ข้ามไปเนื้อหา

ลิ้นมังกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Sansevieria trifasciata)
ลิ้นมังกร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Asparagales
วงศ์: Asparagaceae
สกุล: Dracaena
สปีชีส์: D.  trifasciata
ชื่อทวินาม
Dracaena trifasciata
(Prain) Mabb.[1]
ชื่อพ้อง

Sansevieria trifasciata Prain[1] Sansevieria laurentii

ผลลิ้นมังกรในธรรมชาติ
ดอกลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรพันธุ์แคระใบสั้น (Dracaena trifasciata Hahnii)

ลิ้นมังกร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dracaena trifasciata; อังกฤษ: snake plant, Saint George's sword หรือ mother-in-law's tongue) เป็นพืชในวงศ์ Asparagaceae เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มแกมเทา อวบน้ำ ดอกช่อ สีขาวมีกลิ่นหอม เป็นพืชท้องถิ่นในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่ไนจีเรียถึงคองโก ใช้เป็นไม้ประดับ ใบใช้ตำละเอียด แก้พิษตะขาบ แมงป่อง

ชื่อทวินามเดิม Sansevieria trifasciata ปัจจุบันจัดเป็นชื่อพ้องของลิ้นมังกร

อนุกรมวิธานและศัพทมูลวิทยา

[แก้]

เมื่อปี ค.ศ. 1794 ชื่อสกุล Sansevieria ตั้งขึ้นโดยคาร์ล พีเทอร์ ทุนเบอร์ก (Carl Peter Thunberg) เพื่อเป็นเกียรติแก่ไรมอนโด ดี ซานโกร (Raimondo di Sangro) เจ้าชายแห่งเมืองซานเซเวโร (San Severo) ประเทศอิตาลี[2] ในปี ค.ศ. 2017 ชื่อสกุลเปลี่ยนเป็น Dracaena[3] ชื่อลักษณะเฉพาะ trifasciata หมายถึง "สามมัด"[4]

ชื่ออื่นของ Dracaena trifasciata คือ ลิ้นแม่ยาย และอื่น ๆ เช่น ว่านหางเสือ, ว่านงาช้าง, คลีบปลาวาฬ, ลิ้นนาคราช[5]

ชื่ออื่นภาษาอังกฤษคือ mother-in-law's tongue (ลิ้นแม่ยาย-แม่ผัว), Saint George's sword (ดาบของนักบุญจอร์จ) และ snake plant (ต้นงู) จากรูปร่างใบที่แหลม และในชื่อ viper's bowstring hemp (ป่านสายธนูของงูพิษ) เนื่องจากเคยใช้ทำเป็นเส้นใยพืชของสายธนู[6]

ลักษณะ

[แก้]

เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ไม่ผลัดใบ มีไหลใต้ดิน เป็นข้อปล้องสั้นๆ บางครั้งอยู่เหนือพื้นดิน

ใบแข็งหนาตั้งตรง รูปใบหอก บางครั้งบิดเล็กน้อยหรือบิดเป็นเกลียว ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ ใบที่โตเต็มที่มีสีเขียวเข้มถึงเขียวอมเทา มีแถบสีเขียวอ่อนหรือสีเทาอมเขียวพาดขวางเป็นระยะตลอดความยาวใบ เป็นลวดลายอยู่ที่แผ่นใบ[7] ในพันธุ์ปลูกต่าง ๆ มีสีและลวดลายที่ต่างกัน บางชนิดมีเส้นใยเหนียวที่ใช้ทำเชือก[8] ใบมักมีความยาวตั้งแต่ 70–90 เซนติเมตร (2.3–3.0 ฟุต) กว้าง 5–6 เซนติเมตร (2.0–2.4 นิ้ว) และอาจยาวได้ถึง 2 เมตร ( 6 ฟุต) หากเติบโตในสภาวะที่เหมาะสม

ช่อดอกออกจากซอกกาบใบ มักชูสูงพ้นพุ่มใบ มีหลายรูปแบบ ทั้งช่อเชิงลด (spike) ช่อกระจะ (raceme) ช่อกระจะแยกแขนง (racemose panicle) บางชนิดเป็นช่อกระจุกที่โคนต้น แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสีขาวถึงสีขาวอมชมพู มีวงกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 กลีบบานจากล่างขึ้นบนในช่วงเย็นถึงช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น และมีกลิ่นหอม[8] กลีบดอก 6 กลีบ เกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน[9]

ผลมีเนื้อนุ่ม เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม ภายในมี 1–2 เมล็ด[8]

ลิ้นมังกรเป็นพืชกลางคืน ปิดปากใบเวลากลางวัน เปิดปากใบเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยในแสงแดดที่ร้อนจัด และเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมทั้งคายความชื้นและปล่อยแก๊สออกซิเจนออก พืชจะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ในตอนกลางคืนมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงในตอนเช้า ซึ่งเรียก กระบวนการสังเคราะห์แสงของกรดคราซุลาเซน (crassulacean acid metabolism, CAM) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในพืชอวบน้ำหลายชนิดที่ต้องทนต่อสภาพแห้งแล้ง ลักษณะกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชกลุ่มนี้จะสลับกับพืชทั่วไป ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนได้ดี จึงทำให้หลายคนนิยมนำเอาพืชกลุ่มนี้มาตกแต่งในอาคาร

การใช้งานและนิเวศวิทยา

[แก้]

