ข้ามไปเนื้อหา

ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Nigeru wa Haji da ga Yaku ni Tatsu)

ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ
ญี่ปุ่น逃げるは恥だが役に立つ
ประเภทโรแมนติกคอเมดี
เค้าโครงจากมังงะต้นฉบับ "เดอะฟูลไทม์ไวฟ์เอสเคปปิสต์"
โดย สึนามิ อูมิโนะ
บทโดยอากิโกะ โนงิ
กำกับโดย
  • ฟูมิโนริ คาเกโกะ
  • โนบูฮิโระ โดอิ
  • ยาซูฮารุ อิชิอิ
แสดงนำ
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง
  • เค็นอิจิโร ซูเอฮิโระ
  • มายูโกะ
ดนตรีแก่นเรื่องเปิด"ซูซูเมะ, ทามานินิเงเตโมะ"
โดย ชารังโปะรันตัง
ดนตรีแก่นเรื่องปิด"โคอิ"
โดย เก็น โฮชิโนะ
ประเทศแหล่งกำเนิดประเทศญี่ปุ่น
ภาษาต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น
จำนวนฤดูกาล1
จำนวนตอน11 + 1 ตอนพิเศษ
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้าง
  • จุน นาซูดะ
  • ฮิโรชิ โทเงดะ
  • มาซาโกะ มิยาซากิ
ความยาวตอน54–69 นาที
บริษัทผู้ผลิตทีบีเอสทีวี
ออกอากาศ
เครือข่ายทีบีเอสทีวี
ออกอากาศ11 ตุลาคม ค.ศ. 2016 (2016-10-11) –
2 มกราคม ค.ศ. 2021 (2021-01-02)

ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ (ญี่ปุ่น: 逃げるは恥だが役に立つ; อังกฤษ: We Married as a Job) เป็นละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นแนวโรแมนติกคอเมดี ตอนแรกของละครโทรทัศน์ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2016 และออกอากาศตอนสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมในปีเดียวกัน สร้างจากมังงะในชื่อเดียวกันของ สึนามิ อูมิโนะ ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง มิกูริ โมริยามะ แสดงโดย ยูอิ อารางากิ หญิงสาววัยกลางคนที่ว่างงานแม้ศึกษาจนได้ปริญญาโทแล้วก็ตาม และ ฮิรามาซะ สึซากิ แสดงโดย เก็น โฮชิโนะ นักวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีเวลาทำความสะอาดห้องพักของตน ว่าจ้างมิกูริผ่านพ่อของเธอให้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ แต่เมื่อครอบครัวของมิกูริตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ค่าใช้จ่ายของมิกูริเพิ่มสูงขึ้นหากยังคงทำงานให้แก่สึซากิ เธอและสึซากิจึงตัดสินใจทำสัญญา "การสมรสโดยพฤตินัย" ระหว่างกันและอาศัยอยู่ในห้องพักเดียวกัน จากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงเริ่มพัฒนา

ละครโทรทัศน์ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับความชื่นชมจากการนำเสนอปัญหาสังคมญี่ปุ่นของทีมผลิต "โคอิ" เพลงของโฮชิโนะ นักแสดงสมทบชายในเรื่อง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทีมผลิตและนักแสดงได้รับรางวัลในหลายเวที โดยเฉพาะที่เดอะเทเรวิชันดรามาอะแคเดมีอวอร์ดครั้งที่ 91 ซึ่งสามารถคว้ารางวัลได้ทั้งสิ้น 7 รายการ หลังจากความสำเร็จของฉันแต่งงานเป็นอาชีพ มีการผลิตตอนพิเศษของละครโทรทัศน์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2021

นักแสดง

[แก้]

