ข้ามไปเนื้อหา

ซ้องกั๋ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Outlaws of the Marsh)
ซ้องกั๋ง
เอกสารตัวเขียน ซ้องกั๋ง ฉบับภาษาไทย เลขที่ 16 พ.ศ. 2410 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผู้ประพันธ์ชือ ไน่อัน
ชื่อเรื่องต้นฉบับ水滸傳
ประเทศจีน
ภาษาภาษาจีน
ประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ชนิดสื่อหนังสือ
ซ้องกั๋ง
ชื่อเรื่อง "ซ้องกั๋ง (ฉุยหู่จ้วน)" เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม水滸傳
อักษรจีนตัวย่อ水浒传
ความหมายตามตัวอักษร"พงศาวดารชายน้ำ"

ซ้องกั๋ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาจีนกลางว่า ฉุยหู่จ้วน (จีน: 水滸傳; พินอิน: Shuǐhǔ Zhuàn) เป็นนวนิยายจีนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานของชือ ไน่อัน และนับถือกันว่าเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน แม้เขียนด้วยภาษาธรรมดา มากกว่าจะเป็นภาษาทางวรรณกรรมก็ตาม[1] ในภาษาอังกฤษแปลชื่อเรื่องของซ้องกั๋งเป็นหลายชื่อได้แก่ Water Margin, Outlaws of the Marsh, Tale of the Marshes, All Men Are Brothers, Men of the Marshes และ The Marshes of Mount Liang

ซ้องกั๋งได้รับการแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรกตามคำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อปี พ.ศ. 2410 ในสมัยรัชกาลที่ 4 แปลออกมาเป็นหนังสือ 82 เล่มสมุดไทย และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเลเมื่อปี พ.ศ. 2422 ในสมัยรัชกาลที่ 5[2] โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "ซ้องกั๋ง" ตามชื่อของตัวละครเอกคือซ้องกั๋งหรือที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า "ซ่งเจียง" (จีน: 宋江; พินอิน: Sòng Jiāng)

เนื้อหาดำเนินไปในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ราชวงศ์ซ้อง) ว่าด้วยโจรหนึ่งร้อยแปดคนซึ่งมั่วสุมประชุมกันอยู่ ณ เขาเหลียง หรือบึงน้ำเหลียงซาน (เนียซัวเปาะ) เพื่อตั้งกองทัพ แต่ภายหลังรัฐบาลนิรโทษกรรมให้ แล้วส่งไปสู้รบชิงชัยกับต่างชาติที่รุกรานจีน รวมถึงปราบปรามกบฏ ตัวละครหลายตัวในเรื่องยังได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาตัวละครวรรณกรรมจีน เช่น อู่ ซง (บู๊สง), หลิน ชง (ลิมชอง) และหลู่ จื้อเชิน (ลูตีซิม)

โครงเรื่อง

[แก้]
ภาพวาดจากม้วนหนังสือโบราณราวคริสต์ศตวรรษที่ 15

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ซ่งในรัชสมัยของ จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง (ซ้องฮุยจง) ซึ่งเป็นฮ่องเต้ที่อ่อนแอ เชื่อฟังแต่ขุนนางกังฉิน จนเรียกได้ว่าเป็นยุคกังฉินครองเมือง และขุนนางกังฉินที่มีอิทธิพลมากในสมัยนั้นได้แก่ชื่อ เกาฉิว (กอกิว) ถ่งกวาน (ท่องกวน) และไช่จิ้ง (ซัวเกีย)

ตัวละครทั้ง 108 คนนั้นมีประวัติความเป็นมาแทบจะเหมือนกันหมด คือ ถูกขุนนางกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหง เป็นต้น ทำให้แต่ละคนลี้ภัยออกจากเมืองของตัวเอง แล้วมารวมตัวกัน ณ เขาเหลียง หรือบึงน้ำเหลียงซาน (เนียซัวเปาะ) เพื่อปราบปรามขุนนางชั่ว อันที่จริงแล้ว เหล่าผู้กล้าทั้ง 108 นี้คือเทพยดาจุติลงมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ เมื่อพวกเขาได้มาพบกัน ก็สาบานตัวเป็นพี่น้องกัน ผู้นำคนสำคัญของผู้กล้าเขาเหลียง คือ ซ่งเจียง (ซ้องกั๋ง) ซ่งเจียงนั้นได้รับความยกย่องจากชาวยุทธทั่วหล้าว่า เป็น "ฝนทันใจ" เนื่องจากเป็นคนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี และส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือชาวยุทธมาตลอดจนได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า

เรื่องราวตอนต้น ๆ จะกล่าวถึงที่มาของตัวละครบางตัวที่สำคัญว่า เหตุใดถึงได้เข้ามารวมกลุ่มเขาเหลียงได้ เช่น หลวงจีนหลู่จื้อเซิน (ลูตีซิม) สื่อจิ้น (ซือจิน) หลินชง (ลิมชอง) อู่ซง (บู๊สง) หลี่ขุย (ลีขุย) ซ่งเจียง เป็นต้น ส่วนกลางเรื่องจนถึงท้ายเรื่องนั้น จะเกี่ยวข้องกับ การที่เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงต้องออกไปปราบปรามกบฏกลุ่มต่าง ๆ ทั่วแผ่นดิน ตามราชโองการของฮ่องเต้ (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแผนหลอกใช้ของเกาฉิวอีกที) การไปปราบกบฏกลุ่มต่าง ๆ นั้น แสดงถึงการรบโดยขาดการวางแผนอย่างดี จนทำให้สูญเสียผู้กล้าไปมากมายอย่างน่าเสียดาย เพราะผู้กล้าหลายคนเสียชีวิตจากกับดักต่าง ๆ เป็นอันมาก และเป็นการรบที่รบเสียจนแทบไม่ได้หยุดหย่อน ผู้กล้าบางคนทนไม่ไหวแยกตัวออกไปจากกลุ่ม ในท้ายที่สุด ซ่งเจียงก็ปราบกบฏทั่วแผ่นดินได้หมด ฮ่องเต้จึงได้พระราชทานเหล้าให้แก่ซ่งเจียง แต่เกาฉิวได้แอบใส่ยาพิษไปในเหล้าด้วย ทำให้ซ่งเจียงเสียชีวิต จึงทำให้ไม่สามารถรวมตัวผู้กล้าที่รอดชีวิตจากศึกครั้งนี้ได้อีก และเหล่าผู้กล้าที่เหลือก็ถูกเกาฉิวสังหารไปทีละคนจนหมด แต่ว่าเวลาต่อมา จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจงทรงพระสุบินว่า เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงได้รุมว่ากล่าวประณามพระองค์ว่า อ่อนแอ และหูเบา พร้อมกันรุมทำร้ายพระองค์จนถึงกับสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ตั้งศาลเจ้าให้แก่เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงเพื่อระลึกความกล้าหาญและความจงรักภักดีต่อแผ่นดินเป็นต้นมา

อ้างอิง

[แก้]
  • 水滸伝 (Water Margin). Yoshikawa Kojiro and Shimizu Shigeru (translators). Iwanami Shoten. 1998-10-16.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  1. Yenna Wu, "Full-Length Vernacular Fiction," in Victor Mair, (ed.), The Columbia History of Chinese Literature (NY: Columbia University Press, 2001), pp. 627-629.
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]