ข้ามไปเนื้อหา

แมงดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Limulidae)
แมงดา
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 244–0Ma
ลักษณะทั่วไปของแมงดา
ใต้ท้องของแมงดา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Chelicerata
ชั้น: Merostomata[1]
อันดับ: Xiphosura
วงศ์: Limulidae
Leach, 1819[2]
สกุล
ชื่อพ้อง[3]
  • Xiphosuridae
การผสมพันธุ์ของแมงดา

แมงดา หรือที่บางครั้งเรียกว่า แมงดาทะเล จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในไฟลัมอาร์โธรพอด โดยที่ไม่ใช่ครัสเตเชียน แต่เป็นเมอโรสโทมาทา อยู่ในอันดับ Xiphosura และวงศ์ Limulidae

ลักษณะทั่วไป

[แก้]

แมงดาแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้[4]

  • ส่วนแรก เป็นส่วนของหัวและอกที่เชื่อมติดกัน เรียกว่า Cephalothorax หรือ Prosoma ซึ่งส่วนนี้จัดเป็นส่วนที่เป็นกระดองซึ่งเป็นเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มลำตัว ลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า โดยจะมีสันที่บริเวณด้านข้างตามความยาวของกระดอง นอกจากนี้ส่วนแรกของแมงดายังเป็นส่วนที่มีระยางค์ 8 คู่ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามหน้าที่การใช้งาน โดยคู่ที่ 1 ไม่เจริญ คู่ที่ 2 เป็นก้ามหนีบ มีขนาดเล็ก อยู่บริเวณด้านหน้าของปาก (Chelicerea) คู่ที่ 3–6 เป็นระยางค์ขา ใช้สำหรับการเดิน ซึ่งส่วนปลายขาเดินจะเป็นก้ามหนีบ และมีหนามเล็ก ๆ อยู่เพื่อช่วยในการบดอาหาร ส่วนคู่ที่ 7 เป็นขาเดิน ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดเหงือก และบริเวณปลายของระยางค์คู่นี้จะแยกออกเป็นสี่แฉก ไม่เป็นก้ามหนีบเหมือนกับขาเดินคู่อื่น ๆ มีหน้าที่สำหรับดันพุ้ยดินไปข้างหลังเพื่อฝังตัวในพื้น และระยางค์คู่สุดท้ายหรือคู่ที่ 8 อยู่บริเวณอก ซึ่งลดขนาดลง เรียกว่า "ชิลาเรีย" (Chilaria)
  • ส่วนที่สอง เป็นส่วนท้อง มีลักษณะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม บริเวณด้านข้างมีหนาม 6 คู่ ส่วนท้องมีระยางค์ 6 คู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแบน คู่แรกเป็น "แผ่นปิดเหงือก" (Gill Operculum) ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับเหงือก และบริเวณฐานมีช่องสืบพันธุ์ (Genital Pore) 1 คู่ อีก 5 คู่ถัดไปเป็น "เหงือก" (Gill Book) ที่มีรอยพับเป็นริ้ว ๆ ประมาณ 150 ริ้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ แมงดาเป็นสัตว์ที่อยู่รอดได้แม้ไม่มีน้ำเป็นเวลาหลายวัน หากเหงือกนี้ยังเปียกอยู่ เมื่ออยู่ในน้ำ แมงดาจะหายใจโดยใช้วิธีกางเหงือกนี้ขึ้นลง[5]
  • ส่วนที่สาม เป็นส่วนของหางที่มีความแข็งและยาว ส่วนปลายเรียวแหลม มีเอ็นแข็งแรงยึดไว้ เพื่อใช้สำหรับการงอตัวหรือฝังตัวลงไปในดิน หรือใช้ในกรณีที่ต้องการอยู่นิ่งกับที่ในทะเลโดยการใช้หางปักลงกับพื้น และยังสามารถใช้ในการพลิกตัวจากการหงายท้อง แต่ไม่ได้ใช้เป็นอาวุธ[5]

แมงดาเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนจานคว่ำหรือชามขนาดใหญ่ มีกล้ามเนื้อทั้งสิ้น 750 มัด มีหัวใจที่ยาวเกือบเท่าขนาดลำตัว มีอัตราการเต้นอยู่ที่ 32 ครั้งต่อนาที (ช้ากว่ามนุษย์ถึงครึ่งหนึ่ง) มีรูเปิด 8 คู่ มีลิ้นเปิดปิดที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดให้ไหลจากเหงือกไปที่ขาและอวัยวะที่สำคัญ มีกระเพาะอาหารธรรมดา เมื่อเวลากินอาหาร แมงดาจะกินทางปากจากนั้นจึงผ่านไปที่สมองก่อนจะไปถึงกระเพาะ แล้วจึงค่อยขับถ่ายออกมา โดยมีอวัยวะเหมือนแขนชิ้นเล็ก ๆ ทำหน้าที่จับอาหารส่งเข้าสู่ปาก ซึ่งสัตว์จำพวกอื่นที่มีอวัยวะแบบเดียวกันนี้ คือ แมงมุมและแมงป่อง ซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นเสมือนญาติใกล้เคียงที่สุด อาหารของแมงดามีด้วยกันหลากหลาย ทั้งสาหร่ายทะเลและสัตว์น้ำมีเปลือกขนาดเล็ก ๆ มีสมองที่มีรูปร่างเหมือนเฟือง ขาของแมงดามีความสามารถใช้สำหรับจับการเคลื่อนไหวหรือดมกลิ่นได้ มีดวงตาหลายคู่ที่ด้านข้างและด้านหลังที่เหมือนกับแมลง เห็นภาพได้เป็นสเกลหรือตาราง โดยมีเซลล์รับแสงอยู่ด้านใน ต่างจากสัตว์ทั่วไปที่มีอยู่ตรงกลาง แต่ตาหลักจะช่วยในการมองเห็นรูปร่างของแมงดาตัวอื่น ๆ ส่วนตัวผู้จะใช้ในการมองหาคู่ ตาคู่ที่เล็กมีความไวกว่า ใช้ตรวจจับรังสีต่าง ๆ ได้ เช่น อัลตราไวโอเล็ต รวมถึงแสงจันทร์เพราะเป็นสัตว์ที่มีวิถีชีวิตคู่กับน้ำขึ้นน้ำลง และยังมีตาที่อยู่ด้านท้องที่ตรวจจับทิศได้แม้ลำตัวจะหงายท้องก็ตาม และส่วนหางก็ยังตรวจจับแสงได้อีกด้วย แม้จะมีร่างกายดูเหมือนเทอะทะ แต่ทว่าร่างกายของแมงดากลับยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี[5]

แมงดาเพศเมียภายในร่างกายจะมีการผลิตไข่อยู่ตลอดเวลาเพื่อรอเวลาผสมพันธุ์และวางไข่[5]

วงจรชีวิต

[แก้]

ในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายนของทุกปี แมงดาจะขึ้นมาวางไข่บนบกตามแนวชายหาด ในวันที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 2–3 วัน โดยตัวผู้จะเกาะบนหลังเพศเมียโดยการใช้ตะขอเกี่ยวตัวเมียเอาไว้ตลอดฤดูการผสมพันธุ์ แมงดาเพศเมียจะใช้ขาคู่ที่ 6 ในการขุดทรายเพื่อใช้ในการวางไข่ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยฟอง แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ในหลุมทันที จากนั้นตัวเมียจึงทำการกลบไข่ด้วยทรายและโคลนตามเดิม เมื่อไข่แมงดาได้รับการปฏิสนธิเวลาผ่านไปประมาณ 14 วัน [6] เปลือกไข่ก็จะแตกออกด้วยแรงเสียดสีของเม็ดทราย ลูกแมงดาที่ฟักตัวออกมามีลักษณะเหมือนพ่อแม่ จากนั้นในช่วงการเจริญเติบโตตัวอ่อนแมงดาจะล่องลอยตามกระแสน้ำ และกว่าจะถึงระยะตัวเต็มวัย ตัวอ่อนแมงดาต้องมีการลอกคราบหลายครั้งด้วยกัน และอัตราการลอกคราบก็จะลดลงเมื่อโตเต็มวัย ซึ่งอาจเป็น 10–20 ครั้งต่อปี โดยในการลอกคราบแต่ละครั้งก็จะเพิ่มส่วนของดวงตาขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งไม่มีในสัตว์น้ำชนิดไหนที่มีแบบนี้[5] แมงดาที่โตเต็มที่จะมีอายุประมาณ 9–12 ปี (โดยเฉลี่ย 11 ปี) จึงมีความพร้อมที่จะสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ โดยเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ จากการศึกษาพบว่าแมงดามีอัตราการรอดชีวิตภายใน 1 ปีแรกเพียง 0.003 เท่านั้น (หรือราว 30 ตัว ในทุก ๆ 1,000,000 ตัว[5]) ทั้งนี้แมงดายังมีศัตรูตามธรรมชาติอีก คือ นกทะเล ในช่วงที่ยังเป็นไข่หรือตัวอ่อน ปลาทะเลขนาดใหญ่ และเต่าทะเล แมงดาเป็นสัตว์ที่มีอัตราการเติบโตช้า มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 40 ปี[5] [7]

การจำแนก

[แก้]
แมงดาญี่ปุ่น (Tachypleus tridentatus) ที่อ่าวหะล็อง ประเทศเวียดนาม

ทั่วโลกมีแมงดามีทั้งหมด 4 ชนิด ใน 3 สกุล แต่พบในประเทศไทย 2 ชนิด[8] คือ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius rotundicauda) และแมงดาจาน (Tachypleus gigas)