ตัวละครหลัก

[แก้]
  • ยูอิ อารางากิ แสดงเป็น มิกูริ โมริยามะ[1]:
    หญิงสาวผู้จบการศึกษาได้ปริญญาโทแต่ถูกให้ออกจากงาน ทำสัญญา "การสมรสโดยพฤตินัย" เพื่อเป็นแม่บ้านอาศัยอยู่ในห้องพักเดียวกันกับสึซากิแลกกับการไม่ต้องเช่าหอพักหลังพ่อแม่ของเธอตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด
  • เก็น โฮชิโนะ แสดงเป็น ฮิรามาซะ สึซากิ[2]:
    นักวิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มที่ไม่มีเวลาทำความสะอาดบ้านตัดสินใจว่าจ้างมิกูริให้เข้ามาทำความสะอาดห้องพักของเขา จากนั้นจึงทำสัญญา "การสมรสโดยพฤตินัย" กับมิกูริเพื่อไม่ให้เธอต้องออกจากงาน
  • เรียวเฮ โอตานิ แสดงเป็น เรียวตะ คาซามิ[3]:
    เพื่อนร่วมงานของสึซากิที่รักความเป็นอิสระและไม่สนใจเรื่องความรัก แต่มักให้คำปรึกษาแก่สึซากิอยู่บ่อยครั้ง
  • อาราตะ ฟูราตะ แสดงเป็น โยริสึนะ นูมาตะ[3]:
    เพื่อนร่วมงานของสึซากิที่เป็นเกย์และสงสัยการสมรสระหว่างสึซากิและมิกูริที่ดูไม่เหมือน "ข้าวใหม่ปลามัน"
  • ยูริโกะ อิชิดะ แสดงเป็น ยูริ สึจิยะ[3]:
    พี่สาวของมิกูริ ผู้หญิงทำงานในวัยย่างเข้า 50 ที่ยังไม่มีคู่รัก เธอพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มิกูริมีความสุขที่สุด

ตัวละครสมทบ

[แก้]
  • ทากาชิ ฟูจิอิ แสดงเป็น ฮิเดชิ ฮิโนะ[4]:
    เพื่อนร่วมงานของสึซากิและยุ่งกับการเลี้ยงลูกอายุยังน้อย
  • เรียว นาริตะ แสดงเป็น นัตสึกิ อูเมฮาระ[5]:
    ลูกน้องของยูริ มักได้รับการยกย่องว่าเป็นชายหน้าตาดีในบริษัท ต่อมาเขาเปิดเผยว่าเป็นเกย์
  • โคโตโกะ ยามางะ แสดงเป็น ยูซุ โฮริอูจิ[6]:
    ลูกน้องของยูริ ไม่เก่งด้านการเขียนจึงมักได้รับการแก้ไขเอกสารโดยยูริอยู่บ่อยครั้ง
  • ทากาชิ อูกาจิ แสดงเป็น โทจิโอะ โมริยามะ[3]:
    พ่อของมิกูริ เขาเป็นคนเสนอให้เธอทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่สึซากิหลังรู้ว่ามิกูริตกงาน
  • ยาซูโกะ โทมิตะ แสดงเป็น ซากูระ โมริยามะ[3]:
    แม่ของมิกูริซึ่งเธอได้รับความชำนาญในการทำความสะอาดบ้าน
  • เอรินะ มาโนะ แสดงเป็น ยาซูเอะ ทานากะ / ยัซซัง[7]:
    เพื่อนสมัยมัธยมฯ​ ของมิกูริที่ยังติดต่อกันอยู่ เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหลังหย่าร้างกับสามี มิกูริได้รับอิทธิพลด้านความรักจากเธอหลายครั้ง

การผลิต

[แก้]

การพัฒนาและทีมผลิต

[แก้]

จุน นาซูดะ, ฮิโรชิ โทเงดะ และ มาซาโกะ มิยาซากิ เป็นผู้อำนวยการสร้างของฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ทั้งสามต้องการผลิตละครโทรทัศน์เรื่องนี้เพื่อ "ตอบแทนการทำงานอย่างหนัก" แก่ผู้ชม[8] อากิโกะ โนงิ เป็นผู้ประพันธ์บทละครโทรทัศน์[9] โดยแปลงมาจากผลงานมังงะต้นฉบับของ สึนามิ อูมิโนะ เดอะฟูลไทม์ไวฟ์เอสเคปปิสต์ (The Full-Time Wife Escapist) ก่อนหน้าการรับหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์บทให้ ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ โนงิเคยแปลงมังงะอย่างเรื่อง หน่วยพิทักษ์ห้องสมุด (Library War) มาก่อน และเธอได้รับคำชมจากผู้เขียนมังงะต้นฉบับจากการคงไว้ซึ่งแก่นเดิมของเนื้อเรื่อง[10] อีกทั้งฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ยังเป็นการร่วมงานครั้งที่สามระหว่างโนงิ และ ยูอิ อารางากิ ซึ่งรับบทนำแสดงในละครโทรทัศน์[11] อารางากิได้รับการคัดเลือกจากผู้อำนวยการสร้างให้เป็นนักแสดงนำของเรื่อง เธอพบว่ามังงะต้นฉบับซึ่งกล่าวถึงการสมรสผ่านสัญญานั้นมีความน่าสนใจ อีกทั้งยังยกประเด็นปัญหาสมัยใหม่อย่างความยากลำบากในการหางานและการที่ผู้หญิงทำงานไม่สามารถสมรสได้ ทำให้เธอตัดสินใจรับบทตัวละครนำ[12]