นิยมใช้เป็นไม้ประดับกลางแจ้งในสภาพภูมิอากาศร้อนขึ้น และเป็นที่นิยมในฐานะเป็นพืชในร่มในที่อยูอาศัยและสำนักงาน (houseplant) ดูแลง่าย เนื่องจากลิ้นมังกรเป็นไม้อวบน้ำ มีความทนต่อระดับแสงน้อยและการให้น้ำที่ไม่สม่ำเสมอ มักเน่าได้ง่ายถ้าได้รับน้ำมากเกินไป[10] ในช่วงฤดูหนาวต้องการการให้น้ำเพียงครั้งเดียวทุกสองเดือน และควรปลูกในดินร่วนหรือดินปนทราย ระบายน้ำดี[8]

จัดเป็นวัชพืชในบางส่วนของภาคเหนือของออสเตรเลีย[11]

การศึกษาเรื่องอากาศสะอาดของนาซ่า พบว่า ลิ้นมังกร (D. trifasciata) มีศักยภาพในการกรองอากาศภายในอาคาร โดยขจัดสารพิษหลัก 4 ใน 5 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยโรคตึกเป็นพิษ SBS (sick building syndrome)[12] แม้ว่าการใช้งานจริงภายในอาคารพืชมีอัตราการกรองที่น้อยกว่าในชั้นการการศึกษา[13]

ลิ้นมังกรสามารถขยายพันธุ์โดยการตัดหรือแบ่งไหล (เหง้า) ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เกิดการแปรผันทางพันธุกรรม (variegation)[14]

ลิ้นมังกรมีสารซาโปนินซึ่งเป็นพิษเล็กน้อยต่อสุนัขและแมวในระบบทางเดินอาหาร (หากบริโภคเข้าไป)[15] แม้ว่าเป็นพืชที่ไม่เป็นพิษในการทดลองกับหนู ในการศึกษาศักยภาพในการต้านการเกิดแผล[16]

ในประเทศไทย

[แก้]

พืชสกุลลิ้นมังกรกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปแอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย และประเทศในแถบอินดีสตะวันออก ซึ่งค้นพบแล้วประมาณ 70 ชนิด โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งปลูกเลี้ยง รวบรวมสายพันธุ์ และผลิตลูกผสมที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งของโลก[8]

การปลูกลิ้นมังกรบริเวณรอบรั้วบ้านจะช่วยป้องกันไม่ให้งูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นอันตรายเข้ามาได้ สันนิษฐานว่าลิ้นมังกรมีใบขึ้นเบียดกันหนาแน่น และบางสายพันธุ์มีขอบใบที่เรียบเป็นลักษณะที่สัตว์เลื้อยคลานบางประเภทไม่เข้าใกล้[17]

อ้างอิง

[แก้]
  • เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553 หน้า 110
  1. 1.0 1.1 "Sansevieria trifasciata". World Checklist of Selected Plant Families. Royal Botanic Gardens, Kew. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-02-18.
  2. "ลิ้นมังกร ปลูกเลี้ยง ป้องกันโรค และขยายพันธ์อย่างไร". บ้านและสวน (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-03-31.
  3. "World Checklist of Selected Plant Families: Royal Botanic Gardens, Kew". wcsp.science.kew.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-16. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  4. Harrison, Lorraine (2012). RHS Latin for gardeners. United Kingdom: Mitchell Beazley. p. 224. ISBN 9781845337315.
  5. "ลิ้นมังกร". srdi.yru.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  6. "Sansevieria trifasciata" (ภาษาอังกฤษ). Stellenbosch University Botanical Garden. 20 July 2019. สืบค้นเมื่อ 30 July 2019.
  7. "ลิ้นมังกร". แฟชั่นไอส์แลนด์.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 "ลิ้นมังกร ปลูกเลี้ยง ป้องกันโรค และขยายพันธ์อย่างไร". บ้านและสวน (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-03-31.
  9. "ลิ้นมังกร". srdi.yru.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  10. "Mother-in-Law's Tongue or Snake Plant". สืบค้นเมื่อ 2010-03-04.
  11. "mother-in-law's tongue | Weed Identification – Brisbane City Council". weeds.brisbane.qld.gov.au. สืบค้นเมื่อ 23 June 2019.
  12. BC Wolverton; WL Douglas; K Bounds (July 1989). A study of interior landscape plants for indoor air pollution abatement (PDF) (Report). NASA. NASA-TM-108061.
  13. Cummings, Bryan E.; Waring, Michael S. (2019-11-06). "Potted plants do not improve indoor air quality: a review and analysis of reported VOC removal efficiencies". Journal of Exposure Science & Environmental Epidemiology (ภาษาอังกฤษ). 30 (2): 253–261. doi:10.1038/s41370-019-0175-9. ISSN 1559-064X. PMID 31695112.
  14. "Sansevieria Production Guide".
  15. "Mother-in-Law's Tongue". ASPCA.
  16. Ighodaro, Osaseaga; Adeosun, Abiola; Ojiko, Barinemene; Akorede, Abeeb; FuyiWilliams, Oyindamola (2017). "Toxicity status and anti-ulcerative potential of Sanseviera trifasciata leaf extract in wistar rats". Journal of Intercultural Ethnopharmacology. 6 (2): 234. doi:10.5455/jice.20170421103553. ISSN 2146-8397. PMC 5429084. PMID 28512605.{{cite journal}}: CS1 maint: PMC format (ลิงก์)
  17. "ลิ้นมังกร ไม้ประดับตกแต่งได้ทั้งภายในและภายนอก ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศ". kaset.today (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).