ข้ามไปเนื้อหา

เปลือยรัก อารมณ์พิลึก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Secretary (film))
เปลือยรัก อารมณ์พิลึก
กำกับสตีเวน เชนเบิร์ก
เขียนบทอีริน เครสสิดา วิลสัน
แมรี่ ไกลต์สคิลล์
สตีเวน เชนเบิร์ก
อำนวยการสร้างแอนดริว ไฟเออร์เบิร์ก
เอมี่ ฮอบบี้
สตีเวน เชนเบิร์ก
นักแสดงนำเจมส์ สเปเดอร์
แม็กกี้ จิลเลนฮอล
กำกับภาพสตีเวน ไฟเออร์เบิร์ก
ตัดต่อแพม วิส
ดนตรีประกอบแองเจโล บาดาลาเมนติ
ผู้จัดจำหน่ายไลเอินส์ เกทย์ ฟิล์ม (สหรัฐอเมริกา)
นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (ไทย)
วันฉาย11 มกราคม ค.ศ. 2002 (สหรัฐอเมริกา)
21 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน (ไทย)
ความยาว104 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

เปลือยรัก อารมณ์พิลึก (อังกฤษ: Secretary) ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันแนวตลกร้าย ออกฉายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2002 นำแสดงโดย เจมส์ สเปเดอร์, แม็กกี้ จิลเลนฮอล กำกับการแสดงโดย สตีเวน เชนเบิร์ก

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ลี ฮอลโลเวย์ (แม็กกี้ จิลเลนฮอล) หญิงสาววัย 23 เพิ่งออกจากโรงพยาบาลจิตเวช หลังจากเข้าไปบำบัดอาการมาโซคิสม์ของตัวเอง เนื่องจากเมื่อมีเวลาเครียดหรืออารมณ์พลุ่งพล่านเธอมักจะทำร้ายตัวเอง แล้วเธอจะสงบลงซึ่งก็สาเหตุไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ลีเข้าเรียนวิชาพิมพ์ดีดและเลขานุการ เธอสมัครงานเข้าเป็นเลขานุการส่วนตัวในสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ที่มี อี.เอ็ดเวิร์ด เกรย์ (เจมส์ สเปเดอร์) เป็นเจ้าของและนายจ้าง ขณะเดียวพ่อแม่ของลีก็พยายามแนะนำหนุ่มขี้อายชื่อ ปีเตอร์ (เจเรมี่ เดวี่ส์) ซึ่งเคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมชั้นสมัยเรียนมัธยมและอ่อนไหวเปราะบางมากพอ ๆ กับเธอ พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายต่างเห็นดีเห็นงามกับการจับคู่ครั้งนี้ถึงขนาดเร่งรัดให้พวกเขาแต่งงานกันในเร็ววัน แต่ลีก็รู้ว่าเธอกับปีเตอร์นั้นไม่อาจเป็นไปได้

ทว่าความอ่อนหวานไร้ประสบการณ์ของปีเตอร์ ทำให้ ลี กระอักกระอ่วนใจ การวางอำนาจบาตรใหญ่ บุคลิกอันแข็งกระด้างและชื่นชอบความสมบูรณ์แบบของ เอ็ดเวิร์ด กลับทำให้ ลี รู้สึกเร่าร้อนอ่อนปวกเปียก เขามักจะตำหนิติเตียนเธอบ่อยครั้งว่าพิมพ์คำผิดในจดหมายธุรกิจ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ความโกรธก็บรรลุขีดตนเขาต้องลงโทษลีด้วยตนเองด้วยการตีก้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งสองได้รู้ตัวเองว่า พวกเขาได้ค้นพบคู่ที่เหมาะสมกับตนแล้ว ลีพอใจสถานะการตกเป็นเบี้ยล่างของเธออย่างมีความสุข ขณะที่เอ็ดเวิร์ดกลับรู้สึกตระหนกต่อแรงปรารถนาอันวิตถารของเขา กลัวว่าอาจจะมีใครพบมันเข้า ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจะห้ามใจตัวเองไม่ให้สานสัมพันธ์รักอันพิลึกพิลั่นกับ ลี ต่อไป

การเข้าฉายและวิจารณ์

[แก้]

ประจวบ วังใจ จากเครือเนชั่นวิจารณ์ว่า หากจะตีความตามนับทางสังคมศาสตร์ เลขานุการกับเจ้านาย ก็เปรียบเสมือนบ่าวและนาย ซึ่งถ้าหากตีความตามจิตวิทยาแล้ว ก็คือ ความสัมพันธ์ในแบบ 'ผู้กระทำ' และ 'ผู้ถูกกระทำ' ซึ่งก็คือ 'ซาดิสม์' และ 'มาโซคิสม์' นั่นเอง ซึ่งเป็นไปด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย ภาพยนตร์ดูเหมือนจะมุ่งหน้าให้ความสำคัญกับการอธิบายความสัมพันธ์ในแง่นี้ โดยเผยให้เห็นถึงการค้นหาตัวตนของผู้เป็นนายและบ่าว ว่าแท้จริงแล้ว ตัวเองต้องการสิ่งใดกันแน่ และเมื่อรู้แล้ว ควรจะเผชิญหน้ากับ 'การดำรงอยู่' ของตัวเองอย่างไร ซึ่งผู้ชมที่ไม่คุ้นกับภาพยนตร์แนวชีวิตจิตวิทยา อาจจะรู้สึกรำคาญเหมือนกำลังนั่งดูชีวิตประหลาด ๆ ที่เต็มไปด้วยเหตุผลพิกลพิการของคนสองคน แต่ถ้าอยากจะทำความรู้จักกับอีกด้านมืดอีกด้านหนึ่งในพฤติกรรมมนุษย์ อีกทั้งยังยังเปิดโอกาสให้ค้นหาและทำความรู้จักกับชีวิตที่ถูกปรุงแต่งหรือเสแสร้งของตัวละครหลักทั้งสองตัวด้วย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีความกระจ่างชัดในประเด็นที่กำลังเสนอค่อนข้างมากทีเดียว

Secretary เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปีเดียวกัน และสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้ และเป็นภาพยนตร์ที่นักวิจารณ์อยากจะให้มีชื่อเข้าติดเป็น 1 ใน 5 ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่มีโอกาส

การเข้าฉายในประเทศไทย มีการตัดฉากบางฉากออก และได้รับระดับอาร์[1]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]