การคัดนักแสดง

[แก้]
ยูอิ อารางากิ (ซ้าย) แสดงเป็น มิกูริ โมริยามะ เก็น โฮชิโนะ (ขวา) แสดงเป็น ฮิรามาซะ สึซากิ

จุน นาซูดะ ผู้อำนวยการสร้าง กล่าวถึงสาเหตุที่มีการเลือกอารางากิเป็นนักแสดงนำว่า ตลอดที่เขาอ่านบทต้นฉบับนั้น อารมณ์ขันและทักษะความสามารถในการแสดงของอารางากิทำให้เขารู้สึกว่าเธอเหมาะสมกับตัวละครตลกหญิง (comedienne) ตัวนี้ที่มีความกระฉับกระเฉงและความเอาใจใส่ อีกทั้งยังมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่ผู้คนรอบข้าง[13] ขณะที่อูมิโนะกล่าวเพิ่มว่า เพื่อนของเธอเคยพูดไว้อย่างไม่จริงจังก่อนจะมีการตัดสินใจแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์ว่า "ถ้ามิกูริจังเป็นยูอิ อารางากิจังล่ะ เธอจะว่าอย่างไร"[14] เก็น โฮชิโนะ ได้รับการเสนอบทโดยนาซูดะและโทเงดะซึ่งทั้งสองเป็นผู้อำนวยการสร้างของละครโทรทัศน์เรื่องคุณหมอนกกระสา (Dr. Storks) หลังการถ่ายทำเสร็จสิ้นลงไม่นานเมื่อปลาย ค.ศ. 2015[15] โฮชิโนะได้รับบทเป็น ฮิรามาซะ สึซากิ ซึ่งมีความจริงจังและจริงใจ ซุ่มซ่ามแต่น่ารักในเวลาเดียวกัน โทเงดะระบุว่ามีเพียงแค่โฮชิโนะเท่านั้นที่สามารถสร้างบรรยากาศของ "ความเป็นสึซากิ" ได้[16] ก่อนหน้าการรับบทนี้ โฮชิโนะไม่เคยมีประสบการณ์ในการแสดงแนวโรแมนติกคอเมดีมาก่อน[16]

เรียวตะ คาซามิ ลูกน้องของสึซากิ รับบทโดย เรียวเฮ โอตานิ ซึ่งเขารับบทแสดงละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เพราะตลอดที่ผ่านมาเขารับเพียงแต่งานแสดงในประเทศเกาหลีใต้ ฮิโรชิ โทเงดะ ระบุว่าครั้งแรกที่ผู้อำนวยการสร้างทั้งสามพบกับโอตานินั้นต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "เท่มาก" โทเงดะกล่าวต่อว่าคาซามิเป็นตัวละครที่เล่นยาก เพราะมักไม่แสดงอาการหุนหันหรืออาการกังวลใด ๆ ออกมา ทำให้ผู้คนรอบข้างไม่รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น คาซามิเป็นคนที่มีความคิดที่แน่วแน่ (firm core) และใช้ความคิดนั้นนำทางวิธีการใช้ชีวิตของเขา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลือกนักแสดงหลายคน ผู้อำนวยการสร้างเลือกโอตานิโดยระบุเหตุผลว่าพวกเขาประทับใจการแสดงอารมณ์และลักษณะนิสัยที่นุ่มสุขุมเป็นธรรมดาของโอตานิ[3] โยริสึนะ นูมาตะ เกย์ที่แอบย่องเขาไปในความสัมพันธ์ของมิกูริกับสึซากิ รับบทโดย อาราตะ ฟูราตะ แต่เดิมในมังงะต้นฉบับ นูมาตะเป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้อ่าน และเป็นตัวละครสำคัญที่ช่วย "เพิ่มรสชาติ" ของเรื่องและเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครอื่น ๆ ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนั้นแย่ลง นูมาตะเป็นผู้สร้างบรรยากาศให้แก่ผู้คนรอบข้าง (mood maker) แต่ขณะเดียวกันเขายังมีด้านที่ละเอียดอ่อน โทเงดะกังวลว่าจะมีใครสามารถรับบทนี้ได้จนมีการคัดเลือกว่าฟูราตะจะเป็นผู้รับบทนี้ ความกังวลของเขาจึงหายไปเพราะภาพลักษณ์ของฟูราตะที่มีความสนุกสนาน[3] ยูริ สึจิยะ หญิงทำงานและพี่สาวของมิกูริ รับบทโดย ยูริโกะ อิชิดะ เธอได้รับการคัดเลือกโดยโทเงดะด้วยลักษณะนิสัยของอิชิดะซึ่งคล้ายคลึงกับตัวละครมังงะต้นฉบับที่มีความเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานและในขณะเดียวกันยังมีความเป็นเด็กหญิงตัวน้อย[3]

