ข้ามไปเนื้อหา

ปลาตะลุมพุกฮิลซา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tenualosa ilisha)
ปลาตะลุมพุกฮิลซา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Clupeiformes
วงศ์: Clupeidae
วงศ์ย่อย: Alosinae
สกุล: Tenualosa
สปีชีส์: T.  ilisha
ชื่อทวินาม
Tenualosa ilisha
(Hamilton, 1822)
ชื่อพ้อง
  • Hilsa ilisha (Hamilton, 1822)

ปลาตะลุมพุกฮิลซา (อังกฤษ: Hilsa shad, Ilisha, โอริยา: ଇଲିଶି, Ilishii, เบงกอล: ইলিশ, Ilish, เตลูกู: పులస, Pulasa หรือ Polasa, สินธี: پلو مڇي, Pallu Machhi) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tenualosa ilisha อยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae)

ปลาตะลุมพุกฮิลซา เป็นปลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะประเทศในแถบอ่าวเบงกอล เช่น บังกลาเทศ, อินเดียและพม่าเนื่องจากใช้เป็นอาหารบริโภคกันมาอย่างยาวนาน จนเสมือนเป็นสมบัติของชาติชิ้นหนึ่งของบังกลาเทศ[1]

มีลักษณะคล้ายกับปลาตะลุมพุก (T. toli) มีเกล็ดบริเวณสันท้อง 30-33 เกล็ด ครีบใสและมีจุดสีดำที่ช่องปิดเหงือก เมื่อยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีจุดตามลำตัวสีต่าง ๆ เช่น สีเงิน, สีทอง และสีม่วง มีซี่กรองเหงือก 30-40 ซี่ ขณะที่ปลาตะลุมพุกจะมีมากกว่าคือ 60-100 ซี่[2] ความยาวเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร โดยปกติแล้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลใกล้ชายฝั่ง กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เมื่อจะวางไข่จะอพยพเข้ามาสู่แหล่งน้ำจืด ได้แก่ แม่น้ำและปากแม่น้ำ เพื่อวางไข่ ลูกปลาจะฟักและเลี้ยงดูตัวเองในน้ำจืด พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อ่าวเปอร์เซีย, ภาคตะวันตกและตะวันออกของพม่า, อินเดีย และมีรายงานจากอ่าวตังเกี๋ยและแม่น้ำไทกริสในอิหร่าน ซึ่งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

ปลาตะลุมพุกฮิลซา ปัจจุบันเป็นปลาที่พบได้มากและหลากหลายกว่าปลาตะลุมพุก ซึ่งปลาตะลุมพุกที่นำมารับประทานและมีการซื้อขายกันในตลาดในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะเป็นปลาชนิดนี้มากกว่า[3]และกล่าวกันว่าเป็นปลาระดับสูงกว่าปลาตะลุมพุก[2] โดยเนื้ออุดมไปด้วยกรดไขมันที่มีความสำคัญ อาทิ โอเมกา 3[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [https://web.archive.org/web/20101201002119/http://virtualbangladesh.com/bd_ilish.html เก็บถาวร 2010-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Virtual Bangladesh : The Magnificent Ilish [Hilsa] Fish (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 สุทธิชัย ฤทธิธรรม (มีนาคม 2558). "คนหาปลา" (PDF). กรมประมง.
  3. กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์ ดร., ปลาน้ำจืดหายากที่สุดของไทย ๑๐ ชนิด นิตยสาร Aquarium Biz หน้า 66 ฉบับที่ 16 ปีที่ 2: ตุลาคม 2011
  4. Effects of Hilsa ilisa fish oil on the atherogenic lipid profile and glycaemic status of streptozotocin-treated type 1 diabetic rats (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]