ โดยเขากล่าวว่า "นี่คือพระสุระเสียงของพระมหากษัตริย์ที่มีอาการติดอ่างและต้องมีพระราชดำรัสปราศรัยทางคลื่นวิทยุที่พสกนิกรจะต้องฟังทุกพยางค์ของพระองค์ หากแต่พระองค์ก็สามารถทำได้และเต็มไปด้วยความน่าหลงใหลและเข้มข้น" เมื่อไซด์เลอร์โตเป็นผู้ใหญ่เขาจึงเริ่มเขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ถึงปี ค.ศ. 1980 เขาได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 อย่างกระตือรืนร้นและได้ค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับนักบำบัดชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่า ไลโอเนล โล้ก ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือและบำบัดอาการของพระองค์ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1981 เดวิด ไซด์เลอร์ จะเขียนจดหมายติดต่อไปยัง ดร.วาเลนไทน์ โล้ก ศัลยแพทย์ทางสมอง ซึ่งเป็นลูกชายที่ยังมีชีวิตอยู่ของ ลีโอเนล โล้ก โดย ดร.วาเลนไทน์ ได้ตกลงยอมพูดคุยกับไซด์เลอร์เกี่ยวกับพ่อของเขาและยินดีให้ยืมสมุดบันทึกของพ่อที่บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า ไซด์เลอร์ จะต้องได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ซึ่งเป็นอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสียก่อน
ต่อมา เดวิด ไซด์เลอร์ มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตไปยังสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี และได้รับคำตอบจากเลขานุการในพระองค์ว่า พระราชชนนีขอให้เขาระงับการดำเนินการนี้ในช่วงที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ไซด์เลอร์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกโครงการในปี 1982[4]
นักแสดง
[แก้]- โคลิน เฟิร์ธ แสดงเป็น เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก / สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร
- เจฟฟรีย์ รัช แสดงเป็น ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดชาวออสเตรเลีย ทำหน้าที่รักษาอาการพูดติดอ่างของเจ้าชายอัลเบิร์ต
- เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ แสดงเป็น เอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งยอร์ก / สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ
- กาย เพียร์ซ แสดงเป็น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ / สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักร ภายหลังสละราชสมบัติเป็น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งวินด์เซอร์
- เอมิลี เบสต์ แสดงเป็น วอลลิส ซิมป์สัน / วอลลิส ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์
- ทีโมที สปอลล์ แสดงเป็น เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล รัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งชาติทำหน้าที่คุมกองทัพเรือ
- เซอร์ ดีเรก จาโคบี แสดงเป็น คอสโม กอร์ดอน แลง อาร์ชบิชอป แห่ง แคนเทอร์เบอรี, อัครมุขนายกชาวสก็อตแลนด์ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในคริสตจักรอังกฤษ
- เจนนิเฟอร์ อีห์ลี แสดงเป็น เมอร์เทิล โล้ก ภรรยาของ ไลโอเนล
- ไมเคิล แกมบอน แสดงเป็น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชบิดาของ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6
- แคลร์ บลูม แสดงเป็น สมเด็จพระราชินีแมรี อัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6
- ฟรียา วิลสัน แสดงเป็น เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 กับ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธ
- ราโมนา มาร์เกซ แสดงเป็น เจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชธิดาพระองค์เล็กใน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 กับ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธ และเป็นพระขนิษฐาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ
- ออร์แลนโด เวลส์ แสดงเป็น เจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเคนต์
- แอนโทนี แอนดรูว์ แสดงเป็น สแตนลีย์ บอลดวิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
- ดอมินิก แอปเพิลไวท์ แสดงเป็น วาเลนไทน์ โล้ก บุตรชายของ ไลโอเนล ผู้มีความสนใจทางด้านการเรียนแพทย์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.guardian.co.uk/film/2011/feb/11/baftas-the-kings-speech-riches
- ↑ http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=kingsspeech.htm
- ↑ "ประกาศก้องจอมราชา". สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ Colin Firth and "The King's Speech (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2021-03-10