เพลงธีม

[แก้]
การเดินหน้าต่อนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่บางทีจะหนีบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ว่าจะหันหน้าไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ทางซ้ายหรือทางขวา ก็ไม่สำคัญเท่า (การเอาชีวิตรอดของ) ตนเองในปัจจุบัน

ชารังโปะรันตัง ผู้ประพันธ์ธีมเปิด[17]

"โคอิ" เป็นเพลงธีมปิดของฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ประพันธ์และร้องโดย เก็น โฮชิโนะ ซึ่งเขาแสดงเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง[18] ได้รับรางวัลเพลงธีมยอดเยี่ยมในงานโตเกียวดรามาอวอร์ด 2017 โฮชิโนะกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่สนุกเมื่อต้องแสดง (เป็นตัวละครในเรื่อง) และต้องร้องเพลงธีม (ในฐานะนักร้อง) ในเวลาเดียวกัน"[19] ในเครดิตปิดเรื่อง นักแสดงหลักและนักแสดงสมทบเต้นเพลง "โคอิ" หรือที่เรียกว่า "โคอิแดนซ์" ผู้อำนวยการสร้างตกลงว่า การเพิ่มฉากเต้นในเครดิตท้ายเรื่องจะเป็นการเน้นให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของการแปลงเป็นละครโทรทัศน์เรื่องนี้ที่มีความแตกต่างจากมังงะต้นฉบับ[8] โดยมีบ้านของสึซากิ หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องเป็นฉากหลัง ท่าเต้นออกแบบโดย มิกิโกะ ผู้มีชื่อเสียงจากการออกแบบท่าเต้นให้แก่วงเกิร์ลกรุป "เพอร์ฟูม"[20] หลังจากการออกอากาศตอนแรก "โคอิแดนซ์" เป็นที่นิยมอย่างมาก[21] แต่เดิมทีมผลิตเรียกการเต้นกับเพลง "โคอิ" ว่า "นิเงฮาจิแดนซ์"[a] ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น "โคอิแดนซ์" ในปัจจุบัน โทเงดะให้เหตุผลว่าเขาไม่อยากให้ความนิยมถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ที่ละครโทรทัศน์เท่านั้น จึงเปลี่ยนชื่อเพื่อทำให้การเต้นนี้สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น[8]

ชารังโปะรันตัง ประพันธ์ธีมเปิด "ซูซูเมะ, ทามานินิเงเตโมะ" (進め、たまに逃げても, "เดินหน้าเข้าไว้ แม้บางครั้งจะหนีบ้างก็ตาม")[23] เพลงนี้เขียนหลังอ่านมังงะต้นฉบับ เพราะฉะนั้นทำนองเพลงและเนื้อร้องจึงมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาของละครโทรทัศน์[24][25]

เค็นอิจิโร ซูเอฮิโระ และ มายูโกะ เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบทั้งสิ้น 26 เพลง[26]

ลำดับเปิดและลีลา

[แก้]
อารางากิแสดงเลียนแบบ โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชูป้ายชื่อศักราชใหม่ "เรวะ" ในตอนพิเศษของเรื่อง

ลำดับเปิดของเรื่องดำเนินด้วยธีมเปิด "ซูซูเมะ, ทามานินิเงเตโมะ" โดยปรากฏมิกูริในชุดแต่งงานเผชิญหน้ากับอักษรคำขนาดใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับแก่นเรื่อง เช่น "นายจ้าง–ลูกจ้าง" หรือ "ผู้หญิงอวดดี" ทุก ๆ ตอนลำดับเปิดจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย ในตอนที่ 1 อารางากิเผชิญกับตัวอักษรเรียงเป็นคำว่า "ตกงาน ไม่มีคนรัก ไร้ที่อยู่ เงินเดือน 194,000 เยน, สัญญาสมรส" เธอกัดริมฝีปากแสดงอาการกังวล ในตอนที่ 4 ปรากฏคำว่า "ผู้หญิงอวดดี ผู้ชายความมั่นใจในตัวเองต่ำ [...]" อารางากิทำตาโต ขมวดคิ้ว และตัวสั่นระรัวก่อนวิ่งออกจากฉากไป[27]

