ข้ามไปเนื้อหา

บ้านพื้นถิ่นซุมบา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Sumbanese traditional house)
บ้านและหลุมศพในหมู่บ้านซุมบาแห่งหนึ่ง

บ้านพื้นถิ่นซุมบา (ซุมบา: uma mbatangu, "บ้านยอดสูง") หมายถึงบ้านพื้นถิ่นของชาวซุมบาจากเกาะซุมบาในหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย บ้านแบบซุมบามีลักษณะโดดเด่นที่ยอดกลางสูง และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิญญาณของมาราปู[1]

เกาะซุมบามีกลุ่มวัฒนธรรมและภาษาจำนวนมาก แต่ทุกกลุ่มล้วนมีมรดกสถาปัตยกรรมร่วมกัน คติวิญญาณนิยมมีความแข็งแกร่งมากในสังคมชาวซุมบา ศาสนาพื้นถิ่นของซุมบาเชื่อใน มาราปู ซึ่งรวมถึงวิญญาณผู้วายชนม์ วิญญาณประจำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุที่ใช้สื่อสารกับโลกวิญญาณ[2] แนวคิดนี้ส่งผลต่อการจัดวางพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมภายในบ้านซุมบา ชาวซุมบามีบ้านอยู่สองแบบ แบบที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษคือบ้านยอดสูง uma mbatangu ซึ่งพบในซุมบาตะวันออก ซึ่งมีหลังคาตรงกลางยอดสูง หลังคานี้ทำมาจาก อาลัง-อาลัง ทอ คล้ายกันกับหลังคากลางยอดสูงของจกโลในชวา แต่สูงชะลูดกว่ามาก บ้านยอดสูงหลังใหญ่สุดจะเรียกว่า uma bungguru ซึ่งเป็นบ้านหลังสำคัญของแคว้นนั้น ๆ ที่ซึ่งพิธีกรรมสำคัญและงานรวมตัวของแคว้นจัด เช่น พิธีแต่งงาน งานศพ เป็นต้น โดยมีคนแก่สุดหรือสำคัญสุดของหมู่บ้านอาศัยอยู่[1] บ้านอีกแบบคือ uma kamadungu ("บ้านหัวโล้น") ซึ่งไม่มีหลังคายอดกลางสูง หรือเรียกอีกชื่อว่า uma maringu ("บ้านเย็น") เพราะถือว่าไม่ "เร่าร้อน" พอสำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ[3]

บ้านซุมบาแบบพื้นฐานที่สุดมีแปลนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีขนาดเล็กสุด 5 x 5 เมตร และใหญ่สุดถึง 15 x 15 เมตร เสาหลักที่เสามีไว้สำหรับรองรับยอดสูงของบ้าน เสาเหล่านี้ยังประดับด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สื่อถึงปรัมปราของซุมบา บ้านหลังหนึ่งสามารถมีครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยายอาศัยอยู่ ทางเข้าออกสองทางของบ้านอยู่ทางซ้ายและขวาของบ้าน ในบ้านแบบซุมบาไม่มีหน้าต่าง อากาศจะถ่ายเทผ่านทางรูเปิดเล็ก ๆ ในผนัง ซึ่งทำมาจากกาบต้นปาล์ม, แผ่นอาเรกา หรือหนังควายโดยเฉพาะในบ้านที่ร่ำรวย นอกจากนี้ยังนิยมตกแต่งผนังบ้านด้วยเขาควายซึ่งเตือนใจถึงพิธีบูชายัญในอดีต[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Wellem 2004, pp. 49–50.
  2. Fox 1998, p. 90.
  3. 3.0 3.1 Gunawan Tjahjono 1998, pp. 42–3.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Forth, Gregory L. (1981). Rindi: An Ethnographic Study of a Traditional Domain in Eastern Sumba. Vol. 93. The Hague: KITLV. ISBN 9789024761692.
  • Fox, James J., บ.ก. (1998). Religion and Ritual. Indonesian Heritage. Vol. 9. Singapore: Archipelago Press. ISBN 9813018585.
  • Gunawan Tjahjono, บ.ก. (1998). Architecture. Indonesian Heritage. Vol. 6. Singapore: Archipelago Press. ISBN 9813018305.
  • Wellem, F.D. (2004). Injil dan Marapu: suatu studi historis-teologis tentang perjumpaan Injil dengan masyarakat Sumba pada periode 1876-1990 [The Bible and Marapu: a historical-theological study on the arrival of the Bible into the society of Sumba 1876-1990] (ภาษาอินโดนีเซีย). Jakarta: Gunung Mulia. ISBN 9796871718.