  • สกุล Carcinoscorpius
    • แมงดาถ้วยหรือแมงดาทะเลหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) พบในอินเดีย จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งไทย) และเอเชียตะวันออก รวมทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง[9]
  • สกุล Limulus
    • แมงดาแอตแลนติก (Limulus polyphemus) พบตามชายฝั่งทางตะวันออกบริเวณเหนืออ่าวเม็กซิโก
  • สกุล Tachypleus
    • แมงดาจานหรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งไทย)
    • แมงดาญี่ปุ่นหรือแมงดาจีน (Tachypleus tridentatus) พบตามชายฝั่งเอเชียตะวันออก

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของแมงดา

[แก้]

แมงดาเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ได้ขึ้นจากน้ำมาเพื่อวางไข่บนบกซึ่งได้วิวัฒนาการมาเป็นแมลงจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นฟอสซิลมีชีวิตอีกจำพวกหนึ่งในโลก แมงดาในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีรูปร่างหน้าตาไม่แตกต่างจากแมงดาในยุคปัจจุบันเท่าไหร่นัก[10] โดยมีสัตว์ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ ไทรโลไบต์ที่เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปลายยุคเพอร์เมียน และต้องใช้การลอกคราบหลายครั้งกว่าที่จะเติบโตขึ้นมาเหมือนกับแมงดา[5]

ประโยชน์

[แก้]

นอกจากจะมีประโยชน์ในการเป็นอาหารของมนุษย์แล้วยังพบว่า แมงดามีเลือดที่เป็นสีน้ำเงิน (Hemocyanin) เนื่องจากมีทองแดงผสมอยู่เป็นจำนวนมาก เซลล์เม็ดเลือดขาวของแมงดามีความไวมากในการตรวจจับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์ โดยการใช้เลือดแมงดาไปสกัดเป็นสารที่เรียกว่า Limulus amoebocyte lysate (LAL) ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายที่อาจจะปนเปื้อนในวัคซีน, การผลิตยา หรือในอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งหากมีจุลชีพก่อโรคแม้เพียงหนึ่งในล้านส่วน โปรตีนที่สกัดได้จากเลือดแมงดาจะเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนทันทีเพื่อทำการปกป้องร่างกายไม่ให้เป็นอันตราย [11] และในปัจจุบันพบว่ามีการนำไปผสมลงในวัคซีนเพื่อนำไปสู่กระบวนการการให้วัคซีนแก่ผู้ป่วย[12] เชื่อว่าการที่เลือดของแมงดาเป็นสีน้ำเงินและสามารถตรวจจับแบคทีเรียได้เป็นอย่างดีนั้น เกิดจากการที่สภาพร่างกายของแมงดาวิวัฒนาการขึ้นมาเพราะสภาพของน้ำทะเลในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นเต็มไปด้วยแบคทีเรีย โดยการดูดเลือดจากตัวแมงดานั้นไม่ได้ทำให้แมงดาตาย เพียงแต่แต่ละตัวใช้เลือดราวร้อยละ 30 เท่านั้น (มีการตายราวร้อยละ 15 หรือราว 40,000 ตัวต่อปี) โดยใช้เข็มจิ้มลงไปในส่วนที่เป็นหัวใจ แมงดาจะงอตัว ร่างกายจะผลิตเลือดใหม่ขึ้นทดแทนทันที แต่ก็ต้องใช้เวลานานหลายเดือนเช่นกันกว่าร่างกายจะผลิตเลือดขึ้นมาทดแทนได้เท่ากับปริมาณที่สูญเสียไป ซึ่ง LAL ที่ได้จากแมงดานั้นมีราคาซื้อขายที่แพงมาก และวิทยาการปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตสังเคราะห์หรือเลียนแบบได้[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Integrated Taxonomic Information System". Integrated Taxonomic Information System - Report. สืบค้นเมื่อ 2007-02-28.
  2. Kōichi Sekiguchi (1988). Biology of Horseshoe Crabs. Science House. ISBN 978-4-915572-25-8.
  3. ราชบัณฑิตยสถานพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด, ๒๕๓๙. ๙๗๖ หน้า. หน้า ๖๕๘-๖๕๙. ISBN 974-8122-79-4
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-14. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 5.8 "สารคดี แมงดา สัตว์ประหลาดหุ้มเกราะ". ไทยพีบีเอส. 2015-05-07. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
  6. [ http://tolweb.org/treehouses/?treehouse_id=4861 เก็บถาวร 2016-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน]
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-17. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.
  8. อารมณ์ มุจจินทร์,หรรษานานาสัตว์,วารสาร อพวช. มีนาคม 2551 หน้า 52
  9. [1][ลิงก์เสีย]
  10. "แมงดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-08. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-20. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.
  12. "การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อราและโรคติดเชื้อ แอสเปอร์จิลลัส แบบลุกลามในระยะแรก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]