ตลอดการดำเนินของเรื่อง มิกูริซึ่งเป็นตัวละครหลักจะแสดงอาการเพ้อจินตนาการถึงรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงหลายรายการ โดยส่วนใหญ่รายการดังกล่าวมักมีทีมผลิตละครโทรทัศน์บางคนเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตรายการมาก่อน[28] เช่น โจเนสึไทริกุ (情熱大陸) รายการสารคดีติดตามชีวิตบุคคล รายการข่าวนิวส์23 ลีลาการตัดต่อโดยอิงอนิเมะเรื่องอีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา[28] หรือรายการปกิณกะไคอุน! นันเดโมะคันเตดัน (開運!なんでも鑑定団) ออกอากาศทางทีวีโตเกียว[29] ในตอนพิเศษ มิกูริแสดงเลียนแบบเป็น โยชิฮิเดะ ซูงะ ถือป้ายประกาศชื่อยุคและศักราชใหม่ของประเทศญี่ปุ่น "เรวะ"[30] และกล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงบริการฝากครรภ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพแม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว[31]

การตอบรับ

[แก้]

การตอบรับเชิงวิจารณ์

[แก้]

ละครโทรทัศน์ได้รับบทปริทัศน์เชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ ทากาชิ คัตสึกิ จากอาเอราดอต กล่าวว่าฉันแต่งงานเป็นอาชีพ เป็น "ละครแห่งชาติ" โดยชื่นชมการเสนอปัญหาในสังคมสมัยใหม่อย่างความชายเป็นใหญ่ในที่ทำงาน อัตราการเกิดที่ลดลง ความหลากหลายทางเพศ และค่านิยมการสมรสของผู้หญิงวัยทำงาน[32] อิชิตา แชตเทอร์จี จากมิดการ์ดไทมส์ ชื่นชมการแสดงของอารางากิและโฮชิโนะ โดยกล่าวว่านอกจากการพัฒนาบทและตัวละครอย่างระมัดระวัง แต่การแสดงของทั้งสองนั้นสนับสนุนการพัฒนาดังกล่าวและให้ความรู้สึกสมจริงและไม่ดูกระอักกระอ่วน[33] เขียนให้แก่ซีนีมาส์พลัส เค็นตาโร มูรามัตสึ กล่าวว่าการสร้างและลีลาการตัดต่อของทีมผลิตทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการดำเนินเรื่อง ขณะที่ยกย่อง การโปรยเสน่ห์ของอารางากิและการแสดงที่ยอดเยี่ยมของโฮชิโนะ[34]

นัตสึโอะ ซาวาโนะ จากเอ็กไซต์นิวส์ ให้ความเห็นผสมกันทั้งบวกและลบ โดยเสนอว่าหากพิจารณาอย่างไตร่ตรองแล้ว จะสังเกตเห็นตัวละครหลักในเรื่องต่างทำแต่เรื่องที่แย่ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่มักมองข้ามอย่างการที่สึซากิทำให้มิกูริอับอายเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตน หรือการที่มิกูริพยายามใส่ "ความยุติธรรม" ในแบบของตนเองลงไปในทุกเหตุการณ์ของเรื่อง ขณะเดียวกันได้ชื่นชมการนำเสนอปัญหาในสังคมและบทประพันธ์ละครโทรทัศน์[35]

เรตติง

[แก้]
ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ : จำนวนผู้ชมญี่ปุ่นต่อตอน (ล้าน)
ฤดูกาลตอนที่เฉลี่ย
1234567891011
16.127.267.507.807.988.168.169.6610.1410.2612.488.04
แหล่งที่มา: การวัดการรับชมทั่วประเทศโดยวิดีโอรีเสิร์ช[36][b]
ตอน วันที่ออกอากาศ ผู้กำกับ เรตติง[36][c]
ตอนที่ 1 11 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ฟูมิโนริ คาเกโกะ 10.2%
ตอนที่ 2 18 ตุลาคม ค.ศ. 2016 12.1%
ตอนที่ 3 25 ตุลาคม ค.ศ. 2016 โนบูฮิโระ โดอิ 12.5%
ตอนที่ 4 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 13.0%
ตอนที่ 5 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ยาซูฮารุ อิชิอิ 13.3%
ตอนที่ 6 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ฟูมิโนริ คาเกโกะ 13.6%
ตอนที่ 7 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 13.6%
ตอนที่ 8 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 โนบูฮิโระ โดอิ 16.1%
ตอนที่ 9 6 ธันวาคม ค.ศ. 2016 ฟูมิโนริ คาเกโกะ 16.9%
ตอนที่ 10 13 ธันวาคม ค.ศ. 2016 ยาซูฮารุ อิชิอิ 17.1%
ตอนที่ 11 20 ธันวาคม ค.ศ. 2016 ฟูมิโนริ คาเกโกะ 20.8%
เรตติงเฉลี่ย 14.5%[38]
  • จากตารางด้านบน ตัวเลขสีน้ำเงิน แสดงเรตติงที่ต่ำที่สุด และตัวเลขสีแดง แสดงเรตติงที่สูงที่สุด

