ข้ามไปเนื้อหา

สัปตปุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Sapta Puri)

สัปตปุรี (Sanskrit सप्त-पुरी saptapurī, "นครทั้งเจ็ด") เป็นกลุ่มนครเจ็ดแห่งที่ในศาสนาฮินดูถือว่าเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญที่สำคัญ (ตีรถะ) ในประเทศอินเดีย เชื่อกันว่าการได้จาริกแสวงบุญไปยังสถานที่ทั้งเจ็ดจะให้พรโมกษะแก่ผู้นั้นให้ได้หลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ[1]

นครต่าง ๆ ในสัปตปุรีล้วนมีความสำคัญทางศาสนา เช่น อโยธยาเป็นชนมภูมิ (ที่เกิด) ของพระราม ส่วนพาราณสีกับหฤทวารเป็น "นิตยตีรถะ" หรือสถานที่ที่เต็มไปด้วยพลังงานทางจิตวิญญาณอยู่ตามธรรมชาติ กาญจีปุรัมเป็นที่รู้จักดีจากกามากษีอัมมันเทวาลัยบูชาเทวมารดา ในมหาภารตะระบุว่าพระกฤษณะมีพระชนม์ชีพช่วงเยาว์อยู่ในมถุรา ก่อนจะประทับทวารกาเป็นเวลาหนึ่งร้อยปี และเสด็จกลับไปประทับยังวิมานเดิม หฤทวารยังเป็นจุดที่แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นไหลออกจากเทือกเขาสู่ที่ราบ และพาราณสียังเป็นนครที่มีความเกี่ยวเนื่องอย่างมากกับพระศิวะ อุชไชนะเป็นที่ตั้งของหนึ่งใน 12 ชโยติรลึงค์ ที่มหากาเลศวรมนเทียร ทั้งหฤทวารและอุชไชนะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกุมภเมลาซึ่งมีขึ้นทุก 12 ปี ส่วนที่กาญจีปุรีมมีพิธี กามากษี และกฤษณชนมาษฏมี เฉลิมฉลองเป็นพิเศษในทวารกาและมถุรา[2][3]

โศลกจากครุฑปุราณะบรรยายถึงสัปตปุรีเจ็ดแห่งไว้ว่า[4] อโยธฺยา มถุรา มายา กาศี กาญฺจี อวนฺติกา ฯ ปุรี ทฺวาราวตี ไจว สปฺไตเต โมกฺษทายกะห์ อันแปลว่า "อโยธยา, มถุรา, คยา, กาศี, กาญจี, กวันติกา, ทวาราวตี - นครทั้งเจ็ดนี้ จักเป็นที่ทราบในฐานะผู้ประทานโมกษะ"[5] ชื่อของนครทั้งเจ็ดในปัจจุบัน ได้แก่[6][3] อโยธยา, มถุรา, หฤทวาร (มายา หรือ คยา), พาราณสี (กาศี), กาญจีปุรัม (กาญจี), อุชไชนะ (อวันติกา), ทวารกา (ทวารวดี)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Anu Kapur (2019). Mapping Place Names of India. Taylor & Francis. pp. 74–75. ISBN 978-0429614217.
  2. Sunita Pant Bansal (2008). Hindu Pilgrimage. Teertha. Pustak Mahal. pp. 6–9 & 34–35. ISBN 9788122309973. สืบค้นเมื่อ 2009-08-07.
  3. 3.0 3.1 Sivaprasad Bhattacharyya; D S Sarma (1987). "The Religious Practices of the Hindus". ใน Kenneth W. Morgan (บ.ก.). The Religion of the Hindus. Motilal Banarsidass. pp. 188–191. ISBN 81-208-0387-6. สืบค้นเมื่อ 2009-08-09. Pilgrimages to the seven holy sites are highly prized: to Conjeeveram, Dwaraka, Ayodhya, Mathura, Hardwar, Banaras, and Ujjain.
  4. Shivswaroop Sahay (2008). Pracheen Bharatiya Dharm Evam Darshan. Motilal Banarsidass. p. 151. ISBN 978-8120823686.
  5. Garuḍa Purāṇa. แปลโดย Ernest Wood; S.V. Subrahmanyam. 1911. p. XVI:114. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.
  6. Anuradha Roma Choudhury (1994). "Hinduism". ใน Jean Holm; John Bowker (บ.ก.). Sacred Place. London: Pinter Ltd. p. 70. ISBN 1-85567-104-2. [...] group of seven tīrthas designated as mokṣapurīs (holy cities/purī where one gains liberation/mokṣa), i.e., Ayodhya, Mathura, Kasi, Kanchi, Avantika, Puri, and Dvaravati.