วาฬหลังค่อม
วาฬหลังค่อม | |
---|---|
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
ชั้นย่อย: | Eutheria |
อันดับ: | Artiodactyla |
อันดับฐาน: | Cetacea |
อนุอันดับ: | Mysticeti |
วงศ์: | Balaenopteridae |
สกุล: | Megaptera Gray, 1846[2] |
สปีชีส์: | M. novaeangliae |
ชื่อทวินาม | |
Megaptera novaeangliae Borowski, 1781 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
วาฬหลังค่อม หรือ วาฬฮัมแบ็ก (อังกฤษ: Humpback whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Megaptera novaeangliae) เป็นวาฬขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทวาฬบาลีน ในวงศ์วาฬอกร่อง (Balaenopteridae) และจัดเป็นวาฬเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Megaptera (มีที่มาจากภาษากรีกคำว่า μεγα-"mega" หมายถึง "ใหญ่" และ πτερα-"ptera" หมายถึง "ปีก")[3]
ลักษณะ
[แก้]วาฬหลังค่อม จัดเป็นวาฬขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของวาฬทั้งหมด น้ำหนักตัวอาจถึง 45 ตัน มีความยาว 25 เมตร พบกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือราว 10,000 - 25,000 ตัว ในปี 2008[4] มีความโดดเด่นที่ครีบอกและหางที่ยาว โดยเฉพาะครีบอก อันเป็นที่มาของชื่อสกุล
อาหารและการกิน
[แก้]วาฬหลังค่อมเป็นวาฬที่หากินด้วยการกรองกินด้วยบาลีน ซึ่งมีแผ่นกรองกว่า 800 แผ่นที่ขากรรไกรด้านบน เพื่อกรองอาหารประเภทปลาและสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เช่น เคย, แพลงก์ตอน และเป็นวาฬที่รู้จักการหาอาหารร่วมกัน เช่น การไล่ต้อนฝูงปลา เป็นต้น โดยจะกินอาหารมากถึงวันละ 1 ตัน วาฬหลังค่อมเพศเมียตกลูกทุก 2-3 ปี มีระยะเวลาตั้งท้องนาน 11 เดือน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกวาฬจะกินนมจากแม่เป็นปริมาณ 100 แกลลอนทุก ๆ วัน
เสียงของวาฬ
[แก้]รีเบคคา ดันลอป นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ได้ศึกษาเรื่องรหัสเสียงวาฬหลังค่อม พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างน้อย 34 เสียง ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารเฉพาะของวาฬหลังค่อมเอง [5] ซึ่งใช้เสียงในการติดต่อสื่อสารและหาคู่ ซึ่งได้ยินไปไกลได้ถึง 161 กิโลเมตร และอยู่ได้นานถึง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้วจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่อ่าวเอกซ์เมาท์ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่า ลูกวาฬสามารถสื่อสารกับแม่ด้วยคลื่นเสียงที่ต่ำกว่า 40 เดซิเบล เพื่อหลีกเลี่ยงการได้ยินของสัตว์นักล่าในทะเล เช่น ฉลามขาว หรือวาฬเพชฌฆาต ได้ด้วย[6]
พฤติกรรม
[แก้]วาฬหลังค่อม เป็นวาฬที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีจากพฤติกรรมชอบกระโดดตัวขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับผู้พบเห็น เหตุที่กระโดดนั้นมีหลายประการ ทั้ง กระโดดเพื่อสลัดเพรียงที่เกาะอยู่ตามตัวให้หลุดออก หรือ กระโดดเพื่ออวดตัวเมีย เมื่อมีตัวผู้ตัวหนึ่งกระโดดก่อน ตัวอื่น ๆ ก็จะกระโดดตามเหมือนแข่งขันกัน[7]
ถิ่นที่อยู่
[แก้]พบกระจายพันธุ์ในทะเลเปิดและมหาสมุทรทั่วโลก จะมีการอพยพย้ายถิ่นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จะอพยพจากแหล่งอาหารใกล้ขั้วโลกมาสู่ทะเลเปิดในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรที่อุณหภูมิอบอุ่นกว่า เพื่อผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ ลูกวาฬจะกำเนิดมาในช่วงนี้ รอจนกระทั่งอายุได้ 5 เดือนที่ลูกวาฬแข็งแรงพอแล้ว แม่วาฬจะพาลูกเดินทางกลับไปสู่ขั้วโลกที่ ๆ ซึ่งมีแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารอุดมกว่า โดยในระยะนี้แม่วาฬจะไม่กินอะไรเลยเป็นระยะเวลานานหลาย ๆ เดือน ซึ่งจะใช้พลังงานจากไขมันที่เก็บสะสมไว้ก่อนหน้านั้น[8] วาฬหลังค่อมเป็นวาฬชนิดที่ว่ายน้ำได้ช้า และไม่สามารถกลั้นหายใจได้นานเหมือนวาฬชนิดอื่น โดยกลั้นหายใจได้เพียง 4-7 นาที และว่ายน้ำได้เร็วเพียง 14.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในประเทศไทยไม่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนแต่อย่างใด[9] และจัดเป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่ถูกล่าเพื่อใช้เนื้อและไขมันรวมทั้งบาลีนในเชิงอุตสาหกรรมมาตั้งแต่อดีต[10]
วาฬหลังค่อม ที่อาศัยในมหาสมุทรอินเดียแถบคาบสมุทรอาระเบีย เป็นประชากรวาฬหลังค่อมที่ไม่มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยจะอาศัยหากินอยู่ในแถบนี้ตลอดทั้งปีจากกระแสน้ำเย็นที่พัดเข้ามาในบางช่วงของปี จากการศึกษาทางดีเอ็นเอพบว่า วาฬหลังค่อมกลุ่มนี้ไม่ได้มีการผสมพันธุ์กับวาฬหลังค่อมในส่วนภูมิภาคอื่นนานกว่า 60,000 ปีแล้ว และอาจเป็นไปได้ว่าเป็นชนิดใหม่[11]
รูปภาพ
[แก้]-
ภาพการแสดงคลื่นเสียงของวาฬหลังค่อม
-
-
การกระโดดขึ้นเหนือน้ำของวาฬหลังค่อม
-
เกยตื้น
-
ส่วนหัวใต้น้ำ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Cetacean Specialist Group (1996). Megaptera novaeangliae. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006. Database entry includes a lengthy justification of why this species is Least Concern
- ↑ 2.0 2.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อitis
- ↑ Liddell & Scott (2011). Greek-English Lexicon, Abridged Edition. Oxford University Press, Oxford, UK. ISBN 0-19-910207-4.
- ↑ ดักลาส เอช. แชดวิก,National Geographic ฉบับภาษาไทย ตุลาคม 2551 หน้า 128,130
- ↑ http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology&content=67984
- ↑ หน้า 7 โลกโศภิณ, ลูกวาฬหลังค่อมมีสัญชาตญาณหลีกเลี่ยงนักล่า. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21654: วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา
- ↑ เรื่องเล่าข้ามโลก, สารคดีโดย ปองพล อดิเรกสาร. ช่อง NOW26: เสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2557
- ↑ Shallow Seas, "Planet Earth" . สารคดีทางบีบีซี: 2006
- ↑ "บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง 2546". มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร.
- ↑ "10 วาฬที่ใหญ่ที่สุดในโลก". เด็กดีดอตคอม.
- ↑ "สุดยอดสารคดีโลก : อัญมณีแห่งอาระเบีย". ไทยพีบีเอส. 9 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-08. สืบค้นเมื่อ 10 June 2014.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Megaptera novaeangliae ที่วิกิสปีชีส์