ข้ามไปเนื้อหา

การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก TDM)

การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลา (อังกฤษ: Time Division Multiplexing: TDM) เป็นการแบ่งเวลาในการใช้สายส่งเพื่อใช้ส่งข้อมูล เหมาะกับสัญญาณข้อมูลแบบดิจิทัล เนื่องจากสัญญาณดิจิทัลมีช่วงเวลาที่แน่นอนของบิตแต่ละบิต จึงทำให้สามารถมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาให้มีความสอดคล้องกับเวลาของบิตได้ โดยอาจคิดเป็นอัตราเร็วของบิตได้คือ สัญญาณที่มีอัตราเร็วต่ำหลายๆ สัญญาณสามารถนำมามัลติเพล็กซ์รวมกันเป็นสัญญาณที่มีอัตราบิตสูงขึ้นได้ ซึ่งการมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลา ยังสามารถแบ่งออกเป็น “การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในแบบซิงโครนัส” และ “การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในรูปแบบสถิติ”

ประเภทของการมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลา

[แก้]

การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในรูปแบบซิงโครนัส

[แก้]

การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในรูปแบบซิงโครนัส (อังกฤษ: Synchronous Time Division Multiplexing: Sync TDM) Sync TDM จะอนุญาตให้ข้อมูลจากแต่ละแหล่งมาหมุนเวียนเพื่อส่งข้อมูลไปบนสายส่งข้อมูลความเร็วสูง Sync TDM จะให้ชิ้นส่วนของข้อมูล เช่น ไบต์ข้อมูล จากอุปกรณ์ส่งผ่านไปยังสายส่งข้อมูลความเร็วสูง จากนั้นก็ให้อุปกรณ์ที่จะอินพุตในลำดับถัดไปส่งไบต์ข้อมูลผ่านสายส่งข้อมูลความเร็วสูงหมุนเวียนต่อไปเรื่อยๆ

หากสถานีผู้ส่งบางสถานีไม่ต้องการส่งข้อมูลในช่วงเวลาขณะนั้น ซึ่งเรียกว่าอยู่ในสถานะ Idle มัลติเพล็กเซอร์ก็จะทำการส่งสล๊อต (Slot) ข้อมูลของสถานีที่ Idle ผ่านสายส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง โดยสล๊อตดังกล่าวนี้จะเป็นสล๊อตว่าง ซึ่งการส่งสล๊อตว่างออกไปก็เพื่อจุดประสงค์ให้คงลำดับเหมือนเดิม โดยตัวอย่างการซิงโครนัสทีดีเอ็มที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เช่น T-1 Multiplexing, ISDN Multiplexing และ SONET

การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในรูปแบบสถิติ

[แก้]

การมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในรูปแบบสถิติ (อังกฤษ: Statistical Time Division Multiplexing: Stat TDM) หรือ อะซิงโครนัสทีดีเอ็ม (อังกฤษ: Asynchronous TDM) เป็นการมัลติเพล็กซ์เชิงสถิติที่ข้อมูลสามารถส่งร่วมกันบนสายในลักษณะแบบแบ่งเวลาตามความต้องการ (On-Demand) เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียสล๊อตว่างเปล่าของสถานีที่ไม่มีการส่งข้อมูล ดังนั้น ข้อมูลที่ส่งจะถูกส่งไปยังสายเฉพาะสถานีที่ต้องการส่งข้อมูลเท่านั้น โดยสถานีที่ Idle จะไม่มีการส่งสล๊อตว่างเปล่าออกมาบนสายส่ง ซึ่งในการส่งข้อมูลของแต่ละสถานีจะมีการใส่ Address ของสถานีส่งเข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้ฝ่ายรับนั้นรับรู้ได้ว่า ข้อมูลที่ส่งมานั้นมาจากสถานีใด

จากรูป แสดงให้เห็นถึงสถานีคอมพิวเตอร์ 3 สถานี ได้มีการแชร์ลิงก์ข้อมูลด้วยการมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาในรูปแบบสถิติ โดยกำหนดให้ขนาดของเฟรมหนึ่งสามารถบรรจุข้อมูลได้เพียง 3 สล๊อต ซึ่งจะส่งในลักษณะเรียงลำดับจาก 1 ถึง 3 และทำการบรรจุ Address ไปกับข้อมูลเพื่อส่งไปยังสายส่งข้อมูลความเร็วสูง

อ้างอิง

[แก้]