ข้ามไปเนื้อหา

ลีเมอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Lemur)
ลีเมอร์[1]
ลีเมอร์หางวงแหวน (Lemur catta)
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
อันดับย่อย: Strepsirrhini
อันดับฐาน: Lemuriformes
วงศ์ใหญ่: Lemuroidea
Gray, 1821
วงศ์
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

ลีเมอร์ (อังกฤษ: Lemur) เป็นอันดับฐานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมตหรือลิง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lemuroidea

ลักษณะโดยรวมของลีเมอร์ คือ มีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับลิง แต่ทว่ามีส่วนหัวคล้ายหมาจิ้งจอก คือ มีจมูกและปากแหลมยาว มีดวงตากลมโต ขนหนาฟู มีหางยาวเป็นพวงเหมือนกระรอก โดยลีเมอร์เป็นไพรเมตที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Prosimian ซึ่งรวมถึงลิงลม, กาเลโก และทาร์เซีย เพราะมีสายวิวัฒนาการที่ใกล้เคียงกัน จากการศึกษาทางดีเอ็นเอ ซึ่งคำว่า "Prosimian" นั้น มีความหมายว่า "ก่อนลิง"[3]

คำว่า "ลีเมอร์" แปลงมาจากคำว่า Lemures ในเทพปกรณัมโรมันหมายถึง "ดวงวิญญาณ, ผี หรือปีศาจ"[4]

ขนาดโดยทั่วไปโดยเฉลี่ยของลีเมอร์ขนาดเท่าแมว น้ำหนักตัวประมาณ 9 กิโลกรัม โดยที่ชนิดที่มีขนาดเล็กมีรูปร่างใกล้เคียงกับหนู มีการกระจายพันธุ์เฉพาะบนเกาะมาดากัสการ์ทางชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกที่เดียวเท่านั้น เหตุเพราะสันนิษฐานว่า ที่เกาะแห่งนี้ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้สัตว์หลายชนิดมีการวิวัฒนาการเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ และไม่มีสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่คอยคุกคาม โดยอาศัยอยู่ในป่าดิบ บนต้นไม้ใหญ่ หากินในเวลากลางวัน และนอนหลับในเวลากลางคืน โดยที่สันนิษฐานอีกว่า บรรพบุรุษของลีเมอร์ เดินทางมายังเกาะมาดากัสการ์ด้วยกอพรรณพืชหรือต้นไม้เมื่อ 60 ล้านปีก่อน โดยลีเมอร์ได้วิวัฒนาการตัวเองแยกมาเป็นชนิดต่าง ๆ จากถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง อันเป็นผลจากการที่น้ำท่วมเกาะ ก่อให้เกิดเป็นเกาะแก่งต่าง ๆ มากมาย และลีเมอร์ชนิดต่าง ๆ ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและถูกจำกัดในเรื่องอาหาร จากพายุไซโคลนที่พัดถล่มในมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก โดยเชื่อว่าบรรพบุรุษของลีเมอร์นั้นแรกเริ่มมีขนาดเล็ก และอาจเกาะกับต้นไม้ลอยน้ำมาในรูปแบบของการจำศีล[3]

ลีเมอร์มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง จุดเด่นอีกประการของลีเมอร์ คือ เสียงร้องที่หลากหลายและดังกึกก้องไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาออกหากินในยามพลบค่ำ ซึ่งอาหารของลีเมอร์ได้แก่ ใบไม้, ผลไม้, แมลง, ไข่นก และสัตว์ขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ แตกต่างออกไปตามแต่ละชนิด ด้วยการใช้ขาหน้าที่เสมือนมือในการหยิบฉวย ขุดคุ้ย หยิบจับอาหารได้คล่องแคล่วเช่นเดียวกับสัตว์ประเภทอื่นในอันดับเดียวกัน หากแต่จะใช้หางในการเกาะเกี่ยวกับกิ่งไม้ไม่ได้

ลีเมอร์ในปัจจุบัน ได้รับการจำแนกแล้วประมาณ 100-103 ชนิดใน 5 วงศ์ (ดูในตาราง) และหลายชนิดและหลายวงศ์ก็ได้สูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยชนิดที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ ลีเมอร์หางวงแหวน (Lemur catta) ที่มีส่วนหางเป็นลายปล้อง ๆ สลับขาว-ดำ, รัฟด์ลีเมอร์ (Varecia spp.) เป็นลีเมอร์ที่มีขนสีขาวรอบ ๆ ใบหน้าแลดูคล้ายเครา และอาย-อาย (Daubentonia madagascariensis) ซึ่งมีลำตัวสีดำ มีนิ้วมือที่ยาวใช้สำหรับเคาะหาแมลงหรือหนอนที่อยู่ใต้เปลือกไม้กินเป็นอาหาร ในเวลากลางคืน เป็นต้น[5]

ตามรายงานของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า ว่าร้อยละ 91 ของลีเมอร์ 103 ชนิดที่รู้จักกำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม โดยลีเมอร์ 23 ชนิด ถูกจัดอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต อีก 52 ชนิดถูกจัดอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ และอีก 19 ชนิดจัดอยู่ในภาวะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ตามบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) โดยลีเมอร์ชนิดที่หายากที่สุด คือ ลีเมอร์นอร์เทิร์นสปอร์ตีฟ (Lepilemur septentrionalis) ที่เหลือเพียงแค่ 18 ตัวเท่านั้น[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Groves, C. (2005-11-16). Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 111–121. ISBN 0-801-88221-4.
  2. Harcourt 1990, pp. 7–13.
  3. 3.0 3.1 Madagascar, "Mutant Planet" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 19 มกราคม 2556
  4. W. Blunt and W.T. Stearn, Linnaeus: The Compleat Naturalist (Princeton University Press, 2002), p. 252. 978-0-691-09636-0
  5. หน้า 166-167, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  6. [1]เก็บถาวร 2012-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน “ลีเมอร์” สัตว์ประจำมาดากัสการ์กำลังจะหมดไปจากโลก จากผู้จัดการออนไลน์

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]