รางวัล

[แก้]
ปี รางวัล สาขา ผู้รับ ผล อ้างอิง
2017 คอนฟิเดนซ์อวอร์ดดรามาครั้งที่ 6 ผลงานผลิตยอดเยี่ยม ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[39]
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ยูอิ อารางากิ ชนะ
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เก็น โฮชิโนะ ชนะ
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ยูริโกะ อิชิดะ ชนะ
บทประพันธ์ยอดเยี่ยม อากิโกะ โนงิ ชนะ
นักแสดงมาใหม่ยอดเยี่ยม เรียวเฮ​ โอตานิ ชนะ
คอนฟิเดนซ์อวอร์ดดรามาประจำปี 2016 ผลงานผลิตยอดเยี่ยม ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[40]
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ยูริโกะ อิชิดะ ชนะ
บทประพันธ์ยอดเยี่ยม อากิโกะ โนงิ ชนะ
แกแลกซีอวอร์ดครั้งที่ 54 มายเบสต์ทีวี ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[41]
สาขาโทรทัศน์ ชนะ
เอลันดอร์อวอร์ดครั้งที่ 41 รางวัลพิเศษ ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[42]
เดอะเทเรวิชันดรามาอะแคเดมีอวอร์ดครั้งที่ 91 ผลงานผลิตยอดเยี่ยม ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[43][44]
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ยูกิ อารางากิ ชนะ
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เก็น โฮชิโนะ ชนะ
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ยูริโกะ อิชิดะ ชนะ
ดรามาซอง "โคอิ" โดย เก็น โฮชิโนะ ชนะ
ผู้กำกับยอดเยี่ยม ฟูมิโนริ คาเกโกะ
โนบูฮิโระ โดอิ
ยาซูฮารุ อิชิอิ
ชนะ
เดอะเทเลวิชัน "โคอิแดนซ์" ชนะ
ทีวีไลฟ์ดรามาประจำปีครั้งที่ 26 นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ยูอิ อารางากิ ชนะ
[45][46]
เอเอ็มดีอวอร์ดครั้งที่ 22 เนื้อหายอดเยี่ยมประจำปี ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[47]
นิกกังสปอร์ตส์ดรามากรังปีซ์ครั้งที่ 20 นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ยูอิ อารางากิ 1
[48]
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เก็น โฮชิโนะ 3
รางวัลสมาคมนักกระจายเสียงประเทศญี่ปุ่น 2017 รายการละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[49]
โตเกียวดรามาอวอร์ด 2017 ผลงานผลิตยอดเยี่ยม ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ชนะ
[50]
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ยูอิ อารางากิ ชนะ
ผู้กำกับยอดเยี่ยม ฟูมิโนริ คาเกโกะ ชนะ
ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยม จุน นาซูดะ ชนะ
เพลงธีมยอดเยี่ยม "โคอิ" โดย เก็น โฮชิโนะ ชนะ

ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ ได้รับรางวัลในหลายงาน เช่น งานโตเกียวดรามาอวอร์ด 2017 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่อยากให้ทั้งโลกได้ชม" ได้ชนะและรับรางวัลทั้งสิ้น 5 รายการ[51] ทีมผลิตละครโทรทัศน์ได้รับรางวัลผลงานผลิตยอดเยี่ยม ยูอิ อารางากิ ชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และ "โคอิ" เพลงธีมปิดโดย เก็น โฮชิโนะ ได้รับรางวัลเพลงธีมยอดเยี่ยม[50] ได้ชนะและรับรางวัลในเดอะเทเรวิชันดรามาอะแคเดมีอวอร์ดครั้งที่ 91 ทั้งสิ้น 7 รายการ[44] โฮชิโนะชนะรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ยูริโกะ อิชิดะ ชนะรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม "โคอิแดนซ์" ได้รับรางวัล "ดรามาซอง" ผู้กำกับทั้งสามคนได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม[43]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 逃げ恥 (Nigehaji) คือชื่อย่อภาษาญี่ปุ่นของเรื่อง[22]
  2. โดยปกติ ผู้วัดการรับชมญี่ปุ่นจะไม่นำเสนอจำนวนผู้ชมต่อตอนในล้าน จึงคำนวณจากสมมติฐานว่า 1% ของเรตติงรายการโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นคือ 600,000 คน[37]
  3. วัดเฉพาะในภูมิภาคคันโต

