ข้ามไปเนื้อหา

อิกัวนาทะเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Marine iguana)
อิกัวนาทะเล
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Sauropsida
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Iguania
วงศ์: Iguanidae
สกุล: Amblyrhynchus
Bell, 1825
สปีชีส์: A.  cristatus
ชื่อทวินาม
Amblyrhynchus cristatus
Bell, 1825
ชนิดย่อย
6 ชนิด (ดูในเนื้อหา)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

อิกัวนาทะเล หรือ อิกัวนาทะเลกาลาปาโกส (อังกฤษ: marine iguana, Galápagos marine iguana; ชื่อวิทยาศาสตร์: Amblyrhynchus cristatus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานทะเลจำพวกกิ้งก่าชนิดหนึ่งในวงศ์อิกัวนา (Iguanidae) จัดเป็นกิ้งก่าเพียงชนิดเดียวในปัจจุบันนี้ที่พบอาศัยอยู่ได้ในทะเล และเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Amblyrhynchus[2]

ลักษณะและพฤติกรรม

[แก้]

อิกัวนาทะเลมีลำตัวสีดำหรือสีคล้ำตลอดทั้งตัว โดยมีสีเดียวตลอดทั้งตัว และถือเป็นสัตว์ถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะเกาะต่าง ๆ ของหมู่เกาะกาลาปาโกส ในเขตแดนประเทศเอกวาดอร์ ในทวีปอเมริกาใต้เท่านั้น ขนาดเมื่อโตเต็มที่ในตัวผู้มีน้ำหนัก 12-13 กิโลกรัม โดยพบได้ในตอนใต้ของเกาะอีซาเบลลา ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะกาลาปาโกส และขนาดเล็กที่สุดมีน้ำหนักเพียง 1-2 กิโลกรัม ที่เกาะจีโนเบซา[3]

อิกัวนาทะเลเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น ไม่กินสัตว์หรือแมลงเป็นอาหาร แม้จะเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ ก็ตาม โดยจะดำน้ำลงไปกินสาหร่ายหรือตะไคร่น้ำตามโขดหินใต้ทะเล มีความสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 9 เมตร (30 ฟุต) ระบบย่อยอาหารสามารถย่อยพืชได้เป็นอย่างดีเพราะลำไส้ส่วนโคลอนมีการปรับเพื่อย่อยอาหารประเภทพืชโดยเฉพาะ ด้วยการแบ่งพื้นที่ภายในลำไส้เป็นห้องย่อยเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึม และเป็นที่อยู่อาศัยของหนอนตัวกลมและจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยเซลลูโลสด้วย ขยายพันธฺ์ด้วยการวางไข่[2]

อิกัวนาทะเลเป็นสัตว์ที่ได้รับปริมาณเกลือจากน้ำทะเลเป็นอย่างมากในแต่ละวัน จึงมีวิธีการกำจัดเกลือออกจากร่างกายด้วยการพ่นออกทางรูจมูกเมื่ออยู่บนบกเป็นฝอยน้ำเหมือนจาม และถึงแม้จะว่ายน้ำและดำน้ำเก่งก็ตาม แต่อิกัวนาทะเลมักจะเกาะอยู่นิ่ง ๆ เป็นกลุ่มตามโขดหินริมทะเล เพื่ออาบแดดและเพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นก็อาจส่งผลกระทบได้บ้าง แต่ก็ไม่ส่งผลมากนัก เนื่องจากหมู่เกาะกาลาปาโกสตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรอยู่แล้ว สภาพภูมิอากาศจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก[4] หรืออาจพบได้บ้างตามป่าชายเลน ชายหาด หรือแอ่งน้ำขังตามริมทะเล[5]

ขณะอาบแดดเป็นกลุ่ม
ขณะว่ายน้ำ

แม้จะมีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว แต่ที่จริงแล้วอิกัวนาทะเลเป็นสัตว์ที่รักสงบ ไม่มีนิสัยดุร้าย จึงมักมีกิ้งก่าตัวเล็ก ๆ มาเกาะตามส่วนหัวหรือบนหลังเพื่อจับแมลงหรือมดที่ไต่ตอมใกล้ ๆ ตัวอิกัวนาทะเลกินเป็นอาหาร โดยที่อิกัวนาทะเลจะไม่ทำอันตรายต่อกิ้งก่าเหล่านี้ แต่อิกัวนาทะเลก็มีศัตรูตามธรรมชาติ คือ นกกระสานวล ที่จับอิกัวนาทะเลขนาดเล็กกินเป็นอาหาร และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อิกัวนาทะเลมักไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย[4] และจากหน้าตาและลักษณะที่โดดเด่น จึงถือเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นใช้เป็นต้นแบบของก็อตซิลลา ตัวละครสัตว์ประหลาดชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นอีกด้วย[5]

การจำแนก

[แก้]

อิกัวนาทะเลแบ่งออกได้เป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ 6 ชนิด โดยทั้งหมดจะอาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ และมีขนาดแตกต่างกันไป[6] ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อมและปริมาณสาหร่ายที่เป็นอาหาร[3]

ชนิดย่อยต่าง ๆ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nelson, K., Snell, H. & Wikelski, M. (2004). "Amblyrhynchus cristatus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 2012-09-26.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 วีรยุทธ์ เลาหะจินดา. วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ธันวาคม 2552. 458 หน้า. หน้า 377. ISBN 978-616-556-016-0
  3. 3.0 3.1 Reilly, Stephen M.; McBrayer, Lance D.; Miles, Donald B., บ.ก. (2007). "16: The Evolution of Foraging Behavior in the Galápagos Marine Iguana: Natural and Sexual Selection on Body Size Drives Ecological, Morphological, and Behavioral Specialization". Lizard Ecology. New York: Cambridge University Press. pp. 491–507.
  4. 4.0 4.1 "7 สายพันธุ์แยกย่อยของอีกัวน่าทะเล (1-11-58)". NOW26. 1 November 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-04. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.
  5. 5.0 5.1 "สุดหล้าฟ้าเขียวปี 11 เอกวาดอร์ - กาลาปาโกส". ช่อง 3. 7 March 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-16. สืบค้นเมื่อ 7 March 2015.
  6. Amblyrhynchus cristatus, Reptile Database

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Amblyrhynchus cristatus ที่วิกิสปีชีส์