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ガッキー、雇われ妻役で連ドラ主演「今の時代の象徴のようなドラマ」". Sanspo (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-07-27. สืบค้นเมื่อ 2023-03-12.
  2. "35年間恋愛ゼロ男!星野源、初挑戦ラブコメでガッキーと契約結婚". Sanspo (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-08-17. สืบค้นเมื่อ 2023-03-12.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 "ドラマ「逃げ恥」百合ちゃん役は石田ゆり子!風見は大谷亮平、沼田は古田新太". Natalie (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-08-28. สืบค้นเมื่อ 2023-03-12.
  4. "ガッキーが紅白で恋ダンスを披露? NHK、TBS関係者に聞いてみた/芸能ショナイ業務話". Sanspo (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-22. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  5. "「逃げ恥」成田凌演じる"百合ちゃんの部下・梅原くん"、最終話のカミングアウトに衝撃". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  6. "「逃げ恥」"恋ダンス"新バージョン公開 藤井隆・真野恵里菜ら登場". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-11-27. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  7. "真野恵里菜、気になる俳優は「逃げ恥」共演者". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-11-20. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  8. 8.0 8.1 8.2 Nasuda, Jun; Togeta, Hiroshi (2016-12-20). "『逃げ恥』プロデューサーが語る、最終回に込めた想い 峠田P「どの生き方も否定しない」" (Interview). สัมภาษณ์โดย Takane Junji. สืบค้นเมื่อ 2023-03-29.
  9. "『逃げ恥』『重版出来!』…脚本家・野木亜紀子作品にハズレなし 原作モノ実写化で定評". Oricon (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-11-08. สืบค้นเมื่อ 2023-03-12.
  10. Kimata, Fuyu (2016-10-25). "ガッキーがかわいいだけじゃない! ドラマ『逃げ恥』に光る原作・脚本・配役・TBSの総合力". Mynavi News (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-03-12.
  11. "新垣結衣は『逃げ恥』で"第3のスタートライン"に立った 喜劇女優としてのガッキー". Realsound Japan (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  12. "インタビュー新垣結衣 森山みくり役". TBS (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  13. "ドラマ「逃げ恥」主演は新垣結衣!海野つなみの妄想キャスティングでも"百点"". Natalie (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-07-27. สืบค้นเมื่อ 2023-03-20.
  14. "新垣結衣、"ワケあり新妻"で連ドラ主演「逃げるは恥だが役に立つ」". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-07-27. สืบค้นเมื่อ 2023-03-20.
  15. "インタビュー星野源さん 津崎平匡役". TBS (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  16. 16.0 16.1 "星野源、新垣結衣の"契約夫"でラブコメ初挑戦 主題歌も担当<コメント到着>". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-08-17. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  17. "ガッキー絶賛!チャランポ書き下ろし「逃げ恥」OPテーマ配信で登場". Natalie (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-10-26. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  18. "星野源、TBS系『逃げるは恥だが役に立つ』で連ドラ ラブコメ初挑戦。主題歌も担当". Barks Japan Music Network (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-08-17. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  19. "新垣結衣が石坂浩二に肩を褒められ照れ笑い、東京ドラマアウォード授賞式". Natalie (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-10-26. สืบค้นเมื่อ 2023-03-26.
  20. "「逃げ恥」ガッキーの"恋ダンス"が悶絶級「ポッキー以来の衝撃」「可愛すぎるなんてもんじゃない」". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-10-12. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  21. "新垣結衣×星野源「逃げ恥」話題のダンスシーンが公開!". Cinemacafe (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-10-14. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  22. "「逃げ恥」正月SPドラマで復活!結婚3年目に入ったみくり&平匡を描く テーマは「がんばれ人類!」". Sponichi (ภาษาญี่ปุ่น). 2020-09-25. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  23. "ドラマ「逃げ恥」OPはチャラン・ポ・ランタン「気付けば全巻買っていた」". Natalie (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-09-21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  24. "成田凌、 「逃げ恥」OP曲MVに登場!パジャマ姿も披露". Cinemacafe (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-11-15. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  25. "新垣結衣×星野源のドラマ『逃げ恥』、OP曲はチャランポ新曲". Cinra (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-09-21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  26. "逃げ恥サントラに「プロの独身の極意」「YES GOOD JOB!」ほか劇伴26曲". Natalie Music (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-07. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  27. "逃げ恥、オープニングに秘められた"ガッキーの小ネタ"". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-15. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  28. 28.0 28.1 "「逃げ恥」、みくりの"攻めすぎな妄想"を振り返る<これまでのパロディ>". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-11-22. สืบค้นเมื่อ 2023-03-30.
  29. "「逃げ恥」ガッキー&星野源の和服姿に悲鳴「叫びながら観てました」". Cinematoday (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-09. สืบค้นเมื่อ 2023-03-30.
  30. "『逃げ恥』新春SP パロディ連発にネット衝撃 局の垣根をこえてNHKとコラボも". Oricon (ภาษาญี่ปุ่น). 2021-01-02. สืบค้นเมื่อ 2023-03-30.
  31. "กัมบาเระจินรูอิ! ชินชุนสเปเชียล!!". บทโดย โนงิ, อากิโกะ. กำกับโดย คาเกโกะ, ฟูมิโนริ. ฉันแต่งงานเป็นอาชีพ. ทีบีเอสทีวี. 2021-01-02. ตอนพิเศษ
  32. "なぜ「逃げ恥」は"国民的ドラマ"になり得たのか?". AERAdot (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-28.
  33. "'The Full-Time Wife Escapist' Netflix Series Review - Romantic But Realistic Take on the Fake Marriage Trope". Midgard Times (ภาษาอังกฤษ). 2023-02-16. สืบค้นเมื่อ 2023-04-03.
  34. "祝!星野源&新垣結衣結婚!「逃げるは恥だが役に立つ」の魅力を再検証する". Cinema+ (ภาษาญี่ปุ่น). 2021-05-09. สืบค้นเมื่อ 2023-04-03.
  35. Sawano, Natsuo (2016-12-21). "「逃げるは恥だが役に立つ」最終回は冷静に考えるとなかなか酷い". Excite News (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-04-03.
  36. 36.0 36.1 เรตติงโดยวิดีโอรีเสิร์ช:
  37. "TV is Key to Succeed in the Japan Market". Kartz Media Works (ภาษาอังกฤษ). 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  38. "『逃げ恥』最終回視聴率20.8%で大台突破! 初回から10.6ポイント上昇". Mynavi News (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  39. "第6回 コンフィデンスアワード・ドラマ賞". Oricon (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  40. "16年"最も質の高いドラマ"は『逃げ恥』~「年間ドラマ賞」で最多3部門受賞". Oricon (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-03-03. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  41. "星野源、"逃げ恥"を改めて振り返る ガッキーを祝福<第54回ギャラクシー賞>". Modelpress (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-06-01. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  42. "新垣結衣&星野源『逃げ恥』2ショット再び サプライズ登壇に観客興奮". Oricon (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  43. 43.0 43.1 "第91回ザテレビジョンドラマアカデミー賞". The Television Drama Academy Awards (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  44. 44.0 44.1 "ドラマ『逃げ恥』ドラマアカデミー賞で7冠達成。新垣結衣、星野源、石田ゆり子にインタビューも". Excite Japan (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-02-16. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  45. "2016年「年間ドラマ大賞」作品賞(大賞)は大野智主演『世界一難しい恋』大野は「作品賞」「主演男優賞」「主題歌賞」のトリプル受賞!". TV Life (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-02-15. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  46. "2016年「TV LIFE 年間ドラマ大賞」が決定! 作品賞(大賞)は大野智主演『世界一難しい恋』! 大野は「作品賞」「主演男優賞」「主題歌賞」のトリプル受賞。「主演女優賞」は新垣結衣!". PR Times (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-02-15. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  47. "「逃げ恥」話題尽きず24冠 AMDアワード優秀賞". Nikkan Sports (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-03-14. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  48. "2016年度ドラマGP年間大賞発表". Nikkan Sports (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  49. "「逃げ恥」が民放連盟賞ドラマ番組最優秀賞を受賞". Daily (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-09-21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  50. 50.0 50.1 "新垣結衣『逃げ恥』で主演女優賞「作品のおかげ」- 東京ドラマアウォード". MyNavi News (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-10-26. สืบค้นเมื่อ 2023-03-21.
  51. "新垣結衣が石坂浩二に肩を褒められ照れ笑い、東京ドラマアウォード授賞式". Natalie (ภาษาญี่ปุ่น). 2017-10-26. สืบค้นเมื่อ 2023-03-26.